‘ร.10’ทรงห่วงผู้ประสบอุทกภัยให้ดูแลดีที่สุด


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" ลงพื้นที่ "พิษณุโลก-สุโขทัย"  ประชุมผู้ว่าฯ 17 จังหวัดภาคกลาง กำชับคุยเอกชนหาพื้นที่บริหารกักเก็บน้ำใช้ช่วงแล้ง เผยในหลวง ร.10 ทรงห่วง ปชช.ประสบอุทกภัย รับสั่งให้ดูแลให้ดีที่สุด "มท." บอก "ผู้ว่าฯ" เกาะติดสถานการณ์ในพื้นที่ ย้ำจำเป็นต้องอพยพชาวบ้านทำได้ทันที อย่ากลัวถูกตำหนิ "ศักดิ์สยาม" ระบุน้ำท่วมเส้นทางเสียหายกว่า 2.3 พันล้าน "กรมอุตุฯ" แจ้งพายุ “คาจิกิ” ออกห่างเวียดนามเข้าสู่ทะเลจีนใต้แล้ว แต่ 29 จว.ยังเจอปลายหางฝนตกอยู่

    เมื่อวันที่ 4 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก เวลา 12.50 น. เพื่อเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ที่ศาลากลางจังหวัด โดยนายกรัฐมนตรีได้พบปะกับประชาชนที่มายื่นเรื่องร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม จ.พิษณุโลก พร้อมทั้งบอกประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนว่าจะให้เจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้ เพื่อหาวิธีการช่วยเหลือต่อไป
    จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัด พร้อมกล่าวมอบนโยบายว่า วันนี้นำรัฐมนตรีมาด้วย ทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ส่วนรัฐมนตรีท่านอื่นบางคนติดการประชุมสภาเลยมาด้วยไม่ได้ แต่ก็ยังมีปลัดกระทรวงมาหลายท่าน
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอกำชับเรื่องพื้นที่กักเก็บน้ำให้หาแนวทางคุยกับเอกชนที่มีพื้นที่ เพื่อจัดทำพื้นที่กักเก็บน้ำในโครงการต่างๆ เพื่อบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำยม พื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดสุโขทัย หากโครงการใหญ่ดำเนินการได้ยากก็ต้องเร่งดำเนินการในโครงการเล็กไปก่อน เพื่อให้สามารถได้ประโยชน์ในภาพรวม พร้อมทั้งจะต้องหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ อย่าให้เกิดการระบายน้ำทิ้งอย่างเดียว แต่ต้องเอาน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ทางด้านพื้นที่การเกษตรด้วย
    "รัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือระยะสั้นประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การฝึกอาชีพหลังน้ำลด เพราะนอกเหนือจากการบริหารจัดการน้ำแล้ว ต้องดูในเรื่องของการประกอบอาชีพที่สามารถสร้างรายได้และเป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นชนิดของพืชหรือการปศุสัตว์ ส่วนเรื่องงบประมาณโครงการไหน ถ้ายังไม่มีงบประมาณ รัฐบาลก็พยายามจะจัดหางบให้ ทั้งนี้รู้สึกเสียใจกับการสูญเสียของประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะดูแลอย่างเต็มที่ตามระเบียบ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงห่วง และมีพระราชกระแสรับสั่งมาโดยตลอดให้ดูแลประชาชนให้ดีที่สุด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาสำคัญของลำน้ำยมคือไม่สามารถสร้างเขื่อนใหญ่ได้ อย่างเช่นเขื่อนแก่งเสือเต้น ดังนั้นจึงต้องไปมองหาวิธีการสร้างเขื่อนเล็กๆ แทน แต่ตอนนี้ต้องดูเรื่องของการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกระทรวงการคลังมีหลักเกณฑ์อยู่แล้ว ขอย้ำว่าข้าราชการระดับจังหวัดจะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนส่งให้กับรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดจะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวให้กับประชาชนล่วงหน้าพร้อมจัดเตรียมการดูแลประชาชนรองรับด้วย
สั่ง จว.บริหารจัดการน้ำ
    พล.อ.อนุพงษ์เสริมว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ถือว่ามีการสูญเสียมาก ขอให้ผู้ว่าฯ ใช้กลไกที่มีแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ประชาชน ขณะเดียวกันประชาชนจะต้องไม่ประมาท เช่น การเข้าไปในพื้นที่น้ำไหลแรงแล้วถูกน้ำพัดเสียชีวิต โดยที่จังหวัดร้อยเอ็ดเสียชีวิต 4 คน ขอนแก่น 3 คน นอกจากนี้ยังมีความเสียหายของอาคารบ้านเรือน ในส่วนของความพร้อมได้สั่งทุกจังหวัดให้มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า มีการประสานงานที่ชัดเจน และเตรียมความพร้อมพายุลูกใหม่ที่อาจจะมีเข้ามาให้เกิดการทำงานต่อเนื่อง และจะต้องมีการเตรียมความพร้อมไปยังพื้นที่แนวลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย และต้องประสานงานกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในการบริหารจัดการน้ำภาพรวม โดยเน้นความสำคัญตอนนี้คือการจูงน้ำไปเก็บไว้ในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในภายหลังฤดูน้ำแล้ง ซึ่งจะต้องมีการจัดทำแผนเป็นรายจังหวัด 
    "ตอนนี้สิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องดำเนินการคือการดูแลประชาชนอย่างทันท่วงทีในทุกด้าน จะต้องมีการประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ หากพื้นที่ไหนต้องมีการอพยพประชาชนต้องแจ้งอย่างรวดเร็ว และให้การช่วยเหลือตามขั้นตอน ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลที่จะถูกตำหนิ ซึ่งผู้ว่าฯ สามารถสั่งการด้านนโยบายได้ทันทีตามความเหมาะสม โดยสรุปคือต้องเข้าพื้นที่โดยเร็ว ดำรงเส้นทางคมนาคม ดูการดำรงชีพของประชาชน" รมว.มหาดไทยกล่าว
    ส่วนนายเฉลิมชัยกล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ มีการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง โดยบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน เตรียมฟื้นฟูหลังน้ำลด ส่งความช่วยเหลือให้ประชาชนอย่างเร็วที่สุด ซึ่งจะต้องเร่งเข้าตรวจสอบข้อมูลความเสียหาย โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล ทุกพื้นที่ ต้องเร่งสำรวจความเสียหาย และภายใน 1 สัปดาห์หลังน้ำลดจะต้องมีการรายงานข้อมูลเข้ามา 
    "หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพยายามจูงน้ำมาใช้ประโยชน์ในภายหลัง และจะต้องพิจารณาแนวทางการเยียวยาที่เหมาะสม กรมประมงจะต้องจัดหาพันธุ์ปลาเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง ส่วนพืชไร่พืชสวนที่ได้รับความเสียหาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปดูเรื่องเมล็ดพันธุ์ การปลูกพืชทดแทน" รมว.เกษตรฯ กล่าว
    ต่อมาเวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์พร้อมคณะเดินทางไปที่วัดดงพลวงศรีวนาราม ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยและมอบถุงยังชีพ 
    นายกฯ กล่าวว่า ปัญหาบ้านเราคือระบายน้ำได้ยาก พอท่วมพื้นที่หนึ่งแล้วก็ส่งผลไปท่วม กทม. เพราะไม่มีการกักเก็บ ไม่มีเขื่อนตรงกลาง จะสร้างเขื่อนก็สร้างไม่ได้มีปัญหาตรงกลาง พอเวลาพายุเข้ามา พื้นที่นี้เก็บไม่ไหว น้ำก็ไหลไปที่เขื่อนเจ้าพระยา เข้า กทม.ก็เสียหายกันไปหมด คณะรัฐมนตรี (ครม.)คิดทุกวันจะแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ประชาชนอย่างไร ต้องคิดใหม่ทั้งหมด แต่ทั้งหมดต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน จะมากเกินไปก็ไม่ได้ ขอให้อยู่กันอย่างพอเพียง
    "ผมดูแลประชาชนเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล คสช. หรือรัฐบาลเลือกตั้งเหมือนกันหมด เพราะเป็นนายกฯ แม้เป็นคนพูดเร็ว แต่สิ่งที่พูดคือออกมาจากใจ ไม่เป็นคนโกหก ทหารไม่โกหก และสิ่งที่ทุกคนต้องระลึกอยู่เสมอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ท่านทรงห่วงใยประชาชน วันนี้ขอประชาชนอย่าเกลียดทหาร เพราะทหารคือแรงงานสำคัญของเราที่เขามาช่วยตลอด 24 ชั่วโมง" นายกฯกล่าว
    เวลา 17.30 น. พล.อ.ประยุทธ์และคณะเดินทางจาก จ.พิษณุโลกไปยัง ต.ป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย เพื่อตรวจประตูระบายน้ำและระบบระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) โดยทันทีที่มาถึงนายกรัฐมนตรีได้รับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ ก่อนจะเยี่ยมและพบปะประชาชน โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ที่มาวันนี้เพราะรัฐบาลเป็นห่วง ที่ไหนมีปัญหารัฐบาลจะดูแลเยียวยาให้ตามสิทธิของกระทรวงการคลังที่วางมาตรการให้แล้ว 
    "ขอแนะนำพื้นที่ใดน้ำท่วมมาก ให้ปรับเปลี่ยนอาชีพ เช่น เลี้ยงปลาแทนการทำนาปลูกข้าว อีกทั้งขอให้ประชาชนดูข้อมูลจากรัฐบาลผ่านทางโทรศัพท์มือถือ รัฐบาลจะแจกเงินอย่างเดียวไม่ได้ แจกเงินมากๆ ทำไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย นายกฯ ติดคุกไม่สงสารเหรอ" นายกฯ กล่าว
    ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามผลกระทบจากอุทกภัยที่ทำให้หลายเส้นทางคมนาคมขนส่งได้รับความเสียหาย
    นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสำรวจความเสียหายทั้งหมดให้แล้วเสร็จใน 30 วัน หรืออย่างช้าไม่เกิน 45 วัน ถ้าพื้นที่ใดมีความเสียหายไม่มาก ก็ขอให้หน่วยงานใช้งบฉุกเฉินหรืองบกลางซ่อมบำรุงฟื้นฟูไปก่อน แต่ถ้าบริเวณไหนมีความเสียหายมาก หน่วยงานก็ต้องทำแผนการซ่อมบำรุงเพื่อให้กลับสู่สภาพเดิมภายในปีงบประมาณ 63
เส้นทางเสียหาย 2.3 พันล.
    "เบื้องต้นพบว่ากรมทางหลวงมีถนนที่ได้รับความเสียหายรวมกว่า 1,800-1,900 ล้านบาท ส่วนกรมทางหลวงชนบทเสียหายรวมกว่า 400 ล้านบาท หรือประมาณ 2.3 พันล้านบาท ซึ่งหากพบว่ามีความเสียหายไม่มากนัก ให้หน่วยงานใช้งบประมาณฉุกเฉิน หรืองบกลางให้เข้าดำเนินการซ่อมแซมไปก่อน" รมว.คมนาคมกล่าว
    ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยว่า มีเหลือ 7 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร อำนาจเจริญ ยโสธร ขอนแก่น อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด โดยมีการอพยพประชาชนรวม 13 จุด 1,118 คน ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเจ้าหน้าที่ พร้อมระดมวัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ภัย โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกเครื่องส่งสูบน้ำระยะไกลเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง รวมถึงดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย โดยแจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม และถุงยังชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น 
    "ในระยะนี้ประเทศไทยยังมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง อีกทั้งบางพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ปภ.ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมสรรพกำลัง วัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้เผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที" อธิบดี ปภ.กล่าว
    ที่หอประชุมเทศบาลเมืองบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการเกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พร้อมเชิญถุงพระราชทานร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ เครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 1,997 ถุง มอบให้แก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่
    จากนั้น นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ เดินทางต่อไปที่วัดไทรทอง อ.เมืองฯ จ. ขอนแก่น เชิญสิ่งของพระราชทานมอบให้แก่ประชาชนผู้ประสบปัญหาอุทกภัย โดยในเขต อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น มีผู้ประสบภัยจำนวน 2 ตำบล 13 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 5,235 คน 1,500 ครัวเรือน
    นายอำพนได้เชิญกระแสพระราชดำรัสความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ มากล่าวให้ประชาชนได้รับฟังและทำพิธีมอบถุงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค 
'คาจิกิ'เข้าทะเลจีนใต้แล้ว
    จ.พิจิตร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำป่าจาก อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ได้ไหลหลากท่วมพื้นที่ จ.พิจิตร 10 อำเภอ 32 ตำบล 185 หมู่บ้าน 9,436 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรประมาณ 110,698 ไร่ บ่อปลา 13 บ่อ วัดและโรงเรียน 7  แห่ง  มีเสียชีวิตแล้ว 2 ราย 
    พระราชสิทธิเวที เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร และรักษาการเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง พร้อม อบจ.พิจิตร และองค์กรภาคประชาชน นำสิ่งของรวมถึงอาหารและน้ำดื่มลงพื้นที่แจกจ่ายช่วยเหลือราษฎรในเขตพื้นที่ อ.สากเหล็ก 
    วันเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 11 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายของพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) “คาจิกิ” มีผลกระทบจนถึงวันที่ 4 ก.ย.ว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 4 ก.ย.2562 พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) “คาจิกิ” บริเวณทะเลจีนใต้ มีศูนย์กลางพายุอยู่ที่ละติจูด 17.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 109.3 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือค่อนทางตะวันออกเล็กน้อย อย่างช้าๆ ออกห่างจากประเทศเวียดนามเข้าสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนในระยะต่อไป 
    ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประเทศเวียดนาม และประเทศจีนตอนใต้ ควรตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทางด้วย
    พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ที่มีฝนตกหนัก ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดน่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่  จังหวัดบึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี และสระบุรี, ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต
    สำหรับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) “คาจิกิ” ในทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรงต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงโดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนงดออกจากฝั่ง จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"