"ปิยบุตร" ไม่ปฏิเสธกระแสข่าวแผนสองดัน "ธนาธร" ลงชิงผู้ว่าฯ กทม. โวมีแล้ว 2-3 ชื่อ เปิดมาคนกรุงร้องอ๋อ ส่วน ปชป.บอก "อภิรักษ์-มาดามแป้ง" มีชื่อทุกรอบ แต่ยังอีกไกลกว่าจะเคาะ ส.ส.สอบตกแดนสะตอวิ่งขอลงนายก อบจ.
ความเคลื่อนไหวเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่เริ่มมีกระแสข่าวว่าอาจจะขยับจากเดิมปลายปีนี้ไปเป็นช่วงต้นปีหน้า เนื่องจากรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องรอให้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่คาดว่าจะบังคับใช้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมปีหน้า เพราะการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบฯ รอบนี้ล่าช้ากว่าปกติร่วม 3 เดือน
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยถึงกระแสข่าวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เป็นหนึ่งในรายชื่อแคนดิเดตชิงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่า ขณะนี้ใกล้จะมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว ซึ่งเร็วๆ นี้เตรียมที่จะแถลงและให้แคนดิเดตทั้งหมดร่วมแสดงวิสัยทัศน์ลงชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้พรรคอนาคตใหม่มีรายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมจะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้วประมาณ 2 ถึง 3 รายชื่อ มั่นใจว่าจะเป็นบุคคลที่ประชาชนมีความคุ้นเคยอย่างแน่นอน
อนึ่งปัจจุบันนายธนาธรอยู่ระหว่างการรอฟังคำวินิจฉัยคดีถือหุ้นสื่อก่อนลงเลือกตั้ง ส.ส.ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่คาดว่าอาจจะรู้ผลในปลายเดือนนี้ หากว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่เปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดี
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาคกรุงเทพมหานคร เผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาบุคคลเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรคประชาธิปัตย์ว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในกระบวนการสรรหาบุคคล ซึ่งมีทั้งผู้ที่สนใจอยากจะลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ และผู้ที่พรรคให้ความสนใจที่จะเชิญมาลงสมัครในนามของพรรค โดยจะนำรายชื่อของทั้งสองส่วนนี้มาพิจารณาเพื่อหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความตั้งใจที่จะทำงานรับใช้ชาว กทม. รวมถึงคนที่มีความสามารถเป็นนักบริหารมืออาชีพ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวที่เคยมีชื่อนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. จะกลับมาลงสมัครอีกครั้ง นายองอาจกล่าวว่า เคยมีคนในพรรคหลายคนออกมาสนับสนุนชื่อนายอภิรักษ์ให้มาลงสมัครผู้ว่าฯกทม. แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อไหร่ จึงทำให้ยังมีเวลาในการพิจารณาตัดสินใจ ซึ่งทุกคนก็ยังมีเวลาคิด และตัดสินใจว่าจะลงสมัครหรือไม่อย่างไร พรรคคุยกับทุกคนที่เราเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสม
"รวมถึงมีชื่อนางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้บริหารบริษัทเอกชนว่าอาจจะมาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ข่าวนี้ก็มีมานานแล้ว และหลายครั้งเวลาจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งใด มักจะมีชื่อนางนวลพรรณเสมอ เป็นชื่อที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและสังคมมาตลอด เพราะเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จ" นายองอาจกล่าว
ส่วนบุคคลที่พรรคจะส่งลงสมัครแนวโน้มจะเป็นหน้าใหม่ทางการเมืองหรือไม่ นายองอาจกล่าวว่า เราไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นคนหน้าใหม่หรือหน้าเก่า หรือเป็นคนลักษณะไหน แต่เราต้องการคนที่เป็นนักบริหารมืออาชีพ เป็นคนที่รู้เรื่องงานของ กทม. และพร้อมที่จะเข้าไปทำงานได้จริง ซึ่งแม้ว่าผลการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา พรรคไม่ได้ที่นั่งใน กทม. แต่คน กทม.จะพิจารณาลงคะแนนในการเลือกตั้งแต่ละครั้งต่างกัน โดยจะดูองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งนั้นๆ เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ประชาชนจะดูที่ตัวผู้สมัคร นโยบาย ความสามารถในการบริหารงานและพรรคการเมืองที่สังกัด ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นเรื่องระดับชาติ ก็จะดูเรื่องการไปเป็นรัฐบาลและแนวทางในการนำประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้
วันเดียวกัน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งในกรุงเทพฯ และในจังหวัดต่างๆ พรรคมีหลักเกณฑ์เรื่องนี้ชัดเจนว่าจะกระจายอำนาจท้องถิ่นให้มากเท่าที่จะทำได้ เพราะการทำงานท้องถิ่น จะตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ ซึ่งพรรคเตรียมความพร้อมไว้แล้ว ขณะนี้มีบุคคลที่เสนอตัวมาร่วมงานจำนวนมากในหลายจังหวัด มีสมาชิกแสดงความจำนงที่จะลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในนามของพรรค เช่น นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ จะลงสมัครนายก อบจ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น
ทั้งนี้ นายสุรเชษฐ์ เป็นอดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย แต่รอบที่แล้วแพ้การเลือกตั้งสอบตก โดยแพ้ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ
ด้านนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง สเปกของผู้ว่าฯ กทม. ที่คนกรุงต้องการ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,060 ตัวอย่าง วันที่ 1-7 กันยายน พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา โดยเมื่อถามว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ตั้งใจจะเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.0 ยังไม่มีใครในใจ ในขณะที่ร้อยละ 36.0 ระบุมีพรรคการเมืองที่จะเลือกในใจแล้ว เช่น อนาคตใหม่ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และอื่นๆ
และเมื่อจำแนกออกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า กลุ่มนักศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.1 ระบุมีพรรคการเมืองในใจแล้ว ในขณะที่กลุ่มอาชีพอื่น เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.4, พนักงานเอกชน ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.5 และกลุ่มอาชีพอื่นๆ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.5 ยังไม่มีใครในใจ ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่น่าสนใจคือ ลักษณะหรือสเปกของผู้ว่าฯ กทม.ที่ต้องการ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.8 ระบุซื่อสัตย์สุจริต ไม่พัวพันทุจริตคอร์รัปชัน รองลงมาคือร้อยละ 74.3 ระบุแก้ปัญหาเก่ง รวดเร็ว ไม่ขายฝัน พูดจริงทำจริง มีผลงาน และร้อยละ 24.5 ระบุอื่นๆ เช่น คนรุ่นใหม่ การศึกษาดี เสียสละ นโยบายจับต้องได้ น่าเชื่อถือ เป็นที่รู้จัก เป็นต้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |