แกนนำรัฐบาลยันพร้อมรับมือซักฟอกเต็มที่ หากอภิปรายเกินเลยผิดข้อบังคับ ส.ส. รัฐบาลใช้สิทธิ์ประท้วงตามหน้าที่ อนค.จัดทัพให้ "ปิยบุตร" เป็นคนเปิดอภิปราย 60 นาที "เต้ พระราม7" โต้ "ธรรมนัส" SAVE พรรคเล็ก ลั่นเขาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ลิง อาหารเขาไม่ใช่กล้วย แต่เป็น "ผู้แทนราษฎร" วงเสวนาแก้รธน.รุมจวก รธน.60 ลิดรอนสิทธิ ปชช. อ้างไม่แก้ รธน.แก้ปัญหา ศก.ไม่ได้ "คุณช่อ” ปลุก ปชช.ลงถนนอย่างสันติ แต่ต้องไม่มีใครตาย ประธานทีดีอาร์ไอกระตุ้น "ธนาธร" ถ้ารื้อฟื้นคดีทักษิณอยู่ในแพ็กเกจจะมีคนกว่าครึ่งคัดค้านและตกตั้งแต่แรก
เมื่อวันอาทิตย์ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการรับมือการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนว่า เชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไร และนายกฯ จะไปตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง ขณะที่พรรค พปชร.ก็ได้เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ มีความพร้อมอยู่แล้ว ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลนั้นได้ยืนยันว่าจะอยู่ร่วมรับฟังการอภิปรายอย่างครบถ้วน จึงไม่ต้องตั้งองครักษ์พิทักษ์นายกฯเพราะหากฝ่ายค้านอภิปรายเกินเลยนอกประเด็น หรือผิดข้อบังคับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็สามารถประท้วงให้เป็นไปตามข้อบังคับได้อยู่แล้ว คิดว่าก่อนประชุมนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ จะมีการอธิบายกรอบของการอภิปรายให้สมาชิกได้รับทราบ แต่หาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่ามีอะไรเกินเลย ก็จะใช้สิทธิ์ประท้วงตามหน้าที่
"เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถชี้แจงได้อย่างชัดเจน เพราะเคยพูดหลายครั้งแล้วว่าปฏิบัติตามขั้นตอน แต่เมื่อฝ่ายค้านขอใช้สิทธิ์ตามระบอบรัฐสภาเพื่อขอเปิดอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ ก็พร้อมใช้สิทธิ์ตัวเองในการชี้แจง ดังนั้นเมื่อชี้แจงแล้ว ทุกอย่างก็น่าจะจบ แต่ตอบไม่ได้ว่าหลังวันที่ 18 ก.ย.แล้วฝ่ายค้านยังจะหยิบยกประเด็นนี้มาพูดกันอีกหรือไม่"
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะเสนอเปิดประชุมลับ นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น อาจมีเนื้อหาที่กระทบกระเทือนในหลายมิติ จึงเห็นว่าถ้าประชุมลับได้ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ด้วยว่าไม่ควรมีประเด็นที่กระทบกระเทือนสถาบันหลักของชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง แต่หากมติของสมาชิกเห็นว่าไม่ควรเปิดประชุมลับ เราก็พร้อมเห็นด้วยตามมติส่วนใหญ่
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวถึงความพร้อมและการจัดทีมผู้อภิปรายในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ว่าพรรค อนค.มีความพร้อม เตรียมผู้อภิปรายไว้ 6 คน โดยตนจะเป็นคนเปิด ตั้งใจว่าจะใช้เวลาประมาณ 60 นาที และอีก 5 คนจะขยายรายละเอียด ทั้งเรื่องการถวายสัตย์ฯ และเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากความไม่แน่นอนว่าการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนจะส่งผลต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล นอกจากนั้นยังมีเรื่องการแถลงนโยบายที่ไม่ระบุที่มาของงบประมาณ
"เข้าใจว่านายกฯ ต้องปฏิบัติภารกิจ แต่อยากให้มาสภา อย่าพยายามหาช่องทางขอเปิดประชุมลับหรือเร่งปิดประชุมหรือประท้วงจนไม่ได้อภิปรายกัน เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อ ครม. และโดยหลักแล้วญัตติตามมาตรา 152 เป็นการเข้าชื่อกันของฝ่ายค้าน ซึ่งมีข้อสงสัยอยากเสนอแนะ อีกทั้งไม่มีการลงมติ ดังนั้นต้องเปิดโอกาสให้คนที่เสนอญัตติได้อภิปรายก่อน ไม่เห็นความจำเป็นที่ฝ่ายรัฐบาลต้องร่วมอภิปรายด้วย" นายปิยบุตรกล่าว
พรรคเล็กไม่ใช่สัตว์แต่เป็น ส.ส.
นายปิยบุตรยังกล่าวถึงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาฯ จำนวน 35 คณะ ซึ่งพรรค อนค.ได้มา 6 คณะว่า ครั้งนี้พรรคฝ่ายค้านได้ตำแหน่ง กมธ.มากกว่าฝ่ายรัฐบาล คิดว่าการทำงานของ กมธ.อาจจะยากลำบากทุกคณะ มากกว่าสภาชุดที่ผ่านมา เพราะใน กมธ. 1 คณะประกอบด้วยสมาชิก 15 คน ซึ่งจะถูกคละจากหลายพรรคการเมือง จึงหามติแบบยึดกลุ่มการเมืองยาก แต่ในทางกลับกันก็อาจจะมีข้อดี เพราะจะกระตุ้นให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคทำงานร่วมกัน จะไม่มีใครชิงดีชิงเด่น ก็คิดว่าจะไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถครอบงำการทำงานของ กมธ.ได้ ถือเป็นความท้าทายของการทำงานมาก
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวถึงกรณีพรรคประชาธรรมไทยยังไม่ได้ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพียงขอแยกห้องทำงานว่า พรรค พปชร.และพรรคการเมืองขนาดเล็กจะเจรจาต่อรอง ข่มขู่ กดดัน เรียกรับผลประโยชน์ เมื่อไม่ได้ก็โวยวาย แต่เคลียร์กันเสร็จ ก็พลิกลิ้นกลืนน้ำลายเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งไม่ควรทำให้เกิดข่าวลักษณะแบบนี้บ่อยครั้ง เพราะทำให้ประชาชนสิ้นหวังและรำคาญ
"อย่าใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการเจรจาต่อรอง จะตบจูบกันอย่างไรไปทำกันหลังม่าน ไม่ต้องมาโชว์ ประชาชนเบื่อหน่าย และไม่ได้ประโยชน์ ข่าวลักษณะพรรคร่วม พรรคเล็ก ข่มขู่กรรโชกทรัพย์ ตบทรัพย์กันทางการเมืองมีให้เห็นตลอด ขอให้ยึดผลประโยชน์ของพรรคตัวเองให้น้อย คิดถึงประโยชน์ของประชาชนให้มาก เริ่มต้นเป็นงูเห่า ลงท้ายเป็นแค่ลิงงอแง อยากได้กล้วย พอให้กล้วยกินอิ่มก็เงียบ รัฐธรรมนูญที่ทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดการเจรจาต่อรอง เป็นใบเสร็จยืนยันว่าการปฏิรูปการเมืองไม่มีอยู่จริง ปฏิรูปต้องนำพาการเมืองของประเทศก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่ทำให้การเมืองไทยย้อนยุคไป 40 ปี" นายอนุสรณ์กล่าว
ขณะที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กระทรวงเกษตรฯ และผู้ประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล เปรียบตัวเองเหมือนคนเลี้ยงลิง หลังเคลียร์ลงตัวกับนายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธรรมไทย ไม่ให้ออกจากการร่วมสนับสนุนรัฐบาลว่า คำพูดเป็นนาย SAVE พรรคเล็ก สิ่งที่มีค่ามากกว่าเงิน-ทอง-ตำแหน่ง คือศักดิ์ศรีความเป็นคน สิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับผมคือเสรีภาพทางความคิด การแสดงออก คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน ผมยังเป็นห่วงพี่ๆ ผมทั้ง 9 พรรคการเมือง ฝากรัฐบาลดูแลหัวใจด้วยความจริงใจกับพวกพี่เขาด้วย เขาไม่ใช่สัตว์ เขาไม่ใช่ลิง อาหารเขาไม่ใช่กล้วย แต่พวกพี่เขาเป็น "ผู้แทนราษฎร" เป็น "หัวหน้าพรรคการเมือง" ดูแลเขาต้องใช้ใจแลกใจ จาก เต้ พระราม 7
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) แถลงว่า เงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคปชป.ข้อหนึ่งคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ยืนยันว่าพรรคไม่เคยหยุดดำเนินการในเรื่องดังกล่าวตามที่มีข้อสังเกต แต่เราต้องใช้เวลาในการพิจารณาโดยพรรคได้มอบให้คณะกรรมการกฎหมาย ที่มีนายถวิล ไพรสณฑ์ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย รับผิดชอบดูแล ขณะนี้ได้จัดเตรียมข้อมูลรัฐธรรมนูญย้อนหลังไปทุกฉบับเพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญในประเด็นที่เราระบุไว้ โดยเฉพาะประเด็นที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขยาก เช่น การกำหนดในวาระแรกให้วุฒิสภาต้องกำหนดให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนวุฒิสภา คือ 83-84 คน ที่ต้องยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้แก้ไขโดยง่าย
ทิ้งปชช.มุ่งแต่แก้ รธน.
นายปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวถึงกรณีที่ ปชป.ยื่นญัตติตั้ง กมธ.เพื่อศึกษาและแก้ไข รธน. ว่าถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในระดับสภาผู้แทนราษฎร การหาคะแนนหรือแนวร่วมไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป แต่ปัญหาต่อไปที่เราต้องเจอคือการรวมเสียง ส.ว.ให้ได้จำนวน 1 ใน 3 ของสภา หรือ 84 เสียงขึ้นไป ซึ่งคิดว่าพลังของประชาชนที่อยู่ภายนอกจะสามารถกดดันให้ ส.ว.เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐสภาต้องทำหน้าที่สะท้อนเสียงของประชาชนให้ปรากฏขึ้นจริง ซึ่ง ส.ว.ต้องรับหน้าที่นี้ด้วย
ขณะที่ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต จอมทอง-ธนบุรี และรองโฆษกพรรค พปชร. เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่พบประชาชนในชุมชนวัดราชวรินทร์ แขวงสำเหร่ และแขวงบุคคโลเพื่อรับฟังปัญหาและรับเรื่องราวร้องทุกข์ หลังได้รับร้องเรียนจากประชาชนถึงปัญหายุงลายชุกชุมในชุมชน รวมทั้งพื้นที่ทำมาหากิน จึงได้รับเรื่องไว้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขโดยเร่งด่วนแล้ว นอกจากนี้ประชาชนยังได้สอบถามถึงข้อมูลเกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และขอลงทะเบียนเพิ่มเติมจากที่ตกหล่นด้วย พร้อมกันนี้ ชาวชุมชนยังฝากส่งกำลังใจไปถึงผู้ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่ด้วย
"น่าเสียดายที่ผู้แทนฯ ในเขตพื้นที่ไม่ได้ดูแลชุมชนอย่างใกล้ชิด ทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไข จนชาวชุมชนบ่นว่าได้รับเลือกตั้งเข้าสภาแล้วทิ้งพื้นที่ ทิ้งประชาชน มุ่งแต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ขอให้ผู้แทนฯ ลงไปดูแลแก้ไขปัญหาของชาวชุมชน ซึ่งหลังจากทราบข่าวนี้ คงจะพาหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ลงพื้นที่เพื่อสร้างกระแสเหมือนเดิม" รองโฆษก พปชร. กล่าว
วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ บรรยายในหัวข้อ "การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560" จัดโดยหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต และหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น โดยนายปิยบุตรระบุว่า อยากนำเรื่องอริยสัจ 4 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนามาจับเพื่อให้สอดคล้องกับนิสิตนักศึกมาที่มาร่วมฟังอริยสัจ ข้อแรกคือ ทุกข์ ประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ขณะนี้หลายคนบอกว่าประชาชนประสบปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่งเห็นว่าปัญหานี้สัมพันธ์กับปัญหาการเมืองอย่างแน่นอน สมุทัย หรือเหตุแห่งทุกข์ คือเราตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่ไหน อยู่กับประชาชนหรือกับกองทัพ กับชนชั้นนำ โดยรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ชัดเจนว่ามีเป้าประสงค์คือเอาการเมืองไทยดึงกลับไปปี 2521 ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ นิโรธ หรือความดับทุกข์ วิธีการแก้ไข รธน.นั้นยากมาก มีกลไกต่างๆ วางไว้เต็มไปหมด มรรค หรือหนทางดับทุกข์ ถ้าประชาชนคนไทยเกือบทั้งหมดเอาด้วย แสดงพลังปรากฏกายออกมาว่าไม่ต้องการอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างกันเอง ส่งเสียงออกมาให้ผู้มีอำนาจได้ยิน และมาหาฉันทามติหาข้อตกลงร่วมกัน
"ถึงเวลาแล้วที่ต้องทวงอำนาจการเขียนรัฐธรรมนูญให้กลับมาอยู่ที่ประชาชน ตกลงกันด้วยกรอบหลักการเบื้องต้น คือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญยืนยันหลักแบ่งแยกอำนาจ และประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตมหาศาล แต่เป็นการเขียนแบบที่อารยชนทำกัน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมคิดว่าเป็นไปได้" นายปิยบุตรกล่าว
ไม่แก้รธน.แก้ศก.ไม่ได้
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานเสวนา “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ผ่านกระบวนการประชามติ แม้จะมีคำถามว่าทำอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ แต่ก็มีความชอบธรรมในระดับหนึ่ง ดังนั้น กระบวนการที่จะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องคิดถึงประเด็นนี้ว่าจะมีอะไรที่ชอบธรรมกว่าการมีประชามติของประชาชน ซึ่งก็คือการริเริ่มโดยภาคประชาชนเองให้มากที่สุด ประชาชนต้องเป็นฝ่ายเสนอแก้กฎหมาย เพื่อทำให้เป็นรัฐธรรมนูญเป็นของทุกฝ่าย และต้องเลือกแก้เฉพาะเรื่องที่สำคัญจริงๆ เป็นเรื่องที่คนมีความเห็นพ้องต้องกันสูง เพื่อหาวิธีประสานความแตกต่าง และอย่าเลือกประเด็นที่มีความอ่อนไหว โดยเฉพาะการเช็กบิลย้อนหลัง
“ผมไม่ค่อยสบายใจเวลาคุณธนาธรพูดว่าจะไปรื้อฟื้นคดีคุณทักษิณ ชินวัตร แน่นอนว่ามันถกเถียงกันได้ว่ากระบวนการเล่นงานคุณทักษิณนั้นมีปัญหาหรือไม่ แต่ในสังคมไทยมีคนจำนวนมากไม่ชอบคุณทักษิณอยู่ ถ้าคนเข้าใจว่าประเด็นแบบนี้อยู่ในแพ็กเกจการแก้รัฐธรรมนูญด้วย จะมีคนเกือบครึ่งหนึ่งคัดค้าน ทำให้มันตกตั้งแต่แรก จึงอยากให้เลือกประเด็นให้ดี ต้องเป็นประเด็นที่ประสานคน ไม่ใช่แบ่งแยกคน” นายสมเกียรติกล่าว ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค. ชี้แจงเกี่ยวกับการดึงนายทักษิณกลับมาว่า ความจริงตนไม่ได้พูดว่าจะดึงเขากลับมาสู่กระบวนการพิจารณาในระบบยุติธรรมในลักษณะนั้น แค่จะสื่อสารว่า ในรอบกว่า 10 ปี มีคนมากมายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้เจาะจงว่าชื่ออะไร นามสกุลอะไร ไม่ว่าเขาจะอยู่ฝักฝ่ายไหน คนหลายคนต้องติดคุก หรือโดนคดีในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ คิดว่าอาจจะต้องเกิดคำสั่งที่คล้ายกับคำสั่งที่ 66/2523 เพื่อเยียวยาคนที่ถูกกระทำทั้งหมด เพื่อดึงคนในสังคมกลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
ที่สถานที่ศูนย์วัฒธรรมพุทธวิชชาลัยมราชภัฏพระนคร บางเขน มีการจัดเสวนา “ตอบโจทย์ประเทศไทย ทำไมต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า จะแก้รัฐธรรมนูญได้จะใช้พรรคการเมืองนำไม่ได้เด็ดขาด เพราะจะไม่สำเร็จ ต้องใช้เสียงประชาชน การแก้รัฐธรรนูญปี 60 จะเป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องทำให้เป็นไปให้ได้ เราต้องอธิบายให้ประชาชนเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อน ไม่มียุคใดที่ลำบากขนาดนี้ ปัญหาที่ประชาชนเจอในวันนี้มี 3 อย่าง คือ เจอน้ำท่วม เจอน้ำแล้ง และเจอ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องทำให้คนไทยพูดเป็นเสียงเดียวกันให้หมดว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าไม่แก้ คนไทยจะลำบาก และจะเดือดร้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรค พท.เรามุ่งมั่นที่จะเดินหน้าทำความเข้าใจกับประชาชน ให้ประชาชนได้รู้ถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราอาจจะมีการทำประชามติก่อน 1 ครั้ง เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยากให้เราช่วยกันแสดงพลังในตอนนั้น
น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค อนค. กล่าวว่า ไม่ว่ารัฐบาลดีแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้ปากท้องของประชาชนดีขึ้น ถ้าไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อให้มีรัฐบาลที่เก่งกาจ แต่หากบริหารประเทศไปเรื่อยๆ แล้วถูกรัฐประหาร และมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อยๆประเทศก็ไปไม่ได้ ดังนั้นการจะทำรัฐธรรมนูญให้กลับมาเป็นของประชาชน โดยยึดโยงประชาชน เพื่อให้เศรษฐกิจปากท้องดีขึ้น ประชาชนต้องเห็นว่าการต่อสู้ต้องทำโดยประชาชน เกิดคำถามจากประชาชนว่า เรียกร้องให้ออกมา ประชาชนตายไปเท่าไหร่แล้ว การเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน จำเป็นต้องให้ประชาชนออกมา แต่ออกมาแล้วตายก็ไม่โอเค
"แต่เราอยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาสู้ ฉะนั้นสิ่งแรกที่เราต้องสู้ในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือสิทธิในการเรียกร้องของประชาชน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเราอยู่ภายใต้ทัศนคติที่ว่ามีม็อบป่วนเมือง มีม็อบต้องมีคนตาย มีม็อบของขายไม่ได้ ต้องไม่ใช่แบบนั้น เพราะการเดินขบวนอย่างสันติเป็นเรื่องปกติในประเทศประชาธิปไตย ประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อังกฤษ มีการเดินขบวนแทบทุกวันก็อยู่กันได้ และไม่มีใครตาย ทำตรงนี้ให้ได้ และเรียกร้องว่าสิทธิในการอยู่บนถนน เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญของประชาชนเป็นสิทธิที่ทุกคนทำได้ และไม่ต้องตาย ไม่ต้องขัดแย้ง ไม่ต้องทะเลาะกัน" น.ส.พรรณิการ์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |