ครม.เคาะไทยแลนด์พลัส! 7มาตรการกระตุ้นส่งออก


เพิ่มเพื่อน    

 นายกฯ เปิดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน จับมือร่วมขับเคลื่อนให้อยู่รอดช่วงสงครามการค้าโลก ครม.เศรษฐกิจคลอดแพ็กเกจ "ไทยแลนด์พลัส" กระตุ้นลงทุน 7 ด้าน ชง ครม. 10 ก.ย.นี้

    ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 กันยายน เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน รัฐมนตรีคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน รัฐมนตรีคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียน และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วม
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเปิดการประชุมว่า ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ พร้อมร่วมมือกับประเทศสมาชิก และสานต่อการขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างอาเซียนที่มั่นคงแข็งแรง รองรับกระแสความเปลี่ยนแปลง ทั้งเชิงภูมิเศรษฐศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลกระทบอาเซียนได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ก่อนพิธีเปิดการประชุม ได้มีโอกาสพบปะหารือกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน รัฐมนตรีคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน รัฐมนตรีคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียน และเลขาธิการอาเซียน โดยเห็นว่าประเทศสมาชิกอาเซียนต้องร่วมมือร่วมใจกัน เพราะวันนี้เรากำลังเผชิญกับสงครามการค้าและปัญหาอื่นๆ 
    "ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้อาเซียนอยู่รอดปลอดภัย โดยอาเซียนต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน หาช่องทางเพิ่มมูลค่าระหว่างกันให้มากขึ้น เพราะไม่มีใครแก้ปัญหาเพียงลำพังได้ ปัญหาเหล่านี้นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะโลกมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา วันนี้มีหลายประเทศมหาอำนาจไม่ได้มีแค่สองฝ่ายเหมือนเมื่อก่อน การแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นอาเซียนจึงต้องเตรียมความพร้อม รวมตัวกันในข้อริเริ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) เพื่อเจรจากับกลุ่มอื่นๆ และคาดหวังว่าอาร์เซ็ปจะจบภายในปีนี้ได้" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
    นายกฯ กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบจากปัจจัยภายนอกนั้น เราสามารถแก้ได้ด้วยการค้าขายชายแดน และเตรียมมาตรการรองรับราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ซึ่งดิสรัปชันเป็นทั้งวิกฤติและโอกาส อาเซียนต้องเตรียมความพร้อม มุ่งเข้าสู่การเป็นดิจิทัล เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างองค์รวม ส่วนปัญหาขยะทะเลภูมิภาคอาเซียนถือว่ามีปัญหานี้มากพอสมควร โดยไทยจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงขอความร่วมมือจากประเทศอาเซียนทั้งหมดให้ร่วมมือแก้ไขปัญหา นอกจากนี้สิ่งที่ห่วงใยคือ ประเด็นด้านแรงงาน ซึ่งอาเซียนจำเป็นต้องพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้มากขึ้น เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรและหุ่นยนต์ต่อไปในอนาคต 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เห็นชอบแพ็กเกจเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิต สืบเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า หรือ Thailand Plus Package 7 ด้าน ดังนี้ 1.ด้านสิทธิประโยชน์ ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติสำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาทภายในปี 2564 โดยต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563
    2.ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินการของหน่วยงาน ให้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและ
ประสานงานการลงทุนในลักษณะ One Stop Service โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคแก่นักลงทุน รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สามารถอนุมัติโครงการในกลุ่มกิจการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ทุกขนาดการลงทุน เพื่อตอบสนองนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานโดยเร็ว 
    3.ด้านบุคลากร ให้กำหนดมาตรการการคลังเพื่อสนับสนุนกาฝึกอบรมแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่เข้าข่าย Advanced Technology ไปหักลดหย่อนเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2562-2563 รวมทั้งให้มีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง โดยสามารถนำค่าจ้างไปหักค่าใช้จ่ายระหว่างปี 2562-2563 นอกจากนี้ ในกรณีของโครงการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมและยังมีสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ บีโอไอ จะอนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็น Advanced Technology ไปคำนวณรวมเป็นวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็น 200% รวมทั้งให้บีโอไอและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกันนำเสนอแนวทางและรูปแบบการนำเงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ มาใช้สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการศึกษาศักยภาพสูง
    4.ด้านความสะดวกในการประกอบธุรกิจ มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งปรับปรุงบัญชีแนบท้ายตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ยังขอให้บีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเชื่อมโยงข้อมูล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมที่ดิน เป็นต้น รวมทั้งให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มมีความเชี่ยวชาญสูง
    5.มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเตรียมจัดหาและพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติแต่ละประเทศเป็นการเฉพาะ เช่น เกาหลี จีน ไต้หวัน เป็นต้น 6.ขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งสรุปผลการศึกษาและกระบวนการต่างๆ ให้ได้ข้อสรุปเรื่องการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าไทย-อียู และการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก ภายในปี 2562 รวมทั้งมอบให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดงบประมาณแก่กระทรวงพาณิชย์ สำหรับกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าด้วย
    และ 7.ให้กระทรวงการคลังกำหนดมาตรการเพิ่มเติม โดยให้หักเงินลงทุนด้านระบบอัตโนมัติได้เพิ่มขึ้น ระหว่างปี 2562-2563 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ อันจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานในประเทศไทย
    นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณา Thailand Plus Package เพียงเรื่องเดียว ซึ่งจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 10 ก.ย.นี้ ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการส่งออกที่มีข่าวก่อนหน้านี้ยังไม่ได้มีการเสนอให้พิจารณาในครั้งนี้ เนื่องจาก รมว.พาณิชย์ติดภารกิจร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน แต่จะนำเสนอในการประชุมครั้งหน้า รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านท่องเที่ยว ซึ่งหากผู้รับผิดชอบดำเนินเสร็จทัน จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาในสัปดาห์หน้า
    ด้านนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ในด้านการชักจูงการลงทุนนั้น บีโอไอจะร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อจัดทีมบูรณาการโรดโชว์และทำการตลาดเชิงรุก โดยเน้นชักจูงนักลงทุนในประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี เป็นต้น
    "ประเทศไทยมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับนโยบาย New Southern Policy ของเกาหลีใต้ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา และนโยบายมุ่งตะวันออก (Look East Policy) ของอินเดีย นอกจากนั้นยังมีจุดเด่นในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไปยังกลุ่ม ACMECS หรือ CLMVT การออกมาตรการ Thailand Plus ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการดึงดูดการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยมากขึ้น" เลขาธิการบีโอไอระบุ.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"