18 ก.ย.ศึกดวลเดือด!!! ปมถวายสัตย์ 'บิ๊กตู่ vs ฝ่ายค้าน'


เพิ่มเพื่อน    

           ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งออกมาจากผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 3 ก.ย. ต่อเรื่องการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็คือ รัฐบาลจะให้มีการประชุมสภาฯ กันในวันพุธที่ 18 ก.ย. ที่เป็นวันเปิดประชุมสภาฯ วันสุดท้ายของสมัยประชุมสภาฯ รอบนี้ 

                อันหมายถึงว่า การอภิปรายของ ส.ส.ฝ่ายค้านที่จะอภิปรายในกรอบของญัตติที่ยื่นไป 2 ประเด็น คือ 1.การถวายสัตย์ปฏิญาณของ พลเอกประยุทธ์ ถ้อยคำไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 และ 2.การแถลงนโยบายรัฐบาลไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 162

                การอภิปรายของฝ่ายค้านและการชี้แจงของ พลเอกประยุทธ์ ตลอดจนตัวแทนรัฐบาลที่จะชี้แจงต่อฝ่ายค้าน กระบวนการทั้งหมดต้องทำให้เสร็จภายในไม่เกินเที่ยงคืนของวันพุธที่ 18 ก.ย. ซึ่งเป็นวันที่มีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสภาฯ จะเกินกว่านี้ไม่ได้ หลังก่อนหน้านี้วิปรัฐบาลชงกรอบเวลามาให้รัฐบาลพิจารณา 2 วันคือ 11 และ 12 ก.ย. แต่สุดท้าย พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลก็เคาะเอาวันพุธที่ 18 ก.ย. เป็นวันชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ เพื่อเผชิญหน้ากับ ส.ส.ฝ่ายค้านกลางสภาฯ อันจะเป็นการเข้าประชุมสภาฯ นัดแรกของ พลเอกประยุทธ์ เพราะก่อนหน้านี้ตอนมาแถลงนโยบายรัฐบาลก็เป็นการประชุมร่วมรัฐสภา ไม่ใช่ประชุมสภาฯ จึงทำให้หลายฝ่ายจับตามองอย่างมากกับการประชุมสภาฯ นัดนี้ เพราะเพียงเข้าประชุมสภาฯ นัดแรก “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์” ก็ต้องเจอกับศึกหนักเสียแล้ว

                ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาล ทางแกนนำรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" รมว.พลังงาน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยหลังการประชุม ครม.ไว้ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้วันที่ 18 ก.ย.นี้ เป็นวันอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ตามที่ฝ่ายค้านได้เสนอญัตติ

                “พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปชี้แจงกรณีดังกล่าวในสภาฯ ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม่กำหนดให้เป็นระหว่างวันที่ 11 และ 12 ก.ย. ตามที่วิปรัฐบาลเสนอนั้น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ติดภารกิจ ส่วนวันที่ 16 ก.ย. จะเป็นการประชุมวุฒิสภานัดสุดท้าย ส่วนวันที่ 17 ก.ย.นั้นจะเป็นการประชุม ครม.”

                ฟาก บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ ก็ยืนยันหลังประชุม ครม.ว่าพร้อมชี้แจงปมถวายสัตย์ต่อที่ประชุมสภาฯ แต่ท่าทีของนายกฯ ที่น่าสนใจก็คือ ไม่ได้การันตีว่าสุดท้ายจะเกิดการเสนอให้ประชุมลับหรือไม่ในช่วงการอภิปราย

                เรื่อง "ปมถวายสัตย์ฯ"!!!

                “ไม่รู้เหมือนกันว่าเรื่องนี้ควรจะลับหรือไม่ลับ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องพิจารณากันมา เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะไปชี้แจงแค่นั้นเอง” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

                ด้านท่าทีของฝ่ายค้าน สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน “ออกตัวไว้ก่อนว่า ไม่ขัดข้องที่จะประชุมกันวันที่ 18 ก.ย.”

                กระนั้นประธานวิปฝ่ายค้านก็มีเหน็บรัฐบาลเล็กๆ ว่า การที่ให้ประชุมสภาฯ แค่วันเดียว และเป็นวันที่ 18 ก.ย. แสดงให้เห็นถึงเจตนาว่ารัฐบาลค่อนข้างใจแคบและกลัว จึงบีบให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายเพียงวันเดียว ฝ่ายค้านคงได้แต่ต้องจำใจรับ และเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ที่วิปฝ่ายค้านวางตัว ส.ส.ทั้งทัพหน้า-ทัพรอง ในการเตรียมขึ้นอภิปรายพลเอกประยุทธ์ เรื่องปมถวายสัตย์ฯ และสอบถามรัฐบาลในเรื่องการแถลงนโยบายโดยไม่แสดงที่มาของงบประมาณ จากเดิมที่วางตัว ส.ส.ฝ่ายค้านไว้อภิปราย 10-15 คน เมื่อสุดท้ายรัฐบาลให้เวลา 1 วัน ดังนั้นก็ต้องมีการปรับลดจำนวน ส.ส.ของฝ่ายค้านในการอภิปราย เพื่อให้เพียงพอกับเวลาการประชุม 

                เมื่อมีความชัดเจนในส่วนนี้แล้วว่า การประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาญัตติของฝ่ายค้านดังกล่าว จะเกิดขึ้นวันที่ 18 ก.ย. โดยถึงตอนนี้ก็เชื่อได้ว่า พลเอกประยุทธ์จะเดินทางไปชี้แจงตอบข้อซักถามของฝ่ายค้านกลางที่ประชุมสภาฯ แน่นอน

                มีการประเมินกันว่า แท็กติกทางการเมืองที่ฝ่ายพลังประชารัฐและรัฐบาลอาจจะใช้ในช่วงการประชุมสภาฯ วันที่ 18 ก.ย. นอกจากเรื่องการเสนอขอให้ประชุมลับ ซึ่งถึงตอนนี้ดูเหมือนความเป็นไปได้ที่จะใช้แท็กติกดังกล่าวพบว่ามีความเป็นไปได้น้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะก็เป็นที่รู้กันดีว่า แม้ต่อให้สภาฯ ประชุมลับกันอย่างไร แต่การที่มี ส.ส.ในห้องประชุมสภาฯ ร่วม 500 คน แล้วแต่ละคนก็สามารถพกพาโทรศัพท์มือถือไปอัดเสียง-อัดคลิปภาพในห้องประชุมได้อยู่แล้ว รวมถึงการจดจำสิ่งที่มีการอภิปรายและชี้แจงจากทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพื่อนำไปเผยแพร่ในช่องทางต่างๆ รวมถึงการให้ข่าวกับสื่อมวลชน ถึงเนื้อหาและประเด็นการอภิปรายในห้องประชุมลับ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยปกติอยู่แล้ว ส่วนครั้นฝ่ายรัฐบาลหรือสภาฯ จะถึงขั้นเสนอให้ขอเก็บโทรศัพท์มือถือของ ส.ส.ระหว่างประชุมลับ ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากหนักขึ้นไปอีก และประเมินไว้ว่า วิปรัฐบาล จริงๆ ก็คงไม่ประสงค์จะใช้วิธีการดังกล่าว เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวาย ประท้วงกันไปใหญ่

                วิเคราะห์ได้ว่า หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ ก็คาดได้ว่า พลเอกประยุทธ์และตัวแทนรัฐบาลที่จะร่วมชี้แจงในประเด็นเรื่องการใช้งบประมาณเพื่อมาดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ยังไงก็คงใช้วิธีการปักหลักชนกับฝ่ายค้านแบบซึ่งๆ หน้า กลางห้องประชุมสภาฯ กันไปเลยจะดีกว่า เพราะมีความสง่างามทางการเมืองมากกว่าที่จะมาขอประชุมลับ โดยที่ไม่ได้ลับจริง

                เพียงแต่ก็อาจมีบางบริบท ที่หากพลเอกประยุทธ์เห็นว่าลำบากใจที่จะชี้แจงในประเด็นเรื่อง ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ ที่ต้องชี้แจงผ่านการถ่ายทอดสดทางทีวี-วิทยุ แล้วเห็นว่าเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ก็อาจเป็นไปได้ที่พลเอกประยุทธ์ก็อาจใช้วิธีการเลี่ยงที่จะลงรายละเอียดในการพูดถึงเรื่องถวายสัตย์ฯ โดยใช้วิธีการตอบไปว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

                อย่างไรก็ตาม แท็กติกตัดบทดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ก็อยู่ในเงื่อนไขที่ว่า ในช่วงวันที่  18 ก.ย. ทางศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยใดๆ ออกมาก่อน ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ถ้าเงื่อนไขเป็นเช่นนี้ ก็เป็นไปได้ที่ พลเอกประยุทธ์ ก็อาจใช้วิธีการตัดบทว่าไม่ขอลงรายละเอียดในการอธิบายเรื่องนี้ โดยยกเหตุผลว่า ไม่ต้องการให้การอภิปรายและการชี้แจงเรื่องนี้เป็นการไปก้าวล่วงการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ

                ถึงกระนั้นขอให้เชื่อได้ว่า ต่อให้ พลเอกประยุทธ์ ยกเหตุผลดังกล่าวมาขอตัดบทฝ่ายค้าน แต่หัวเด็ดตีนขาด พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่มีทางยอมง่ายๆ จะต้องพยายามไล่บี้ พลเอกประยุทธ์ ต่อไปให้ได้ โดยอ้างว่าแม้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยใดๆ ออกมา แต่กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญกับการตรวจสอบการอภิปรายซักถามของฝ่ายค้านเป็นคนละส่วนกัน เพราะการอภิปรายของฝ่ายค้านเป็นกระบวนการทางนิติบัญญัติ ไม่เกี่ยวข้องกันกับศาลรัฐธรรมนูญ พลเอกประยุทธ์จึงไม่สามารถยกเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญมาตัดบท ทำลายเกมของฝ่ายค้านได้

                การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติดังกล่าวของฝ่ายค้าน ในวันพุธที่ 18 ก.ย. แม้ดีกรีการอภิปรายและผลทางการเมืองจะไม่หนักเท่ากับการซักฟอกขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ดูจากการโหมโรงของฝ่ายค้าน แม้รู้ดีว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่สามารถล้มรัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ได้ แต่ก็คาดหวังไว้สูงในการไล่ถลุงพลเอกประยุทธ์กลางสภาฯ ในแมตช์นี้ให้ได้ ก่อนที่จะถึงแมตช์ใหญ่ของจริง ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงปลายปีนี้ ถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางการเมืองเกิดขึ้นกับรัฐบาลเสียก่อน!. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"