ในหลวงทรงห่วง จมน้ำแต่ปลื้มใจ ถุงพระราชทาน


เพิ่มเพื่อน    

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่มุกดาหาร ปภ.สรุปผลกระทบ "โพดุล-คาจิกิ" จม 32 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 24 ราย "บิ๊กป้อม" ไปขอนแก่น ท่องตัวเลขความเสียหายเป๊ะ สั่งทำฝนหลวงเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อย ส่วน "บิ๊กตู่" ลงพื้นที่ ยโสธรและอุบลราชธานีจันทร์นี้

    เมื่อวันที่ 7 กันยายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายศุภชัย ภู่งาม องคมนตรี ไปประชุมและติดตามการเกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ต่อจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายศุภชัย ภู่งาม องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 997 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
         ในโอกาสนี้ องคมนตรีได้เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปกล่าวกับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดเหตุอุทกภัยให้รับทราบ กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานอาหารแก่ราษฎรที่เดินทางมารับถุงพระราชทาน กับลงพื้นที่เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอดอนตาล จำนวน 3 ราย พร้อมทั้งพูดคุยให้กำลังใจกับราษฎร   ต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
          จังหวัดมุกดาหาร ได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “โพดุล” ที่พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากติดต่อกันในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2562 ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บ้านเรือนราษฎร สิ่งสาธารณประโยชน์ พื้นที่ทางการเกษตร ได้รับความเสียหายใน 7 อำเภอ 52 ตำบล 514 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 21,426 ครัวเรือน และเสียชีวิต 1 ราย
     สรุปสถานการณ์จากอิทธิพลพายุโซนร้อน "โพดุล" และพายุโซนร้อน "คาจิกิ" ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย(มท.) กล่าวว่า ขณะนี้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ รวม 32 จังหวัด ผู้เสียชีวิต 24 ราย (ยโสธร 6 ราย, อำนาจเจริญ 4 ราย, ร้อยเอ็ด 4 ราย,  ขอนแก่น 3 ราย, พิจิตร 2 ราย, อุบลราชธานี 1 ราย,  พิษณุโลก 1 ราย, มุกดาหาร 1 ราย, สกลนคร 1 ราย,  น่าน 1 ราย) ผู้บาดเจ็บ 1 คน (ชัยภูมิ) 
    โดยขณะนี้ยังคงมีสถานการณ์น้ำในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ อพยพประชาชน 3,438 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 15 จุด (อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี)    
"บิ๊กป้อม"ไปขอนแก่น
    ที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำเก็บกักของเขื่อนอุบลรัตน์ และสถานการณ์น้ำภาพรวมในภาคอีสานจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และรายงานสรุปการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้งและการฟื้นฟูผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล เหล่งเหล่ง และคาจิกิ
    พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สนทช. เป็นแม่งานหลักในการบูรณาการกับทุกหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ส่วนภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้กรมฝนหลวงฯ เร่งทำฝนหลวง เพื่อเพิ่มเติมน้ำในพื้นที่แห้งแล้ง และขอให้การบริหารจัดการน้ำต้องเพิ่มการคาดการณ์ถึงความเสี่ยงต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน พยายามเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด และต้องคำนึงถึงศักยภาพการระบายน้ำ สิ่งกีดขวาง รวมทั้งความมั่นคงปลอดภัยของอาคาร นอกจากนี้ ควรมีการส่งเสริมอาชีพอื่นๆ ทดแทนรายได้ให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบด้วย
    "รัฐบาลมีความห่วงใยในปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศจากอิทธิพลพายุโพดุลและคาจิกิ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับการลงพื้นที่ในวันนี้ เป็นการมาติดตามสถานการณ์ในพื้นที่จริง รวมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน และขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายและกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เน้นย้ำให้ฝนหลวงเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อย และขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะการที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้ทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วม"
    รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อนโพดุลและคาจิกิ ทำให้ฝนตกหนักหลายพื้นที่ช่วงระหว่างวันที่ 29 ส.ค.ถึง 7 ก.ย. ส่งผลดีกับปริมาณน้ำกักเก็บในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยคาดว่าจะทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2,760 ล้านลูกบาศก์เมตร ในส่วนพื้นที่ภาคอีสาน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ผ่านพ้นวิกฤติน้ำน้อยที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่า 30% คือเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ 
    ส่วนน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ หลังจากที่ได้รับอิทธิพลพายุในช่วงที่ผ่านมา ทำให้น้ำไหลเข้าอ่างประมาณ 115 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ระดับน้ำยังคงต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุด ปริมาณน้ำปัจจุบันอยู่ที่ 592 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 24 ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้เพียง 11 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 1 เท่านั้น ทำให้ปัจจุบันยังไม่สามารถระบายน้ำเพื่อการเกษตรได้ ซึ่งหากน้ำยังคงน้อยตลอดฤดูแล้งเดือนพฤศจิกายน 2562 นี้ อาจมีผลทำให้ไม่สามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรได้ ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง
"บิ๊กตู่"ไปยโสธร-อุบลฯ
    ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 9 กันยายนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ จะเดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำและเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดยโสธรและจังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมคณะด้วย
    นางนฤมลกล่าวว่า นายกฯ จะนั่งรถตรวจสภาพปัญหาพื้นที่บริเวณแม่น้ำชีไหล และลำน้ำยังไหลมาบรรจบกัน ณ บ้านแจงน้อย ต.ค้อเหนือ อ.เมืองฯ จ.ยโสธร จากนั้นจะเดินทางไปเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัย ณ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อนจะเดินทางต่อไปยังศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของเทศบาล ต.บ้านกอก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย เมื่อเสร็จภารกิจจึงเดินทางกลับ
    "นายกรัฐมนตรีกำชับให้ส่วนราชการเร่งช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงน้ำท่วม ทั้งการสนับสนุนเครื่องจักรกล เรือท้องแบน จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตั้งโรงครัวพระราชทาน โรงครัวของส่วนราชการ รวมทั้งเตรียมแผนและมาตรการเยียวยาภายหลังน้ำลด ทั้งที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็เดินหน้าแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบด้วย" โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุโพดุลและคาจิกิ ที่บ้านเขวา ต.เขวา อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พร้อมมอบถุงยังชีพ 2,250 ชุด ตามโครงการความร่วมมือ ของกระทรวงพลังงาน ร่วมกับ ปตท.และ กฟผ. ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ให้กับผู้ประสบภัย ต.บ้านเขวา อ.เสลภูมิ จำนวน 6 หมู่บ้าน
         นายสนธิรัตน์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานตรวจสอบพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ตลอดทั้งรวบรวมปัญหาของชาวบ้านทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงาน เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และปัญหาอื่นๆ เช่น พืชผลนาข้าว พืชเศรษฐกิจที่เสียหาย ถนนหนทางที่ชำรุดเสียหาย เพื่อประสานกับหน่วยงานอื่นเร่งแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มีต่อพี่น้องชาวอีสานและภาคอื่นๆ นั้น รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะหน้าในช่วงนี้ และจะมีมาตรการช่วยเหลือในช่วงหลังน้ำลดตามมาด้วย
     รมว.พลังงานกล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีการวางแผนร่วมกับพันธมิตรคือ ปตท. จัดทำโครงการส่งเสริมผลผลิตสินค้า OTOP ของกลุ่มชุมชนแต่ละหมู่บ้าน ด้วยการเปิดให้มีจุดขายสินค้าในปั๊มน้ำมัน ปตท.ทุกแห่งทั่วประเทศกว่า 2,000 แห่ง เพื่อสร้างรายได้เสริมหลังน้ำลด ชดเชยความเสียหายจากการทำการเกษตร ซึ่งเป็นแผนการนำร่องในการแก้ปัญหาเบื้องต้น ก่อนที่จะศึกษาแนวทางการเข้ามาส่งเสริมสร้างรายได้ให้กับประชาชนในด้านอื่น เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
"สมศักดิ์"งง
          นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังกล่าวว่า ทางกระทรวงพลังงานมีแผนในการดำเนินการ จัดทำแผนด้านการบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะเริ่มแผนที่จะนำน้ำมาใช้เป็นพลังงานให้เกิดประโยชน์ แทนที่จะปล่อยให้น้ำที่มีปริมาณมากสูญเปล่า
    ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีเฟซบุ๊ก "สะเอียบจัดการตนเอง"  ได้โพสต์ข้อความว่า สะเอียบ มีมติไม่รับถุงยังชีพจากสมศักดิ์ เทพสุทิน เพราะชุมชนไม่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมจากพายุโพดุลที่ผ่านมาว่าหลังทราบข้อมูลข่าวดังกล่าว ตนได้สอบถามมายังทีมงานถึงเรื่องถุงยังชีพ ซึ่งได้รับการยืนยันว่ากระทรวงยุติธรรมไม่ได้มีหน้าที่หรือรับผิดชอบเรื่องการแจกถุงยังชีพ และโดยส่วนตัวหรือทีมงานการเมืองของตนก็ไม่เคยมีข้อสั่งการให้นำถุงยังชีพออกแจกจ่ายแต่อย่างใด ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย หรือ ส.ส.ในพื้นที่ มักจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยผ่านการแจกถุงยังชีพ ทั้งนี้ เชื่อว่าข่าวที่นำมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียอาจจะเป็นข้อมูลเท็จ
    พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานบริหารจัดการนำได้ใช้งบประมาณไปกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งและแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก แต่ยังพบกับปัญหาที่ต้องการแก้ไขยังคงเกิดขึ้นซ้ำซาก ซึ่งรัฐมักอ้างว่าปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้งนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่ตกและภูมิอากาศโลกที่แปรปรวน
    “งบน้ำ งบภัยแล้ง งบอุทกภัย” จะเป็นที่โจษขานว่ามีการหาประโยชน์ในงานขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศ การแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ยิ่งในช่วงรัฐบาล คสช.ที่ผ่านมา ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่จะตรวจสอบ กลั่นกรองติดตามการใช้งบประมาณ ผู้นำองค์กรของรัฐ และองค์กรอิสระที่รับผิดชอบในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตล้วนก็ถูกแต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ ที่รวบอำนาจนั่งเป็นประธานบริหารจัดการน้ำแทนทั้งสิ้น จึงไม่มีใครกล้าตรวจสอบ ดังนั้น แม้รัฐใช้งบบริหารจัดการน้ำไปมากกว่า 2 แสนล้านบาท แต่กลับพบว่าปัญหาน้ำท่วมและแห้งแล้งขาดน้ำไม่ได้เบาบางลงเลย
    พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่บอกว่าขอแนะนำพื้นที่ใดน้ำท่วมมากให้ปรับเปลี่ยนอาชีพ เช่น เลี้ยงปลาแทนการทำนาปลูกข้าว ที่ จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 4 ก.ย. แสดงถึงวิธีคิดตามระบอบ ประยุทธ์ รวมศูนย์ จะได้รับการแก้ไขด้วยหลักประชาธิปไตยที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจที่ประชาชนมีส่วนร่วมไปด้วย.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"