กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.)กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ได้จัดโครงการศิลปินแห่งชาติสัญจรประจำปี 2562 และปีนี้ ประเดิมเส้นทางแรกที่ภาคใต้ ดำเนินกิจกรรมให้ประสบการณ์และความรู้กับเหล่าเยาวชน ตลอดจนประชาชนที่สนใจ ณ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีนักเรียน นักศึกษา ทั้งในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง มาร่วมกิจกรรมตามฐานกิจกรรมอบรมต่างๆที่มีมากมาย ทั้ง 11 ฐาน มีทั้งความสนุก ศิลปินให้ความรู้อย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1. ฐานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะสู่บุคลากรทางการศึกษา 2. ฐานเทคนิคจิตรกรรม 3. ฐานเทคนิคภาพพิมพ์ 4. ฐานเทคนิคสร้างสรรค์สื่อผสม 5.ฐานเทคนิคประติมากรรม ฐาน 6. เทคนิคสถาปัตยกรรม 7. ฐานเทคนิคศิลปะผ่านฐาน 8. ฐานการสร้างสรรค์เรื่องสั้น 9.ฐาน การสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ 10. ฐานการสร้างสรรค์ศิลปะการแสดง (ขับร้อง) และ 11. ฐานการสร้างสรรค์ศิลปะการแสดง
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัด วธ. กล่าวเปิดงานว่า โครงการศิลปินแห่งชาติสัญจร นับว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการสร้างสรรค์งานศิลป์ เป็นการสืบสานและพัฒนาทักษะในงานศิลปะ ให้แก่ เด็ก เยาวชน ครู อาจารย์และผู้ที่สนใจ ทั้งด้านทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง โดยมีการฝึกปฏิบัติ และเรียนรู้เทคนิควิธีการต่างๆ จากศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิ จะทำให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์งานศิลปะมากยิ่งขึ้น
นางสาวอัจฉราพร พงษ์ฉวี รองอธิบดี สวธ. กล่าวเสริมว่า การนำศิลปินแห่งชาติสาขาต่างๆ สัญจร ไปยังภูมิภาค ถือว่าเป็นกลไกที่สำคัญในการเผยแพร่ ผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติ รวมถึง ยังสร้างโอกาสการถ่ายทอดประสบการณ์ องค์ความรู้ของศิลปินแห่งชาติ มาสู่ เยาวชนและประชาชน ที่อยู่ในส่วนภูมิภาคโดยตรง ซึ่งจะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและพลังในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และเกิดความภาคภูมิใจในวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง
จำลอง ฝั่งชลจิตร ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปีล่าสุดที่เข้าร่วมกิจกรรมศิลปินแห่งชาติสัญจรเป็นครั้งแรก
ด้านศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี2561 จำลอง ฝั่งชลจิตร หรือที่รู้จักกันในฉายา ลอง เรื่องสั้น บอกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมเป็นศิลปินแห่งชาติสัญจร รู้สึกดีใจและอยากเข้าร่วมอย่างยิ่ง เพราะหวังว่าจะได้รู้จักศิลปินแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆ ตลอดจนมีโอกาสได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชน ซึ่งการทำกิจกรรมค่ายวรรณศิลป์ เป็ฯการฝึกให้เด็กๆหัดเขียนเรื่องสั้น นับเป็ฯการถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้สึกที่อยู่ในใจของตนเองออกมา ซึ่งมีเด็กหลายคนที่ถ่ายทอดออกมาได้ดี มีการขึ้นต้นด้วยฉันหรือผม ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นเล่าเรื่องที่ดี เพียงแต่ยังขาดระเบียบการเขียน อย่างการย่อหน้า เว้นวรรค หรือการใช้เครื่องหมายคำพูด และการเขียนคำผิด
“สิ่งที่สำคัญ ของการเขียนเรื่องสั้น คือการฝึกฝนอยู่บ่อยๆ ทั้งการอ่านและการเขียน เพื่อให้การเขียนมีภาษาที่ลื่นไหล และมีสำนวนเป็นของตนเอง เพราะผมเอง ก็ยังเขียนงานอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นการที่ศิลปินแห่งชาติได้มีโอกาสเดินทางมาสอน จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้หรือเทคนิค จากศิลปินที่มีความชำนาญ หากมีโอกาส ก็อยากจะเข้าร่วมในครั้งต่อไป เพราะเราจะได้สัมผัสอะไรหลายอย่างในพื้นที่นั้นๆ ไม่ใช่เพียงแค่เด็กที่เห็นเราเป็นแรงบันดาลใจ เราเองก็ได้แรงบันดาลใจจากเด็กด้วยเช่นกัน” จำลอง กล่าว
ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี พูดคุยกับเหล่าเยาวชนที่สนใจงานศิลปะ
อาจารย์วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม) ที่ได้มาสอนเยาวชนที่จังหวัดสงขลา ถิ่นบ้านเกิดของอาจารย์เอง บอกว่า รู้สึกมีความสุขอย่างมาที่ได้กลับมาบ้านเกิด หลังจากที่ไม่ได้กลับมานานมาก และยังได้มาสร้างประโยชน์ กับเด็กๆ ที่สนใจงานสื่อผสม ซึ่งมีอยู่ไม่น้อย เพียงแต่เด็กอาจจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นมากนัก อาจจะเป็นเพราะการเรียนศิลปะที่โรงเรียนตามหลักสูตร มีแพทเทิร์นกำหนดไว้ เราจึงต้องสร้างความเข้าใจใหม่ ให้กับเด็ก ซึ่งที่เป็นสิ่งอยู่นอกเหนือห้องเรียน และได้สอนแบบสรุปๆไปว่า 1.สื่อผสมคืออะไร มีทั้งในกรอบและอิสระ 2.ทำรูปยังไงให้สวย ตามแนวคิดใหม่ เพื่อให้เด็กคิดนอกกรอบ 3.แลกเปลี่ยนความคิด แต่จะทำออกมาไม่เหมือนกัน ซึ่งเขาก็จะได้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่ มีทั้งเอาของจากที่บ้านมาใช้เป็นวัสดุ ทำให้เราเห็นถึงการคิดสร้างสรรค์ของเด็กที่มีอย่างไม่จำกัด สำคัญอย่างยิ่งที่ครูจะต้องพัฒนาและให้ความสำคัญกับการสอนในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้เด็กได้เปิดกว้างด้วย
นางรัจนา พวงประยงค์ กำลังสอนเด็กร่ายรำ
นางรัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย - ละคร) ที่ได้ร่วมโครงการศิลปินแห่งชาติสัญจร เป็นครั้งแรก แสดงความคิดเห็นว่า การที่ศิลปินแห่งชาติ เดินทางมาให้ความรู้กับเด็กๆ เป็นสิ่งที่เราควรทำอย่างยิ่ง และในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กับเด็กๆ ถือว่าเป็นการรักษาศิลปะซึ่งเป็นศาสตร์ของชาติ ที่ส่งทอดมาจากบรรพบุรุษ อย่างการเรียนนาฏศิลป์ ไม่ใช่เพียงสิ่งที่หลายคนคิดว่า แค่เต้นกินรำกิน แต่คือศิลปะการร่ายรำที่ทรงคุณค่าและเป็นสมบัติของไทย อย่างที่ได้มาสอนเด็กในการรำโขน-ละคร ต้องยอมรับว่าเด็กในพื้นที่นี้มีความตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างมาก เด็กกว่า 90 คนที่เข้ามาร่วมกิจกรรม มีพื้นฐานการรำที่ดี บางคนไม่มีพื้นฐานก็พร้อมที่จะเรียนรู้ เด็กใต้ นับว่าโชคดีที่มีศิลปะร่ายรำของท้องถิ่นอย่าง โนราห์ ทำให้พวกเขามีความเป็นศิลปินในหัวใจ และอยากให้สิ่งที่สอนไม่ได้จบแค่เพียงเท่านี้ อยากให้พวกเขาได้นำไปเผยแพร่และต่อยอด
นักเรียนโรงเรียนรัตภูมิวิทยา เข้าร่วมเรียนรู้การรำโขน-ละคร
เด็กหญิงสุจารี เสียงเพราะ นักเรียนชั้นม.1 โรงเรียนนวมิทราชูทิศ ทักษิน ที่ได้ร่วมเข้าฐานกิจกรรมสื่อผสม ได้รังสรรค์ผลงาน อุ่นจากพ่อแม่ บอกว่า ที่เลือกเข้าร่วมฐานนี้เพราะได้ใช้ศิลปะหลายแขนง ต่างจากที่โรงเรียนที่สอนแต่จิตรกรรม ภาพที่ทำในจึงมีทั้งภาพวาดและการนำเชือกมาสร้างเป็นต้นไม้ ที่ใช้แทนความอบอุ่น เพราะต้นไม้ให้ร่มเงา และความรู้สึกสบาย และสะท้อนว่าเด็กบางคนต้องการความอบอุ่นในครอบครัวมากกว่าเทคโนโลยี เพราะพ่อตนเองมักจะติดเล่นโทรศัพท์ ทำให้ทะเลาะกับแม่จนทำให้แยกทางกัน หลังจากวันนั้นที่ไม่มีแม่ พ่อก็เลิกเล่นโทรศัพท์คุยกับหนูบ่อยขึ้น หวังว่าคนที่ได้ดูผลงานจะเข้าใจผลงานของตนด้วย
สุจารี เสียงเพราะ นักเรียนชั้นม.1 โรงเรียนนวมิทราชูทิศ ทักษิน ที่ได้ร่วมเข้าฐานกิจกรรมสื่อผสม
เด็กหญิงเมรัญญา ปัทมเมธิน นักเรียนชั้นม.3/1 โรงเรียนรัตภูมิวิทยา บอกว่า โดยปกติที่โรงเรียนจะสอนจิตลีลา และการรำพื้นฐาน การได้มาเรียนมาโขนทำให้เรารู้สึกตื้นเต้นอย่างมาก เพราะไม่เคยเรียนมาก่อน ทำให้เราต้องทำร่างกายให้มีความอดทน เพื่อสรีระที่ดี และยังได้รู้จักท่ารำและการแสดงออกเป็นสีดา พระราม ลิง และยักษ์ ครูยังสอนสนุกด้วย ถือว่าคุ้มมากที่ได้เข้าร่วมโครงการและอยากจะให้จัดโครงการแบบนี้อีกบ่อยๆ
อ.วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติปี2552 สาขาทัศนศิลป์ด้านภาพถ่าย กำลังสอนการถ่ายภาพ บริเวณบ้านละครนอก-บ้านละครใน