เปลี่ยนประเทศไทย ด้วยปัญญาจากฐานราก


เพิ่มเพื่อน    

 

No room for small dreamมาทั้งทีต้องเปลี่ยนแปลงประเทศให้ได้

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงจัดตั้งใหม่ในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเกิดจากแนวคิดและการผลักดันของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและต่อมาโยกไปเป็น รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนสุดท้ายก็มีการผลักดันจัดตั้งกระทรวงนี้จนสำเร็จ โดยรวมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติไว้ด้วยกัน จึงทำให้ ดร.สุวิทย์ คือ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนสุดท้ายและเป็น รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมคนแรก

ดร.สุวิทย์-รมว.การอุดมศึกษาฯ เล่าย้อนที่มาที่ไปของการผลักดันให้เกิดกระทรวง อว.ที่มีเป้าหมายจะทำให้เป็นกระทรวงแห่งโอกาส กระทรวงแห่งปัญญาและกระทรวงแห่งอนาคตว่า สมัยเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเวลานั้นรัฐบาลตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีผมเป็นเลขานุการ ป.ย.ป. ผมเป็นคนเขียนเอกสารให้นายกรัฐมนตรีว่า ในอนาคตประเทศไทยจำเป็นต้องเน้นเรื่องการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม เพราะไม่อย่างนั้นประเทศอยู่ไม่รอด อย่างสินค้าเกษตรกรรมเวลาราคาตกต่ำก็ต้องไปช่วยเหลือเกษตรกร ทุกอย่างเป็น  short-term หมด แบบนี้ไม่ได้แล้วทุกอย่างต้องขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้หมด ไม่ใช่ขับเคลื่อนด้วยยถากรรม ผมก็เขียน paper ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ก็เสนอไปว่าควรให้มีกระทรวงใหม่ ตอนที่เสนอไปรอบแรกใช้ชื่อกระทรวงวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งตอนนั้นก็เสนอให้ควบรวมนำงานของอุดมศึกษามาไว้ด้วย เพราะงานวิจัย 70-80 เปอร์เซ็นต์อยู่ในสถาบันอุดมศึกษาอยู่แล้ว ที่เหลือก็อยู่ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, สาธารณสุข, เกษตรและสหกรณ์ ก็เสนอนายกฯ ให้ควบรวม ตั้งโจทย์ให้ชัด ทุกอย่างก็ออกมาตามที่บอก

...เดิมทีการแยกอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการก็มีแนวคิดจะทำกันอยู่แล้ว โดยรูปแบบคือให้แยกออกมาเลยต่างหากเพื่อความเป็นอิสระ แต่เราก็เห็นว่าอุดมศึกษาต้องตอบโจทย์สองอย่างคือ  สร้างคนและสร้างการวิจัย สร้างนวัตกรรมด้วย ก็เลยมาสู่แนวคิดที่ว่าก็ควรนำงานของ ก.วิทยาศาสตร์และงานวิจัยมาอยู่ด้วยกัน จนเป็นกระทรวง อว.อย่างปัจจุบัน

“ผมเลยเป็น รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคนสุดท้ายและเป็น รมว.การอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมคนแรก ที่งานก็สนุกเพราะท่านนายกรัฐมนตรีเข้าใจและให้โอกาส"

...กระทรวง อว.เป็นกระทรวงใหม่ที่มีขอบเขตภารกิจมากขึ้น มีทั้งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการ สถาบันด้านการวิจัยต่างๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ทำให้ขอบเขตงานของกระทรวงมากขึ้น ความท้าทายก็มากขึ้น ซึ่งภารกิจจริงๆ ตามความคาดหวังของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีก็คือเป็นกระทรวงแห่งปัญญา กระทรวงแห่งอนาคตของประเทศ เมื่อก่อนเราจะพูดกันว่ากระทรวงไหนมีคนจบดอกเตอร์เยอะสุด เมื่อก่อนจะมีสามกระทรวง คือกระทรวงศึกษาธิการ เพราะก่อนหน้านี้สถาบันอุดมศึกษาอยู่กับ ก.ศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ และกระทรวงสาธารณสุข แต่เวลานี้คนที่เป็นดอกเตอร์เยอะสุด ที่เคยอยู่ ก.ศึกษาธิการได้มาอยู่กับ ก.อุดมศึกษาฯ เลยทำให้กระทรวง อว.ตอนนี้เป็นกระทรวงแห่งปัญญา แต่คำถามคือจะนำปัญญาดังกล่าวออกมาเพื่อสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติในด้านใดบ้าง

แนวทางหลักของกระทรวงอุดมศึกษาฯ คือการเตรียมคนไทยให้พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 และเรื่องของการทำให้คนไทยเตรียมพร้อมที่จะเป็น smart citizen และตัวเศรษฐกิจของไทยที่เป็นเศรษฐกิจแบบฐานมูลค่า value-based economy และเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม  Innovation Nation ทำให้ ก.อุดมศึกษาฯ ถูกนิยามโจทย์ไว้สามเรื่องเพื่อตอบโจทย์นี้ คือ 1.สร้างคน  พัฒนาคน 2.เมื่อสร้างคนแล้ว ต้องสร้างองค์ความรู้ 3.แปลงองค์ความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรม

ดร.สุวิทย์-รมว.อว. กล่าวต่อไปว่า นโยบายการบริหารงานของกระทรวง อว.มี 4 มิติ อันประกอบด้วย มิติที่1 สร้างและพัฒนาคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 มิติที่ 2 สร้างและพัฒนาองค์ความรู้ มิติที่ 3 สร้างและพัฒนานวัตกรรม มิติที่ 4 ปฏิรูปการอุดมศึกษา เป็นเพราะโจทย์ของกระทรวงคือสร้างคน

...ต่อจากนี้ไปต้องบอกว่าในอนาคตจะอยู่ยาวขึ้น เราเจอสังคมสูงอายุแน่ๆ เมื่อคนอยู่ยาวขึ้นเขาก็ต้องมีอาชีพต้องทำงานนานขึ้น จากแนวคิดเดิมคือเรียนหนังสือ learning จากนั้นจบมาก็ไปทำงาน  working แล้วก็เกษียณ แต่ต่อไปไม่ได้แล้ว กลายเป็นว่าเราต้องเรียนรู้ ทำงาน เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ แล้วก็ต้องไปเรียนใหม่

...ทำให้ต่อไปกระทรวงอุดมศึกษาฯ ต้องสร้างคนให้เรียนรู้ตลอดชีวิต lifelong learning ทำให้ต่อจากนี้กระทรวงศึกษาธิการต้องดูแลคนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี แต่หลังจากนั้นเดิมทีงานของ ก.อุดมศึกษาฯ ที่รับผิดชอบด้านอุดมศึกษาจะมารับช่วงต่อ คือดูแลคนตั้งแต่เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาจนไปทำงานคือ 18-22 ปี แต่ต่อจากนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ก.อุดมศึกษาฯ จะรับผิดชอบดูแลคนตั้งแต่อายุ 18 ปีจนตลอดชีวิต

...นโยบายของกระทรวง อว.ก็คือ เราจะสร้างบัณฑิตให้มีคุณภาพ และจบมาแล้วเขาต้องมีงานทำ  ส่วนพวกวัยทำงานที่เวลานี้กำลังถูก disrupt ก็ควรต้องมีอะไรที่จะไปเสริมสร้างการเรียนรู้ของคนวัยทำงาน ให้มีการ reskill upskill เพื่อให้เขามีทักษะมากขึ้น และสิ่งที่จะตามมาคือมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะเวลานี้เกือบทุกวงการ เช่น วงการธนาคาร วงการสื่อ พวกที่ทำงานในโรงงาน กำลังถูก disrupt ก.อุดมศึกษาฯ ก็ต้องลงมาช่วยส่วนนี้ ไม่ใช่แค่ดูเฉพาะเรื่องการผลิตบัณฑิต แต่ต้องไปดูถึงตลาดแรงงาน รวมถึงกรณีของผู้สูงวัย ที่เมื่อเขาอยู่ยาวขึ้นในอนาคตก็ต้องทำให้เขาได้มีโอกาสทำงานได้ต่อ และใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข

ดร.สุวิทย์-รมว.อว. ย้ำว่านโยบายสร้างองค์ความรู้ ในอนาคตจะไปในทางไม่ใช่การเรียนทฤษฎีแล้ว แต่เป็นองค์ความรู้ในทางปฏิบัตินำไปใช้งานได้จริง จะไม่ใช่แบบเรียนจบสี่ปีแล้วมาให้ปริญญา ต่อไปการให้ความสำคัญกับปริญญาจะน้อยลง มันจะเป็น non-degree แล้ว คือไม่ใช่พวกมาเรียนเพื่อต้องการปริญญา แต่มาเรียนแบบคอร์สระยะสั้น เป็นคอร์สที่มาเรียนเพื่อ upskill ตัวเอง ก็ต้องมาเทกคอร์สสักหนึ่งเดือนหรือ 3-6 เดือนเพื่อนำไปใช้งานจริง โลกในอนาคตเรื่องปริญญาจะไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว  และการสร้างองค์ความรู้ของประเทศไทยต้องเน้นไปที่การตอบโจทย์ด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม  ดังนั้นการวิจัยจึงเป็นเรื่องความสำคัญ

 เมื่อก่อนเรามองเรื่องการวิจัยแบบไปทำให้เกิดลักษณะเบี้ยหัวแตกไปหมด มหาวิทยาลัยต่างคนต่างทำ กระทรวงต่างๆ ก็ต่างคนต่างทำ กระทรวงวิทยาศาสตร์ก็ทำของ ก.วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยก็ทำของมหาวิทยาลัย แต่ต่อไปไม่เอาแล้ว การสร้างองค์ความรู้ที่จะมีผลต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และสังคมต้องเป็นการวิจัยเพื่อการพัฒนาและพัฒนาไปสู่นวัตกรรม ก็จะอยู่ในสี่แพลตฟอร์มคือ สร้างคน  สร้างองค์ความรู้แบบใหม่เพื่อตอบโจทย์อนาคต การวิจัยเพื่อไปตอบโจทย์ขีดความสามารถในการแข่งขัน

ดร.สุวิทย์ พูดถึงวิสัยทัศน์ แนวทางการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในอนาคตว่า ปัจจุบันนายกรัฐมนตรีได้เน้นเรื่องโมเดลการทำเศรษฐกิจที่เรียกว่า BCG หรือ Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ)  Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) ก็ต้องมาดูว่าจะจัดทัพกันอย่างไร หรือที่นายกฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสตาร์ทอัพ เราก็ต้องมาดูกันว่าจะสร้างกันอย่างไร หรือการจะเปลี่ยน SME ให้เป็น IDE (Innovation-Driven Enterprise) หรือองค์กรธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพราะถ้าเรามีสตาร์ทอัพ IDE-BCG ก็จะเป็น Growth Engine ตัวใหม่ของประเทศ เราไม่มี Growth Engine มานานแล้ว ตอนนี้นายกฯ อยากให้ BCG เป็น Growth Engine

แพลตฟอร์มต่อไปที่เป็นแพลตฟอร์มที่สองคือ เรื่องการวิจัยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ที่ก็คือการวิจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งทั่วประเทศพบว่าเรามีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ต้องมาคิดกันว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ 1 แห่งดูแล 2 จังหวัดเพื่อพัฒนาพื้นที่ เพราะฉะนั้นเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำ เรื่อง Local Economy เศรษฐกิจฐานรากที่จะไปพัฒนาท้องที่ เช่นการท่องเที่ยวชุมชน อย่างโอท็อป สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) ที่เป็นสิ่งโดดเด่นเฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ก็ต้องพัฒนาขึ้นมา ตอนนี้สินค้าโอท็อปเรามีร่วม 3-4 หมื่นรายการ คำถามง่ายๆ คือต้องให้มี story telling ก็ให้นำอาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลที่สอนด้านประวัติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ โบราณคดีมาลองให้ช่วยพิจารณาว่า สินค้าโอท็อปในพื้นที่  หากทำให้มีเรื่องราวของประวัติศาสตร์ทางด้านวัฒนธรรมจะได้มูลค่าเพิ่มขึ้นมา

...ทั้งหมดคือพลังของมหาวิทยาลัยในการช่วยพัฒนาท้องถิ่น อย่างเราพูดกันเรื่อง Smart Farmer  คือบ้านเราไม่สามารถทำเกษตรแปลงใหญ่แบบสหรัฐฯ เราต้องเข้าใจว่าสังคมเราเป็นเกษตรแปลงเล็ก  เราก็ต้องทำเครื่องจักรกลสำหรับเกษตรแปลงเล็ก ก็ต้องดึงทางราชมงคลมาช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ จะเป็นพลังมหาศาล นี่คือแพลตฟอร์มที่สามเพื่อตอบโจทย์พัฒนาพื้นที่ พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

แพลตฟอร์มที่สามตอนนี้เราเจอประเด็นท้าทายเยอะเลย เช่นอากาศไม่บริสุทธิ์ที่ทำให้เกิด PM2.5 หรือเรื่องปัญหาขยะที่ตอนนี้คนพูดกันเรื่อง zero waste ทำให้ขยะเป็นศูนย์ แต่จริงๆ ต้องพูดให้ไปมากกว่านั้นคือทำให้ขยะกลายเป็นเงิน หรือ waste to wealth ไม่ใช่แค่รีไซเคิลแต่ต้องอัพไซเคิล คือจากปัจจุบันรีไซเคิลเพื่อนำไปใช้ใหม่ แต่ต่อไปต้องนำขยะไปทำใหม่จนกระทั่งราคาแพงกว่าเดิมอีกหรืออัพไซเคิล

โจทย์แบบนี้คือการเปลี่ยนจากวิกฤติเป็นโอกาส เพราะบ้านเราขยะอื้อเลย โดยเฉพาะขยะจากสินค้าเกษตร บ้านเรามีประเด็นเรื่องผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ของญี่ปุ่นเขาเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เป็นอุตสาหกรรมสูงวัย เช่นการนำโรบอตเข้ามาเพื่อช่วยเสริมด้านต่างๆ เช่นบริการท่องเที่ยวผู้สูงวัย

แพลตฟอร์มสุดท้ายก็จะเป็นเรื่อง Grand Challenges สิ่งท้าทายระดับโลก ระดับประเทศ เปลี่ยนแปลงเป็นโอกาส อย่างเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy เรื่องเหล่านี้จะผลักดันออกมาเช่น ขยะพลาสติก ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องนำเรื่องไบโอพลาสติกมาขยายแล้ว ซึ่งแม้ราคาอาจจะแพงกว่าพลาสติกทั่วไป แต่ถึงวันหนึ่งแม้จะแพงกว่าแต่ก็ต้องค่อยๆ ปรับ เพราะวัตถุดิบบ้านเราเต็มไปหมด เพียงแต่ขาดเรื่องการจัดการด้านเทคโนโลยี แต่ของ ก.อว.เรามีพลังเรื่องเทคโนโลยี มีนักวิชาการอยู่มากมายที่จะมาทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้

ขอเพียงตั้งโจทย์ให้ชัด คือเน้นไปที่การสร้างคน สร้างองค์ความรู้ เพิ่มขีดความสามารถ  ลดความเหลื่อมล้ำ การตอบโจทย์ประเด็นท้าทายของโลก จากเดิมที่เบี้ยหัวแตกต่างคนต่างทำ  แต่ต่อไปนี้เราต้องตั้งโจทย์ใหม่ เพื่อสร้างคน สร้างองค์ความรู้ เพื่อตอบโจทย์ประเทศและตอบยุทธศาสตร์ชาติประเทศ

มหาวิทยาลัยต้องถูกยกเครื่อง Reinvent

                สำหรับสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยในการกำกับของรัฐทั่วไป ทิศทางจะเป็นอย่างไรภายใต้การดูแลบริหารงานของ ดร.สุวิทย์-รมว.การอุดมศึกษาฯ โดยย้ำว่าต่อจากนี้จะต้องมีการยกเครื่องมหาวิทยาลัย Reinvent เพราะหากมหาวิทยาลัยมีความพร้อมแล้วเราขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ข้างต้น ให้ไปทุกอย่างก็ไปได้เลย ขอเพียงเราต้องตั้งโจทย์ให้ชัด เพราะวันนี้มหาวิทยาลัยเองก็ยังปรับตัวช้ามากเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

                ...ก็ต้องมีการปลดล็อกสถาบันอุดมศึกษา ที่ภาพใหญ่ก็คือเมื่อเราตั้งโจทย์ว่าต้องสร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างและพัฒนานวัตกรรม สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้อง reinvent ต้องยกเครื่องมหาวิทยาลัย ยกเครื่องสถาบันวิจัยใหม่ โดยเมื่อเราจะไปยกเครื่อง reinvent สิ่งแรกเราต้องถามเขาก่อนว่ามีอะไรที่เป็นตัวดึงไม่ให้เขาวิ่งไปข้างหน้า ก็พบว่ามี 3-4 เรื่องสำคัญ เช่นเรื่องธรรมาภิบาลระหว่างมหาวิทยาลัย ที่มีการเกาหลังกันระหว่างสภามหาวิทยาลัย, นายกสภามหาวิทยาลัยกับอธิการบดีมีการเกาหลังกัน ผลัดกันชม แล้วแบบนี้หลักธรรมาภิบาลหายไปไหน แล้วยังมีประเด็นการฟ้องร้องกัน เรื่องการเป็นอธิการบดี มีการฟ้องร้องกันเยอะ จนต้องตั้งอธิการบดีรักษาการหลายแห่ง เมื่อเป็นลักษณะเช่นนี้มหาวิทยาลัยจะก้าวไปไกลได้อย่างไร มีนักฟ้องอยู่เยอะมาก

...เราก็ต้องมีระบบที่ว่าคุณจะฟ้องเขาก็ฟ้องได้ แต่หากเขาไม่ผิดอย่าไปฟ้องเขา ไม่เช่นนั้นก็จะมีการดึงเรื่องกันไม่รู้กี่ปี ก็ต้องไปปลดล็อกให้เพราะพวกนี้เป็นตัวเหนี่ยวรั้ง คิดง่ายๆ หากสถาบันอุดมศึกษามีแต่รักษาการซึ่งไม่เหมือนกับอธิการตัวจริง ใครจะไปกล้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อะไรหากเป็นแค่รักษาการอธิการบดี นอกจากนี้สิ่งที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องการจะทำ แล้วเขามองว่าสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาคือตัวเหนี่ยวรั้งเขา ที่มีการทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ มคอ. ก็มีการบ่นกันว่าออกมาแล้วมัดคออาจารย์ เราก็ไปปลดล็อก

...เช่นการเข้าสู่ตำแหน่งอาจารย์ด้านวิชาการ ก็พบว่าของบ้านเราคนที่เป็นศาสตราจารย์บางสาขาแทบไม่มีหรือมีก็น้อยมาก โดยพบว่าคนที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติให้ตำแหน่งศาสตราจารย์ก็เหมือนกับคิดว่าเขาเป็นแล้ว คุณไม่ต้องมาเป็นจนกว่าเขาจะตายก่อน เขาคิดกันแบบนี้ ทำให้คนเก่งๆ ที่มีเยอะ แล้วเขาได้มาตรฐานโลก แต่ก็ไม่ให้ตำแหน่ง ไปให้แค่ดี ทั้งที่จริงๆ ต้องให้ดีมากหรือดีที่สุด เพราะงานของเขาไปถึงระดับโลกมาแล้ว ผลงานวิชาการตีพิมพ์ในระดับโลกมาแล้วแต่ก็ไม่ให้เขา มันเป็นเรื่อง  subjective แล้วแบบนี้จะทำให้คนไปสู่ความเป็นเลิศได้อย่างไร บางสาขาต้องเกาหลังกันอีก

...คือทำเป็นมาตรฐานสูงแต่บางเรื่องไม่แฟร์กับเขา มีเรื่องแบบนี้เยอะมาก ไม่น่าเชื่อในมหาวิทยาลัย และยังมีเรื่องของมาตรฐาน อย่างมหาวิทยาลัยของไทยตอนนี้เริ่มมี question กันแล้วว่าได้มาตรฐานสากลหรือไม่ อย่างคนจบวิศวกรมา เอาเข้าจริงๆ สถาบันที่เปิดสอนต้องถูกประเมินในระดับโลกว่ามาตรฐานการเรียนการสอนผ่านหรือไม่ แต่วันนี้เรายังมวยวัด เอาเข้าจริงวิศวกรของเราที่สร้างกันมา วันนี้ไปทำงานในระดับโลกไม่ได้เขาไม่รับ ตรงนี้เรื่องมาตรฐานที่ต้องมีการวัดคุณภาพ เราละเลยเรื่องนี้มานาน เพราะหากเราไม่มีมาตรฐานไม่มีคุณภาพก็ไม่มีใครเอาอยู่แล้ว เราจึงต้องวางแนวทางว่า คุณภาพมาตรฐานเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องไม่ใช่อุปสรรคที่ไปมัดคออาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา เพราะหากเข้มมากก็จะทำให้ติดกับดักของกระบวนการ โดยไม่ได้มองว่าบางเรื่องปลดล็อกได้เลย

ดร.สุวิทย์-รมว.อว. ย้ำไว้ว่า การยกเครื่องมหาวิทยาลัยจึงต้องเริ่มจากเรื่องพวกนี้ก่อน จากนั้นสเต็ปต่อไปคือจะจัดให้มหาวิทยาลัยมีลู่วิ่งของตัวเอง จะจัดให้มีสามลู่วิ่ง เพราะ ณ วันนี้ทุกมหาวิทยาลัยอยากใหญ่กันไปหมด มีการเพิ่มคณะอะไรตางๆ สุดท้ายเรียนจบออกมาตกงานกันเป็นแถบ ตอนนี้ผมจะให้มีสามลู่ คือ 1.มหาวิทยาลัยที่ให้ไปแข่งขันกันระดับโลก 2.มหาวิทยาลัยที่ต่อไปจะให้เน้นเรื่องอุตสาหรรม นวัตกรรม เทคโนโลยี 3.มหาวิทยาลัยที่เน้นการสร้างคนให้อยู่ในพื้นที่ โดยเน้นการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาท้องถิ่น

สำหรับลู่วิ่งมหาวิทยาลัยทั้งสามลู่วิ่งดังกล่าวมีพิมพ์เขียวอย่างไร ดร.สุวิทย์-รมว.อว. ให้โมเดลไว้ว่าจะมีการให้อิสระกับมหาวิทยาลัย อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเราจะให้ไปพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาพื้นที่  local economy ส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กลุ่มมหาวิทยาลัยของพระจอมเกล้า และ ม.เทคโนโลยีสุรนารีก็จะอยู่ในลู่วิ่งที่สอง ก็จะไปในลู่วิ่งด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่วนที่เหลือคือกลุ่มแรกให้ไปสู้ในระดับโลก แต่ทุกกลุ่มมีศักดิ์ศรีเท่ากัน

จากเดิมเราเบลอกันไปหมด จนบวมๆๆ ซึ่งหากยังแบบนี้จะตายหมู่เอาดร.สุวิทย์ระบุ

และกล่าวต่อไปว่าเมื่อเป็นแบบนี้ก็จะมีเป้าหมาย ความคาดหวังที่แตกต่างกัน ทำให้หากจะมีบางมหาวิทยาลัยจะเก่งมากกว่าหนึ่งลู่วิ่งที่วางไว้ก็ให้เก่งไปเลย แต่หากบางแห่งจะขอโฟกัสเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็โอเค เมื่อแต่ละที่เข้ากลุ่มแล้วก็จะไปตอบโจทย์ในสี่แพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน อย่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏก็อาจจะไปเน้นเรื่องการวิจัย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนราชมงคลก็อาจไปเน้นเรื่องการพัฒนาเพื่อสร้างขีดความสามารถ ก็ทำให้นวัตกรรมแต่ละแห่งที่ออกมาก็จะแตกต่างกันได้ เช่น นวัตกรรมแก้จน นวัตกรรมเพื่อสังคม เมื่อเราแตกกลุ่มไว้ก็จะให้แต่ละมหาวิทยาลัยปรับภารกิจครั้งใหญ่ตามแต่ละมหาวิทยาลัย โดยหากต้องการอะไรเสริมก็ให้แจ้งกับกระทรวง

...เมื่อเขาปรับภารกิจแล้ว ต่อไปก็ต้องมีการปรับหลักสูตร โดยในอนาคตบางวิชาก็อาจต้องควบรวม หรือไปเรียนออนไลน์ หรือใช้วิธีการให้นักศึกษามาเทกคอร์สที่จำเป็น ระยะหนึ่งแล้วออกไปทำงาน แล้วกลับมาเทกคอร์สใหม่ ทำแบบนี้สะสมหน่วยกิตไว้แล้วมาขอรับปริญญาก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องบอกว่าต้องทำให้จบภายใน 3 ปี อาจจะเป็น 5 ปี 10 ปีก็ได้ หรือคอร์สที่บังคับเรียนจาก 5 ปีก็ให้ปรับเหลือ 3 ปี ทำให้สั้นลงเพราะต่อไปการเรียนในห้องเรียนก็แทบจะไม่ได้อะไรแล้ว และต่อไปต้องเป็นการเรียนการสอนแบบตอบโจทย์ดีมานด์ของตลาดแรงงานว่าต้องการอะไร บริษัทต่างๆ ต้องการอะไร  เช่นดูว่าบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยต้องการคนทำงานแบบไหน

รมว.การอุดมศึกษาฯ สะท้อนปัญหาของวงการการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย-อุดมศึกษาว่า ที่ผ่านมาเราไม่เคยสำรวจจากดีมานด์ มหาวิทยาลัยก็ปั๊มเอาๆ แล้วก็ไปปั๊มไปเรื่อยๆ จนมันบวม แล้วจบออกมาก็ไปตกงานในตลาด หรือพอเข้าทำงานจริงเอกชนบอกไม่ตอบโจทย์

...เราจึงต้องคุยกันตั้งแต่วันแรกว่าเอกชนต้องการอะไร แล้วเรามาช่วยกันสร้าง บางสาขาวิชาอาจต้องให้คนจากเอกชนมาช่วยเป็นอาจารย์ให้ เพื่อจะได้ตอบโจทย์เขา หรือไปสนับสนุนให้เอกชนตั้งสถาบันการศึกษาเอง อย่างที่เครือซีพีตั้งมหาวิทยาลัยปัญญาภิวัฒน์ หรือที่บริษัท ปตท.ฯ ตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) มันตอบโจทย์ของเขาเลยและไม่เป็นภาระของภาครัฐ หรือที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (F.T.I) เขาจะตั้ง  F.T.I Academy ผมก็สนับสนุนเขาเต็มที่ โดยบอกว่าอาจารย์ก็ใช้คนเก่งจากภาคเอกชนมาสอน

...อย่างบริษัท HUAWEI ประเทศไทย ที่ผมก็ไปดูบริษัทเขา ทาง HUAWEI ก็มีความต้องการเปลี่ยนจากโอเพนแล็บที่ตั้งในประเทศไทย จะมาเป็น HUAWEI Academy ผมก็สนับสนุน เพราะตอบโจทย์จริง เพราะ HUAWEI ในอนาคตจะเป็นมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยีหลายอย่าง หรือไม่ก็ใช้แนวทางให้ HUAWEI  ร่วมกับมหาวิทยาลัยไทย จับมือกันเพราะ HUAWEI ตอนนี้เขาก็ร่วมกับธรรมศาสตร์อยู่

นวัตกรรมตอบโจทย์ทุกชนชั้นจนถึงแม่ค้าขายหมูปิ้ง

                ดร.สุวิทย์-รมว.อว. กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับนวัตกรรมสำหรับประเทศไทยเป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วเพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทำให้มีการ disruption โดยการ reinvent อย่างเรื่องการแพทย์เมื่อก่อนเราต้องป่วยก่อนถึงไปรักษา แต่ต่อไปเรื่องการแพทย์ที่อยู่ใน BCG จะมีสิ่งที่เรียกว่า  Genomics Thailand จะดูดีเอ็นเอตั้งแต่เกิดเลย หากไม่ดีจะได้ไม่ต้องมีลูก แต่หากจะมีก็จะรู้ได้เลยว่าต่อไปเด็กคนนี้โตขึ้นมีโอกาสจะเป็นโรคอะไร มันถอยกลับไปที่ว่าเราจะรู้ก่อนว่าคนไหนมีโอกาสจะเป็นโรคอะไร ไม่ใช่แบบที่มารู้ว่าป่วยเป็นโรคแล้วค่อยมารักษาทีหลัง เป็นเรื่อง Precision Medicine การแพทย์แม่นยำ ทำให้นวัตกรรมจะเกิดขึ้นจากตรงนี้เยอะเลย หรือทำให้เกิดเกษตรแม่นยำ คือต่อไปน้ำมากหรือน้ำน้อยจะไม่เกี่ยวแล้ว แต่เป็นเรื่องการดูได้เลยว่าพื้นที่เกษตรแต่ละแห่งควรจะปลูกพืชแบบไหน ไม่ควรปลูกอะไร และดินแบบสั่งตัดได้ มีการควบคุมความชื้นตามแสงที่มี

อย่างไรก็ตาม ดร.สุวิทย์-รมว.อว. ยืนยันว่า การสร้างและพัฒนานวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้จะไม่ใช่นวัตกรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีอย่างเดียว จะมีนวัตกรรมที่เกิดจากสังคม เช่น Sharing Economy  แนวคิดสังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ที่ต่อไปต้อง Sharing equipment - Sharing Knowledge ความรู้แชร์กันได้ อย่างเรื่องโดรน เพราะเกษตรกรไม่ใช่ทุกคนจะมีเงินซื้อโดรน ก็ใช้ drone at service แล้วก็แชร์กันตามคอนเซปต์นวัตกรรมเชิงสังคม

ดร.สุวิทย์ อธิบายโมเดลนวัตกรรมเชิงสังคม-นวัตกรรมแก้จนไว้ว่า นวัตกรรมแก้จนก็ดูตัวอย่างร้าน  Daiso ทุกอย่างราคาเดียวกันหมด 60 บาท หากผมอยากช่วยเอสเอ็มอี ผมก็ให้โจทย์ไปคือ ขายของทุกอย่าง 60 บาท ผมก็ให้คนทำเอสเอ็มอีว่าไปคิดอะไรมาก็ได้ ทั้งถูกและดีในราคาเดียว 60 บาท ก็จะ  create job มหาศาล เกิดสตาร์ทอัพที่เราไป support เขา แต่ให้โจทย์ไปแล้วเขาต้องทำให้ได้ ซึ่งหากทำได้ประชาชนก็จะได้ เพราะแทนที่จะซื้อของ 200 บาท แต่ซื้อได้ในราคา 60 บาท แบบนี้ก็วิน-วิน เรียกว่านวัตกรรมแก้จน ต่อไปเราจะผลิตโจทย์ ไม่ใช่ว่าเอสเอ็มอีจะผลิตอะไรออกมาก็ไม่รู้แล้วไปขาย แต่ต้นทุนแพงกว่าเขา แต่เราก็ใช้การตั้งโจทย์ไปให้เขาคิดมาว่าต้นทุนขนาดนี้ จะให้ขายราคาแบบนี้ หากเขาคิดมาได้แล้วเขาขาดเทคโนโลยี เราก็ไปเสริมด้านนี้ แล้วตลาดเราจะช่วยหาให้ อันนี้คือตัวอย่าง

หรืออย่างของจากเกษตร เช่นเตาชีวมวล ที่ทำออกมาแล้วจะช่วยประหยัดพลังงานคนที่ขายของปิ้ง ทอดอะไรต่างๆ ประหยัดพลังงานได้ถึงหนึ่งในสาม จากเดิมเสียเงินค่าพลังงาน 200 บาท ก็จะเหลือประมาณ 60 บาท นี่คือนวัตกรรมแก้จน ไม่ต้องหรูหราแต่ต้องตอบโจทย์ หรือแม่ค้าขายหมูย่างจะทำอย่างไรให้พลังงานเขาเซฟลง ทำให้การปิ้งหมูย่างของเขาเร็วขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง ควันน้อยลง แบบนี้คือนวัตกรรมแก้จน

...เราสนใจเรื่องแบบนี้ด้วย ไม่ใช่ว่าเราอยากใช้แต่เราคิดเองไม่ได้ ที่เรียกกันว่านวัตกรรมที่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้ ไม่ใช่นวัตกรรมที่ทำออกมาแล้วมีคนรวยอยู่ไม่กี่คน หรือ inclusive innovation หรือการทำนวัตกรรมเพื่อให้ชุมชนเชื่อมกับตลาดได้เลย เช่นโครงการสามพรานโมเดล ที่เอาเกษตรกรออร์แกนิกที่ไปตอบโจทย์โรงแรม ที่ขายของได้แน่

ดร.สุวิทย์-รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมคนแรก ยังกล่าวถึงการให้ความสำคัญกับ งานวิจัยของประเทศไทย ว่า งานวิจัยของประเทศช่วงที่ผ่านมาทำแบบเบี้ยหัวแตก  แต่งานวิจัยในช่วงที่ผ่านมา 4-5 ปี ก็ต้องยกเครดิตให้พลเอกประยุทธ์ตั้งแต่ตอนเป็นนายกฯ สมัยแรก  ตอนเข้ามาใหม่ๆ พบว่างบด้านการวิจัยเทียบกับจีดีพีของประเทศไทยแค่ประมาณ 0.48 เปอร์เซ็นต์ แต่ช่วงห้าปีที่ผ่านมามีการเพิ่มงบด้านการวิจัยขึ้นมาเป็น 1.2 เปอร์เซ็นต์ ที่ถือว่าเท่าตัว แสดงว่าท่านนายกฯ ใส่ใจเรื่องการทำวิจัย แต่สำหรับประเทศที่เจริญแล้วจะอยู่ที่ 2-3 เปอร์เซนต์ อย่างเกาหลีใต้ให้มากถึง 4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี โดยที่จีดีพีของเกาหลีใหญ่มาก แต่ของเราตอนนี้ 1.2 เปอร์เซ็นต์ แต่ผมตั้งเป้าไว้ว่าในห้าปีจากนี้ต้องเป็น 1.5 เปอร์เซ็นต์ และข้อดีของ 1.2 เปอร์เซ็นต์ของเราคือ เอกชนลงอยู่ที่ 75 เปอร์เซ็นต์ รัฐลงอยู่ 25 เปอร์เซ็นต์ เทียบเป็นห้าหมื่นกว่าล้านบาท แต่ก็ยังมีงบส่วนหนึ่งเป็นงบด้านบุคลากรอยู่ในส่วนนี้ด้วย

สำหรับงบประมาณรายจ่ายปีนี้ รัฐให้งบประมาณเพื่อการวิจัยที่ผ่านมติที่ประชุม ครม.มาแล้วเมื่อเร็วๆ นี้อยู่ที่ 37,000 กว่าล้านบาท ที่จะครอบคลุมภารกิจสี่แพลตฟอร์ตข้างต้นที่บอกไว้ และเราจะทำให้เอกชนลงมามากขึ้น โดยโครงการวิจัยที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ เกี่ยวกับประเทศ ที่เป็น flagship จะต้องเพิ่มขึ้น  ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากที่เราวางโครงสร้างการวิจัยใหม่ โดยมีเป้าหมายว่าจะให้ไปถึง 1.5 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า และพร้อมกันนั้นภาครัฐจะไม่ลงงบประมาณด้านการวิจัยแบบเบี้ยหัวแตก แต่จะลงในสี่ส่วนของ 30 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงิน 37,000 กว่าล้านบาท ที่เป็น flagship และอีก 70 เปอร์เซ็นต์ของ 37,000 กว่าล้านบาทก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำขึ้นมา

                ...สิ่งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือ เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ รัฐอาจจะลงเยอะเพราะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่เรื่องของขีดความสามารถต้องให้เอกชนลงมามาก และในส่วนของเรื่องที่เป็นลักษณะ grand challenge ก็ต้องว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องอะไร แต่ละเรื่องจะเหมือนแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnerships (PPP) ในการลงแต่ละเรื่อง

...วันก่อนได้ไปร่วมประชุมหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เขาก็บอกว่าต้องการให้มีการตั้งกองทุนนวัตกรรม ที่จะขอภาษีสามร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมก็ติดต่อกระทรวงการคลัง เขาให้ได้อยู่แล้ว เรียบร้อย ตั้งได้เลย ผมยังคิดว่าเขาขอน้อยไปด้วย และเขาก็ต้องการให้เราช่วยว่าต่อจากนี้ไป เมื่อเขาพัฒนาเทคโนโลยีจะตีเป็นมูลค่าได้หรือไม่ เพราะเขาจะได้ไปกู้เงิน ซึ่งผมก็ได้สั่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปว่าให้ทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ เพราะ สวทช.เขาไปเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีไฟแนนซิงจากเกาหลี ตอนนี้เขาทำร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) อยู่ ก็ต้องดูว่าจะขยายผลอย่างไร  เพราะภาคเอกชนก็เริ่มสนใจเรื่องพวกนี้ว่าเมื่อเขาพัฒนาเทคโนโลยีออกมาแล้วจะตีมูลค่าออกมาอย่างไร  เพราะก็เหมือนค่าใช้จ่ายของเขา เพราะหากต้องนำไปทำธุรกรรมต่างๆ มันยากมาก เรื่องเหล่านี้เรากำลังทำให้เขา

-แนวนโยบายของ อว.ที่วางไว้และจะทำ สนับสนุนหรือสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำไว้เช่นยุทธศาสตร์ชาติ หรือโครงการใหญ่ๆ ของรัฐบาลเช่น อีอีซี?

ตรงเลยเพราะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป้าหมายคือประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 ภารกิจของกระทรวงนี้คือเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 สร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ฐานนวัตกรรม จึงตรงกับยุทธศาสตร์ชาติที่ผมก็เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นคนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อให้เกิดกระทรวง อว.และตรงกับเป้าหมายของโครงการอีอีซี เพราะอีอีซีนอกจากเป็นโครงการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกายภาพ เช่น ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน

นอกจากนี้เรื่องที่สำคัญจริงๆ ก็คือ การลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมที่จะได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ 10S-Curve ซึ่งเราก็ต้องการคนที่มาพัฒนาเทคโนโลยีในส่วนนี้ จึงเป็นงานของกระทรวง อว.ชัดๆ อีกทั้ง BCG (Bio economy-Circular economy-Green economy) มันครอบคลุมอยู่ใน 10S-Curve อยู่แล้วที่เป็นนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งเรื่องของคน เพราะการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ต้องการบุคลากรเช่นวิศวกร ซึ่งอีกห้าปีข้างหน้าโครงการในอีอีซีต้องการบุคลากรทำงานในโครงการร่วมสี่แสนกว่าคน ที่ต้องเป็นคนที่มีทักษะ ซึ่งจะมาจากการผลิตของสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในการดูแลของกระทรวง อว.

ดร.สุวิทย์ กล่าวถึงภารกิจของกระทรวง อว.ที่จะไปตอบโจทย์อีอีซี ก็คือสร้างคนให้ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และเรามีเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่เราจะลงทุนเรื่อง BIOPOLIS-เมืองนวัตกรรมชีวภาพ SPACE INNOPOLIS-เมืองนวัตกรรมด้านการบินและอวกาศ เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอยู่แล้ว

 

ปรัชาเศรษกิจพอเพียง หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากแนวคิดและนโยบายการบริหารงานกระทรวง อว.ข้างต้น สิ่งสำคัญที่ ดร.สุวิทย์-รมว.อว. เน้นย้ำในเรื่องการปรับเปลี่ยนประเทศด้วยภูมิปัญญาของฐานราก ก็คือการให้ความสำคัญและยึดหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้สอดคล้องไปกับ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development GoalsSDGs) โดยเขาให้เหตุผลว่าการพัฒนาประเทศต้องทำแบบให้ไปทั้งองคาพยพ ส่วนที่ต้องตามเข้าไปดูและสร้างขีดความสามารถก็ต้องทำ แต่จริงๆ ประเทศจะยั่งยืนอยู่ได้เราก็ต้องสร้างปัญญาให้เขา และเราต้องให้เขามีโอกาสเพื่อให้เขามีอนาคต กระทรวง อว.จึงเป็นกระทรวงแห่งโอกาส กระทรวงแห่งปัญญา และกระทรวงแห่งอนาคต คำถามคือยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว.และของรัฐบาลจึงต้องไปตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน

ที่ผ่านมายุทธศาสตร์ของเราในยุคก่อนๆ เป็นยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความทันสมัยตามโลก แต่ความทันสมัย ณ วันนี้กระบวนทัศน์ของโลกไม่ได้ไปตอบโจทย์ความทันสมัยแล้ว แต่ต้องไปตอบโจทย์ความยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนเกิดขึ้นจากการที่ทุกคนต้องมีโอกาส เพราะหากทุกคนไม่มีโอกาสยังคงเป็นลักษณะ รวยกระจุก แล้วจะไปยั่งยืนได้อย่างไร คนชอบนึกกันว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม-จริงๆ ไม่ใช่ แต่ความยั่งยืนต้องเกิดจากการที่ทุกคนมีโอกาส ที่ก็คือโอกาสจากการศึกษา โอกาสจากการมีงานทำ โอกาสจากการมีความรู้และโอกาสที่จะนำความรู้ไปทำนวัตกรรมได้

ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญว่าหากคนไม่มีโอกาสเท่าเทียมกัน แล้วเราจะไปสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร อย่างเรื่องการที่เราจะไปในพื้นที่ ไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำ คำถามคือคุณจะเอาเบ็ดตกปลาไปให้เขา หรือคุณจะเอาอาหารไปให้เขากิน คุณเอาอาหารไปให้เขากิน เขากินได้หนึ่งมื้อ พออาหารหมดเขาก็เรียกหาอาหารอีก ผมถึงบอกว่าจริงๆ แล้วต้องสร้างปัญญาจากฐานราก คือต้องทำให้นักวิจัยที่ลงไปช่วยชุมชนแล้วเสร็จงานเขาเดินออกมาจากชุมชน แต่หลังจากนั้นชุมชนทำอะไรต่อไม่ได้ หรือข้าราชการลงไปช่วยชุมชน พอโปรเจกต์เสร็จก็หายไปหมดเลย แต่ต้องดูว่าจะทำยังไงที่จะให้ชาวบ้านคือนักวิจัยในตัวเขาเอง เพราะเขารู้ปัญหาของเขา เขาต้องการอะไร คือเอาเบ็ดตกปลาให้เขา

นี่คือการเปลี่ยนประเทศไทยด้วยปัญญาจากฐานราก เรื่องนี้สำคัญ เรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงต้องทำให้เขาติดพื้นที่ให้ได้

... ไม่เช่นนั้นหากเขายัง suffer เขาก็จะส่งลูกหลานมาเรียนในเมืองเพื่อให้เขามีโอกาส ทำไมไม่ให้เขาอยู่กับที่ เราจึงต้องเติมพลังให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ ทำให้คนที่เรียนราชภัฏศักดิ์ศรีไม่ได้ต่างจากคนที่เรียนจุฬาฯ จะได้ติดถิ่นอยู่กับที่ เราจึงต้องทุ่มเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาเศรษกิจฐานราก โดยให้มหาวิทยาลัยราชภัฏไปเป็นแม่ข่ายเพื่อให้คนท้องถิ่นพัฒนาตัวเอง นี่คือความยั่งยืนที่ดีกว่า ทุกคนจะมาแข่งขันกันเพื่อสอบเอามหาวิทยาลัยดีๆ ในกรุงเทพฯ ไม่เอาแล้วไม่ตอบโจทย์

...ความยั่งยืนต้องมีสี่มิติ 1.ตอบโจทย์ ปากท้อง และทางเศรษฐกิจ 2.ต้องทำให้คนมีสังคมที่ปกติสุข  ทำให้คนอยู่ในชุมชนที่น่าอยู่ 3.สิ่งแวดล้อมน่าอยู่ 4.ภูมิปัญญามนุษย์

 กระทรวง อว.จึงมีภารกิจในสี่แพลตฟอร์ม อย่างที่บอกเช่น สร้างคน เอาภูมิปัญญาออกมา และเมื่อเขามีสิ่งแวดล้อมที่ดีก็จะไปตอบโจทย์ Grand Challenge ทุกอย่างต้องถักทอไปด้วยกัน ซึ่งการจะทำได้ ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทาย เราจึงต้องให้มีการยกเครื่องมหาวิทยาลัย ยกเครื่องสถาบันวิจัยต่างๆ

...เศรษฐกิจฐานรากนวัตกรรม จึงต้องนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีอยู่แล้ว ซึ่งในหลวง รัชกาลที่ 9 ท่านให้เรามาอยู่แล้ว คือโลกต้องการเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable  Development Goals-SDGs) ของสหประชาชาติ 17 ข้อ ซึ่งของไทยเรามีวิถี มีหลักคิดที่จะไปสู่เป้าหมาย คือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่จะไปตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน เราก็ถอดรหัสออกมา  หากทำสิ่งนี้ได้เราก็จะสร้างสังคมแห่งโอกาส เพราะการที่จะไปสู่จุดนั้นได้ต้องใช้ปัญญา แต่ต้องทำให้ทุกคนมีสิทธิ์ มีปัญญา และเมื่อมีปัญญา มีโอกาส ผลสัมฤทธิ์ที่จะออกมาเป็นรูปธรรมก็คือนวัตกรรม แต่ต้องไม่ใช่นวัตกรรมที่เอื้อมไม่ถึง ต้องเป็นนวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมสังคม นวัตกรรมแก้จน ต้องไม่ใช่การมองว่านวัตกรรมคือของไกลตัว คือความฝัน ต้องไม่ใช่อีกต่อไป แต่การที่คนจะมีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เขาได้ ก็ต่อเมื่อเขามีองค์ความรู้มีปัญญา และต้องให้โอกาสที่เท่ากันได้ กระทรวง อว.จึงต้องทำสิ่งนั้น  เพราะเมื่อทุกคนมีอนาคตของตัวเองก็จะไม่ขัดแย้ง แต่ละฝ่ายก็มาช่วยกันสานฝัน ก็จะเกิดความยั่งยืน  หน้าที่ผมจึงมีหน้าที่ถอดรหัสหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร ก็คือการสร้างคน  สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม เพื่อให้ทุกคนมีอนาคต 

จากพันธกิจนโยบายในการขับเคลื่อนงานของกระทรวง อว.ข้างต้น ดร.สุวิทย์ ย้ำว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องทำก็คือ การลดความเหลื่อมล้ำ เพราะหากความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นแบบนี้ไม่มีทางยั่งยืน หากความเหลื่อมล้ำยังเป็นแบบนี้อาจเกิดเหตุความขัดแย้งรุนแรงอีกก็ได้ ณ วันนี้บอกตรงๆ หากปล่อยไว้ตามนี้ คนรวยจะรวยขึ้น แต่พวกเราหรือคนจนก็จะมีแต่จนลง หน้าที่ของรัฐจะไปปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติได้อย่างไร

วิธีการที่จะทำให้ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำตรงนี้ลงคือการให้ความรู้ การให้มีงานทำ การให้คนอยู่ในพื้นที่เขา ไม่ต้องมากระเสือกกระสนแข่งกับคนเมืองที่คนเมืองจะได้เปรียบกว่าอยู่แล้ว เหมือนมหาวิทยาลัยราชภัฏกับราชมงคล การท่องเที่ยวของประเทศไทยบูมมาก ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏก็ต้องเน้นเรื่องการท่องเที่ยว เรื่อง service เพราะ sector ท่องเที่ยวกับ service เรายังมีศักยภาพอีกมาก ไม่จำเป็นต้องวิ่งหาเทคโนโลยีอย่างเดียว

...การทำงานที่ผมทำกับมหาวิทยาลัย หากเราตั้งโจทย์ดีๆ มหาวิทยาลัยเขาก็ตอบรับ จริงๆ เขาก็อยากขับเคลื่อนประเทศอยู่แล้ว แต่เดิมโจทย์ไม่ชัด เราก็เพียงแต่ตั้งโจทย์ให้ชัด ผมมีหน้าที่คือตั้งโจทย์ให้ชัด ซึ่งโจทย์ที่ชัดคือโจทย์ที่ต้องตอบโจทย์ของประเทศ บนหลักคิดที่ถูกต้องคือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แล้วก็ปลดล็อกมหาวิทยาลัย แค่นี้ก็จบแล้วเพราะพวกอาจารย์มหาวิทยาลัยมีปัญญามากกว่าผมอีก เป็นดอกเตอร์หมด เพียงแต่ที่ผ่านมาโจทย์ไม่ชัด มีเรื่องเหนี่ยวรั้ง หลักคิดไม่ถูกต้อง เช่นบางทีไปคิดว่าต้องแข่งกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เลยใช้ทรัพยากรบางอย่างไปก่อน  แต่หากมีหลักคิดที่ถูกต้อง ก็คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบนหลักความยั่งยืน ที่เหลือจากนั้นเขาก็จะปลดปล่อยพลังงาน ปลดปล่อยศักยภาพของเขาออกมาเอง

No room for small dream

มาทั้งทีต้องเปลี่ยนแปลงประเทศให้ได้

เมื่อถามถึงประโยคที่มักพูดและอ้างถึงเสมอคือคำกล่าวที่ว่า No room for small dream ที่เป็นชื่อหนังสือเล่มสุดท้ายของ Shimon Peres อดีตประธานาธิบดีอิสราเอล คำกล่าวข้างต้นมีความสัมพันธ์อย่างไรกับการทำงานในกระทรวง อว. ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า No room for small dream ก็คือไม่มีที่ว่างสำหรับคนเล็กๆ แล้ว เรามาทั้งทีต้องเปลี่ยนแปลงประเทศให้ได้ ประเทศถึงเวลาเปลี่ยนแล้ว ไม่เปลี่ยนไม่ได้ เราจึงต้องกล้าฝันและกล้าทำ ถ้าเราจะบอกว่าเราเข้ามาเพื่อประคอง แบบนั้นไม่ได้ กระทรวงนี้จะเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลง

...อีกทั้งกระทรวง อว.ยังเป็นกระทรวงที่นายกฯ ให้โจทย์มาว่าเป็นต้นแบบของการปฏิรูปสามด้านคือ 1.ด้านการบริหารจัดการ เช่นจากนี้ไปอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะย้ายไปทำงานเอกชนยังได้เลย  หมุนไปหมุนมาเพราะองค์ความรู้ต้องสร้างขึ้นมาให้มันหมุนได้ อาจารย์มหาวิทยาลัยไปอยู่สถาบันวิจัย  นักวิจัยจากสถาบันวิจัยอยากมาอยู่มหาวิทยาลัย หรือทั้งสองคู่ไปอยู่เอกชน แล้วยืมตัวเอกชนมาทำงานในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย มันต้องทำได้ เพราะ อว.เป็นกระทรวงที่มีกรมน้อยมากและพยายามทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

2.ปฏิรูปงบประมาณ เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้หลากหลายปีอย่างต่อเนื่อง เพราะการสร้างคนสร้างองค์ความรู้ต้องสร้างต่อเนื่อง

3.เรื่องกฎระเบียบต่างๆ ต่อไปนวัตกรรมที่จะเกิด อย่างบางเรื่องต้องยกเว้น ลดแล้ว ขีดวงแล้วทดลอง ทดสอบเรื่องใหม่ๆ ไม่เช่นนั้นเรื่องใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นนวัตกรรมไม่เกิด สิ่งที่จะทำให้นวัตกรรมเกิดได้ เกิดการเปลี่ยนแปลง ในด้านหนึ่งก็ต้องสร้างคน สร้างองค์ความรู้ ขณะเดียวกันก็ต้องปฏิรูปสามด้านข้างต้น คือด้านการบริหารจัดการ งบประมาณและกฎระเบียบต่างๆ มันเหมือนกับอีกด้านของเหรียญ คุณอยากสร้างคนสร้างองค์ความรู้แต่ไม่ปฏิรูปงบประมาณ การบริหารจัดการ ภาครัฐ กฎระเบียบ แล้วจะทำได้อย่างไร กระทรวง อว.ถึงมีเสน่ห์ ซึ่งนายกฯ ก็ให้โอกาส เพราะหากที่อว.ทำได้ก็อาจไปในกระทรวงอื่น

ถามปิดท้ายถึงเป้าหมายในการทำงานที่กระทรวง อว.ในฐานะ รมว.คนแรก ดร.สุวิทย์ ตอบว่า อยากให้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง คือทุกคนต่างก็รู้ว่าประเทศไทยถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง  แต่จะทำอย่างไรให้คนมีความรู้สึกว่าเราต้องเปลี่ยนด้วย และเปลี่ยนไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่าเห็นด้วยว่าต้องเปลี่ยน แต่คุณก็เปลี่ยนไปสิ ผมไม่เปลี่ยน แบบนี้ไม่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนก็เช่นถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คนก็ตกงาน  อย่างแนวคิด Smart Citizens ก็คือทำให้คนไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น แต่ให้เป็นการพึ่งพาร่วมกัน แล้วต่างคนต่างเป็นพลังของประเทศ.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"