วันนี้ (6 กันยายน 2562) นายเทพศักดิ์ ฐิตะรักษา รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พร้อมคณะผู้บริหาร และพนักงาน ร่วมจัดพิธีแถลงข่าวความสำเร็จโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ถนนนานาเหนือ (Change@NANA) โดยมี นายสุชัย สกุลรุ่งเรืองชัย ผู้อำนวยการเขตวัฒนา ผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายสุทธิรักษ์ พาทรัพย์มา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มธุรกิจภาครัฐ 3 ธนาคารกรุงไทย รวมถึง ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุ กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เข้าร่วม ณ บริเวณสำนักงานใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ถนนนานา
นายชัยภัทร สุขไพบูลย์วัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ กฟน. กล่าวว่า ตามที่ กฟน. ได้มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงมหาดไทย และรัฐบาล เร่งดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า การรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ลดอุบัติเหตุจากภัยธรรมชาติส่งผลทำให้เสาไฟฟ้าล้ม สร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน และสร้างทัศนียภาพที่สวยงามนั้น การดำเนินงานครั้งนี้นับเป็นการเชื่อมต่อโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งถนนนานาเหนือ ถือเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว การเพิ่มศักยภาพระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ตลอดจนการปรับทัศนียภาพให้สวยงาม ไร้เสา-สายไฟฟ้า จะช่วยส่งเสริมให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้ อีกทั้ง กฟน. ยังได้นำเสาไฟฟ้าจากการนำสายไฟลงใต้ดินไปทำประโยชน์ในรูปแบบ MEA’s Model โดยนำเสาไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานและยางรถยนต์เก่านำมาทำเป็นแนวกันคลื่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน และป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ เพราะเสาไฟฟ้านั้นมีความทนทาน สามารถลดความแรงของกระแสน้ำได้ ทั้งยังส่งผลให้ฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนได้อย่างยั่งยืน
ในด้านการก่อสร้างครั้งนี้ มีระยะทางรวม 0.75 กิโลเมตร ตั้งแต่แยกนานาถึงสะพานข้ามคลองแสนแสบ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 – สิงหาคม 2562 ระยะเวลาดำเนินการรวม 14 เดือนภายใต้งบประมาณ 29.7 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับในระหว่างการก่อสร้าง กฟน. ได้กำหนดวิธีการก่อสร้างอย่างรัดกุมเพื่อลดผลกระทบกับผู้ประกอบการภาคธุรกิจ นักท่องเที่ยว ชุมชน ประชาชนในพื้นที่โดยมีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจให้ผู้ประกอบการ ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน พร้อมรับฟังปัญหาเพื่อนำไปแก้ไขเพื่อลดผลกระทบระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง นอกจากนี้ กฟน. ยังได้ยกระดับการก่อสร้างทุกจุดตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งขั้นตอน วิธีการ และวัสดุอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานป้องกันอุบัติเหตุ ให้งานก่อสร้างมีความเรียบร้อยปลอดภัย เช่น การกำหนดให้ติดตั้งแนวรั้วกั้นชั่วคราว เพื่อแบ่งพื้นที่ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้มีช่องทางเดิน ติดตั้งไฟสัญญาณเพื่อความปลอดภัยให้ใช้ทางเดินได้อย่างสะดวกในช่วงเวลาก่อสร้าง การใช้ฝาคอนกรีต (ชั่วคราว) เพื่อเปิด - ปิด เสมอผิวจราจรซึ่งจะทำให้ประชาชนผู้ใช้รถมีผลกระทบน้อยที่สุด และยังได้มีการปรับปรุงทางเท้าด้วยกระเบื้องรูปแบบใหม่ มีความแข็งแรง สวยงาม สะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่บริเวณถนนนานาใหม่ทั้งหมด
ในปัจจุบัน กฟน. ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินรวมทั้งสิ้น 215.6 กิโลเมตร แบ่งออกเป็นโครงการที่แล้วเสร็จทั้งสิ้น 46.6 กิโลเมตร และโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 169 กิโลเมตร โดยในจำนวนนี้ แบ่งออกเป็น
1.โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 74.8 กิโลเมตร ได้แก่ โครงการนนทรี โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 โครงการถนนวิทยุ โครงการรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และโครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ)
2.โครงการที่จะลงนามสัญญาก่อสร้างในปี 2562 รวมประมาณ 94.2 กิโลเมตร มูลค่าของสัญญากว่า 20,000 ล้านบาท อาทิ โครงการพื้นที่เมืองชั้นใน โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ และโครงการร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น
ทั้งนี้ โครงการคืบหน้าที่อยู่ในแผนดำเนินการต่อไป คือ โครงการถนนรัชดาภิเษก-อโศก ซึ่ง กฟน. จะเริ่มการจัดงานประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในเดือนตุลาคมนี้
#พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
Energy for city life, Energize smart living
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |