ถนนรังสิต-นครนายกเป็นอัมพาต พายุฝนกวาดเสาไฟฟ้าโค่นล้มระเนนระนาด 11 ต้น ทับรถเสียหาย 5 คัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย อุตุฯ เตือนยังมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงไปจนถึง 9 มี.ค. ตั้งแต่ภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก รวมทั้ง กทม.และปริมณฑล ปภ.เร่งเยียวยา 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ
บ่ายวันที่ 7 มีนาคมนี้ ร.ต.อ.สริพงษ์ อภิวัน สารวัตรสอบสวน สภ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ได้รับแจ้งจากประชาชนว่ามีพายุฝนพัดเสาไฟฟ้าล้มและทับรถยนต์จำนวนหลายคัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง เหตุเกิดบริเวณถนนรังสิต-นครนายก คลอง 4 หมู่ 3 หน้าซอยรังสิต-นครนายก 76 ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี จึงประสานรถกู้ภัยในพื้นที่ พร้อมทั้งประสานการไฟฟ้าฯ ธัญบุรี เดินทางไปตรวจสอบ บริเวณที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบเสาไฟฟ้าล้มลงมาทับรถและกีดขวางการจราจรทั้งหมดเหลือเพียงช่องทางเดียว เบื้องต้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 4 ราย เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้นำตัวส่ง รพ.ใกล้เคียง
จากการตรวจสอบพบว่ามีเสาไฟฟ้าล้มทั้งหมด 11 ต้น บ้างล้มทับรถยนต์ของประชาชนได้รับความเสียหายจำนวน 5 คัน เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ ได้ทำการตัดไฟ พร้อมกับนำรถกระเช้าและรถยกเสาไฟฟ้าให้พ้นการจราจร ก่อนรีบเปิดทางจราจร เนื่องจากรถติดยาวกว่า 10 กิโลเมตร
นายธีรวัฒน์ ยังอภัยกุลรัก ผู้ช่วยแผนกปฏิบัติการไฟฟ้าฯ ธัญบุรี กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุได้เกิดพายุฝนอย่างหนัก ลมพายุพัดจนทำให้เสาไฟฟ้าโค่นล้มลงมาจำนวน 11 ต้น และทับรถของประชาชนดังกล่าว
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเรื่อง "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบถึงวันที่ 9 มีนาคม 2561)" ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2561 ความว่า ในช่วงวันที่ 7-9 มีนาคม 2561 ประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย โดยจะมีผลกระทบดังนี้
ในช่วงวันที่ 7-8 มีนาคม 2561 ภาคเหนือ: จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ, ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคกลาง: จังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ในวันที่ 9 มีนาคม 2561 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ และนครราชสีมา, ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์, ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงกับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 5-7 มีนาคม 2561 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย รวม 6 จังหวัด 9 อำเภอ 15 ตำบล 37 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ รวม 249 หลังคาเรือน แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ เกิดวาตภัยในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโนนคูณ และอำเภอวังหิน รวม 4 ตำบล 12 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 114 หลังคาเรือน อำนาจเจริญ เกิดวาตภัยในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ อำเภอปทุมราชวงศา และอำเภอพนา รวม 4 ตำบล 12 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 91 หลังคาเรือน
สุรินทร์ เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่อำเภอโนนนารายณ์ บ้านเรือนได้รับผลกระทบรวม 16 หลังคาเรือน อุบลราชธานี เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่อำเภอตระการพืชผล รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 10 หลังคาเรือน สถานที่ราชการ 1 แห่ง ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอชัยบาดาล รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 4 หลังคาเรือน ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอถลาง รวม 1 ตำบล 3 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 14 หลังคาเรือน ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยด่วนแล้ว
ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 7-10 มีนาคม 2561 ทำให้มีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวม 63 จังหวัด ครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ปภ.จึงได้ประสานจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศ ระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง อยู่ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |