โจทย์ของกรมชลประทานคือการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำ (Joint Management Commuttee-JMC) นำร่องใน 5 พื้นที่ที่มีบริบทต่างกัน ประกอบด้วย เชียงใหม่ ชัยภูมิ ปราจีนบุรี นครราชสีมา และสุพรรณบุรี
JMC มีองค์ประกอบจากตัวแทน 4 ภาคส่วน ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้น้ำ กรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ โดยมุ่งหวังจะให้เป็นองค์กรบริหารการใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพ พื้นที่สุพรรณบุรี คือโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก อ.สามชุก กว่า 300,000 ไร่ และมีกลุ่มบริหารการใช้น้ำ 30 กลุ่มได้รับโจทย์จัดตั้ง JMC ภายในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งกำลังจะหมดในสิ้นเดือนกันยายน 2562
สุพรรณบุรีเป็นฝันร้ายของหลายๆ คน แต่ไม่ใช่คนชื่อ สิทธิ กิจวรวุฒิ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก สำนักงานชลประทานที่ 12 เพราะเกษตรกรภาคกลางได้ชื่อว่า เป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากรัฐราวไข่ในหิน การมีน้ำสมบูรณ์ทำให้ความร่วมมือหล่นหายไปมากทีเดียว
เขาใช้เวลากว่า 10 เดือน ในการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมกับกลุ่มบริหารการใช้น้ำ 30 กลุ่ม โดยการจัดตั้งเวทีพบปะเกษตรกรแทบทุกวัน ลบคำครหาจากเกษตรกรในครั้งแรกๆ ว่า เจ้าหน้าที่ชลประทานอยู่แต่บนหอคอยงาช้าง ลงทุ่ง ลงนา ลงหมู่บ้านทุกวันร่วมกับเจ้าหน้าที่โครงการ จากที่ตั้งป้อมก็กลายเป็นเริ่มเข้าใจและวางใจมากขึ้น เมื่อเห็นเขาและคณะเอาจริงเอาจังกับปัญหาน้ำอย่างไม่ลดราวาศอก พร้อมพยายามให้เกษตรกรคิดพึ่งพาตัวเองก่อนพึ่งพาหน่วยงานรัฐหรือใครอื่นตามความเคยชิน
“ทุกวันนี้เกษตรกรจัดรอบเวรรับน้ำเอง เขาตกลงกันเอง ผมมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและส่งน้ำให้เขา” นายสิทธิกล่าว ความสำเร็จนี้เกิดจากการลงไปจัดเวทีพูดคุยกับเกษตรกรนับร้อยเวทีในพื้นที่ส่งน้ำกว่า 300,000 ไร่ดังกล่าว เป็นการทุ่มเทเพื่อหวังผลสำเร็จจริงจัง ไม่เฉพาะแต่การจัดตั้ง JMC แต่ยังหมายถึงความยั่งยืนของ JMC ในอนาคตด้วย
ช่วงฤดูฝน 2562 นับแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา เกิดภาวะแล้งจากฝนทิ้งช่วงนาน จนน้ำแทบไม่พอใช้ทำนา จากที่เคยส่งน้ำเข้าคลองชลประทานในอัตรา 40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือ 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือลดลงไปกว่า 3 เท่าตัว ไม่น่าจะพอ
“แต่ทุ่งสามชุกก็ต้องพอ เมื่อเกษตรกรร่วมมือด้วย ที่นี่รอดพ้นจากสภาวะวิกฤติในช่วงที่ผ่านมาไม่มีข้าวยืนต้นตายเลยแม้ต้นเดียว” เขายืนยันหนักแน่น เพราะใช้วิธีพูดคุยหารือกันผ่านเครือข่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) ในทุกเวทีผู้ใช้น้ำ
“ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำฯ สามชุก มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้การขับเคลื่อนการจัดตั้ง JMC เป็นผลสำเร็จ” เขาหมายถึง นายบุญฤทธิ์ จำปาเงิน และทีมงานฝ่ายส่งน้ำทุกคนที่เอาด้วยกับกระบวนการมีส่วนร่วม
กลับกัน พอมีพายุโพดุลพาดผ่าน น้ำเริ่มมากขึ้น เกษตรกรตั้งคำถามเอากับเขาว่า ไหนว่าปีนี้น้ำจะไม่พอ “ผมต้องชี้แจงทำความเข้าใจว่า ถึงจะมีพายุเข้า แต่เขื่อนหลัก 4 แห่ง ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ ก็ยังมีน้ำใช้การน้อย เรายังต้องใช้น้ำอย่างระมัดระวัง”
“การสื่อสารประชาสัมพันธ์ระหว่างเรากับกลุ่มผู้ใช้น้ำต้องถึงกันและรวดเร็ว ใช้ทั้งไลน์ ใบปลิว ทำหนังสือ หอกระจายข่าว ไม่งั้นไม่ทันสถานการณ์”การสื่อสารเป็น 1 ใน 6 แนวทางที่เขาใช้ผสมผสาน อาทิ การส่งน้ำเข้าคลองชลประทานตามปกติ ถ้าน้ำน้อยต่ำกว่าระดับปากประตูใช้เครื่องสูบน้ำช่วย จัดรอบเวร บริหารการใช้น้ำแบบมีส่วนร่วม การประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับทราบข่าวสารและใช้บ่อตอกของเกษตรกรเป็นตัวช่วย
สิ่งที่เป็นข้อจำกัดของโครงการส่งน้ำฯ สามชุก คือการไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนเป็นของตัวเองเหมือนที่อื่น อาศัยน้ำจากแม่น้ำท่าจีนซึ่งเป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำเจ้าพระยา “กลับกัน เราจะเป็น JMC แห่งแรกที่ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน โดยไม่มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง” ดูเหมือนหัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำสามชุก จะภูมิใจอยู่ไม่น้อย
เขาวางแผนตระเตรียมการจัดตั้ง JMC เงา ควบคู่ไปกับกระบวนการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำโดยร่วมกับฝ่ายปกครอง เช่น นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรือส่วนราชการเกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น
พอลงมือจัดตั้งจริงต้นเดือนกันยายนนี้ ทุกสิ่งเตรียมพร้อมไว้หมดสำหรับเขาแล้วเคยมีประสบการณ์จัดตั้ง JMC มาก่อน เมื่อครั้งได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานลพบุรี สำนักงานชลประทานที่ 10 “เคยจัดตั้ง JMC ภายใน 3 เดือนด้วยซ้ำ ในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ (วังแขม) อ.สระโบสถ์ จ.ลพบุรี”
ด้วยสไตล์การจัดเวทีมีส่วนร่วมหมุนเวียน คลุกคลีกับเกษตรกรแทบทุกวัน ท่ามกลางสงครามแย่งน้ำ ถึงขั้นถือปืนคอยคุมเชิง ปัญหาค่อยๆ คลายปมในที่สุด ความสำเร็จจากความทุ่มเท มักเป็นดอกผลที่หอมหวานเสมอ และเป็นโครงการนำร่องที่น่าสนใจจริงๆ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |