โกงเงินคนจน ยิ่งสอบยิ่งเจอ


เพิ่มเพื่อน    

 

 การตรวจสอบทุจริตเบิกจ่ายงบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำลังดำเนินไปบนการจับตาของทุกฝ่าย 

        ข้อมูลการเปิดเผยอย่างเป็นทางการของ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำให้สังคมได้รับรู้ว่า ทุจริตเงินสงเคราะห์คนจน เกิดขึ้นมานานแล้ว และลุกลามไปหลายจังหวัด หลังพลเอกอนันตพรยอมรับว่า ผลจากการที่ทีมตรวจสอบของ พม.ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบทั่วประเทศ พบว่ามีการทุจริตเงินดังกล่าวใน 14 จังหวัด มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากกระจายอยู่ใน  24 หน่วยงาน 
    เรื่องนี้มองแง่หนึ่งก็เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของหน่วยงานต่างๆ ในการตรวจสอบและลงโทษเจ้าหน้าที่ แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดข้อสงสัยไม่น้อยว่า แล้วที่ผ่านมา พม.ไปทำอะไรอยู่ถึงปล่อยให้เกิดการรั่วไหล แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบกับ เงินคนจน-ผู้ด้อยโอกาส กันได้ถึงขนาดนี้ 
    เพราะหากไม่เกิดกรณี น.ส.ปณิดา ยศปัญญา หรือน้องแบม นิสิตปี 4 สาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ออกมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ป่านนี้เรื่องคงเงียบและเกิดการทุจริตกันเป็นขบวนการในหลายจังหวัดทั่วประเทศ 
        จุดเริ่มต้นของการตรวจสอบพบการทุจริตเงินดังกล่าว เกิดจากก่อนหน้านี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือด่วนลับมาก ที่ ตผ.0039/643 ลงวันที่ 30 มิ.ย.60 แจ้งเรื่องการบริหารเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ต่อ รมว.พม.
    จากนั้น สป.พม.มีหนังสือลับมาก ที่ พม.0202/1318 ลงวันที่ 30 ต.ค.60 ส่งเรื่องให้ พส.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และให้รายงาน รมว.พม.และ สตง.ทราบ 
    โดยสื่อรายงานไว้ว่า หนังสือที่ สตง.ส่งมาเป็นช่วงที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ดำรงตำแหน่งเป็น รมว.พม.ก่อนจะย้ายไปเป็น รมว.แรงงาน โดยมีนายไมตรี อินทุสุต เป็นปลัด พม. และนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ เป็นอธิบดี พส. ก่อนที่นายไมตรีจะเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 ก.ย.60 และแต่งตั้งนายพุฒิพัฒน์เป็นปลัด พม. 
    ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ก.พ.61 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 52/2561 เรื่องให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี มีสาระสำคัญคือ การสั่งให้นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัด พม. และนายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม.เข้ามาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีโดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม ให้ทั้งสองคนปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี โดยอยู่ในความควบคุมและกำกับดูแลของรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล พม. 
    ซึ่งคำสั่งอ้างกรณี พม.ได้รับแจ้งจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบความผิดปกติในการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนของ พม. ซึ่งกระทรวงตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงมาแล้วคณะหนึ่ง ผลการสืบสวนตรวจพบความผิดปกติจริง แต่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และ พม.อยู่ระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ความผิดปกติดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการของข้าราชการระดับสูงของ พม.และอาจเกี่ยวพันข้าราชการในวงกว้าง ซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป เพื่อให้การสืบสวนข้อเท็จจริงถูกต้องและเป็นธรรม จึงมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว
    และจากกรณีที่ สตง.แจ้งว่าพบการทุจริตดังกล่าวมาตั้งแต่ มิ.ย.60 ซึ่งตอนนั้น รมว.พม.ไม่ใช่ พล.อ.อนันตพร แต่เป็น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว จึงทำให้ตอนนี้กระแสสังคมเริ่มตั้งคำถามกันแล้วว่า เพราะเหตุใดผู้บริหาร พม.ตอนนั้นถึงไม่มีการตรวจสอบ-ป้องกัน-ติดตามเรื่องดังกล่าว จนมีบางฝ่ายออกมาทวงถามความรับผิดชอบทางการเมืองจาก พล.ต.อ.อดุลย์ จนทำให้นายกฯ ต้องออกมากางปีกป้องเต็มที่  
    “ก็ฟังไป มันยังไม่ใช่เวลาในตอนนี้ ก็รอให้มีการสอบสวนก่อน แล้วใครรับผิดชอบตรงไหนก็ว่ากันมา ผมบอกแล้วทั้งหมดถ้าคิดกันแบบนี้นายกฯ ก็ต้องรับทุกเรื่อง จนกระทั่งถึงเสมียนข้างล่าง นายกฯ ต้องรับผิดชอบหมด จริงอยู่ในสายการบังคับบัญชา ในฐานะที่ผมเป็นผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบ แต่ความรับผิดชอบทางกฎหมายมันก็มีระดับของมันลงไป ดังนั้นต้องไปดูด้วย และนโยบายของผมชัดเจนจะต้องไม่มีการทุจริต และนโยบายบางเรื่องก็มีการสืบต่อเนื่องกันมานานแล้ว แต่การทำความผิดอาจจะตรวจสอบไม่พบหรือสมยอมอะไรกันมา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง กรุณาใช้สิ่งเหล่านี้เป็นหลักคิดให้ด้วย" นายกฯ กล่าวหลังถูกถามเรื่องกระแสเรียกร้องให้ พล.ต.อ.อดุลย์แสดงความรับผิดชอบ 
    ขณะที่กระบวนการตรวจสอบการทุจริตเงินสงเคราะห์คนจนดังกล่าวของ ป.ป.ท.และ พม.ก็กำลังเดินหน้าไปเรื่อยๆ โดยยิ่งสาวลึกลงไปยิ่งพบความผิดปกติมากขึ้นเรื่อยๆ หลังมีการสอบปากคำบุคคลตามรายชื่อที่มาแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยเฉพาะที่ขอนแก่นพบว่าต่างบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า แม้จะมีรายชื่อเป็นผู้รับเงินแต่ยืนยันว่าไม่ได้รับเงินแต่อย่างใด  
    ข้อมูลของ ป.ป.ท.ในการตรวจสอบพบการทุจริตเงินช่วยเหลือของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งรวม 24  จังหวัด โดย 10 จังหวัดล่าสุด คือ ยะลา, สงขลา, นราธิวาส, พัทลุง, ชุมพร, บุรีรัมย์, สุรินทร์, อ่างทอง, พิษณุโลก และชัยภูมิ 
    ขณะที่ของเดิม 14 จังหวัด คือ ขอนแก่น, เชียงใหม่, บึงกาฬ, หนองคาย, สระบุรี, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี, พระนครศรีอยุธยา, น่าน, กระบี่, ตราด, ตรัง, สระแก้ว และร้อยเอ็ด 
    ซึ่งการทุจริตของศูนย์ทั้ง 10 จังหวัดที่พบล่าสุด ป.ป.ท.พบว่ามีการนำชื่อบรรดาข้าราชการท้องถิ่น  อาทิ ภรรยาผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันมาเบิกเงินทั้งที่คุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์ เช่นไม่ได้ยากไร้ เจ็บป่วย แต่กลับมีชื่อได้รับเงินดังกล่าวด้วย 
        ยิ่งตรวจสอบยิ่งพบความผิดปกติในหลายพื้นที่ และเชื่อว่าน่าจะมีมากกว่านี้ ทำให้กระแสสังคมหวังว่าสุดท้ายแล้วคนที่เกี่ยวข้องจะโดนเอาผิด ถูกลงโทษกันทั่วหน้า และไม่อยากให้เรื่องเงียบหายเหมือนหลายเรื่องที่ผ่านมา.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"