"บิ๊กตู่" ลั่นเข้าใจระบอบ ปชต. บ่นเถียงกันเรื่องไม่เป็นเรื่อง ยันปฏิบัติตาม รธน.ทุกอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปฐมบรมราชโองการสมบูรณ์แล้ว ย้อนถามตนถวายสัตย์ฯ สมบูรณ์ไหม "ชวน" ยัน 18 ก.ย.เปิดอภิปรายตั้งแต่ 09.30-24.00 น.เหมาะสมกับทุกฝ่าย ขณะที่ฝ่ายค้านยังโวยเวลาน้อยไปทำให้มีข้อจำกัด แต่พร้อมปรับแผนเน้นเนื้อหาให้กระชับ อ้างไม่มีประเด็นอ่อนไหว สะพัด! วิป 2 ฝ่ายแบ่งเค้ก ปธ.กมธ.ไม่ลงตัว อนค.แย่ง กมธ.ทหาร-ตรวจ-ศาลองค์กรอิสระ ศาล รธน.รับวินิจฉัย 32 ส.ส.ฝ่ายค้านถือหุ้นสื่อขัด รธน. แต่ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
เมื่อช่วงบ่ายวันพุธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยและมอบถุงยังชีพ ที่วัดดงพลวงศรีวนาราม ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ว่า วันนี้ขอให้ทุกคนหาความรู้จากโทรศัพท์ให้มากขึ้น แต่ข่าวที่ทะเลาะกันอย่าไปฟังมากนัก เอานายกฯ ไปตอบเติบอะไร ปล่อยไปเถอะ ตนก็จะทำตามกระบวนการ ถ้าทำแต่วิธีนี้ต่อไปมันก็ทำอะไรไม่ได้ แล้วทำไมต้องเริ่มต้นใหม่ ในเมื่อเราทำมาถึงเวลานี้ตามขั้นตอน ทุกอย่างเดินมาตามขั้นตอน ไม่ต้องกลัว ตนไม่กลัวเพราะมีจิตใจบริสุทธิ์ที่จะทำทุกอย่างเพื่อพวกเรา และที่อยู่มาถึงวันนี้อยู่เพื่อต้องการทำงาน ไม่ใช่อยู่เพื่อหาอำนาจ อยากเป็นใหญ่ อยากเป็นนายกฯ ไม่เคยคิด แต่ชะตากำหนดมาให้ถึงวันนี้ ตนก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แทนที่จะไปพักผ่อน อายุ 65 แล้ว แต่ตนเห็นพวกเราทุกคนก็ทิ้งไม่ได้ ไม่มีความสุขตราบใดที่ยังมีรายได้น้อยกันแบบนี้
"ผมเข้าใจระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่มีผิดจากรัฐธรรมนูญ เคยอ่านรัฐธรรมนูญกันไหม เถียงกันจังเลยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ผมก็ปฏิบัติตามทุกอย่าง เพราะรัฐธรรมนูญเป็นของปวงชนชาวไทย แล้วใครลงพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จบแล้วใช่ไหม ปวงชนชาวไทย และพระองค์ท่านรับสั่งว่าอย่างไร มีพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งประชาชนใช่ไหม มันสมบูรณ์แล้ว ผมถวายสัตย์ฯ สมบูรณ์ไหม ไปบอกให้ผมหน่อย อะไรกันนักกันหนาไม่เข้าใจ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านระบุว่ารัฐบาลใจแคบ เปิดโอกาสให้อภิปรายทั่วไปประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ครบถ้วน เพียง 1 วันน้อยเกินไปว่า ระยะเวลา 1 วันก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ส่วนที่มีการกำหนดเป็นวันที่ 18 ก.ย. ซึ่งเป็นวันก่อนปิดประชุมสภานั้น ก็ไม่ได้เป็นการมัดมือชกฝ่ายค้านเพื่อไม่ให้ต่อเวลา ซึ่งก็ต้องจบอยู่แล้วภายในวันที่ 18 ก.ย. เพราะหมดสมัยประชุมสภา และเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นละเอียดอ่อนอะไร คิดว่าใช้เวลาอภิปรายเพียงวันเดียวก็เพียงพอ ส่วนจะประชุมแบบเปิดหรือแบบลับนั้นก็แล้วแต่สภาเป็นผู้พิจารณา ส่วนตัวมองว่าหากจะเป็นการประชุมแบบเปิดเผยก็ไม่เป็นอะไร แต่ต้องระมัดระวังคำพูดที่จะไปเกี่ยวข้องกับสถาบัน
เมื่อถามว่า ภาพรวมด้านความมั่นคงในขณะนี้มีอะไรน่าเป็นห่วงหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่น่ามี และเชื่อว่าทุกคนมีความเข้าใจดีในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งประชาชนก็มีความเข้าใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากให้เรื่องการเมืองออกมาเล่นนอกสภา ซึ่งอยากให้พูดกันในสภาให้จบ
น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการเปิดอภิปรายทั่วไปในวันที่ 18 ก.ย.เพียงวันเดียวว่า ทางรัฐบาลคงดูความพร้อมของนายกฯ และ ครม.แล้ว เพราะต้องยอมรับว่านายกฯ มีภารกิจมาก จึงเป็นเรื่องความเหมาะสมของกำหนดเวลา ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้ควรจะจบได้ตั้งนานแล้ว แต่เมื่อฝ่ายค้านเห็นว่าควรต้องให้นายกฯ มาชี้แจงก็ถือเป็นสิทธิของฝ่ายค้าน เห็นว่าอภิปรายเพียงวันเดียวก็น่าจะพอ เกรงประชาชนจะเบื่อหน่าย เพราะทุกวันนี้ประชาชนเดือดร้อนจากหลายทาง ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ปัญหาราคาพืชผลการเกษตร อยากให้ฝ่ายค้านใช้เวลาในการตรวจสอบ และเสนอแนะงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะดีกว่า
ถก 14 ชม.เหมาะสมทุกฝ่าย
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการกำหนดวันอภิปรายฯ ว่า เมื่อวันอังคารเป็นการกำหนดวันตามมติ ครม. โดยก่อนหน้านั้นนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอมาเป็นวันที่ 16-18 ก.ย. แต่วันที่ 16 และ 17 ก.ย. เป็นวันประชุม ส.ว. จึงไม่สามารถอภิปรายได้ ส่วนจะเป็นวันที่ 18 ก.ย.หรือไม่นั้น ตอนนี้กำลังปรึกษากันว่าจะหาวันที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย คาดว่าไม่สามารถขยายเป็นวันถัดไปได้ หากเป็นวันที่ 18 ก.ย. จะใช้เวลาตั้งแต่ 09.30-24.00 น.
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวสนับสนุนให้ประธานสภาบรรจุญัตติอภิปรายทั่วไปฯ ในวันที่ 18 ก.ย. ตามความพร้อมของนายกฯ โดยเห็นว่าระยะเวลาหนึ่งวันเพียงพอแล้ว ไม่น้อยเกินไปเหมือนที่ฝ่ายค้านพยายามทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากตามญัตติมีเพียงสองประเด็นคือ กรณีนายกฯ ถวายสัตย์ไม่ครบตาม รธน.และการแถลงนโยบายที่ไม่ชี้แจงแหล่งที่มารายได้ ซึ่งหากเริ่มประชุมช่วงเช้าจนถึงเที่ยงคืนก็จะมีเวลาสำหรับการอภิปรายญัตตินี้ราว 14 ชั่วโมง หากฝ่ายค้านอยู่ในประเด็น ไม่มีการก้าวล่วงถึงสถาบันฯ หรืออภิปรายในเรื่องที่อ่อนไหว ก็เชื่อว่าจะไม่มีการประท้วงมาก ทำให้ฝ่ายค้านมีเวลาอภิปรายได้เต็มที่ ฝ่ายรัฐบาลก็สามารถชี้แจงตอบข้อสงสัยได้เช่นเดียวกัน
"ฝ่ายค้านต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำว่าต้องการใช้เวทีสภาเพื่อหาทางออก ไม่ใช่เล่นเกมการเมืองเพื่อดิสเครดิตนายกฯ ด้วยการอภิปรายอยู่ในกรอบ รวมถึงควรมีข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลด้วย หากทำได้ก็จะทำให้การทำงานในสภาเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่เวทีทำลายล้างกันทางการเมือง" นพ.ระวีกล่าว
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ว่า เวลาอภิปราย 14 ชั่วโมงครึ่ง คงเพียงพอในการซักถามและให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาล หาก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่ประท้วงตีรวนการอภิปรายของฝ่ายค้าน และเราไม่อยากให้เกิดกรณีเช่นนั้น เพราะเรื่องที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และยืนยันเรายึดมั่นอยู่ในกติกา และจะระมัดระวังคำพูด จึงไม่จำเป็นต้องขอให้เป็นการประชุมลับ เราได้ให้ ส.ส.ยื่นความจำนงเสนอชื่ออภิปรายแล้ว โดย 7 พรรคฝ่ายค้านจะอภิปรายเป็นทีมให้เนื้อหาต่อเนื่องสอดคล้องกัน ทั้ง 2 ประเด็นในส่วนของพรรคเพื่อไทยจะมีผู้อภิปรายประมาณ 15 คน โดยเป็นคนที่มีประสบการณ์ อาทิ นายสุทิน คลังแสง, นายชวลิต วิชยสุทธิ์ และตน เป็นต้น
ด้านนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในวันที่ 5 ก.ย. ฝ่ายค้านจะวางกรอบติวเข้มนัดแรก สำหรับเนื้อหาหลักๆ จะเป็นเรื่องของการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ และเรื่องการแถลงนโยบายที่ไม่แสดงที่มาของงบประมาณและไม่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่จะสนับสนุนให้ประเด็นหลักเด่นชัด จะเป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดปัจจุบันที่ผ่านมาได้มีพฤติกรรมละเมิดกฎหมายอยู่เรื่อยๆ ซึ่งจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการจูงใจให้เห็นว่าการกระทำครั้งนี้ของรัฐบาลถือเป็นการตั้งใจละเมิดกฎหมาย ส่วนเวลา 1 วัน ถือว่าเป็นเรื่องยากในการอภิปรายเพราะมีข้อจำกัด การกำหนดผู้ที่จะอภิปราย จากเดิมที่วางไว้ 15 คน แต่พอมีปัญหาเรื่องเวลา ก็ต้องมาทบทวนว่าจะคงไว้ 15 คนแต่กระชับเนื้อหาให้น้อยลงหรือจะลดคน แต่เนื้อหายังคงอยู่เหมือนเดิม
ฝ่ายค้านไม่อ่อนไหว
เมื่อถามว่า มีการกำชับ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเรื่องการอภิปรายหรือไม่ เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าประเด็นมีความอ่อนไหวเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นายสุทินกล่าวว่า สำหรับฝ่ายค้านไม่มีอะไรอ่อนไหว เพราะเป็นเรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น ไม่มีส่วนอื่นที่จะล่วงเลยไปมากกว่านายกฯ แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลเท่านั้นที่อ่อนไหว เพราะสังเกตได้จากที่ผ่านมารัฐบาลพยายามปัดเรื่องดังกล่าวให้พ้นตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งรัฐบาลต้องระวังให้มาก ส่วนในกรณีที่เรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญจึงทำให้การอภิปรายต้องทำอย่างระมัดระวัง มองว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะที่ผ่านมาเคยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวบุคคลในรัฐบาลควบคู่ไปกับการยื่นเรื่องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั่นแสดงให้เห็นว่าเราสามารถทำควบคู่กันได้ทั้ง 2 เรื่อง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ต้องกังวล เรารู้ดีว่าจะต้องพูดแค่ไหนอย่างไร
ส่วนจะต้องเป็นการประชุมลับหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ฟังจากรัฐบาลเองตนก็มองว่าไม่มีเหตุผลจำเป็นที่จะต้องประชุมลับ เว้นแต่รัฐบาลจะสร้างเหตุขึ้นมาเพื่อให้เป็นการประชุมลับ เช่น กรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่าถ้าพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จะต้องเป็นการประชุมลับ แต่ในส่วนฝ่ายค้าน ไม่มีใครคิดว่าจะพูดไปถึงจุดนั้น ไม่มีประเด็นที่ต้องไปเกี่ยวข้อง ซึ่งหากรัฐบาลอ้างเชื่อมโยงไปถึงสถาบันฯ รัฐบาลก็ต้องเป็นคนตอบประชาชนเอง และหากจะเป็นการประชุมลับ ขอฝากไปยังรัฐบาล ต้องคำนึงถึงประชาชนด้วย
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ก่อนหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านประสานไปยังฝ่ายรัฐบาลมีการตกลงว่าจะให้เวลาฝ่ายค้าน 2 วัน แต่พอกำหนดออกมากลับให้วันที่ 18 ก.ย.เป็นวันอภิปราย ซึ่งรัฐบาลก็ทราบดีว่าวันดังกล่าวเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมนี้ เท่ากับว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะได้เวลาอภิปรายเพียงแค่วันเดียว ไม่รู้ว่าประเด็นนี้คือความใจกว้างของรัฐบาลลักษณะหนึ่งหรือไม่ เวลานี้เราคงไม่ไปต่อล้อต่อเถียงอะไรด้วย พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค จะใช้ตามที่เวลาที่มีเนื้อหาการอภิปรายกระชับ
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ระยะเวลาเพียงวันเดียว เป็นวันสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุมสภา ถือว่าน้อยเกินไป เพราะเป็นโอกาสที่สภาจะช่วยหาแนวทางแก้ไขปัญหา จากการที่นายกฯ และ ครม.ทำไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งการกำหนดกรอบการอภิปราย 2 วันนั้น หากหาทางออกได้เร็วก็อาจจะปิดการอภิปรายก่อนก็ได้ ดังนั้นการกำหนดเวลาเพียงวันเดียวผู้เสียประโยชน์ที่สุดก็คือรัฐบาล นี่คือความปรารถนาดีของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นายกฯ ไม่ควรกลัวการอภิปรายในสภา ขอให้เข้าใจระบบ
นอกจากนี้ นายสุทิน คลังแสง ในฐานะวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยถึงการหารือกับวิปรัฐบาลเพื่อจัดสรรตำแหน่งประธานกรรมาธิการสามัญคณะต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 35 คณะ ว่ายังไม่สามารถหาข้อสรุปกับฝ่ายวิปรัฐบาลได้เรื่องการจัดสรรตำแหน่งประธานกรรมาธิการ โดยวิปทั้งสองฝ่ายจะหารือกันอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปโควตาประธานกรรมาธิการต่างๆ ภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นสัปดาห์ถัดไปจะให้แต่ละพรรคกำหนดตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งประธาน เพื่อส่งให้ที่ประชุมสภาเห็นชอบก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 18 ก.ย.นี้ กรอบการหารือเบื้องต้น พรรคเพื่อไทยจะโควตาประธาน กมธ. 10 คณะ ในฐานะฝ่ายค้านควรได้ตรวจสอบกระทรวงใหญ่ๆ ที่รัฐบาลกำกับดูแล อาทิ กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ กมธ.คมนาคม กมธ.พาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา กมธ.พลังงาน กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นต้น
อนค.แย่งเค้กก้อนใหญ่
มีรายงานว่า ในการประชุมร่วมกันของวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ยังไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากพรรคใหญ่ต่างช่วงชิงตำแหน่งประธาน กมธ.ในคณะที่สำคัญ โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องการโควตาประธาน กมธ.ทหาร, ประธาน กมธ.ตำรวจ และประธาน กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ อัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ซึ่งเป็น กมธ.ที่พรรครัฐบาลต้องการดูแลเอง ทำให้การประชุมไม่มีข้อยุติ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ จึงขอหารือประชุมกับหัวหน้าพรรคหรือตัวแทนพรรคทั้งฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านเพื่อยุติปัญญา ในวันที่ 6 กันยายน เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา
วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องที่ประธานสภาฯ ส่งความเห็นของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จำนวน 51 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ส.ส.จำนวน 33 คน ถือครองหุ้นสื่อเข้าข่ายทำให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 93 (3) หรือไม่ไว้พิจารณาจำนวน 32 คน โดยไม่รับคำร้องในส่วนของนายวุฒินันท์ บุญชู ส.ส.เขต 4 สมุทรปราการ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ซึ่งเป็นผู้ถูกร้องที่ 29 ไว้พิจารณาโดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) บัญญัติลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะให้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ไว้ว่า “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ” มิใช่เพียงมีเจตนาหรือความประสงค์จะทำกิจการดังกล่าวเท่านั้น แม้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทมีวัตถุประสงค์จะประกอบธุรกิจพอที่จะใช้เป็นเหตุให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลได้ ซึ่งก่อนที่ศาลจะรับคำร้องไว้พิจารณา ยังจำเป็นต้องตรวจสอบวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ ส.ส.ทั้ง 33 คน เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นอยู่ว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่จะประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดหรือไม่
โดยเมื่อตรวจสอบจากคำร้องและเอกสารประกอบแล้ว นายวุฒินันท์ถูกกล่าวอ้างถือหุ้นในบริษัท รุ่งเรืองสยาม ซูมิคอน จำกัด และเมื่อพิจารณารายละเอียดวัตถุประสงค์ตามข้อ 11 และข้อ 17 ก็เห็นว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ กรณีดังกล่าว จึงไม่เป็นลักษณะเข้าข่ายอันเป็นให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายวุฒินันท์สิ้นสุดลง
ส่วน 32 ส.ส.ที่ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้แจ้งประธานสภาฯ ผู้ร้องทราบ และส่งสำเนาคำร้องให้ 32 ส.ส.ที่เป็นผู้ถูกร้องได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากลับมายังศาลภายใน 15 วันนับแต่ได้รับสำเนาคำร้อง สำหรับคำขอที่ขอให้สั่ง 32 ส.ส.หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น เห็นว่าคดีนี้ไม่มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง จึงไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานใด ให้ใช้เป็นฐานในการพิจารณา มีเพียงหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทระบุวัตถุประสงค์ กับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฏแบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วน บริษัท (แบบ สสช 1.) แบบนำส่งงบการเงินของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท ว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด จึงยังไม่มีมูลให้เห็นว่า ส.ส.ทั้ง 32 คนประกอบธุรกิจใด ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงให้ยุติเสียก่อน เมื่อยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ส.ส.ทั้ง 32 คน มีกรณีตามที่ถูกร้อง ในชั้นนี้ จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง
รับวินิจฉัย 32 สส.ถือหุ้นสื่อ
สำหรับ ส.ส. 32 รายที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ประกอบด้วย พรรคอนาคตใหม่ 20 คน คือ 1.พล.ท.พงศกร รอดชมภู 2.นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ 3.นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ 4.นายสุรชัย ศรีสารคาม 5.นายชำนาญ จันทร์เรือง 6.นายวินท์ สุธีรชัย 7.นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ 8.นายคารม พลพรกลาง 9.นายวาโย อัศวรุ่งเรือง 10.นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล 11.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล 12.นายวรภพ วิริยะโรจน์ 13.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ 14.นายสมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด 15.นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. 16.น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี 17.น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม 18.นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา 19.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก และ 20.น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม.
พรรคเพื่อไทย 4 คน ได้แก่ 1.นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย 2.นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก 3.นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ และ 4.นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อชาติ 4 คน เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด ได้แก่ 1.นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ 2.นางลินดา เชิดชัย 3.น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช และ 4.นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล พรรคเสรีรวมไทย จำนวน 3 คน เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด ได้แก่ 1.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 2.น.ส.ธนพร โสมทองแดง และ 3.น.ส.พัชนี เพ็ชรจินดา อีก 1 รายคือ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดีที่ กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลงตาม รธน.มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ โดยที่ประชุมได้พิจารณาคำร้องของผู้ถูกร้องที่ขอให้ศาลพิจารณาคำร้องขอให้ยกเลิกคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งโดยเร่งด่วน แล้วเห็นว่ายังไม่ปรากฏพฤติการณ์อันเป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เดิม จึงให้ยกคำร้องขอ และต่อจากนั้นได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยว่าจะมีการไต่สวนพยานบุคคลโดยจะมีหมายเรียกพยานบุคคลใดและพยานเอกสารฉบับใดบ้างกำหนดนัดอภิปรายต่อในวันที่ 11 ก.ย.
ที่สำนักงาน กกต. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อประธาน กกต. ขอให้ตรวจสอบกรณีที่พรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้มีมติยุบเลิกพรรคตัวเอง และ กกต.ก็มีมติให้สิ้นสภาพแต่ตนเห็นว่ายังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าจะส่งผลให้ลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อเปลี่ยนแปลง ประกอบพรรคประชาชนปฏิรูปได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ส.ส.พึงมี การมายุบเลิกพรรคในช่วงที่ยังไม่ครบ 1 ปี อาจขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (4) ประกอบมาตรา 93 ระบุเหตุการสิ้นสภาพ ส.ส.ไว้ว่า กรณีมีการเลือกตั้งซ่อมหรือรวมคะแนนใหม่ภายใน 1 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่มายุบเลิกในขณะนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ขอให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายไพบูลย์ยังมีสถานะเป็น ส.ส.หรือไม่ และเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 (1) พ.ร.ป.พรรคการเมือง
นอกจากนี้ นายศรีสุวรรณกล่าวด้วยว่า คณะกรรมการไต่สวนของสำนักงาน กกต. ยังให้ตนมาให้ถ้อยคำยืนยันการยื่นคำร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบใน 2 เรื่อง คือกรณีที่ตนได้ยื่นร้องขอให้ตรวจสอบนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค อนค. ถือหุ้นสื่ออาจเข้าข่ายให้ทำสิ้นสภาพการเป็น ส.ส. และกรณีที่ได้ยื่นร้องให้ตรวจสอบกรณีพรรค พปชร.จัดสัมมนาสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่ อ.วังน้ำเขียว ซึ่งรีสอร์ตที่จัดสัมมนาอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลว่าบุกรุกพื้นที่อุทยานหรือไม่ การจัดสัมมนาในรีสอร์ตดังกล่าวจึงน่าจะเข้าข่ายสนับสนุน ส่งเสริม การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ที่กฎหมายพรรคการเมืองระบุห้ามพรรคการเมืองกระทำการดังกล่าว และหากเรื่องผิดจริง กกต.สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งยุบพรรคได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |