4 ก.ย. 62 - ที่ห้องคริสตัล เอ โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงทพฯ เมื่อเวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 “Advancing Energy Transition Through Partnership and Innovation” และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีรัฐมนตรีพลังงานจากประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา รองเลขาธิการอาเซียน ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน และองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมงาน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่สำคัญของประเทศไทย และมีความหมายอย่างยิ่งต่อประชาชนชาวไทย เนื่องด้วยเป็นปีที่มีพระราชพิธีมหามงคลหลายพิธี รวมทั้งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียน และเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ในฐานะรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย ขอต้อนรับผู้มีเกียรติทั้งหลาย หวังว่าแม้จะอยู่ในประเทศไทยในระยะเวลาสั้นๆ แต่ทุกท่านก็คงมีความสุข ประเทศไทยพร้อมต้อนรับทุกท่านเสมอมา และตลอดไป
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าภูมิภาคอาเซียนจะต้องเผชิญกับความท้าทายในภาคพลังงานเป็นอย่างมาก ซึ่งพลังงานเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาสังคม และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยแนวทางผลิตและการใช้พลังงานของแต่ละประเทศจะถูกกำหนดด้วยความสามารถในการปรับตัวต่อความท้าทายทางพลังงานของตามแต่สถานการณ์ของแต่ละภูมิภาค
“ในเวลานี้ เรากำลังอยู่ช่วงเริ่มต้นของกระแสของโลกในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต ภูมิภาคอาเซียนของเรามีความต้องการพลังงานมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนอาจจะเป็นพลังงานหลักต่อไปในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นการพัฒนาตลาดและการลงทุนด้านพลังงาน รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานแห่งอนาคต ทั้งในส่วนของเชื้อเพลิงฟอสซิลและไม่ใช่ฟอสซิล จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับภูมิภาค” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในฐานะเจ้าภาพอาเซียน ไทยได้ผลักดัน Key Deliverables ของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยผลการศึกษาที่เกิดขึ้น จะเป็นข้อมูลและแนวทางสำหรับการวางนโยบายและกรอบความร่วมมือของอาเซียนต่อไปในอนาคต อาทิ ในด้านไฟฟ้ามีการยืนยันการเพิ่มปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผ่านราชอาณาจักรไทย ไปยังสหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งจะสามารถสนับสนุนและอำนวยความสะดวกต่อการขยายความร่วมมือสู่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการในอนาคต ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพการเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าในอาเซียน นอกจากนั้น ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะต่างๆ อาทิ ข้อเสนอแนะเรื่องการศึกษาโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กเพื่อรองรับก๊าซธรรมชาติ (Small-scale LNG) แนวทางการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน จะช่วยกำหนดทิศทางและกิจกรรมที่ควรจะดำเนินการในอนาคต เพื่อให้อาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านพลังงานอาเซียน ในด้านการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายและตลาดการซื้อขายก๊าซธรรมชาติในอาเซียน ส่วนในด้านการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดนั้น อาเซียนได้เห็นชอบร่วมกันในการผลักดันเป้าหมายด้านพลังงานทดแทนให้ถึงร้อยละ 23 ในปี 2025 และการปรับมาตรฐานด้านประสิทธิภาพพลังงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะส่งให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน และการผลิตและใช้พลังงานอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนต่อไป
ในส่วนของอนาคตทางพลังงานนั้น ปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดพลังงานแห่งโลกอนาคต นั่นคือ พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนโดยระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์ การผลิตพลังงานในรูปแบบของพลังงานไฟฟ้า และการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านพลังงานให้มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานสมัยใหม่โดยมีพลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลัก จึงไม่เพียงแต่เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานเท่านั้น แต่ยังพัฒนาความเป็นอยู่และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนชน และยังช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
ดังนั้นแนวคิดหลักของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 หรือ 37th AMEM ใน ปีนี้ คือ Advancing Energy Transition Through Partnership and Innovation ซึ่งหมายถึง การมุ่งเน้นความร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อพัฒนานวัตกรรมพลังงานอาเซียนในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานให้เข้าสู่ยุคพลังงานที่มีความยั่งยืน ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานเพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดที่มีความยั่งยืนในอนาคตจึงเป็นหัวข้อที่เหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน
“หวังว่าทุกท่านจะมีความสุข ในระหว่างที่พำนักในประเทศไทย ประเทศไทยยินดีต้อนรับทุกท่านเสมอ และขอให้จดจำรอยยิ้มสยามของผมไว้ด้วย เพราะคนไทยชอบยิ้ม ต่อให้งานหนักแค่ไหนอย่างไร ก็ยิ้มไปก่อน เพราะจะได้มีกำลังใจในการทำงาน อย่างไรก็ตาม ผมมีภารกิจต้องไปเรื่องประชาชนที่ประสบอุทกภัยภาคเหนือในช่วงบ่าย โดยไป 2 จังหวัด ช่วงนี้พายุกำลังเข้า แต่ก็คงผ่านหลายประเทศมาเหมือนกัน แต่ละประเทศก็ได้รับปัญหามากเหมือนกัน นี่เป็นเพราะโลกเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพลังงานด้วยในอนาคต ในเรื่องของพลังงานจากน้ำเหล่านี้ก็เป็นปัญหาหมด เช่น เรื่องการผลิตน้ำจากเขื่อน” นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า วันนี้ดีใจไม่ว่าประเทศที่อยู่ในอาเซียนด้วยกัน หรือประเทศที่อยู่ไกลออกไปและที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยได้ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องของเศรษฐกิจไปด้วยกัน อาเซียนวันนี้มูลค่าทางการค้าขายเศรษฐกิจชายแดน มีมูลค่าสูงขึ้นรอบด้าน จึงอยากให้ทุกท่านช่วยกันนำพาสิ่งเหล่านี้ไป นี่คือสิ่งที่อาเซียนจะช่วยกันในสถานการณ์ที่มีผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกวันนี้ ถ้าอาเซียนไม่ช่วยกัน ไม่ซื้อขายระหว่างกัน มันก็ไปไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้น นี่คือสิ่งที่จะช่วยลดผลกระทบลงได้ และขอขอบคุณทุกประเทศด้วยในด้านเศรษฐกิจ ตนยินดีร่วมมือทุกประการ เดี๋ยวพูดไปจะไปนอกเรื่องอีกแล้ว ดีใจเจอพวกเรา เพื่อนๆ หลายๆ ท่านเป็นยังเจเนอเรชั่น สมาร์ทเจเนอเรชั่น และมีผู้อาวุโส ตนก็อาวุโส ผู้สูงวัย ฉะนั้นต้องไปด้วยกันทิ้งใครไม่ได้ วันนี้ประชาชนรอการทำงานของเรา ว่าจะเกิดประโยชน์ได้อย่างไร โดยเฉพาะด้านพลังงานทำอย่างไรจะได้ใช้พลังงานราคาถูก แต่มีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และคิดว่าการประชุมครั้งนี้จะได้ข้อสรุปออกมาว่าจะเดินหน้าอย่างไร เป็นยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของเราต่อไปในอนาคต ซึ่งตนทราบว่ามีการทำแผนตรงนี้และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติของไทยด้านพลังงานด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |