วอนพรรคร่วม อย่ามัวหาเสียง ร่วมปฏิรูปศก.


เพิ่มเพื่อน    

  “สมคิด” วอนพรรคร่วมเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ ชี้มีนโยบายเดียวกัน อย่าคิดว่าต้องเลือกตั้งเร็วๆ นี้แล้วหาเสียงอย่างเดียว แจง ครม.เศรษฐกิจเตรียมถกมาตรการบีโอไอ หอการค้าไทยเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค.อยู่ที่ 73.6 ปรับลงต่อเนื่องต่ำสุดในรอบ 33 เดือน จากความกังวล ศก.ถดถอย-การเมืองไร้เสถียรภาพ

    เมื่อวันพฤหัสบดี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "อนาคตเศรษฐกิจไทย เรากำหนดได้" จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าเศรษฐกิจไทยต้องการความเชื่อมั่น หากไม่มีความเชื่อมั่น ไม่มีการบริโภค ผู้บริโภคไม่อยากไปเที่ยว เศรษฐกิจไทยก็จะชะลอตัว ซึ่งต้องหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เหล่านี้ให้ได้ ต้องทำให้คนไทยเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ซึ่งรัฐบาลพยายามทำมาต่อเนื่อง เมื่อมีข่าวดีต้องรีบประชาสัมพันธ์บอกให้ประชาชนรับทราบ
    นายสมคิดกล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตย หลังจากนี้ต้องเร่งดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจต่อยอดสิ่งที่ได้วางรากฐานไว้ คือการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชดเชยการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่คาดว่าจะจบลงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐในปีหน้า นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ใช้เวลานานถึง 3 เดือน ทำให้การลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าเป้าหมาย ส่งผลให้เอกชนไม่ลงทุน เพราะไม่แน่ใจว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างอยู่ในความไม่แน่นอน ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2562 ขยายตัวชะลอเหลือเพียง 2.3% เท่านั้น
    "ผมคิดว่าเราน่าจะประคองเศรษฐกิจไทยอยู่ได้ จากมาตรการของกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ถึงเงินจะออกไม่ทันไตรมาส 3/2562 แต่ไตรมาส 4/2562 จะมีเงินทั้งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจากการลงทุนขนาดใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4/2562 น่าจะดีขึ้นมาได้" นายสมคิดกล่าว
     อย่างไรก็ตาม นายสมคิดกล่าวยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัด เพราะคนไทยและนักลงทุนไทยยังไม่ตื่นตัวการปฏิรูปเศรษฐกิจ คนไทยไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย ไม่ยอมใช้จ่ายและไม่ยอมลงทุน ทำให้ต้องเร่งการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมีรัฐบาลและการเมืองที่เข้มแข็งอย่างมากถึงจะทำได้ ถ้ารัฐบาลและการเมืองไม่เข้มแข็งทำไม่ได้ ตอนนี้ประเทศไทยเป็นรัฐบาลผสมเสียงปริ่มน้ำ แต่ผู้นำพรรคการเมืองทั้งหลายรู้จักกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าทุกพรรคมีนโยบายของตัวเอง จึงต้องมีการตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ขึ้นมาเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจร่วมกันให้เป็นทิศทางเดียวกัน
     "ผมไม่ได้คุมหลายกระทรวง ผมไม่ใช่รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แต่นโยบายของเราต้องมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน อย่าไปคิดว่าต้องเลือกตั้งเร็วๆ นี้ แล้วคิดหาเสียงเพียงอย่างเดียว หากไม่สนใจไม่ทำอะไรเลยความสามารถในการแข่งขันของประเทศเราจะตกลงไปเรื่อยๆ พรรคร่วมรัฐบาลต้องร่วมมือกันเดินไปข้างหน้า ครม.ก็ต้องพยายามทำงาน ต้องมีส่วนร่วมในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ต้องขับเคลื่อน ไม่ใช่อยู่เฉยๆ" นายสมคิดกล่าว
     นายสมคิดกล่าวอีกว่า ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ จะมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจ เพื่อพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เสนอโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อดึงนักลงทุนใหม่เข้ามาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อชดเชยการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนค่ายรถยนต์โตโยต้าก็ได้ยืนยันว่าจะใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์อีวี) ซึ่งเป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทย ยกระดับอุตสาหกรรมใหม่และระดับเทคโนโลยีของไทยให้มีความทันสมัยมากขึ้น
    วันเดียวกัน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ส.ค.62 อยู่ที่ระดับ 73.6 จาก 75.0 ในเดือน ก.ค.62 ปรับตัวลดลงทุกรายการ และปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 อีกทั้งยังต่ำสุดในรอบ 33 เดือนนับตั้งแต่ ธ.ค.59 เนื่องมาจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองเป็นสำคัญ
          นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐจะทำสงครามการค้ากับจีนมากขึ้น ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเชิงลบในอนาคต และทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 4 ซึ่งรัฐบาลควรดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
    โดยปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 2/62 ที่ 2.3% เติบโตต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดจีดีพีปี 62 ลงเหลือเติบโต 2.7-3.2%, ความกังวลเรื่องสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และความกังวลปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลต่อราคาพืชผลทางการเกษตรและรายได้เกษตรที่จะยังอยู่ในระดับต่ำ
    ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ, การส่งออกไทยในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 4.28% ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 เดือน, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.50%, เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง
     ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการซ่อมสร้างผลกระทบจากน้ำท่วม จะช่วยคลายปัญหาภัยแล้ง จึงคาดว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 3 ถึง 3.2 ภายใต้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 100,000-150,000 ล้านบาทเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"