ราษฎร ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย กำลังสร้างประวัติศาสตร์การมีส่วนร่วมในโครงการเขื่อนแม่ตาช้าง เป็นการมีส่วนร่วมครบวงจร ตั้งแต่เริ่มต้นที่ต้องการแหล่งน้ำต้นทุน การออกแบบเขื่อน การพัฒนาอาชีพ การบริหารจัดการน้ำหลังเขื่อนก่อสร้างแล้วเสร็จ
เขื่อนยังไม่ได้ก่อสร้าง เพราะยังต้องผ่านขั้นตอนการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาไปแล้วครั้งหนึ่ง และขอให้กลับไปปรับปรุงแก้ไขบางประการถ้าผ่านความเห็นชอบ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอนุมัติ คาดว่าน่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างในปี 2564 ด้วยความจุ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนแม่ตาช้างเป็นความต้องการของราษฎรตำบลป่าแดดเอง โดยเฉพาะที่บ้านท้าวแก่นจันทร์ผิดหวังจากการรับน้ำจากฝายท้าวแก่นจันทร์ที่ปิดกั้นลำน้ำแม่ลาว เพราะน้ำไม่พอ แล้วก็มาผิดหวังซ้ำสองจากเขื่อนแม่สรวยที่ไม่สามารถส่งน้ำให้ได้ เพราะติดลูกเนิน แม้จะข้ามได้ก็ส่งน้ำให้พื้นที่ได้แค่หลัก 3,000 ไร่ ในขณะมีพื้นที่ต้องการน้ำอีกหลายหมื่นไร่ จึงมาลงเอยเอาที่เขื่อนแม่ตาช้างอีกครั้ง หลังจากที่เคยขอกรมชลประทานไปเมื่อปี 2536 เป็นการรื้อฟื้นโครงการเก่า แต่ด้วยวิธีการใหม่คือการมีส่วนร่วมของประชาชนสำนักงานชลประทานที่ 2 ประสานมาที่กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการลงล็อกอย่างมหัศจรรย์
“กองฯ กำลังเขียนโครงการการมีส่วนร่วมก่อนการก่อสร้างแหล่งน้ำอยู่พอดี เลยผนวกโครงการเขื่อนแม่ตาช้างเข้ากับกลุ่มโครงการคลองกลาย วังหีบ และอื่นๆ” เป็นคำบอกเล่าของนายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในสมัยนั้น ปัจจุบันเป็นวิศวกรที่ปรึกษาฝ่ายบริหารจัดการน้ำชุมชน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
กระบวนการมีส่วนร่วมจึงเริ่มตั้งแต่ต้น คือความต้องการแหล่งน้ำต้นทุน ซึ่งหนีไม่พ้นเขื่อนแม่ตาช้าง ขั้นต่อไปจะเอาความจุและสถานที่ก่อสร้าง ราษฎรเสนอเปรียบเทียบกับของกรมชลประทาน หลังจากพิจารณาข้อดี ข้อด้อยแล้ว ราษฎรหันกลับมาเลือกที่กรมชลประทานศึกษาไว้ เพราะจุน้ำได้ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร เปิดพื้นที่ชลประทานได้ 32,000 ไร่ ในขณะของราษฎรมีความจุเพียง 11.60 ล้านลูกบาศก์เมตร เปิดพื้นที่ชลประทานได้ 11,600 ไร่ เป็นความต้องการของราษฎรแล้ว ไม่ใช่ของกรมชลประทานดังเดิม
“กระทั่งการจัดรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม บริษัทที่ปรึกษาโครงการก็ได้ข้อมูลจากชาวบ้านผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอีกเช่นกันว่า ตรงไหนกระทบและจะแก้ไขด้วยวิธีไหน อย่างไร ทำให้การจัดทำอีไอเอราบรื่นและตอบโจทย์ คชก. ได้ดียิ่งขึ้น” การมีส่วนร่วมทำให้ราษฎรวางแผนการใช้น้ำล่วงหน้าในหลายกิจกรรม ทั้งอุปโภคบริโภค การเกษตร รวมถึงการท่องเที่ยวที่ต้องการให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่ตาช้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต ฉะนั้น การออกแบบอาคาร จึงมีความเห็นของราษฎรเข้ามาร่วมด้วย เช่น มีสัญลักษณ์รูปช้างแทนชุมชนแม่ตาช้าง สัญลักษณ์กาแลแทนความเป็นล้านนา เป็นต้น
“ตัวเขื่อนปกติเป็นโครงสร้างแข็งๆ อยู่แล้ว ตอนนี้ก็จะลดความแข็งลงมา พร้อมกับสร้างลูกเล่นสะท้อนความเป็นพื้นถิ่น เป็นอัตลักษณ์ต่างจากที่อื่น สร้างประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวได้” นายสุจินต์กล่าว
ในขณะก่อสร้างหัวงานเขื่อนหรือตัวเขื่อน ก็จะมีกระบวนการมีส่วนร่วมเรื่องการออกแบบระบบส่งน้ำ การจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ และการบริหารจัดการน้ำ “เมื่อใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านตั้งแต่ต้น ทั้งความต้องการแหล่งน้ำ การออกแบบเขื่อน การก่อสร้าง พอมาถึงเรื่องการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้ การบริหารจัดการน้ำ ก็ไม่ยากแล้ว เพราะเขารับรู้แต่ต้น รู้สึกเป็นเจ้าของโครงการ ทำให้เขื่อนแม่ตาช้างตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี”
น่าจะเป็นแม่แบบหรือโครงการนำร่องของกรมชลประทาน ในการนำไปประยุกต์ใช้ในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอื่นๆ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ โดยลดแรงกระทบจากข้อขัดแย้งลงได้มาก ผลลัพธ์จะเป็นเหมือนวลี เริ่มต้นดี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |