"บิ๊กตู่" เตรียมลง "ยโสธร-อุบลราชธานี" 9 ก.ย.นี้ เยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย พร้อมตรวจสภาพปัญหาบริเวณแม่น้ำชี "เฉลิมชัย" สั่งเฝ้าระวังย่านเศรษฐกิจ-แปลงเกษตรที่จะเก็บเกี่ยว เล็งเช่าพื้นที่รองรับน้ำไว้ใช้แล้งหน้า "กรมชลฯ" เผยยังมีอีก 14 จว.เผชิญน้ำท่วม "ธรรมนัส" รับปากเกษตรกรอีสานหาทางเพิ่มค่าชดเชยความเสียหาย "อุบลฯ" ประกาศเทศบาลวารินชำราบพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะนำคณะลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์และตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย จ.ยโสธรและอุบลราชธานี ในช่วงบ่ายวันที่ 9 ก.ย.นี้ โดยจุดแรกนายกฯ จะนั่งรถตรวจสภาพปัญหาในพื้นที่บริเวณแม่น้ำชีและแม่น้ำที่ไหลมาบรรจบกัน ณ บ้านแจ้งน้อย ต.ค้อเหนือ อ.เมืองฯ จ.ยโสธร
จากนั้นนายกฯ และคณะจะไปเยี่ยมผู้ประสบภัยที่โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เมืองฯ จ.ยโสธร ก่อนเดินทางไปยังจ.อุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขอุทกภัยของเทศบาล ต.บ้านกอก อ.เขื่องใน และเดินทางกลับ กทม.ช่วงค่ำ
ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 ก.ย.นี้ มีกำหนดการลงพื้นที่ไปเยี่ยมผู้ประสบภัยและมอบถุงยังชีพที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น แล้วเดินทางไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อรับฟังสรุปรายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์และมอบนโยบาย
ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและมอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับสำนักงานชลประทานที่ 1-17
นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น คาดว่าภายใน 2-3 วันนับจากนี้ ระดับน้ำที่ท่วมสูงในหลายพื้นที่จะทยอยกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขความเสียหายในพื้นที่ชัดเจนมากนัก ต้องรอให้น้ำลดลง แล้วจะเร่งให้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปประเมินความเสียหายให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ พร้อมประเมินมูลค่าความเสียหาย เพื่อดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร็วที่สุด
"คาดว่าภายในเดือน ก.ย.นี้ เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วจะมีพื้นที่รองรับน้ำได้ถึง 2,000-3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ในขณะนี้ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าไปในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่การเกษตรที่กำลังจะเก็บเกี่ยว หากทำตรงนี้ได้ความเสียหายก็จะลดลง" นายเฉลิมชัยกล่าว
14 จังหวัดยังเผชิญน้ำท่วม
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว ได้สั่งการให้กรมชลประทานสำรวจพื้นที่ที่จะเป็นแหล่งรองรับน้ำ เช่น ทุ่งบางระกำ และทุ่งทะเลหลวง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่รองรับน้ำไว้ใช้ในแล้งหน้า และเพื่อการอุปโภค-บริโภคด้วย โดยพื้นที่ที่จะเป็นแหล่งรองรับน้ำนี้ รัฐบาลจะหาวิธีการเยียวยา เช่น จ่ายค่าเช่า เป็นต้น ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นอยู่อาศัยได้ แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบของกฎหมาย และจะมีการส่งเสริมอาชีพ อาจมีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมยังคงมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 14 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, เพชรบูรณ์, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, มหาสารคาม, อุดรธานี, อุบลราชธานี, อำนาจเจริญ, สกลนคร และนครพนม โดยกรมชลประทานได้จัดส่งเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ ไปช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมทั่วประเทศแล้ว
อธิบดีกรมชลฯ กล่าวว่า ในส่วนการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อเวลา 06.00-12.00 น. เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำแบบขั้นบันไดในอัตรา 800-850 ลบ.ม./วินาที โดยได้แจ้งเตือนประชาชนใน 7 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และ ลพบุรี
"น้ำจะเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำน้อยบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา, ต.หัวเวียง ต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยระดับน้ำจะท่วมสูง 40-50 ซม. ในช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 7 ก.ย.2562" อธิบดีกรมชลฯ กล่าว
ด้านนายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 15 จังหวัดได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ อุตรดิตถ์ ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ขอนแก่น นครพนม มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด และตรัง เนื่องจากสัตว์น้ำที่ใกล้จับจำหน่ายหลุดลอยไปกับน้ำหลากเกือบทั้งหมด จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ 17,500 ไร่ เกษตรกรเดือดร้อน 16,900 ราย ส่วนใหญ่เพาะเลี้ยงปลานิลในกระชัง เลี้ยงปลาดุก กบ และกุ้งก้ามกรามในบ่อ มูลค่าความเสียหายเกือบ 200 ล้านบาท
วันเดียวกัน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและถนนถูกตัดขาด พร้อมทั้งพบปะประชาชน มอบถุงยังชีพให้ชาวบ้าน อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด จากนั้นเดินทางเข้าไปในพื้นที่บ้านนาแซง ตำบลวังหลวง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และบ้านกลางสระเกษ ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร
ร.อ.ธรรมนัสได้รับฟังข้อเรียกร้องของเกษตรกรเกี่ยวกับค่าชดเชยกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติจะได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 ด้านพืชจะจ่ายเงินช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ ทั้งนี้ กำหนดให้นาข้าวได้รับอัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ได้รับอัตราไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ ได้รับอัตราไร่ละ 1,690 บาท การช่วยเหลือด้านปศุสัตว์กรณีเป็นเงินหรือปัจจัยการผลิตสำหรับทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ให้เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กิโลกรัม หรือท่อนพันธุ์ไม่เกินไร่ละ 250 กิโลกรัม ไม่เกินรายละ 20 ไร่ หรือจ่ายเป็นค่าพันธุ์พืช อาหารสัตว์ ครอบครัวละไม่เกินเดือนละ 1,700 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน
กรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย จะชดเชยตามเสียหายจริง ซึ่งกำหนดอัตราส่วนตามอายุสัตว์ โดยอัตราสูงสุดสำหรับโคอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ได้ตัวละไม่เกิน 20,000 บาท รายละไม่เกิน 2 ตัว, กระบืออายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ได้ตัวละไม่เกิน 22,000 บาท รายละไม่เกิน 2 ตัว, สุกรอายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป ได้ตัวละไม่เกิน 3,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ตัว, ไก่ไข่อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 80 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว, ไก่เนื้ออายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 50 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว, เป็ดไข่และเป็ดเนื้ออายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 50 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว
อุบลฯ ประกาศภาวะฉุกเฉิน
ด้านประมงแบ่งเป็นปลาหรือสัตว์น้ำอื่นที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าว หรือร่องสวน 16,577 ไร่ ไร่ละ 4,225 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล 1,065 ไร่ ไร่ละ 10,920 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ สำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังหรือบ่อซีเมนต์ 1,413 ไร่ ตารางเมตรละ 315 บาท รายละไม่เกิน 80 ตารางเมตรนั้น เกษตรกรระบุว่าน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตที่จ่ายไป รวมถึงการจะนำมาลงทุนรอบใหม่ก็ไม่เพียงพอ
"จะนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาปรับแก้ระเบียบให้เกษตรกรได้รับค่าชดเชยสูงขึ้น แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของการออกกฎหมาย นอกจากนี้ ยังจะให้ดำเนินโครงการประกันภัยผลผลิต ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เคยทำมาแล้ว โดยรัฐสนับสนุนเบี้ยประกันเป็นเงินกู้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งใช้งบประมาณไม่มาก ทำให้เกษตรกรได้รับค่าชดเชยทั้งจากภาครัฐและได้รับสินไหมทดแทนจากบริษัทในสังกัดสมาคมประกันวินาศภัยเป็นทุนสำหรับการผลิตรอบใหม่" ร.อ.ธรรมนัสกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.อ.ธรรมนัสยังได้รับข้อเสนอของเกษตรกรที่ทำการเกษตรในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เช่น ที่ดินที่มีเพียงเอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5) เมื่อเกิดภัยพิบัติจะไม่ได้รับค่าชดเชย ซึ่งจำเป็นต้องไปพิจารณาว่าจะแก้ไขกฎหมายให้ได้รับค่าชดเชยเช่นเดียวกับเกษตรกรที่ทำกินในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ได้หรือไม่
"กระทรวงเกษตรฯ จะพิจารณาสนับสนุนพันธุ์พืช-พันธุ์สัตว์ ปัจจัยการผลิต การฟื้นฟูอาชีพ รวมถึงการอบรมอาชีพเสริม เพื่อให้มีรายได้เพียงพอเลี้ยงครอบครัวและประกอบอาชีพเกษตรต่อไป" รมช.เกษตรฯ กล่าว
จ.อุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าฯอุบลราชธานี ประกาศให้พื้นที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ 9 ชุมชน กับ 7 หมู่บ้าน ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ และ 17 ตำบล 2 อำเภอ คือ เขื่องใน และนาเยีย เป็นเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินกว่า 6,400 ครอบครัว พื้นที่เกษตรกรรมเสียหายกว่า 24,000 ไร่ จากผลกระทบของพายุโพดุลและคาจิกิ ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่น้ำท่วมแล้ว 22 อำเภอ พื้นที่เกษตรกรรมกว่า 300,000 ไร่
ที่สถานีวัดน้ำสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองฯ ระดับแม่น้ำมูล น้ำ 8.64 เมตร สูงกว่าวันก่อนอีก 73 เซนติเมตร และล้นตลิ่ง 1.64 เมตร ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนริมฝั่งเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ 10 ชุมชน 400 ครัวเรือน ชาวบ้านขนย้ายสิ่งของมาไว้ริมถนนสถิตย์นิมานกาล บางครัวเรือนไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้ต้องย้ายมาพักชั่วคราวที่บริเวณสำนักงานที่ดินอำเภอวารินชำราบ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |