ย่ำสนธยาที่ริมฝั่งแม่น้ำหอม เมืองเว้ จังหวัดเถื่อเทียนเว้
ต้นน้ำจากเทือกเขาอันนัมส่วนที่พาดผ่านตอนกลางของประเทศเวียดนามไหลออกมาเป็นสองแควสั้นๆ ก่อนรวมกันเป็นแม่น้ำหอม (Song Huong) ไหลขึ้นเหนือผ่านสุสานจักรพรรดิมินห์มังทางฝั่งซ้าย เยื้องๆ ไปทางขวาเป็นสุสานของจักรพรรดิไคตินห์ จากนั้นผ่านสุสานของจักรพรรดิตึดึ๊ก เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกผ่านเจดีย์เทียนมู่ทางซ้ายมือ แล้วผ่านพระราชวังเว้อันกว้างใหญ่ไพศาลบนฝั่งเดียวกัน ก่อนจะเดินทางต่ออีกประมาณ 10 กิโลเมตรออกสู่ทะเลตะวันออก (ทะเลจีนใต้) รวมทั้งสิ้นแม่น้ำหอมยาว 30 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ถือเป็น 30 กิโลเมตรที่ทรงคุณค่าและเข้มข้นในความหมาย
ริมฝั่งแม่น้ำหอมฝั่งตรงข้ามกับพระราชวังเว้ หรืออาจเรียกฝั่งใต้ มีทางเดินเป็นระเบียบและกว้างขวาง สร้างไว้ยาวราวๆ กิโลเมตรครึ่ง ผมเดินจากจุดจอดเรือมังกร ใกล้ๆ “สวน 3 กุมภาพันธ์” สวนกระแสน้ำขึ้นไปเรื่อยๆ ลอดใต้สะพานสำหรับข้ามแม่น้ำไปยังฝั่งพระราชวัง 2 สะพาน คือสะพาน Trang Tien และสะพาน Phu Xuan ทราบว่าพื้นที่ทางเดินบริเวณนี้ถูกครอบครองโดยคนท้องถิ่นในเวลาเช้า ส่วนนักท่องเที่ยวจะมาเดินเล่นในเวลาเย็นย่ำเป็นส่วนใหญ่
ฝั่งซ้ายมือของทางเดินริมน้ำคือสวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ร้านอาหารและคาเฟ่เก๋ๆ ผมถอยกลับไปยังเชิงสะพาน Phu Xuan แล้วผละออกจากทางเดินริมแม่น้ำสู่ถนน Le Loi ถนนเส้นหลักที่ขนานไปกับแม่น้ำส่วนที่ไหลผ่านใจกลางเมือง ฝั่งขวามือเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย สำนักงานธนาคาร รวมถึงโรงแรมใหญ่ๆ ก่อนจะไปชนกับโซนท่องเที่ยวยามราตรีเมื่อถนน Doi Cung ทางขวามือเข้ามาเชื่อมกับถนน Le Loi
หมาน้อยริมน้ำ ยุคนี้สบายใจขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
พื้นที่หลักของนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นประเภทแบ็กแพ็กเกอร์ อธิบายง่ายๆ ได้ว่ามีลักษณะคล้ายๆ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดด้านละประมาณ 250 เมตร มีถนน Le Loi เป็นหลักอยู่ด้านหนึ่ง อยู่ด้านตรงข้ามกับถนนชื่อ Vo Thi Sau และถนน Doi Cung ที่ผมเพิ่งเดินเข้าไปเป็นด้านตรงข้ามกับถนน Chu Van An ที่ผมเดินออกมาจากโรงแรมในตอนแรก ภายในพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้มีซอยเล็กซอยน้อยอีกนับสิบ ใช้สามล้อ มอเตอร์ไซค์ และจักรยานเป็นยานพาหนะหลัก บางซอยเป็นถนนคนเดินร้อยเปอร์เซ็นต์ ขนาดจักรยานเจ้าหน้าที่ประจำด่านยังต้องออกคำสั่งให้เดินจูง
ผมเข้าไปอาบน้ำในโรงแรมที่พักบนถนน Chu Van An แล้วออกไปเดินเล่นในย่านนักท่องเที่ยว ดังที่ได้กล่าวไว้ในสองหรือสามฉบับก่อนหน้านี้ว่า มีคนถีบสามล้อและคนขี่มอเตอร์ไซค์คอยตามแนะนำให้ใช้บริการหญิงงามเมือง ผมเป็นเป้าหมายของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นผู้ชายเดินคนเดียว มากเข้าการเชื้อเชิญก็ลุกลามไปถึงขั้นตอแยและราวี มีคนหนึ่งขี่มอเตอร์ไซค์ตามตื๊อจากปลายซอย “ฟาม งู เลา” จนถึงต้นซอยที่ตัดกับถนน Le Loi ผมต้องแวะที่บาร์ชื่อ DMZ เลือกนั่งที่โต๊ะด้านนอกตัวร้าน
ชื่อ DMZ ของบาร์มาจาก Demilitarized Zone หรือ “เขตปลอดทหาร” อยู่ห่างขึ้นไปทางเหนือของเว้ประมาณ 100 กิโลเมตร เขตปลอดทหารนี้ตั้งขึ้นในการประชุมเจนีวา ค.ศ.1954 หลังสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงซึ่ง “เวียดมินห์” หรือกองทัพประชาชนเวียดนาม ภายใต้การนำของ “โฮจิมินห์” มีชัยเหนือกองทัพฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคม ข้อตกลงจากการประชุมได้กำหนดให้พื้นที่กว้าง 5 กิโลเมตรครอบคลุมทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเบนไห่ที่ไหลจากพรมแดนลาว-เวียดนาม จากตะวันตกไปตะวันออก ระยะทาง 55 กิโลเมตร ลงสู่ทะเลจีนใต้ โดยห้ามทหารของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าไป คือฝ่ายเวียดมินห์และฝ่ายเวียดนามใต้ที่มีจักรพรรดิบ๋าวได่เป็นผู้นำหุ่นเชิดของฝรั่งเศส และเมื่อฝรั่งเศสถอยออกไปปล่อยให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาทำสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 หรือสงครามเวียดนาม เขตปลอดทหารนี้กลับกลายเป็นสมรภูมิสู้รบสำคัญโดยฝ่ายเวียดนามเหนือสามารถเข้ายึดครองเอาไว้ได้
ร้านอาหารทะเลบริเวณสามแยกที่ถนน Chu Van An บรรจบกับถนน Le Loi เหมาะแก่การรับประทานเป็นกลุ่ม
ปัจจุบันมีบริษัทจัดทัวร์จากเว้ไปเยี่ยมชมเขตปลอดทหาร หรือ DMZ นี้กันอย่างคึกคัก โดยนักท่องเที่ยวจะต้องระมัดระวังไม่ล้ำเข้าไปในเขตห้ามเข้า เพราะยังมีระเบิดที่ยังไม่ทำงานซุกซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก ก่อนนี้ผมวางแผนจะนั่งรถบัสเข้าลาวโดยผ่านเมืองดงฮา เมืองหลวงของจังหวัดกว่างชีที่เขตปลอดทหารนี้ตั้งอยู่ ว่าจะโฉบไปดูสะพานเหี่ยนเลืองที่ใช้ข้ามแม่น้ำเบนไห่ สหรัฐได้ทิ้งระเบิดทำลายเมื่อปี ค.ศ.1967 ระหว่างสงครามเวียดนาม (ปัจจุบันสร้างใหม่ใกล้ๆ สะพานเก่า) สะพานนี้เป็นแบบคานสร้างจากเหล็กกล้า หัวสะพานฝั่งเหนือทาสีแดง ฝั่งใต้ทาสีเหลือง อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อสัปดาห์ก่อนทำให้ผมจำเป็นต้องกลับเมืองไทยทางอากาศดังที่ได้อธิบายเหตุผลไว้ในตอนต้นของบันทึกการเดินทาง เมื่อเมืองดงฮาไม่ใช่ทางผ่านผมก็เลยเบรก DMZ ของจริงมานั่งดริงก์ที่บาร์ DMZ แทน
เบียร์ Larue ของบาร์ DMZ ราคาขวดละ 35,000 ดอง ผมดื่มไปจะหมดขวดแล้วพี่นายหน้าค้ากามก็ยังนั่งคอยอยู่บนมอเตอร์ไซค์ที่จอดตรงข้ามร้าน เขาจ้องมองมาทางผมอย่างไม่คลาดสายตา หากว่าผมเรียกพนักงานมาเก็บเงินเขาก็จะสตาร์ทเครื่องมอเตอร์ไซค์ ผมเดินไปไหนเขาก็จะได้ขี่ตามทันที
ที่นั่งและทางเดินริมแม่น้ำหอมระหว่างสะพาน Trang Tien และสะพาน Phu Xuan
ผมเรียกพนักงานสาวเข้ามา พี่มอเตอร์ไซค์ขยับตัวเตรียมพร้อม แต่แทนที่ผมจะจ่ายเงินแล้วลุกออกจากร้าน พนักงานสาวกลับนำเบียร์มาวางให้ผมอีกขวด ผมคิดในใจว่าถ้าพี่มอเตอร์ไซค์รอผมจนหมดขวดที่สอง ผมก็จะสั่งขวดที่สาม
คำว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” ใช้ได้กับทุกที่ทุกวงการ พี่มอเตอร์ไซค์ไม่เสี่ยงแทงพนันผมอีกต่อไป เขาสตาร์ทมอเตอร์ไซค์ขับออกไปโดยไม่หันมามองให้เสียอารมณ์
ซอยฟามงูเลานี้มีบาร์แบบตะวันตกเกือบทั้งหมด แต่ส่วนริมๆ ของย่านนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่กลับเป็นร้านแบบเวียดนาม นั่นคือเน้นทั้งกินอาหารและดื่มเบียร์ ร้านมีขนาดใหญ่ โต๊ะหลายตัว ตั้งล้นออกมาบนบาทวิถี แต่ไม่เกะกะขวางทาง เพราะคนลงไปเดินบนถนนที่ค่อนข้างโล่ง ลูกค้าเป็นคนหนุ่มสาวชาวเวียดนาม นั่งกันโต๊ะละหลายคน ผมไม่กล้ายืนยันว่าเป็นคนเว้ท้องถิ่นหรือนักท่องเที่ยวจากเมืองอื่น เพราะระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมเป็นฤดูท่องเที่ยวของชาวเวียดนาม พวกเขาสั่งอาหารมาเต็มโต๊ะ เช่นเดียวกับเบียร์ที่ทยอยมาเสิร์ฟไม่ขาดระยะ โดยพนักงานสาวสวยแต่งชุดโชว์ส่วนสัดรัดรูปด้วยลายและโลโก้เบียร์ที่ร้านนั้นๆ ตกลงทางการค้ากันไว้
สามล้อชมเมืองเว้เป็นหมู่คณะบนถนน Le Loi
ปัญหา 2 ประการที่ขัดขวางการเข้าไปสัมผัสร้านแบบที่ว่านี้คือพวกเขาเปิดเพลงอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์แม้ว่าจะเป็นร้านนั่งโต๊ะธรรมดาๆ และอีกอย่างก็คือไม่มีเคาน์เตอร์บาร์สำหรับนั่งคนเดียว ผมกินมื้อเย็นมาแล้วถ้าจะสั่งแค่เบียร์ก็เกรงใจทางร้านหากจะขอนั่งโต๊ะที่พวกเขาเหมือนจะเตรียมไว้สำหรับหมู่คณะ ไม่พ้นผมต้องหาบาร์แบบตะวันตกอยู่ดี
เดินไปเดินมาหลายนาทีไม่มีร้านเข้าตา แบบที่ฝรั่งเรียกว่า No Energy คือไม่ครึกครื้น ไร้ชีวิตชีวา ส่วนมากตั้งใจประดิษฐ์ประดับร้านให้เป็นตะวันตกมากเกินไป จนผมถอดใจเดินไปบนถนน Chu Van An หมายจะกลับไปนอน เหลือบไปเห็นป้ายร้านเล็กๆ ร้านหนึ่งเขียนว่า ONE FOR THE ROAD คนรู้จักวลีนี้ย่อมรู้จักการดื่ม
น่าเสียดาย ทันทีที่ผมเดินเข้าร้าน ดนตรีสดก็หยุดเล่นตามกำหนดเวลา 5 ทุ่มตรง แต่ไหนๆ ก็เข้าไปแล้ว ดูในเมนูเครื่องดื่มมีเบียร์ 333 อยู่ด้วย จำหน่ายเป็นกระป๋อง ราคา 30,000 ดอง เท่ากับ 40 บาท ปกติผมไม่ค่อยชอบ “เบียร์ข้าว” แต่สำหรับเบียร์ตัวนี้ขอยกเว้น ดื่มครั้งแรกเมื่อ 6 ปีก่อนก็ติดใจ แต่หลังจากนั้นแทบไม่มีโอกาสได้จิบซ้ำเพราะหาตามผับตามบาร์ไม่ค่อยเจอ
แรกเริ่มเดิมทีเบียร์ตัวนี้มีชื่อว่า “33” มาจากปริมาตรบรรจุขวด นั่นคือ 33 เซนติลิตร ถือกำเนิดขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อร้อยกว่าปีก่อน แต่ใช้สูตรและวัตถุดิบของเยอรมนี ต่อมาฝรั่งเศสได้ย้ายโรงงานผลิตมาอยู่ที่กรุงไซง่อนระหว่างที่เข้ายึดครองเวียดนาม และว่ากันว่าเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในหมู่ทหารจีไอของสหรัฐ ระหว่างสงครามเวียดนาม แต่ภายหลังจากที่ผู้บุกรุกถูกขับออกไป ฝรั่งเศสเผ่นในปี ค.ศ.1954 อเมริกาหนีในปี ค.ศ.1975 เบียร์ยี่ห้อ 33 ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “333” เพื่อลบภาพของจักรวรรดินิยมตะวันตก แต่ยังคงเลข 3 ไว้ให้คนไม่ลืมรสชาติ
BMW ในมาดไม่คาดฝันบนถนน Le Loi
ผมนั่งดื่มเจ้าตอง 3 อยู่ตรงเก้าอี้หน้าเคาน์เตอร์บาร์ไป 2 กระป๋องก็เรียกเก็บเงิน และแล้วก็เป็นจริงดังที่คาด เด็กเสิร์ฟรับเงินไปยื่นให้ฝรั่งหนุ่มที่มีบุคลิกยิ้มแย้ม น่าจะเป็นเจ้าของร้านหรือไม่ก็หุ้นส่วนสำคัญ ผมไม่คิดว่าเขาจะเป็นฝรั่งเศสหรืออเมริกัน เท่าที่ทราบจากเพื่อนฝรั่งเศสที่เคยเดินทางท่องเที่ยวในเวียดนาม พวกเขาบอกว่าชาวฝรั่งเศสได้รับการต้อนรับในภาพรวมที่ค่อนข้างเป็นลบ สำหรับชาวอเมริกันผมยังไม่เคยได้ยินว่าได้รับการต้อนรับอย่างไร เพราะผมเองก็มีเพื่อนอเมริกันน้อยมาก
ขออนุญาตกลับมาที่ One for the road วลีนี้ฝรั่งพูดภาษาอังกฤษนิยมใช้เมื่อจะดื่มสักแก้ว (หรือขวด) ก่อนกลับบ้านหรือออกเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง
การเดินทางระหว่างเมืองในอดีตนั้นหากไม่เดินเท้าก็ใช้รถม้า ซึ่งกว่าจะถึงที่หมายถัดไปอาจใช้เวลาเป็นวันๆ ร้านอาหารและที่พักแบบขายอาหาร (Inn) ไม่ได้หาง่ายๆ จำเป็นต้องห่ออาหารไปกินระหว่างทาง อาหารพวกนี้ก็จะเป็นอาหาร “for the road”
การใช้วลี One for the road สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นพบครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Edinburgh Evening News ฉบับเดือนสิงหาคม ค.ศ.1939 ที่รายงานการอภิปรายในสภาสหราชอาณาจักร ส.ส. สุภาพสตรีท่านหนึ่งถามกระทู้นายกรัฐมนตรีในประเด็นที่ว่าควรพิจารณาถึงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อยก็เป็นอันตรายได้ รัฐมนตรีคมนาคมเป็นผู้มาชี้แจงแทน กล่าวตอนหนึ่งว่า “กระผมได้อ่านรายงานและรับทราบดีว่าสุภาพสตรีผู้ทรงเกียรติท่านนี้มีอคติต่อสิ่งที่เรียกว่า “one for the road” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ถนนคนเดิน Di Bo ในย่านนักท่องเที่ยวเมืองเว้
สุภาพสตรีท่านนี้เหมือนหยั่งรู้อนาคต เมื่อ 80 ปีก่อนนั้นหากจะดื่มสักกรึ๊บสองกรึ๊บก่อนออกเดินทางไม่น่าจะเสียหายอะไร เพราะวิธีเดินทางส่วนใหญ่คือการเดินและนั่งรถม้า ทว่าในเวลาต่อมาพวกที่ออกจากผับหรือบาร์มักจะขับรถยนต์ จึงมีการรณรงค์ “ดื่มไม่ขับ” เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก แม้ว่ายังมีบางประเทศ รวมถึงอังกฤษ (และไทย) ที่อนุญาตให้ดื่มวิสกี้ได้ประมาณ 1 แก้ว หรือเบียร์ 1 ขวดเล็ก ก็น่าจะผ่านด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ วลี One for the road จึงยังใช้ได้อยู่
แต่ที่ได้ยินกันมากก็คือ One more for the road ขออีกแก้ว (หรือขวด) ซึ่งหมายความว่าดื่มมาพอสมควรแล้วแต่ยังจะตบท้ายอีกหน่อยเพื่อให้แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์ต่อเนื่องระหว่างทางไปจนถึงเตียงนอน โดยที่ยังไม่ชัวร์ว่าเตียงนอนนั้นเป็นเตียงที่บ้านหรือโรงพยาบาลกันแน่
เวลาเลยเที่ยงคืนแล้วตอนที่ผมออกจากร้าน ONE FOR THE ROAD คราวนี้คิดจะกลับไปนอนจริงจังมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก่อนจะพ้นโซนกินดื่มหันไปเห็นร้านชื่อ BROWN EYES มีคำขยายความด้านล่างแปลเป็นไทยได้ว่า “ปิดตี 5 หรือจนกว่าคนสุดท้ายจะร่วง” ผมอยากรู้ขึ้นมาทันทีว่าข้างในจะมีลักษณะอย่างไร จำต้องเดินเข้าไปพิสูจน์
ร้าน DMZ “เขตปลอดทหาร” ส่วน McNamara Line ที่เขียนไว้หมายถึงเขตยุทธศาสตร์ของสหรัฐอยู่ด้านล่างและขนานไปกับเส้น DMZ
ร้านมี 2 ชั้น ขนาดใหญ่พอควร ลูกค้ามีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนเวียดนามแน่นร้าน เบียดเสียดกันเต้นดนตรีป๊อปแดนซ์ที่ผมพอรับได้ การจะซื้อเครื่องดื่มต้องต่อคิวที่หน้าเคาน์เตอร์บาร์ ผมได้ Huda เบียร์ประจำเมืองเว้มา 1 กระป๋อง ราคา 30,000 ดอง แล้วหามุมยืนใกล้ๆ เคาน์เตอร์ที่ล้อมพนักงานจ่ายเครื่องดื่มไว้เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคนลุกไปจากเก้าอี้จึงเข้าไปนั่ง ชายหนุ่มคนข้างๆ อายุราวยี่สิบกลางๆ ตัดผมสกินเฮด ไว้เคราแพะ พูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้ ผมเรียกเขาในใจว่าลุงโฮ (จิมินห์) เพราะทรงหนวดเคราละม้ายกัน ลุงโฮยื่นบุหรี่ให้สูบ ผมขอบคุณแต่ปฏิเสธ
ผมดื่มเบียร์หมดก็บีบกระป๋องยื่นให้เขาใช้เขี่ยบุหรี่เพื่อไม่ต้องสับสนกับกระป๋องที่ยังมีเบียร์เหลืออยู่ ลุงโฮไม่เข้าใจความหมาย ยกเบียร์กระดกจนหมดแล้วบีบกระป๋องตาม สงสัยจะท้าทายลุงโฮโดยไม่ตั้งใจเข้าซะแล้ว ผมสั่งกระป๋องใหม่มาเผื่อลุงโฮด้วย เขารีบดื่มจนหมดแล้วบีบกระป๋อง ผมก็ต้องดื่มให้หมดแล้วบีบกระป๋องอีกเช่นกัน ลุงโฮรีบสั่งมาอีก 2 กระป๋อง ยังดีที่รู้สึกได้ว่าบรรยากาศออกไปในทางเป็นมิตรมากกว่าปฏิปักษ์ ดื่มชุดหลังนี้หมดแล้วผมก็ขอตัวกลับ
ยอมให้เฟซบุ๊กลุงโฮไปเพื่อให้เขาสบายใจว่าหากต้องการนัดมาบีบกระป๋องกันใหม่ผมก็จะหนีไม่พ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |