'กาย-ณัฐชา' เส้นทางที่ไม่มีใบเบิกทาง "ตระกูลการเมือง-บารมี-อิทธิพล"


เพิ่มเพื่อน    

 

        อีกหนึ่งนักการเมืองหน้าใหม่ ที่ชนะเลือกตั้งจากพื้นที่เขตบางขุนเทียน ในฐานะตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ นอกจากนี้ยังได้รับอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในพรรค ในฐานะรองโฆษกพรรค เพื่อช่วยงานในการแถลงข่าว ที่หลังจากนี้ทางพรรคอนาคตใหม่จะพยายามจัดการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ในทุกวันจันทร์ นั่นคือ "กาย-ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์"

                ถือเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรงขนานแท้ ที่มีเพียงสองมือเปล่า ที่อยากเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง เดินต่อไปข้างหน้า และเป็นอีกการเมืองที่พกเพียงหัวใจสู้ กับอุดมการณ์เข้ามาเหยียบในเส้นทาง โดยไม่มีใบเบิกทางทางการเมืองเหมือนกับนักการเมืองอีกหลายคนในประเทศนี้ ที่มีเชื่อมโยง มีต้นทุน จากตระกูลการเมือง ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ทั้งลูกหลาน ญาติพี่น้อง หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับอิทธิพล มากบารมี แต่เขาเป็นเพียงนายณัฐชา ประชาชนคนไทยธรรมดา คนธรรมดาสามัญชน ที่ไม่ใช่คนรวย คนมีชื่อเสียง หรือเป็นนักกิจกรรมที่สังคมรู้จัก ก่อนหน้านี้เขาเป็นเพียงนักธุรกิจธรรมดาๆ คนหนึ่งที่เคยยากจนมาก่อน

๐ ชีวิตก่อนหน้าที่จะเข้าสู่เส้นทางการเมือง

                ผมตัดสินใจหยุดเรียนหลังจบ ปวช. จากสถาบันเทคโนโลยีสยาม เพื่อมาทำงานกับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ไทย-เซมคอน รับเงินเดือน 10,000 บาท ช่วงปี 2554 กำลังไปได้ดี แต่ดันมาโดนใบแดงไปเป็นทหาร ปีนั้นพลาดโบนัสไปด้วยเกือบ 200,000 บาท เพราะผลประกอบการดีมาก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เพราะต้องไปฝึก และตอนที่ผมไปเป็นทหารเกณฑ์ ก็เหมือนเป็นที่รองรับอารมณ์ของผู้บังคับบัญชา เขาไม่ได้รู้หรอกว่าชีวิตแต่ละคนที่มาเป็นทหารเกณฑ์นั้นต้องพลาดอะไรไปบ้าง อันนี้คือจุดเปลี่ยนแรก

                “พอฝึกเสร็จ ก็กลับมาเข้ามาบริษัทเดิม แต่เปลี่ยนไปทุกแผนก เพื่อเก็บประสบการณ์ พอปี 57 ตัดสินใจเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างเองกับญาติ เปิดได้ 1 ปี เจ๊งไม่เป็นท่า มีทั้งโดนโกง ทำงานให้ลูกค้าเขาก็ไม่พอใจ แต่ยังดีที่ไม่ลาออกจากงานประจำ พอปี 59 ตัดสินใจมาเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างใหม่กับเพื่อน 3 คน ปีแรกผลประกอบการดีมาก จึงตัดสินใจลาออกจากงาน แต่ช่วงนั้นเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ปรากฏว่าปีต่อมาก็เจ๊งอีก นี่ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยน เลยเอาความรู้ที่ได้ทั้งหมดมาทำบริษัทรับเหมาเล็กๆ ทำแบบช้าๆ ซึ่งก็ทำมาถึงทุกวันนี้ จนได้มาทำการเมือง”

                ช่วงตอนผมเรียน ปวช. ตอนเช้าผมต้องไปขายหอยทอด พอเลิกเรียนก็ไปทำงาน 7-11 พาร์ตไทม์จากสี่โมงถึง สองทุ่ม ผมเลยรู้ว่าความจนจริงๆ มันเป็นอย่างไร เราเป็นผู้ได้รับผลกระทบเอง ช่วงอายุ 20-21 ปี ผมมีหนี้ล้านกว่าบาท ผมว่ามันหนักหนาอยู่นะสำหรับคนธรรมดาๆ ที่อายุเท่านั้น”

                จากนั้นก็ได้เข้ามาทำการเมือง ตอนแรกเราก็คิดว่าจะเอาให้ได้ แค่ 5,000 คะแนน พอหาเสียงได้ 4 อาทิตย์ เป้าขยับเป็น 15,000 เพราะไปบ้านไหนก็มีแต่คนรู้จัก มีแต่คนฝากความหวังไว้ ตอนนั้นหาเสียง เราก็บอกเขาไปเลยว่าผมไม่ใช่คนแถวนี้ ผมเสนอไปว่า 17 ปีที่ผ่านมา นักการเมืองในพื้นที่เขาแก้ปัญหาตามมุมองของคนในพื้นที่มามากพอแล้ว ผมขอเสนอทางเลือกอื่นให้ท่านบ้าง สุดท้ายก็ได้คะแนนมา 38,348 คะแนน ห่างกับอันดับ 2 ประมาณ 15,000 คะแนน ไม่คิดเหมือนกันว่าจะมาถึงตรงนี้”

๐ พอได้เข้ามาทำงานสัมผัสการเมือง แตกต่างจากคิดไว้มากน้อยแค่ไหน

                เทียบกับตอนเด็กผมคิดว่าการทำการเมืองมันเป็นอีกแบบ พอมองจากภายนอก การเมืองมันเป็นเรื่องการตกลงผลประโยชน์ของกลุ่มคนไม่กี่คน แต่พอเราเข้ามาทำจริงๆ  มันต้องมองกว้างกว่านั้นเยอะ แต่ที่น่าสนใจคือ การเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าที่เราเห็น เป็นเรื่องความรู้สึก ความจริงบางคนไม่ได้อยากทะเลาะกัน แต่มันเป็นความรู้สึกชั่วครั้งชั่วคราว พอแสดงออกแบบนั้นไปแล้ว เพื่อรักษาฟอร์มก็เลยต้องทำแบบนั้นต่อไป เท่านั้น ทุกย่างก้าวในการแสดงกิริยาของนักการเมือง มันส่งผลต่อการตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ ต่อไปด้วย

๐ ในฐานะรองโฆษกพรรคต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง

                ความถนัดของผม เป็นเรื่องสิทธิของคนจน ในฐานะที่ผมเคยใช้ชีวิตค่อนข้างลำบากมาก่อน รัฐควรต้องดูแลคนเหล่านี้ ไม่ใช่การช่วยเหลือแบบที่ทำมา ผมคิดมาตลอดว่า คนจนไม่ควรต้องประจานตนเองเพื่อรับสิทธิ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรต้องมีการยืนยัน หรือพิสูจน์ความจนกัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้มาจากความเหลื่อมล้ำด้านนโยบาย อย่างคนจนนั่งรถเมล์ร้อน ราคาถูก ไปทำงาน วันหนึ่งถนนเส้นเดียวกันจะสร้างบีทีเอสเพื่อให้คนฐานะปานกลางไปทางสูงทำงาน แต่ผลกระทบจากการก่อสร้าง

                อย่างเรื่องรถติด ที่ทำให้เสียเวลา เรื่องมลภาวะ สุดท้ายพวกเขากลับต้องเป็นคนจ่ายต้นทุนเหล่านี้โดยไม่มีทางเลือก สุดท้ายพอรถไฟฟ้าเสร็จ คนจนก็ไม่ได้ขึ้นรถไฟฟ้าอยู่ดี ยังไม่นับผลกระทบที่เจอจากมลภาวะต่างๆ สุขภาพพวกเขาก็เสีย พอจะไปหาหมอ ก็ไม่มีเงิน ต้องไปกู้เงิน สุดท้ายพวกเขาก็ไม่พ้นจากเรื่องหนี้สินอยู่ดี ซึ่งที่น่าเจ็บใจกว่าคือ สาเหตุแห่งการก่อหนี้เหล่านี้ พวกเขาไม่มีสิทธิเลือกเลย เพราะฉะนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำมันแทบจะไม่บรรเทาลงเลย หากเราไม่ไปดูแลที่สาเหตุอย่างการแก้สาเหตุของการเป็นหนี้“

                “ในส่วนของตำแหน่งรองโฆษกพรรคนั้น ผมได้รับมอบหมาย เน้นที่การสื่อสารกับประชาชน ผมเรียกได้ว่าเป็นคนเรียนน้อย อาจไม่ถนัดเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือสิทธิมนุษยชนต่างๆ แต่ผมอาศัยประสบการณ์ชีวิตในการสื่อสารกับประชาชน ทำให้คนทั่วไปเข้าใจสิ่งที่เราจะนำเสนอง่ายที่สุด”

๐ มองภาพตัวเองในอนาคตในวงการการเมืองอย่างไร

                ด้วยระบบของพรรคอนาคตใหม่ แม้ครั้งนี้ผมจะชนะในเขตบางขุนเทียน แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็ไม่มีอะไรการันตีว่า ผมจะได้ลงในเขตนี้ หรือเขตอื่นอีก เพราะสุดท้ายก็ต้องอาศัยไพรมารีโหวตจากสมาชิกในเขตนั้นอยู่ดี ทุกวันนี้เราเลยทำงานโดยไม่ยึดติดว่าเราเป็น ส.ส.ของพรรคในพื้นที่เดิม ซึ่งไม่แน่ว่า 4 ปีข้างหน้า อาจไม่ได้ทำการเมืองแล้วก็ได้

                ทุกวันนี้เราทำงานด้วยความรู้สึกว่า เราไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.ต่อ หรือจะคาดหวังอะไรกลับมาคืน เราสนใจเพียงว่า 4 ปีที่เราอยู่ในตำแหน่ง ประชาชนในเขตบางขุนเทียนต้องได้รับการแก้ปัญหา ผมไม่สนว่าใครจะบอกว่า การซ่อมโน่นนี่ การสร้างสะพาน หรือซ่อมถนน ที่ทำๆ กันมาเป็นผลงานใครที่มีการติดป้าย แสดงความเป็นเจ้าของ ผมคิดว่าการทำงานโดยไม่ห่วงคะแนนแบบที่ผมทำนั้น ต่างกับนักการเมืองอาชีพ เพราะเขาจะมองเรื่องคะแนน แต่เราไม่ได้มองแบบนั้น เรามองแค่ 4 ปี ในตำแหน่งเท่านั้นว่าประชาชนจะได้อะไร

                การเมืองในมุมของผมไม่จำเป็นต้องมาจากตระกูลการเมือง หรือนามสกุลไหนยึดพื้นที่ไหน แต่วันนี้พรรคอนาคตใหม่แสดงให้เห็นแล้วว่า คนธรรมดาที่มาจากตระกูลทั่วไปก็ลงได้ โดยให้ความสำคัญในการตัดสินใจสูงสุดกับสมาชิกพรรค ผมไม่สามารถส่งทายาทลงการเมืองที่เขตบางขุนเทียนต่อไปได้ เพราะสุดท้ายเป็นสมาชิกพรรคที่มีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่พรรคเราแสดงออกให้เห็นแล้วว่าทำได้จริง. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"