ประธานวิปฝ่ายค้านทำใจยอมรับได้ซักฟอกวันเดียว ดักทาง "บิ๊กตู่" ไม่มาฟังอ้างติดภารกิจฟังคำวินิจฉัยศาล รธน. ซัดไม่รับผิดชอบ ขาดวุฒิภาวะ พปชร.เตือนปมถวายสัตย์ฯ พาดพิงเสียหายต้องรับผิดชอบ ชี้สุดท้ายจบที่ศาล รธน. "ชวน" ปิดจ๊อบแบ่งโควตา กมธ. 35 คณะ ดับฝัน 10 พรรคเล็กไม่ได้สักเก้าอี้ เหตุขัด รธน. "พิเชษฐ" น้อยใจขอถอนตัวจาก 10 พรรคเล็ก แต่พิลึก! ยังอยู่กับรัฐบาล ปชป.ยื่นญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไข รธน. จี้ให้เป็นญัตติด่วน ราชกิจจาฯ ประกาศพรรคไพบูลย์สิ้นสภาพแล้ว
เมื่อวันศุกร์ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ว่า เชื่อว่านายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะไม่ปรับการบรรจุญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณ ตามที่พรรคฝ่ายค้านเสนอขอให้เลื่อนเป็นวันที่ 17 ก.ย. แต่พรรคฝ่ายค้านพร้อมยอมรับ แต่ยังมีประเด็นที่กังวลกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะไม่รับฟังคำถามและข้อเสนอแนะของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านในที่ประชุมสภาฯ ตลอดการประชุม เพราะนายกฯ อาจระบุว่ามีภารกิจ หากไม่ใช่การเข้าฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 18 ก.ย. ที่จะพิจารณาคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญการเสนอชื่อเป็นนายกฯ หรือไม่ เวลา 14.00 น. งานอื่นๆ สามารถมอบหมายให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเองได้
“กรณีนายกฯ บอกว่าจะฟังไม่ต่อเนื่องเพราะต้องออกไปทำงานนั้น ถือเป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบต่อสภาที่มีวาระพิจารณาสำคัญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กำหนดไว้ และมีการอภิปรายลักษณะดังกล่าวเพียงปีละครั้ง สะท้อนให้เห็นการขาดวุฒิภาวะที่นายกฯ ต้องรับผิดชอบต่อสภา รวมถึงจงใจหนีการกระทำความผิด พรรคเพื่อไทยจะไม่เสนอให้พักการประชุมเพื่อรอให้นายกฯ เข้าฟังการอภิปราย เพราะสงสารประชาชนที่รับฟังการอภิปราย และไม่ต้องการให้ปัญหาของนายกฯ กลายเป็นปัญหาของสภา” นายสุทินกล่าว
ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า ส.ส. 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมหารือเพื่อกำหนดบุคคลที่จะอภิปราย เบื้องต้น ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอตัวแล้ว 10 คน พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอผู้อภิปราย 10 คน ทั้งนี้ อาจขอหารือกับนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เพื่อตกลงไม่ให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลประท้วงจนเกินงาม การอภิปรายดังกล่าวเป็นวาระของฝ่ายค้านที่ได้สิทธิอภิปราย ดังนั้นจะไม่มีประเด็นการจัดสรรเวลาให้ ส.ส.พรรครัฐบาลอภิปรายหรือเสนอแนะความเห็นต่อ ครม.
ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค พปชร. ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือการอภิปรายว่า ทางวิปรัฐบาลไม่ได้มีการเตรียมพร้อมมากนัก เพราะกรณีนี้เป็นการอภิปรายโดยฝ่ายค้าน ซึ่งทาง ครม.จะเป็นผู้ตอบ แต่หากพบว่าฝ่ายค้านอภิปรายในประเด็นซ้ำซาก ไม่ตรงประเด็น รวมไปถึงมุ่งแต่โจมตีทางการเมือง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็จำเป็นต้องประท้วง เพื่อให้การอภิปรายเป็นไปตามหลักและราบรื่นต่อไป ทั้งนี้จะไม่มีองครักษ์พิทักษ์ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ช่วยตัวเองได้ สามารถตอบข้อซักถามได้เป็นอย่างดี เพราะถือว่าเป็นหัวหน้ารัฐบาล ขณะเดียวกันฝ่ายค้านก็ต้องระมัดระวังคำพูดด้วย เพราะกรณีนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
"ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะมาประชุมกันอย่างครบถ้วนตามหน้าที่ และส่วนตัวเห็นว่าประเด็นในการอภิปรายไม่ใช่เรื่องน่าห่วงสำหรับรัฐบาล เพราะเป็นการอภิปรายโดยไม่ลงมติ และผู้อภิปรายต้องคำนึงด้วยว่าหากมีการพูดแล้วพาดพิงกันจนก่อให้เกิดความเสียหายแล้วจะรับผิดชอบอย่างไร นอกจากนี้ แม้จะมีการอภิปรายในวันที่ 18 ก.ย. แต่ทุกอย่างจะจบสิ้นกระบวนความที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการอภิปรายเป็นเพียงการรับฟังข้อเสนอและข้อท้วงติง รวมถึงรับฟังการชี้แจง แต่เรื่องนี้จะจบได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ" นายชัยวุฒิกล่าว
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพปชร. กล่าวว่า อยากจะฝากไปยังพรรคร่วมฝ่ายค้านให้ระมัดระวังการอภิปรายด้วย ที่สำคัญอย่าอาศัยจังหวะดังกล่าวโจมตีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรกับพี่น้องประชาชน ถ้าเป็นแบบนั้น ก็ขอเวลาให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เอาเวลาไปทำงานช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจะดีกว่า เพราะขณะนี้พี่น้องประชาชนกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ เพราะผลกระทบจากสงครามการค้า อีกทั้งยังประสบภัยธรรมชาติ เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มที่
"ชวน"ปิดจ๊อบโควตากมธ.
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านพูดรายวันเรียกร้องให้นายกฯไปตอบในสภาด้วยตัวเอง อย่าหนีสภานั้น นายธนกร กล่าวยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยหนีสภา และท่านเองก็ยืนยันแล้วว่าพร้อมจะไปชี้แจงในสภา ซึ่งมั่นใจว่าพล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงได้ตามความเหมาะสม เพราะเรื่องนี้ละเอียดอ่อน ทุกวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ทำงานหนักทุกวันเพื่อพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ไม่อยากให้บางคนวันๆ จ้องแต่จะจับผิดแล้วนำข้อมูลไปบิดเบือน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวว่า เราได้ดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งนายกฯ ชี้แจงแล้วว่าจะไปตอบด้วยตัวเอง เรื่องดังกล่าวจึงเป็นขั้นตอนปกติของสภา โดยทางพรรค พปชร.จะจัดเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดเตรียมบุคลากรที่จะช่วยกันชี้แจง ซึ่งการเตรียมการรับมือนั้นเป็นไปตามระเบียบ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ
ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ภายหลังนัดทุกพรรคการเมืองประชุมจัดสรรโควตาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ที่มีจำนวน 35 คณะ โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมือง อาทิ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย, นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย, นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา, นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ และ นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย ในฐานะผู้ประสานงาน 10 พรรคเล็ก
โดยนายชวนได้แจ้งที่ประชุมก่อนเข้าสู่วาระว่า ที่ต้องนัดหมายแต่ละพรรค เพราะอยากให้การแต่งตั้ง กมธ.สามัญฯ ที่มีจำนวน 35 คณะ ได้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ กมธ.แต่ละชุดได้ปฏิบัติหน้าได้ทันที นอกจากนี้ ทางพรรคเล็กจำนวน 10 พรรคยังได้ส่งเรื่องมายังประธานฯ ว่า 10 พรรคเล็กได้รวมตัวกันเพื่อขอตำแหน่งประธานกรรมาธิการจำนวน 1 คณะ
ต่อมาเมื่อเวลา 10.45 น. นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ เปิดเผยว่า ได้หารือตัวแทนพรรคการเมือง 26 พรรค เรื่องการตั้ง กมธ. โดยมีสัดส่วนประธาน กมธ.คณะ เป็นของฝ่ายรัฐบาล 17 คณะ ฝ่ายค้าน 18 คณะ ในวันนี้ทุกพรรคจะต้องยื่นจำนวน กมธ.แต่ละคณะ คณะละไม่เกิน 15 คน รวมมีตำแหน่ง กมธ.ในสภา จำนวน 522 ตำแหน่ง บางคนอาจเป็น 2 คณะ เพราะเกินจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
นายสมบูรณ์กล่าวว่า นายชวนได้เรียกพรรคการเมืองมาประชุม โดยปกติจะใช้ระยะเวลานาน แต่ครั้งนี้สามารถตกลงกันได้ภายในสัปดาห์นี้ ถือว่าเร็วกว่าปกติ เพราะทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เบื้องต้นได้จัดสรรตำแหน่งครบถ้วนแล้ว ซึ่งจะประกาศอย่างเป็นทางการหลังเข้าสู่การประชุมสภาวันพุธที่ 11 ก.ย. ส่วนกรณี 10 พรรคเล็กรวมตัวเพื่อขอ กมธ. 1 ตำแหน่งนั้น การรวมกลุ่มการเมืองเช่นนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้จัดแบ่งตำแหน่ง กธม.ทั้ง 35 คณะ ดังนี้ พรรคเพื่อไทย 10 คณะ ได้แก่ กมธ.การพลังงาน, กมธ.การศึกษา, กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ, กมธ.การศึกษา จัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณ, กมธ.การต่างประเทศ, กมธ.กิจการองค์กรศาล รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน, กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ, กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค, กมธ.การอุตสาหกรรม, กมธ.ป้องกันและบรรเทาผลกระทบภัยธรรมชาติและสาธารณภัย
"พิเชษฐ"ถอนตัวจาก10พรรค
พรรคพลังประชารัฐ 8 คณะ ได้แก่ กมธ.การตำรวจ, กมธ.การสื่อสารและโทรคมนาคม และดิจิตอลเศรษฐกิจ, กมธ.การเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน, กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร, กมธ.การทหาร, กมธ.การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม, กมธ.ป้องกันการปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด และ กมธ.การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม
พรรคอนาคตใหม่ 6 คณะ ได้แก่ กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ, กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน, กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน, กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ และ กมธ.การแรงงาน
พรรคประชาธิปัตย์ 4 คณะ ได้แก่ กมธ.การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา, กมธ.การเกษตรและสหกรณ์, กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ และ กมธ.การสวัสดิการสังคม
พรรคภูมิใจไทย 4 คณะ ได้แก่ กมธ.การคมนาคม, กมธ.ท่องเที่ยว, กมธ.กีฬา และ กมธ.การสาธารณสุข พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คณะ ได้แก่ กมธ.การส่งเสริมแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม
พรรคประชาชาติ 1 คณะ ได้แก่ กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการปกครองรูปแบบพิเศษ ส่วนพรรคเสรีรวมไทย 1 คณะ ได้แก่ กมธ.การปกครอง
ขณะที่นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย เปิดเผยว่า ประชาธรรมไทยขอประกาศแยกตัว เพราะตนรู้สึกเบื่อแล้ว เมื่อรวมเป็นสัดส่วนพรรคเล็ก 10 พรรค ไม่เกิดประโยชน์ ไม่เป็นอิสระ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มอีกต่อไป จึงขอประสานกับเจ้าหน้าที่แยกห้องการทำงานออกเป็นพรรคเดียว เดิมทีตั้งใจจะร่วมกลุ่มกันเพื่อขอประธาน กมธ.ให้นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ แต่ก็ไม่ได้ ซึ่งนายมงคลกิตติ์ก็รู้มาก่อนแล้วว่าจะมีการอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ตำแหน่งประธาน กมธ.แก่พรรคเล็ก ส่วนตนจากนี้ก็คงจะไปหารือกับทางฝ่ายค้านเกี่ยวกับ กมธ.อุตสาหกรรม ที่ตนมีประสบการณ์ต่อไป
"ผมผิดหวังเหมือนกับการจัดตั้งรัฐบาล ที่ 10 พรรครวมกันควรได้รัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยการ พอมาถึงการแต่งตั้งผู้ช่วยรัฐมนตรีตัวแทนจาก 10 พรรคเล็กก็ได้ไม่ครบอีก มาเที่ยวนี้ประธาน กมธ.ก็เหมือนเดิม ผมผิดหวัง ก็ขอแยก" นายพิเชษฐกล่าว
ต่อมานายพิเชษฐกล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ว่า กรณี 10 พรรคเล็กไม่ได้ประธาน กมธ.สัก 1 คณะนั้นความจริงวิปรัฐบาลจะต้องดูแลพวกเรา แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น ไม่เคยได้รับการดูแลจากวิปรัฐบาลเลย พรรคจึงประกาศขอแยกตัวจาก 10 พรรคเล็กดีกว่า แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าอันนี้อยู่ในส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ แต่พรรคร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ ไม่ใช่จะถอนตัวไปเป็นฝ่ายค้านอย่างที่มีบางสื่อระบุ
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวถึงการแบ่งโควตาตำแหน่งประธาน กมธ. ซึ่งกลุ่ม 10 พรรคเล็กไม่ได้ตำแหน่งประธานว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีอะไรมาก อะไรที่ไม่เข้าใจกันก็สามารถพูดคุยกันได้ เพราะตอนนี้เข้าสู่การจัดสรรตำแหน่งประธาน กมธ.แล้ว โดยจะมีบทสรุปว่าแต่ละพรรคจะได้โควตาเท่าใด เพียงแต่พรรคเล็กอาจไม่ได้ตำแหน่งประธานเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องดูแลกันในตำแหน่ง กมธ. เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาการมาทวงตำแหน่งกันในภายหลัง เพราะเราได้พูดคุยหารือกันอย่างต่อเนื่อง
ปชป.ยื่นตั้งญัตติแก้ไข รธน.
วันเดียวกัน นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ เพื่อเสนอญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหา และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยนายเทพไทกล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ประชุม ส.ส.ของพรรค ปชป.มีมติให้ดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งพรรคมีจุดยืนชัดเจนตอนทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ช่วงที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ที่ได้ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะเห็นว่ามีข้อบกพร่องหลายประการที่ควรแก้ไข และเป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขของพรรคในการเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็ยอมรับเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ ทั้งนี้ มี ส.ส.ของพรรคเข้าชื่อรับรองเสนอญัตติรวม 25 คน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ของพรรค อาทิ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายสุทัศน์ เงินหมื่น, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์, นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ และนายกรณ์ จาติกวณิช เป็นต้น
“การยื่นต่อเลขาฯ ประธานสภาฯ เพราะต้องการให้เป็นญัตติด่วน เนื่องจากเห็นว่าเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลด้วย จึงควรต้องพิจารณาทันที จึงหวังและอยากวิงวอนนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องการพิจารณาญัตติ ได้ทบทวนแนวคิดให้เรื่องนี้เป็นญัตติด่วน และตั้งคณะ กมธ.วิสามัญฯ โดยด่วนที่สุด” นายเทพไทกล่าว
นายเทพไทกล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการดำเนินการคือ ให้ กมธ.ไปศึกษาและสร้างกระบวนการรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ตนอยากให้ศึกษาแนวทางจบภายใน 3 เดือน ทั้งนี้ พรรค ปชป.อยากปลดล็อกเรื่องวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน เพื่อเปิดประตูให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ ได้ง่ายขึ้น หากจะนำญัตติการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านมารวมเป็นญัตติเดียวกันด้วยก็ได้ ซึ่งเชื่อว่าฝ่ายค้านจะไม่ขัดข้องหากรวมเป็น กมธ.ชุดเดียวกัน เพราะพรรคปชป.กับฝ่ายค้านมีหลักการเดียวกัน คือตั้งคณะ กมธ.ขึ้นมาเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขก่อน
เมื่อถามว่า แกนนำพรรคพลังประชารัฐมองว่าเรื่องนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน จะทำให้การดำเนินการยากลำบากหรือไม่ นายเทพไทกล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐต้องตอบคำถามสังคมเอง ว่าตีความคำว่านโยบายเร่งด่วนทำนองไหน ถ้าเมื่อไหร่ก็ได้ก็ไม่เร่งด่วน แต่ละพรรคมีจุดยืน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็แสดงจุดยืนแล้ว
นายสุทิน คลังแสง ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องดีที่มีญัตติของฝ่ายรัฐบาลเข้าสู่สภา แต่คิดว่าการพิจารณาน่าจะยาก และไม่ทันสมัยประชุมนี้ เนื่องจากเป็นสัปดาห์สุดท้าย และประธานสภาฯ ก็มีเรื่องด่วนที่จะต้องพิจารณาหลายเรื่อง ส่วนการจะนำทั้ง 2 ญัตติมารวมกัน และเสนอเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพรรค ปชป.ที่จะต้องไปคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้ข้อสรุป หากเห็นด้วยก็มีความเป็นไปได้ว่าฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจะจับมือกันเพื่อลงมติขอเลื่อนญัตติการตั้ง กมธ.วิสามัญคณะนี้ขึ้นมา
วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ระบุว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ได้มีหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาชนปฏิรูป ครั้งที่ 10/2562 เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2562 ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูปตามข้อบังคับพรรคฯ พ.ศ.2561 ข้อ 122 กรณีดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กกต.จึงประกาศให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) และวรรคสองแห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ทั้งนี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 3 ก.ย.2562 ลงนามโดย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.
ด้านนายไพบูลย์กล่าวว่า เมื่อประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรคสี่ ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ประกอบมาตรา 101 (10) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้คงสถานะความเป็น ส.ส.ไว้ และต้องหาสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน ตนก็จะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค พปชร. ที่มีอุดมการณ์ตรงกันต้นสัปดาห์หน้า โดยจะแถลงข่าวถึงรายละเอียดในวันที่ 9 ก.ย.นี้ เวลา 11.00 น. ที่รัฐสภาต่อไป สำหรับขั้นตอนการชำระบัญชีนั้น ก็จะเดินหน้าทำควบคู่กันไปในฐานะอดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ไม่เป็นปัญหา ส่วนกรณีที่มีนายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นเรื่อง กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความถึงสถานะ ส.ส. และคะแนนประชาชนปฏิรูปควรกลายเป็นศูนย์หรือนำคะแนนไปรวมกับพรรคใหม่นั้น ตนมองว่าไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |