กรมอุตุฯ เผยพายุโซนร้อน "คาจิกิ" อ่อนกำลังลงเป็นแค่ดีเปรสชัน แต่ 4 ก.ย. 22 จว.ยังเผชิญฝนตกหนัก "นายกฯ" เตรียมลงพื้นที่ "พิษณุโลก-สุโขทัย" ติดตามสถานการณ์ ยันเยียวยาผู้เดือดร้อนทุกมิติ "คลัง" สั่ง ธ.ก.ส.ช่วยเหลือเกษตรกร "หญิงหน่อย" ไปร้อยเอ็ดลั่น "พท." ไม่ทิ้ง ปชช. "ธนาธร" แนะแก้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยช่วยลดปัญหาอุทกภัย "สุโขทัย" ระทึก! เกิดรอยรั่วแนวพนังกั้นน้ำ "ผู้ว่าฯ" แจ้งชาวบ้านยกของขึ้นที่สูง
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 9 พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) “คาจิกิ” มีผลกระทบจนถึงวันที่ 4 ก.ย.2562 ระบุว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 3 ก.ย.62 พายุระดับ 3 (โซนร้อน) “คาจิกิ” ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน)แล้ว บริเวณเมืองสาละวัน ประเทศลาวตอนใต้ หรือที่ละติจูด 16.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 107.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และพายุนี้ได้เปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่และฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประเทศเวียดนามและประเทศลาว ควรตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทางด้วย
คาดว่าพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ในวันที่ 4 ก.ย.บริเวณที่มีฝนตกหนัก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี, ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต
สำหรับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) “คาจิกิ” บริเวณเมืองสาละวัน ประเทศลาวตอนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรงต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนงดออกจากฝั่ง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงมาตรการรับมือพายุคาจิกิว่า รัฐบาลมีประสบการณ์อยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมใหญ่ในประเทศ ตนได้สั่งการย้ำเตือนหน่วยงาน เตรียมการแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้ ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้ออกประกาศเตือน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กองทัพ กรมชลประทาน กระทรวงสาธารณสุข ให้ติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือพายุ ให้มีการแจ้งเตือนประชาชนเป็นระยะ รวมถึงการปรับแผนการระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด
"แม้ว่าจุดศูนย์กลางจะไม่เข้าโดยตรงที่ประเทศไทยก็ตาม แต่อิทธิพลจะส่งผลกระทบให้เกิดฝนตกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือ ซึ่งในวันที่ 4 ก.ย.นี้ ผมและทีมงานจะลงพื้นที่ จ.พิษณุโลกและสุโขทัย เพื่อตรวจความเสียหายและให้กำลังใจผู้ประสบภัย โดยรัฐบาลพร้อมเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนในทุกมิติ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราเผชิญมาโดยตลอด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ประเทศไทยจะมีปัญหาสำคัญๆคือภัยแล้ง น้ำท่วมซึ่งตนเป็นห่วง โดยเฉพาะที่ผลกระทบต่อเกษตรกรที่มีรายได้น้อย รวมถึงย่านธุรกิจ โรงพยาบาล สถานที่ราชการ และเส้นทางคมนาคมขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้สั่งการไปแล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมให้จัดกำลังเครื่องไม้เครื่องมือเร่งคลี่คลายเส้นทางให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยร่วมทำงานกับกระทรวงคมนาคม
บิ๊กตู่ลงพื้นที่น้ำท่วม
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกฯ และคณะจะเดินทางไปยังจังหวัดพิษณุโลก เพื่อประชุมติดตามสถานการณ์และแนวทางการแก้ปัญหาที่ศาลากลางจังหวัด หลังประชุมเสร็จสิ้นจะเดินทางไปตรวจสถานการณ์และเยี่ยมประชาชนที่ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก จากนั้นจะเดินทางไปยัง จ.สุโขทัย เพื่อตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบอุทกภัยที่ประตูระบายน้ำบ้านหาด สะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ก่อนเดินทางกลับจังหวัดกรุงเทพฯ ในช่วงเย็น
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 4 ก.ย. ไม่ได้ร่วมคณะไปกับนายกฯ แต่เตรียมที่จะลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น ในวันที่ 7 ก.ย. เพื่อตรวจสถานการณ์น้ำท่วมและแจกโฉนดที่ดินในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า หลังจากพายุโพดุลเข้ามาทำให้จังหวัดต่างๆ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและน้ำไหลหลากจำนวน 26-27 จังหวัด คือ ตอนใต้ เหนือ อีสาน และในหลายพื้นที่ประชาชนได้รับผลกระทบยังต้องการอพยพไปอยู่พื้นที่พักพิง เช่น ที่ จ.ขอนแก่น สถานการณ์เวลานี้ในช่วงที่พายุลูกใหม่กำลังเข้ามาก็ยังไม่มีผลกระทบเพิ่มขึ้น การเตรียมการของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้เตรียมความพร้อมที่จะดูแลประชาชน และเจ้าหน้าที่ได้ประชุมหารือกันเพื่อระบายน้ำให้ได้ดีที่สุด ให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวเช่นกันว่า หลังลงพื้นที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น สภาพน้ำเริ่มลดลง แต่มีความเสียหายของบ้านเรือนประชาชน ซึ่งต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐอีกมาก และการลงพื้นที่ได้ไปเยี่ยมเยียนประชาชนที่ได้รับผลกระทบหนัก และได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดในการดูแลจัดงานศพแก่ครอบครัวประชาชนที่เสียชีวิต รวมถึงได้ให้นามบัตรส่วนตัวเพื่อจะประสานให้การช่วยเหลือต่อไป
"ครอบครัวที่เดือดร้อนจะพยายามประสานทั้งภาครัฐ เอกชน และจิตอาสาเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนเรื่องการเยียวยานั้น ขณะนี้มีรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่หลายจุด แต่ละคนคงจะรายงานแต่ละจุดที่ลงพื้นที่ให้ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบ" ร.อ.ธรรมนัสกล่าว
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.การคลัง กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยว่า นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดแต่ละพื้นที่เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกร ได้มอบหมายให้นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กำหนดแนวทาง พร้อมกำชับให้ ธ.ก.ส.ในพื้นที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดังนี้ กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ได้มอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจลูกค้า โดยนำเงินจากกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติของ ธ.ก.ส. ไปจัดหาถุงยังชีพเพื่อนำไปมอบให้เกษตรกรลูกค้าและประชาชนที่เดือดร้อน
"เบื้องต้นได้ส่งถุงยังชีพช่วยเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร และนครพนม ไปแล้วกว่า 20,000 ถุง รวมทั้งเข้าไปสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพลต่างๆ เช่น จัดหาอาหาร น้ำดื่ม บริการสุขาเคลื่อนที่ เต็นท์สนาม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ เช่น ค่าเช่าเรือ ค่าเช่ารถบรรทุก ค่าแรงงาน เป็นต้น และหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง จะเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูหลังประสบภัย" นายธนกรกล่าว
ธ.ก.ส.ช่วยเกษตรกร
เลขานุการ รมว.การคลังกล่าวว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านภาระหนี้สินที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส. กรณีที่เกษตรกรได้รับความเสียหายด้านการผลิตและส่งผลกระทบต่อรายได้ ธ.ก.ส.จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย และพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ระยะเวลา 6 เดือนแรก และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ ตามความจำเป็นแต่ไม่เกินรายละ 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MRR -2 หรือเท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี กำหนดชำระคืนไม่เกิน 15 ปี เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นค่าลงทุนในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย หรือลงทุนซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร หรือฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย
วันเดียวกัน ที่ ต.นาแซง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมด้วย ส.ส.จังหวัดภาคอีสานของพรรค ลงพื้นที่ให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ซึ่งตลอดเส้นทางการสัญจร หลายช่วงมีน้ำท่วมขังสูง รถขนาดเล็กไม่สามารถสัญจรได้ ช่วงหนึ่งที่คุณหญิงสุดารัตน์ไปที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวและจุดประสานงานรับบริจาคสิ่งของจำเป็น บ้านบุ่งเบ้าห้วยเจริญ ต.นาแซง คุณหญิงสุดารัตน์ได้พบปะประชาชนพูดคุยให้กำลังใจพร้อมสวมกอดให้มีกำลังกายกำลังใจต่อสู้กับสถานการณ์
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า การเดินทางมาในพื้นที่เห็นสภาพน้ำท่วมจริง จึงเข้าใจว่าประชาชนยากลำบากเพียงใด ขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งให้ตนเอง ซึ่งถือเป็นกำลังใจที่ยิ่งกว่าญาติมิตร ยืนยันว่าหากประชาชนมีความเดือดร้อนที่ใด พรรคเพื่อไทยจะไปช่วยเหลือ พรรคเพื่อไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ ภายในเวลาเพียง 25 วัน จากประสบภัยแล้งกลับกลายเป็นต้องประสบอุทกภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจว่าพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว ได้รับความเสียหาย พี่น้องมีทุกข์ที่ไหน เพื่อไทยทุกข์ด้วย วันนี้เรามาย่ำน้ำด้วยกัน
จากนั้น คุณหญิงสุดารัตน์และคณะเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทยมอบสิ่งของจำเป็น ทั้งข้าวสารอาหารแห้งให้กับพี่น้องประชาชนแต่ละหมู่บ้านที่ได้รับความเดือดร้อน
ที่พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค. กล่าวว่า น้ำท่วมในภาคอีสาน ทางพรรคไม่ได้นิ่งนอนใจ ทุกคนต่างทำงานอย่างแข็งขัน มี ส.ส.พรรคอนาคตใหม่เข้าช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่ของตัวเองและพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนกลางทางพรรคมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามสภาวะอากาศอยู่ตลอด มีศูนย์แจ้งเรื่องร้องเรียนน้ำท่วม ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อประสานการเข้าไปช่วยเหลือ ให้กำลังใจพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้
นายธนาธรกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภาคอีสานว่า ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นได้จัดการกับทรัพยากรในพื้นที่ เช่น การเกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม ไฟไหม้ คนที่รักบ้าน ต้องรู้จักบ้านตัวเองดีที่สุด ก็คือคนในพื้นที่ เหตุการณ์ฉุกเฉินต้องให้คนในท้องที่ร่วมจัดการ จะให้รอส่วนกลางสั่งการลงมาอาจไม่ทัน
"การจัดสรรทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม แต่ละพื้นที่มีลักษณะแตกต่างกัน แนวทางการจัดการปัญหาน้ำท่วมคือการสร้างตลิ่งซีเมนต์ในพื้นที่ชุมชนทั้งหมด ก็จะลดความเสี่ยงลงได้ โดยในวันที่ 5 และ 6 ก.ย.นี้ ผมพร้อมทีมงานจะลงพื้นที่น้ำท่วมในภาคอีสาน" หัวหน้าพรรค อนค.กล่าว
สุโขทัยแจ้งเตือน ปชช.
ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ นั้น จ.พิษณุโลก ปภ.จังหวัดสรุปพื้นที่ประสบอุทกภัยรวมทั้งสิ้น 4 อำเภอ 31 ตำบล 224 หมู่บ้าน 15,036 ครัวเรือน 2 ผู้เสียชีวิต ผลกระทบด้านการเกษตร 171,732 ไร่ โดย อ.เนินมะปราง 7 ตำบล 64 หมู่บ้าน 2,500 ครอบครัวหนึ่งผู้เสียชีวิตผลกระทบด้านการเกษตร 139,323 ไร่ อำเภอวังทอง 10 ตำบล 66 หมู่บ้าน 9,692 ครอบครัว ผลกระทบด้านการเกษตร 36,098 ไร่, อำเภอนครไทย 7 ตำบล 61 หมู่บ้าน 972 ครอบครัวผลกระทบด้านการเกษตร 2,157 ไร่ และอำเภอชาติตระการ 7 ตำบล 41 หมู่บ้าน 1,872 ครอบครัวผลกระทบด้านการเกษตร 16,268 ไร่
จ.สุโขทัย ระดับน้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย โดยเฉพาะเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ต.ธานี มีระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการระบายน้ำลงมาจาก ปตร.หาดสะพานจันทร์ ม.9 ต.ในเมือง อ.สวรรคโลก รวมกับมีปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ ส่งผลระดับน้ำที่จุดวัดน้ำ Y4 สูงถึง 7.60 เมตร ซึ่งเกินกว่าจุดวิกฤติคือ 7.40 เมตรไปแล้ว
นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าฯ สุโขทัย ได้เรียกประชุมด่วนคณะทำงานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อเตรียมการรับมือและป้องกัน โดยเบื้องต้นทางจังหวัดได้พร่องน้ำในแม่น้ำยม โดยการระบายน้ำที่ ปตร.หาดสะพานจันทร์ ต.ในเมือง อ.สวรรคโลก ลงสู่แม่น้ำยมสายเก่าไปลงแม่น้ำน่าน รวมถึงลำคลองสาขาต่างๆ และน้ำยมอีกส่วนหนึ่งก็จะระบายออกไปที่ ปตร.ยางซ้าย ต.ยางซ้าย อ.เมืองฯ รวมถึงการผันน้ำเข้าไปกักเก็บไว้ที่ทุ่งทะเลหลวง เพื่อเอาไว้ใช้เมื่อถึงฤดูแล้งอีกด้วย
ล่าสุดได้เกิดรอยรั่วตามแนวพนังกั้นน้ำสูงเกือบ 2 เมตร บริเวณ ถ.นิกรเกษม ต.ธานี อ.เมืองฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดและหน่วยงานราชการหลายแห่ง เป็นระยะทางยาวประมาณ 1 กม. ทำให้น้ำยมไหลทะลักเข้าท่วมถนนดังกล่าวอย่างรวดเร็ว พล.ต.สุปัญญา วิไลรัตน์ ผบ.บชร.3/ผบ.ศบภ.บชร.3 ได้ประสานกับ พ.ต.อ.ประมวล ยิ้มจันทร์ ผกก.สภ.เมืองสุโขทัย นำกำลังทหารและตำรวจ 100 นาย เข้าอุดรอยรั่วทุกจุด พร้อมเฝ้าระวังตลอด 24 ชม. รวมทั้งได้มีคำสั่งถึงนายอำเภอทุกอำเภอและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย แจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำ และเพื่อความไม่ประมาทควรเตรียมการป้องกันทรัพย์สินและของมีค่าการยกสิ่งของไว้ที่สูง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |