หลังที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อ 2 กันยายนที่ผ่านมา มีมติตั้งคณะ กมธ.วิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 รายชื่อ ที่จะมาแทนตุลาการศาล รธน.ที่จะต้องพ้นตำแหน่งเพราะครบวาระ จำนวน 5 คน อันประกอบด้วย นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาล รธน., ชัช ชลวร อดีตประธานศาล รธน., บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล
ทางคณะกรรมาธิการฯ ก็เร่งเครื่องประชุมกันทันที โดยต่อมา 3 ก.ย. กมธ.ก็ประชุมลงมติเลือก พลเอกอู้ด เบื้องบน สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธาน กมธ. จากนั้น กมธ.ได้มีการวางกรอบการตรวจสอบประวัติในด้านต่างๆ ทั้ง เปิดเผย-ปิดลับ ที่ก็เป็นวิธีการที่ใช้ทำกันมาทุกยุคสมัย เช่น การทำหนังสือในนาม กมธ. สอบถามไปยังหน่วยราชการที่สำคัญ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบหาข้อมูลในทางเปิดเผย-ลึก-ลับ ของผู้ที่ถูกส่งชื่อมาให้วุฒิสภา เลือกเป็น ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีข้อมูลถูกสอบสวน ร้องเรียน หรือมีคดีความอะไรหรือไม่ มีประวัติส่วนตัวและการทำงานที่เข้าข่ายขัดคุณสมบัติต้องห้ามการเป็นตุลาการศาล รธน.หรือไม่ เป็นต้น เพื่อที่ กมธ.จะนำมาเขียนไว้ในรายงานต่อไป
รายชื่อว่าที่ตุลาการศาล รธน. ซึ่งรอบนี้ส่งมา 5 ชื่อ อันเป็น 5 ชื่อเสียงข้างมากในการลงมติของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดีต่างๆ ที่มีด้วยกัน 9 คน ดังนั้น 5 เสียงของตุลาการศาล รธน.ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ต่อจากนี้ จึงถือเป็นเสียงข้างมากในการกำหนดทิศทางการลงมติของศาล รธน.ให้ออกมาในทางใดทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ชื่อ 5 ว่าที่ตุลาการศาล รธน. ชุดใหม่ ที่จะเข้ามาเป็น แผงอำนาจใหม่ ในองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาได้ ชี้เป็นชี้ตาย และ สร้างจุดเปลี่ยนทางการเมืองไทย มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ยกตัวอย่างมาได้มากมาย ทั้งการยุบพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคใหญ่-พรรคเล็ก-พรรคใหม่-พรรคเก่า หรือการตัดสินในคำร้อง จนส่งผลให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, สมัคร สุนทรเวช หรือ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในคดียุบพรรคพลังประชาชน เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ ทิศทางแผงอำนาจใหม่, เสียงข้างมากในศาล รธน. 5 คน ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ต่อไปอีกร่วม 7 ปี หรือไม่เกินอายุ 75 ปี จึงอยู่ในความสนใจของสังคมอย่างยิ่ง
โดย 5 ว่าที่ตุลาการศาล รธน.แผงอำนาจใหม่ ที่ถูกส่งชื่อมาให้วุฒิสภาลงมติ เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ แต่ละรายชื่อมีที่มาจากสามทาง ประกอบด้วย รายชื่อที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา คือ อุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา, วิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และ จิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา
ส่วนอีก 2 ชื่อ แยกเป็น ผู้ได้รับการคัดเลือกจากการลงมติของที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาล รธน. ที่มีชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ซึ่งได้ลงมติเลือก นภดล เทพพิทักษ์ อดีตอธิบดีกรมเอเชียใต้ตะวันออกกลางและแอฟริกา เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกด้วยเสียงเอกฉันท์ หลังที่ประชุมต้องเลือกกันถึงสามรอบเพราะคะแนนสูสีกับเชาวนะ ไตรมาส เลขาธิการศาล รธน.คนปัจจุบัน ก่อนที่สุดท้ายกรรมการสรรหาจะเทเสียงเลือกนพดลไปในทางเดียวกัน ทำให้เชาวนะพลาดโอกาสเป็นตุลาการศาล รธน.ไปแบบเกือบได้เฮ
และชื่อสุดท้ายมาจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด คือ ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเสนอตัวเพียงคนเดียวจากตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่มีอยู่รวม 25 คน ทำให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนตุลาการในศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด เลือกชั่งทองให้ได้รับการเสนอชื่อให้ไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม พิจารณาจากปฏิทินตัดสินคดีที่รอการวินิจฉัยของที่ประชุมตุลาการศาล รธน.ในเวลานี้ ทั้งคำร้องที่รับไว้วินิจฉัยและคำร้องที่รอการวินิจฉัย เปรียบเทียบกับกรอบเวลาการที่ 5 ว่าที่ตุลาการศาล รธน.จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ก็พบว่ายังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน เช่น การตรวจสอบคุณสมบัติ-ขั้นตอน การลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบของวุฒิสภา ที่น่าจะใช้เวลาร่วม 2-3 เดือน จากนั้น ก็นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป และยังต้องเผื่อเวลาไว้สำหรับกรณีเกิดเหตุคาดไม่ถึง เช่น หากเกิดกรณี ส.ว.ลงมติตีร่วง ไม่เห็นชอบบางรายชื่อ หรือไม่เห็นชอบทั้งหมด ซึ่งดูแล้วคงเกิดขึ้นได้ยากในกรณีหลัง คงไม่เหมือนกับที่เคยมีเคสสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติคว่ำกระดานโหวตล้ม กกต.-กสทช.
พิจารณาจากลำดับขั้นตอนต่างๆ ตามกฎหมายข้างต้น จึงทำให้มีการประเมินกันว่า หากสุดท้ายว่าที่ตุลาการศาล รธน.ทั้ง 5 ชื่อ ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาทั้งหมด ยังไงก็ไม่สามารถเข้าพิจารณาตัดสินคดีร้อนๆ ของศาล รธน.ในเวลานี้ได้อยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่การพิจารณาของศาล รธน.ก็ใกล้งวดพิจารณากันไปมากแล้ว บางคำร้องก็จ่อลงมติกันหลายเรื่องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคดีหุ้นสื่อของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, คดีหุ้นสื่อของ ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน, คดียุบพรรคอนาคตใหม่, คดีถวายสัตย์ฯ ของนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อ 5 รายชื่อว่าที่ตุลาการศาล รธน.ข้างต้น ได้เข้าไปทำหน้าที่เป็นตุลาการศาล รธน. สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ การเลือก ประธานศาล รธน. คนใหม่แทนนายนุรักษ์ที่ต้องพ้นวาระไป ซึ่งถึงตอนนั้นจะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันที่จะยังทำหน้าที่ต่อไป 4 คน ประกอบด้วย วรวิทย์ กังศศิเทียม อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีต อจ.นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ปัญญา อุดชาชน อดีตเลขาธิการศาล รธน. และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีต อจ.รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
มีการมองกันว่า จาก 4 ชื่อข้างต้น คนที่มีอาวุโสและถูกคาดหมายจากบางฝ่ายว่าอาจจะได้ลุ้นเป็น ปธ.ศาล รธน.ก็คือวรวิทย์ แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เมื่อแผงอำนาจใหม่ของศาล รธน.เข้ามาทั้ง 5 เสียง ความคาดหมายดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่?
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |