โหมโรงศึกซักฟอก จับตารัฐบาล-ฝ่ายค้าน เล่นเกมการเมืองจนเสื่อม


เพิ่มเพื่อน    

            ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้วันที่ 18 ก.ย.นี้เป็นวันอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กรณีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 และการแถลงนโยบายของรัฐบาลไม่บอกแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำไปใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ไม่ครบองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 

                ขณะที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้กำหนดวันอภิปรายในวันที่ 18 ก.ย.เพียงวันเดียว ก่อนปิดสมัยการประชุมในวันดังกล่าว ซึ่งหากรวมเวลาอภิปรายตั้งแต่เวลา 09.30 น.-24.00 น. มีเวลาถกกันเต็มที่ 14 ชม.ครึ่ง

                ล่าสุดมีความชัดเจนจาก บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โฮชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมจะไปชี้แจงต่อที่ประชุมสภาในประเด็นดังกล่าวแล้วหลังจากทำท่าแทงกั๊กมาตลอด 

อย่างไรก็ตาม แม้ นายกรัฐมนตรี ยืนยันจะไปชี้แจงต่อสภา แต่ได้ระบุว่า "ทุกวันนี้ก็มีงาน 4-5 งาน ทั้งช่วงบ่ายและช่วงเย็น ในวันที่ 18 ก.ย.ผมก็มีงานที่ต้องทำอยู่เหมือนกัน แต่ผมยืนยันว่าจะเข้าไปฟัง แต่หากมีภารกิจผมก็ต้องออกมาบ้าง แล้วจะกลับไปฟังใหม่ คงต้องเป็นแบบนี้ จะไม่ให้ผมทำงานอย่างอื่นเลยหรือ"

                ทำให้ฝ่ายค้านซึ่งเชื่อมาตลอดว่านายกฯ มีเจตนาจะไม่ไปชี้แจงสภาด้วยตนเอง หรืออาจให้คนอื่นไปชี้แจงแทน  แม้ล่าสุดนายกฯ ยืนยันว่าจะไปชี้แจงด้วยตนเอง แต่ก็เกรงว่าอาจจะไปชี้แจงแล้วไม่นั่งฟังตลอดการประชุม

                เนื่องจากในวันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยกรณีความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 วรรค 1 (4) ประกอบ มาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่ เพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

                โดย นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน มองว่า ที่นายกฯ จะฟังไม่ต่อเนื่องเพราะต้องออกไปทำงานนั้น ถือเป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบต่อสภาที่มีวาระพิจารณาสำคัญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กำหนดไว้และมีการอภิปรายลักษณะดังกล่าวเพียงปีละครั้ง สะท้อนให้เห็นการขาดวุฒิภาวะที่นายกฯ ต้องรับผิดชอบต่อสภา รวมถึงจงใจหนีการกระทำความผิด

                ทั้งนี้ กลายเป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย เมื่อมีการประชุมสภาในวาระสำคัญๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มักจะชิงไหวชิงพริบกันทางการเมือง จนเกิดการตอบโต้ประท้วงกันวุ่นวายเป็นประจำ นำมาซึ่งความเบื่อหน่ายของประชาชนที่ติดตามการถ่ายทอดการประชุม

                การอภิปรายทั่วไปในวันที่ 18ก.ย.ที่จะถึงนี้ก็เช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่อง การถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหว หากมีการพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ สมาชิกสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 สามารถขอให้มีการประชุมลับได้

                แต่ฝ่ายค้านมองว่าไม่มีเหตุผลที่ต้องประชุมลับ โดย นายสุทิน ระบุว่า สำหรับฝ่ายค้านไม่มีอะไรอ่อนไหวเพราะเป็นเรื่องของพล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น ไม่มีส่วนอื่นที่จะล่วงเลยไปมากกว่านายกฯ แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลเท่านั้นที่อ่อนไหว ส่วนในกรณีที่เรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญจึงทำให้การอภิปรายต้องทำอย่างระมัดระวังมองว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะที่ผ่านมาเคยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวบุคคลในรัฐบาลควบคู่ไปกับการยื่นเรื่องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั่นแสดงให้เห็นว่าเราสามารถทำควบคู่กันได้ทั้ง 2 เรื่อง

                ขณะที่ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงปมถวายสัตย์ฯ ว่า "ผมเข้าใจระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่มีผิดจากรัฐธรรมนูญ เคยอ่านรัฐธรรมนูญกันไหม เถียงกันจังเลยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ผมก็ปฏิบัติตามทุกอย่างเพราะรัฐธรรมนูญเป็นของปวงชนชาวไทย แล้วใครลงพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จบแล้วใช่ไหม ปวงชนชาวไทย และพระองค์ท่านทรงรับสั่งว่าอย่างไร มีพระปฐมบรมราชโองการว่าเราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งประชาชนใช่ไหม มันสมบูรณ์แล้ว ผมถวายสัตย์ฯ สมบูรณ์ไหม ไปบอกให้ผมหน่อย อะไรกันนักกันหนา ไม่เข้าใจ"

คำชี้แจงของนายกฯ ดังกล่าว ทำให้ ประธานวิปฝ่ายค้าน บอกว่า รู้สึกไม่สบายใจในประเด็นที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์ที่บอกว่าการถวายสัตย์ฯ จบสมบูรณ์แล้ว นายกฯ ใช้ถ้อยคำที่ไม่ค่อยเหมาะสม อยากให้นายกฯ ระมัดระวังและทบทวน ถ้าคิดว่าคำนี้ไม่เหมาะสมพลาดพลั้งไปก็ขอให้แก้ไข เพราะถ้าเป็นเราจะไม่ใช้คำพูดนี้ ส่วนอีกมุมหนึ่งมองได้ว่าวันนี้ฝ่ายรัฐบาลกำลังลากฝ่ายค้านไปพูดเรื่องนี้ด้วย แต่การอภิปรายตามมาตรา 152 ไม่เกี่ยวกับสถาบัน แต่รัฐบาลพยายามพูดหลายครั้งเพื่อลากเราเข้าไปใกล้ เข้าไปนัวเนียกับเบื้องบน ดังนั้น ขอเตือนว่าเรารู้ทัน เราจะไม่พูด

 จะเห็นได้ว่าแค่โหมโรงการอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ ทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ก็ชิงไหวชิงพริบกันอย่างเต็มที่ เชื่อว่าถึงวันอภิปรายจริงๆ จะมีการตอบโต้กันอย่างดุเดือดแน่นอน

                แม้แต่กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงข่าวความคืบหน้าการสอบสวนคดีการหายตัวของ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยพบชิ้นส่วนกะโหลก "บิลลี่" ถูกเผาไหม้ใส่ถังน้ำมัน 200 ลิตร ซ่อนเร้นอำพรางคดีทิ้งใต้น้ำเขื่อนแก่งกระจาน

                นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังออกมาแถลงว่า การอุ้มนายบิลลี่ไปฆาตกรรมซ่อนเร้นอำพรางศพที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2557 เป็นกรณีหนึ่งที่ทำให้องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ได้นำเสนอรายงานเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 ให้ประเทศไทยถูกขึ้นบัญชี เป็น 1ใน 38 ประเทศ ที่มีพฤติกรรมน่าละอาย เนื่องจากมีการกระทำคุกคามเหยื่อที่เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ด้วยการสังหาร ทรมาน จับกุมโดยพลการ ปฏิบัติการอย่างโหดร้าย เรื่องนี้ทำให้ประเทศไทยเสียชื่อเสียง เป็นที่น่าอับอาย จากการถูกประจานขององค์การสหประชาชาติ

                ทั้งที่ บิลลี่ ถูกอุ้มหายไปในวันที่ 17 เม.ย.2557 ยุคที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

                ส่วนบรรดาเครือข่ายนักเคลื่อนไหวทางการเมืองยกเหตุอุ้มฆ่าบิลลี่โยงรัฐบาลเผด็จการในอดีตในยุคความขัดแย้งกับลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ประชาชนถูกอุ้มหายจำนวนมากหรือที่เรียกว่า "ถีบลงเขา เผาถังแดง"

                โดยไม่นับรวมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยุค ทักษิณ ชินวัตร ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง มีการอุ้มฆ่าประชาชนในสงครามปราบปรามยาเสพติดถึง 2.5 พันศพ 

                คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์ การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) ซึ่งมีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน สรุปรายตอนหนึ่งว่า นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเสียที่ร้ายแรงกับประเทศชาติ เพราะประเทศไทยต้องตกเป็นที่วิพากษ์ของประชาคมโลก เป็นเหตุให้รัฐบาลไทยถูกเรียกร้องให้มีการไต่สวนหาผู้รับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น

                รายงาน คตน.ระบุด้วยว่า "...ผู้อยู่เบื้องหลังต่างหากที่เป็นผู้กระทำการฆาตกรรม (Murder) ประชาชนพลเรือน (Civilian population) ของประเทศในฐานะ “ผู้กระทำความผิด” (Offender) ในความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against Humanity) ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับล่างหรือระดับปฏิบัตินั้น เป็นเพียง “ผู้สนับสนุน” (Supporter) การกระทำความผิดของผู้อื่นในความผิดฐานดังกล่าวเท่านั้น ผู้อยู่เบื้องหลังที่เป็นผู้ที่ได้วางนโยบายและสั่งการตามขั้นตอนโดยขาดความรอบคอบทั้งไม่มีการตรวจสอบใดๆ และผลปฏิบัติเกิดการสูญเสียชีวิตและการสูญหายของบุคคลเป็นจำนวนมากต่างหากที่เป็น “ผู้กระทำความผิด” (Offender)..."

                เช่นเดียวกับเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุม อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีผู้เสียชีวิตถึง 78 ราย การล้อมปราบในมัสยิดกรือเซะ การอุ้มฆ่าใน 3 จว.ภาคใต้ ล้วนเกิดในยุครัฐบาลทักษิณ ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น และยังกลายเป็นชนวนความรุนแรงใน 3 จว.ชายแดนภาคใต้จนถึงบัดนี้ก็ไม่สามารถยุติได้ 

                ขณะที่ผู้เห็นต่างทางการเมืองบางคนถูกอุ้มฆ่าอย่างอำมหิต เช่น นายเอกยุทธ อัญชันบุตร จากเหตุเปิดโปง ว.5 โฟรซีซั่น แต่อำพรางคดีเป็นปล้นทรัพย์

                จะเห็นได้ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ้างว่าฝ่ายประชาธิปไตยมีการอุ้มฆ่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำลายหลักนิติรัฐ นิธิธรรม มากกว่ายุครัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเสียอีก

                แต่การเมืองไทยยังใช้แต่โวหาร เอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่นเช่นเคย 

                พฤติกรรมของนักการเมืองดังกล่าวมีแต่จะทำให้การเมืองไทยจมอยู่ในวังวนน้ำเน่า

                จึงต้องจับตาว่าการอภิปรายครั้งนี้ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่พูดคุยกันด้วยเหตุผลเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง หรือจะเอาชนะคะคานจนทำให้สถาบันทางการเมืองเสื่อมถอยลงไปอีก. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"