อาสาสมัครซัมซุง นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ช่วยชาวม้งในการจัดเก็บบันทึกเรื่องราวทางวัฒนธรรม
ที่ชุมชนบ้านดอยปุย เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ระหว่างเขตติดต่ออำเภอแม่ริมและอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ไม่ไกลจากพระธาตุดอยสุเทพมากนัก ผู้คนในบ้านดอยปุยส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวม้งกว่า 1,500 ชีวิต หรือ 300 ครัวเรือน มีอาชีพเกษตรกรรมและค้าขายเป็นหลัก ซึ่งการค้าขายของชาวม้งส่วนใหญ่เป็นสินค้าหัตถกรรม มีเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะเครื่องแต่งกาย ผ้าลายเขียนเทียนค่อนข้างโดดเด่นสุด และราคาแพงจากหลักพันต้นๆ ถึงเกือบหมื่น ด้วยการทอจากป่านใยกัญชง พร้อมตกแต่งลวดลาย แตกต่างกันออกไป
พ่อหลวงเมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา ผู้ใหญ่บ้านดอยปุย
พ่อหลวงเมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา ผู้ใหญ่บ้านดอยปุยบอกว่า ในอดีตชาวม้งเคยดำรงชีพด้วยการปลูกฝิ่น ก่อนหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจเมืองหนาว ที่ถูกนำเข้ามาผ่านโครงการพระราชดำริ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 สมัยนั้นท่านทรงเดินป่า สำรวจและพยายามช่วยเหลือชาวม้งให้ห่างไกลจากฝิ่น ซึ่งพระองค์ไม่ได้บอกให้ชาวม้งเลิกปลูกฝิ่นโดยตรง แต่บอกจะหาอย่างอื่นมาให้ทำแทน ซึ่งก็คือการปลูกพืชผักผลไม้ รวมทั้งมีการจัดตั้งโรงเรียนและศูนย์ต่างๆ มาถึงปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนจนกลายเป็นอาชีพหลัก เน้นควบคู่กับการขายงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ซึ่งแต่เดิมมุ่งผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือน โดยคนที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตคือกลุ่มแม่บ้านชาวม้งเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้ชายจะทำงานหนัก งานแบกหาม ในส่วนของวัฒนธรรมความเชื่อของม้ง
" สมัยก่อนผู้หญิงมีบทบาทและสถานะต่ำกว่าผู้ชายหลายประการ ยกตัวอย่างการเลือกคู่ ที่ผู้หญิงเลือกคู่ได้คนเดียว แต่ผู้ชายมีได้หลายคน หรือจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมการกินอาหาร ผู้หญิงไม่มีสิทธินั่งร่วมโต๊ะเดียวกันกับผู้ชาย แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะสภาพสังคมพัฒนาขึ้น จึงทำให้วัฒนธรรมความเชื่อบางอย่างหมดไป แต่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ยังคงเดิม"
พ่อหลวงเมธาพันธ์ เล่าอีกว่า แต่สิ่งที่น่ากังวล คืออาชีพค้าขายของชุมชนไม่ค่อยมั่นคงเหมือนเคย เพราะส่วนใหญ่คนที่จะซื้อสินค้าของชาวม้งต้องเดินทางขึ้นมาซื้อถึงหมู่บ้าน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวไม่แน่นอน หากเป็นฤดูหนาวก็จะมีคนเข้ามามาก แต่เมื่อถึงฤดูฝนก็อาจน้อยลง เนื่องจากการเดินทางลำบาก ทำให้โอกาสการพบกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเป็นอุปสรรค ชาวม้งมีรายได้น้อยลง อีกทั้ง ชาวม้งทำงานหัตถกรรมด้วยมือทำให้สินค้ามีราคาแพงมากกว่าที่อื่นที่ใช้เครื่องจักรในการผลิตได้เร็วและราคาถูก จึงค่อนข้างเสียเปรียบ
ดังนั้นการใช้เทคโนโลยี น่าจะเป็นตัวช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวม้งได้ นี่เป็นเหตุผลให้บริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ได้ร่วมกับ องค์การยูเนสโก สำนักงานเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ได้เข้ามาจัดกิจกรรม “Hack Culture: กระเทาะเปลือกวัฒนธรรม: การแก้ปัญหาด้วยสื่อดิจิทัล เพื่อเสริมศักยภาพสตรีและรักษาหัตถกรรมท้องถิ่น” (Hack Culture: Digital Solutions to Empower Women & Safeguard Traditional Crafts) ที่ชุมชนบ้านดอยปุย
อาสาสมัครซัมซุง นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ช่วยชาวม้งในการจัดเก็บบันทึกเรื่องราวทางวัฒนธรรม
โดยมีอาสาสมัครจากซัมซุงสำนักงานใหญ่ ประเทศเกาหลีใต้กว่า 30 ชีวิต ผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโก กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจหัตถกรรม และคณาจารย์จากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมกันเสริมศักยภาพให้กับกลุ่มแม่บ้านม้ง ในฐานะผู้มีบทบาทในการผลิตงานหัตถกรรม ผ่านการเรียนรู้เทคโนโลยีการออกแบบ การโปรโมทสินค้า เพื่อช่วยอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญา และเสริมช่องทางค้าขาย
ดร.ซุง บี แฮน์ หัวหน้าแผนกวัฒนธรรม องค์การยูเนสโก กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการลงสำรวจพื้นที่ดอยปุย เชียงใหม่ ของยูเนสโกพบว่า ความอยู่รอดของทักษะงานฝีมือชาวม้งกำลังเสี่ยงที่จะสูญหายไปจากปัจจัยรอบด้านมากมาย เช่น การแข่งขันจากผู้ผลิตที่ใช้เครื่องจักรในการผลิตสินค้าที่ถูกและรวดเร็วกว่า รวมถึงคนรุ่นใหม่ในชนเผ่าที่ไม่มีความสนใจในการทำงานหัตถกรรม จึงเป็นที่มาของโครงการความร่วมมือระหว่างซัมซุงและยูเนสโก ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นตัวช่วยในการสร้างโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าหัตถกรรมที่เขามีอยู่ และส่วนหนึ่งเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำเรื่องการเข้าถึงการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีด้วย
ส่วนนายวิชัย พรพระตั้ง รองประธานที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์องค์กร และกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวเสริมว่า สินค้าหัตถกรรมของชาวม้งมีคุณค่าทางวัฒนธรรมและบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของชาวม้งเป็นอย่างดี อย่างเช่น ลวดลาย และวิธีการปักผ้าที่ทราบมาว่าชาวม้งมีการปักผ้าจากด้านหลัง แล้วลายจะโชว์ด้านหน้า หรือผ้าบางผืนมีอักษรม้งอยู่ในนั้น ซึ่งแม้แต่ชาวม้งเองหลายคนยังอ่านอักษรของตนเองไม่ได้ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ถูกสอนและบอกต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ข้อมูลตกหล่นไปบ้าง ถูกทิ้งไปบ้าง เชื่อว่าเทคโนโลยีจะสามารถช่วยในการแก้ปัญหาได้ ช่วยรักษาวัฒนธรรม และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน
"ฉะนั้นการที่เรามีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอยู่ ก็ควรจะนำเอามาช่วยเสริมศักยภาพชาวม้ง เพื่อที่จะเป็นตัวช่วยให้เขาได้เก็บเรื่องราวของเขาเอาไว้ ไม่ว่าจะอีกกี่ร้อยปีข้อมูลก็ยังคงอยู่ และเทคโนโลยีที่เรานำมาเสริมครั้งนี้ ส่วนหนึ่งจะช่วยในเรื่องการเผยแพร่สินค้าหัตถกรรม และเสริมช่องทางการตลาดให้คนทั่วไปเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น และทางยูเนสโก เขาก็จะนำเอาสิ่งที่ได้จากโครงการไปเป็นต้นแบบพัฒนาชนเผ่าอื่นๆ ต่อไป" นายวิชัย กล่าว
โดยกิจกรรมที่สตรีแม่บ้านชาวม้ง และอาสาสมัครทำ เป็นการจับกลุ่มทำงานร่วมกัน เพื่อหาทางออกว่าจะสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนท่องเที่ยวดอยปุยอย่างไร โดยเฉพาะการทำการตลาดสินค้าหัตถกรรมให้น่าสนใจ ซึ่งผลลัพธ์ของการทำงานร่วมกันมีทั้งแอปพลิเคชันที่ช่วยให้แม่บ้านดีไซน์ป้ายสินค้า สามารถพิมพ์ออกมาเป็นป้ายติดสินค้า หรือทำเป็นป้ายตั้งโต๊ะ และมีการสอนออกแบบแบรนด์ โลโก้ให้ดูดีขึ้น รวมทั้งเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย เพื่อช่วยให้สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายขึ้นทันที และสอนให้มีการนำเสนอข้อมูลประวัติ เรื่องเล่าของดอยปุย วัฒนธรรมและภูมิปัญญา รวมถึงลวดลายงานหัตถกรรมของชาวม้งได้ถูกแปลงให้ไปอยู่ในระบบดิจิทัล เพื่อให้คนอื่นเข้ามาอ่านและศึกษาเกี่ยวกับบ้านดอยปุย และเรียนรู้งานหัตถกรรมง่ายขึ้น
นางจิรัช สตรีชาวม้งท่านหนึ่ง กล่าวว่า แม่บ้านม้งจะทำอาชีพค้าขาย ทุกวันหลังสี่โมงก็ต้องรีบกลับบ้านทำกับข้าวหาอาหารให้ครอบครัว ตื่นเช้ามาก็มาทำงานค้าขายต่อ ทำแบบนี้เป็นประจำทุกวัน ไม่ได้มีรายได้เสริมจากที่ใด หากวันไหนคนมาเที่ยวดอยปุยน้อยก็รายได้น้อยตาม ฉะนั้นการสื่อสารเรื่องราวของดอยปุยออกไปอาจจะช่วยดึงดูดคนให้มาเที่ยวมากขึ้น รวมถึงการหาช่องทางขายสินค้าก็เช่นกัน การที่ซัมซุงเข้ามาช่วยสอนเทคโนโลยีดิจิทัล ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยม้งนำไปสานต่อๆ ไป และในฐานะที่ทำสินค้าหัตถกรรมในชุมชน มองเห็นปัญหาว่า สินค้าของชุมชนนั้นแม้จะมีคุณค่ามากแต่ก็ยังไม่น่าดึงดูดเท่าไหร่นัก เนื่องจากทุกร้านมีแพคเกจสินค้าที่ไม่สวยงาม ห่อหุ้มแค่ถุงพลาสติกเท่านั้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูด้อยลงไป ทางอาสาสมัครซัมซุงจึงเข้ามาช่วยเสริมว่า เราจะต้องทำแพคเกจใหม่ให้ดูดีขึ้น ควรลดการใช้ถุงเพื่อคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งยังช่วยคิดแบรนด์ ออกแบบโลโก้ใหม่ให้สวยขึ้น และที่สำคัญคือสร้างการตลาดออนไลน์ว่าเราควรจะสร้างอย่างไร เพื่อที่จะสามารถติดต่อกับลูกค้าได้
"เดิมทีเราไม่รู้ว่าจะต้องติดต่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยว และลูกค้าอย่างไร เขาก็มาช่วยสร้างเว็บไซต์ แอพพลิเคชันให้ดู ซึ่งก็ยากแต่ที่ง่ายสุดก็น่าจะเป็นเพจเฟซบุ๊ค นี่เป็นเพียงขั้นต้นให้เราได้เรียนรู้และพิจารณานำเอาไปต่อยอดใช้ในเชิงการตลาดต่อไปในอนาคต" ชาวม้งสตรีรายนี้กล่าว .
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |