นายกฯ เปิดเวทีถก รมต.อาเซียนพลังงาน จับมือทุกประเทศหนุนพลังงานหมุนเวียน "สนธิรัตน์" เผยไทย-ลาว-มาเลย์เคาะเซ็นสัญญาซื้อขายไฟเฟส 2 เป็น 300 เมกะวัตต์ สิงคโปร์จ่อสมทบในอนาคต
ที่โรงแรมดิแอทธินี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 กันยายน เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 “Advancing Energy Transition Through Partnership and Innovation” และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีรัฐมนตรีพลังงานจากประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา รองเลขาธิการอาเซียน ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน และองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมงาน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในช่วงที่กระแสของโลกมีการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน ซึ่งถือว่าเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต ที่เป็นปัจจัยในการเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ไทยขอยืนยันว่าจะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมพลังงานอาเซียนไปด้วยกัน ผลักดันให้เกิดการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้มีการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานออย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านความร่วมมือองค์กรระดับประเทศ
"เราสัญญาว่าจะก้าวไปด้วยกัน โดยสนับสนุนความร่วมมือให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดแผนการทำงานร่วมกัน โดยไทยได้มีการลงทุนในด้านของพลังงานสะอาดไปอย่างมาก รวมทั้งยกระดับโครงข่ายอัจฉริยะ ที่เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความมั่นคงและสร้างความสำคัญด้านพลังงานของภูมิภาค เพื่อเดินหน้าสู่ความร่วมมือสมาคมอาเซียนอย่างยั่งยืน โดยจะมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดน หรือแบบพหุภาคีที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของอาเซียน" นายกฯ ระบุ
ทั้งนี้ ในฐานะเจ้าภาพอาเซียน ไทยได้ผลักดัน Key Deliverables ของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยผลการศึกษาที่เกิดขึ้น จะเป็นข้อมูลและแนวทางสำหรับการวางนโยบายและกรอบความร่วมมือของอาเซียนต่อไปในอนาคต อาทิ ในด้านไฟฟ้ามีการยืนยันการเพิ่มปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าจากลาว ผ่านไทย ไปยังมาเลเซีย ซึ่งจะสามารถสนับสนุนและอำนวยความสะดวกต่อการขยายความร่วมมือสู่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการในอนาคต ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพการเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าในอาเซียน
นอกจากนั้น ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะต่างๆ อาทิ ข้อเสนอแนะเรื่องการศึกษาโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กเพื่อรองรับก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แนวทางการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน จะช่วยกำหนดทิศทางและกิจกรรมที่ควรจะดำเนินการในอนาคต เพื่อให้อาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านพลังงานอาเซียน ในด้านการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายและตลาดการซื้อขายก๊าซธรรมชาติในอาเซียน
นายกฯ กล่าวว่า ปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดพลังงานแห่งโลกอนาคต นั่นคือพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนโดยระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์ การผลิตพลังงานในรูปแบบของพลังงานไฟฟ้า และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านพลังงานให้มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานสมัยใหม่โดยมีพลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลัก จึงไม่เพียงแต่เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานเท่านั้น แต่ยังพัฒนาความเป็นอยู่และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนชน และยังช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
"หวังว่าทุกท่านจะมีความสุขในระหว่างที่พำนักในประเทศไทย ประเทศไทยยินดีต้อนรับทุกท่านเสมอ และขอให้จดจำรอยยิ้มสยามของผมไว้ด้วย เพราะคนไทยชอบยิ้ม ต่อให้งานหนักแค่ไหนอย่างไร ก็ยิ้มไปก่อน เพราะจะได้มีกำลังใจในการทำงาน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในตอนท้าย
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ไทย ลาว มาเลเซีย เห็นชอบขยายโครงการด้านไฟฟ้า ระยะที่ 2 (Lao PDR, Thailand, Malaysia - Power Integration Project : LTM) เพิ่มอีก 2 ปี เพิ่มปริมาณการซื้อขายสูงสุด จาก 100 เมกะวัตต์เป็น 300 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในเดือน ม.ค.2563 รวมถึงร่วมจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับเพิ่มเติมของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า energy Purchase and Wheeling Agreement ทั้งนี้ อนาคตประเทศสิงคโปร์แสดงความสนใจในการเข้าร่วมด้วย ภายใต้ความร่วมมือ LTMS ซึ่งความร่วมมือโครงการเหล่านี้จะเป็นรากฐานโอกาสการซื้อขายไฟฟ้าระดับพหุภาคีระดับภูมิภาค สำหรับประเด็นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกัมพูชานั้น จะมีการหารือกับรัฐมนตรีพลังงานกัมพูชาในวันที่ 5 ก.ย.นี้
"การเพิ่มสัดส่วนการซื้อขายไฟครั้งนี้ เพราะมาเลเซียมองว่าของเดิมที่มีอยู่ 100 เมกะวัตต์นั้นอาจจะน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ที่ 24,000 เมกะวัตต์ แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ส่งสัญญาณการร่วมมืออย่างเข้มข้นในอนาคต โดยคาดว่าจะมีการพัฒนาเป็นกริดอาเซียนแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าร่วมกัน" นายสนธิรัตน์กล่าว
นอกจากนี้ การพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดที่นายกรัฐมนตรีได้เล็งเห็นถึงความสำคัญถึงนโยบายพลังงานสะอาด ซึ่งอาเซียนได้เห็นชอบร่วมกันในการผลักดันเป้าหมายด้านพลังงานทดแทนให้ถึง 23% ในปี 2025 และการปรับมาตรฐานด้านประสิทธิภาพพลังงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะส่งให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน และการผลิตและใช้พลังงานอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนต่อไป
"ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เราต้องทำงานอย่างหนัก เช่นเดียวกับไทยที่มีแผนการพัฒนาในเรื่องของพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นไบโอเเมส โซลาร์เซลล์ และพลังงานเพื่อชุมชน 1 ชุมชน 1 พลังงานทางเลือก โดยกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างทำแผนนี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. ซึ่งแน่นอนว่าทุกประเทศภูมิภาคมีการผลักดันนโยบายเหล่านี้ทุกประเทศเช่นกัน เนื่องจากเป็นทิศทางในการสะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจ" รมว.พลังงานระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |