ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์เต้นถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดงเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าระบาด ประสานความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น เร่งระดมฉีดวัคซีนป้องกันให้กับสุนัข-แมวทั้งที่มีเจ้าของและจรจัดให้ครอบคลุมทั้ง 23 อำเภอ สมุทรปราการเร่งฉีดวัคซีนในรัศมีพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรในจุดเกิดโรค ด่านกักกันนครพนมยันไร้พิษสุนัขบ้า เศร้าน้องหมาส่วนใหญ่มีเจ้าของ แต่ถูกทอดทิ้ง
จากกรณีที่กรมปศุสัตว์ประกาศเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้า 13 จังหวัด ซึ่งถูกจัดอยู่ในพื้นที่สีแดง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่สถานพักฟื้นภายในด่านกักกันจังหวัดนครพนม ซึ่งกรณีเกิดโรคพิษสุนัขบ้าแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด จนต้องประกาศเป็นเขตอันตราย ทำให้มีการไล่จับสุนัขนับพันตัวส่งไปยังด่านกักกันสัตว์นครพนม บ้านหนองบัว ต.หนองญาติ อ.เมืองนครพนม เป็นสถานพักฟื้นที่พักฟื้น โดยมีนายณรงค์ รัตนตรัยวงศ์ หัวหน้าด่านกักกันฯ และเจ้าหน้าที่ช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิด
ล่าสุดมีประชาชนจำนวนหนึ่งเป็นห่วงว่าบรรดาน้องหมาจะขาดแคลนอาหาร ไม่ได้รับสารอาหารเท่าที่ควร นายณรงค์เปิดเผยว่า อาหารที่ใช้เป็นหัวอาหารอัดเม็ดมีคุณภาพที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมปศุสัตว์อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานราชการ เช่น สถานีตำรวจน้ำนครพนม และกลุ่มคนเล็งเห็นความสำคัญในโรคพิษสุนัขบ้า เช่น เพจแหม่มโพธิ์ดำ ร่วมบริจาคมาอีกจำนวนหนึ่ง ประชาชนคลายความกังวลในเรื่องนี้ได้ พร้อมกันนี้จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังผู้รักหมาแมวทั้งหลาย ทางด่านกักกันฯ ได้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ขอให้นำสัตว์เลี้ยงของตนไปรับบริการได้ทุกวันในเวลาทำการ
นายณรงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า จำนวนยอดน้องหมาที่อยู่ในสถานพักฟื้นจาก 3,613 ตัว ปัจจุบันทยอยตายเพราะโรคลำไส้อักเสบ เหลืออยู่ที่ 1,299 ตัว สาเหตุมาจากอาการเครียดสะสม ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทางด่านฯ ได้นำซากสุนัขไปฝังกลบในที่เหมาะสม ฉีดยาฆ่าเชื้อและโปรยปูนขาวอย่างมิดชิด จึงไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน
ประชาชนรายหนึ่งไม่เปิดเผยชื่อนามสกุล ในฐานะเป็นกลุ่มคนเล็งเห็นความสำคัญในโรคพิษสุนัขบ้า เปิดเผยว่า จากการที่ตนได้เข้ามาดูแลน้องหมาในสถานพักฟื้น พบว่าส่วนใหญ่มีปลอกคอเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นสุนัขมีเจ้าของ ไม่ใช่หมาจรจัดอย่างที่คิดกัน เหตุถูกเจ้าของทอดทิ้ง เพราะเกิดโรคระบาดในจังหวัดร้อยเอ็ด เจ้าของจึงต้องนำน้องหมามาทิ้งให้เจ้าหน้าที่มารับไปดูแลในด่านกักกันนครพนม ความจริงเจ้าของสามารถดูแลรักษาน้องหมาได้เองโดยไม่ต้องปล่อยทิ้งเช่นนี้ เพียงกักเขาไว้ในกรงอยู่แต่ในบ้านก็สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้แล้ว
ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งทั้งจังหวัด เร่งออกรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัข-แมวทั้งที่มีเจ้าของและจรจัด ตามบ้านเรือน วัด โรงเรือน และแหล่งชุมชนต่างๆ ให้ครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ 23 อำเภอ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า หลังจากกรมปศุสัตว์ได้ประกาศให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่สีแดงเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าระบาด 1 ใน 13 จังหวัดของประเทศ
จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดมีสุนัขที่มีเจ้าของรวมจำนวน 238,910 ตัว ไม่มีเจ้าของหรือจรจัด 16,734 ตัว แมวมีเจ้าของ 36,032 ตัว แมวไม่มีเจ้าของ 4,433 ตัว ซึ่งในจำนวนนี้ได้ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือกำลังเร่งดำเนินการ และคาดว่าจะดำเนินการให้ครอบคลุมภายในเดือนเมษายน 2561 เพราะเนื่องจากช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัดจะทำให้สุนัข-แมวเสี่ยงติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ง่าย พร้อมทั้งให้ทำหมันสุนัข-แมวจรจัดควบคู่ไปด้วย เพื่อลดจำนวนประชากรด้วย
นายพจน์ภิรัชต์ เนียมจุ้ย ปศุสัตว์บุรีรัมย์ กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติในปี 2560 จังหวัดบุรีรัมย์มีสถานการณ์การระบาดภาพรวมเป็นอันดับ 1 ของประเทศ แต่หลังจากได้บูรณาการร่วมกับหลายภาคส่วนในการเฝ้าระวังป้องกันอย่างเข้มข้น และระดมเจ้าหน้าที่ออกฉีดวัคซีนให้กับสุนัข-แมวได้ครอบคลุม ปีนี้สถานการณ์การระบาดก็ลดลงอยู่ลำดับที่ 13 ของประเทศ แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่มีอากาศร้อนซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดพิษสุนัขบ้าได้ง่าย
ดังนั้นจึงต้องมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนเพื่อสกัดการระบาดอย่างต่อเนื่อง จึงขอความร่วมมือประชาชนได้นำสุนัข-แมวมาฉีดวัคซีนตามสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ออกให้บริการด้วย เชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันป้องกันเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นจริงจัง บุรีรัมย์ก็จะเป็นจังหวัดที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า
วันเดียวกัน ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งกำหนดมาตรการในการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อลดจำนวนการเกิดโรคในสัตว์และลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรค
สำหรับการดำเนินงานในระยะสั้น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ และองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ ออกฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและแมวในรัศมี 1-5 ตารางกิโลเมตร ในจุดเกิดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า โดยจะดำเนินการอย่างเข้มข้นในรัศมี 1 ตารางกิโลเมตร พร้อมทั้งจะนำสัตว์ที่มีความเสี่ยงการเกิดโรคมากักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการ
ในส่วนของของผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงผู้ที่สัมผัสกับสัตว์ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรค ทางสำนักงานสาธารณสุขจะฉีดวัคซีนป้องกันโรค นอกจากนี้ยังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการทำป้ายประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตนเองและสัตว์เลี้ยงให้กับประชาชนในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดโรค รวมทั้งสำรวจประชากรสัตว์เลี้ยงในพื้นที่โดยเฉพาะสุนัขและแมวจรจัด
ส่วนแผนระยะยาวจะเร่งดำเนินการจัดสร้างสถานที่พักพิงสุนัขและแมวจรจัด เพื่อควบคุมจำนวนสุนัขและแมวในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าและจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคให้น้อยลง
ด้านนายสัตวแพทย์มนัสกิจ พลศรี หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ ปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันพื้นที่สีแดงนั้นจะต้องมีประวัติการเกิดโรคในสัตว์ 2 ปีย้อนหลัง และมีประวัติการเสียชีวิตในคน 2 ปีย้อนหลัง ซึ่งเมื่อเข้าข่าย 2 ประการนั้นจึงประกาศเป็นพื้นที่สีแดง จึงให้มีการดำเนินการในพื้นที่อย่างเข้มข้น
ล่าสุดที่มีการออกพื้นที่ในเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ตำบลบางแก้วนั้น ปศุสัตว์จังหวัดร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด และ อบต.บางแก้ว เจ้าของพื้นที่ ได้ลงพื้นที่ไปเฝ้าระวังทั้งในเชิงรุกและในเชิงป้องกัน มีการฉีดวัคซีนสุนัขและแมวจรจัดและที่มีเจ้าของในรัศมี 1-5 กิโลเมตร เป็นการร่วมมือกันระหว่างจังหวัดและท้องถิ่น หน่วยงานของสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ก็ได้มีการค้นหาผู้ที่สัมผัสโรค ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนและเซรุ่มตามแผน
นอกจากนั้นแล้วยังมีการเฝ้าระวังเต็มรูปแบบ มีการลงพื้นที่ทุกวัน โดยมีเครือข่าย อาสาสมัคร หรือหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ พร้อมทั้งเปิดสายด่วนอีกด้วย ดังนั้นอยากจะขอความร่วมมือประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วย เพื่อนำสุนัขหรือแมวของท่านมาฉีดวัคซีนตามคลินิกต่างๆ ที่เปิดให้บริการ เพื่อทำให้ประวัติการเกิดโรคพิษสุนัขบ้านั้นลดลง และทำให้โรคที่เกิดในคนหายไปในที่สุด
โดยโรคพิษสุนัขบ้าได้เกิดในพื้นที่สำโรงเหนือรอยต่อกับกรุงเทพฯ บริเวณซอยแบริ่ง ล่าสุดก็เกิดในพื้นที่ตำบลบางแก้ว ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาเพิ่งเกิดประมาณ 3 ครั้ง โรคส่วนใหญ่จะเกิดจากสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หรือมีคนเลี้ยง แต่คนเลี้ยงนั้นจับไม่ได้และไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ทำให้เกิดเป็นพาหะนำโรคที่แฝงอยู่ หากท่านไม่สามารถจับสุนัขที่มีความเสี่ยงได้ ก็ขอให้แจ้งมายังท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้เข้าไปดำเนินการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ดังกล่าวเป็นพาหะและแพร่เชื้อต่อไป
จากการสังเกตของผู้สื่อข่าวพบว่า บริเวณตามท้องถนนต่างๆ และตามซอกซอยยังคงมีสุนัขจรจัดเป็นจำนวนมากในหลายท้องที่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องออกมาสำรวจ ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนคอยแจ้งเรื่องเข้ามา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |