ซักฟอกลมวันเดียวจบ เคาะ18กันยา‘ประยุทธ์’ตอบปมถวายสัตย์/ขู่ฝ่ายค้านหมิ่นศาล


เพิ่มเพื่อน    

 “ประยุทธ์” ประกาศไม่กลัว พร้อมไปแจงสภาปมถวายสัตย์ฯ ในวันที่ 18 ก.ย. ให้เวลาแค่ 1 วัน เมินประชุมลับ ชี้สุดท้ายก็ไม่เคยมีเรื่องลับเพราะมีไอ้โม่งออกมาแฉ “ธรรมนัส” ขู่ใครซักฟอกต้องรับผลเอง หากเข้าข่ายหมิ่น-ชี้นำศาล ฝ่ายค้านพาเหรดโวย ซัดรัฐบาลใจแคบเตะตัดขาให้เหลือเวลาน้อยนิด พท.เตรียมปรับทีมชำแหละใหม่ “อนค.” โวพร้อมขอเวลา 3 ชั่วโมงให้จบเที่ยงคืน

    เมื่อวันอังคารที่ 3 กันยายน ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำสัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวสั้นๆ ถึงการอภิปรายปมถวายสัตย์ปฏิญาณควรเป็นการประชุมลับหรือไม่ ว่าไม่รู้ๆ 
    ต่อมาหลังการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์แถลงในเรื่องนี้อีกครั้งว่า ที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนนั้น เป็นเรื่องของสภาและรัฐบาล โดยได้กำหนดแล้วว่าพร้อมเดินทางไปชี้แจงตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.เป็นต้นไป ก็ต้องขอเวลาให้ได้ทำงานอื่นไปด้วย ซึ่งไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับใคร ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังในการพูดเรื่องต่างๆ ซึ่งทุกคนต้องรับผิดชอบในคำพูดของตัวเอง เพราะวันนี้เรื่องอยู่ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
    เมื่อถามว่า ครม.จะเสนอให้อภิปรายลับหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าเรื่องนี้ควรจะลับหรือไม่ลับ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องพิจารณากันมา วันนี้ได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ไปประสานงานกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถึงวันที่พร้อมว่าจะกำหนดเป็นช่วงเวลาไหน อย่างไร และก็สุดแล้วแต่ว่าสภาจะตัดสินใจอย่างไร และยังไม่รู้ว่าที่ประชุมสภาจะให้ประชุมลับหรือไม่
    ถามต่อว่า ครม.จะไม่ขอประชุมลับใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องพิจารณาร่วมกันว่าต้องเป็นการประชุมลับหรือไม่ เพราะไอ้ที่บอกว่าประชุมลับนั้น ก็ไม่เคยเห็นว่าจะเป็นความลับจริงสักที เพราะคนที่เข้าไปอยู่ข้างในก็มักเอาออกมาพูดข้างนอก จึงไม่มีลับ
    “ผมเองก็ต้องระมัดระวังการพูดของผม เพราะเป็นประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาอยู่ จะไปเป็นผู้ชี้นำได้อย่างไร ก็ขอให้เห็นใจผมตรงนี้บ้างสิ วันนี้งานก็เร่งรัดหลายเรื่อง และผมเองก็ให้ความสำคัญทุกเรื่อง ขอร้องอย่าเอามาเป็นประเด็นทั้งหมดเลย เพราะวันนี้มีประเด็นเยอะอยู่แล้ว หลายเรื่องก็อยู่ในกระบวนการ ก็ต้องว่ากันไป ผมไม่ได้ขัดแย้งอะไรทั้งสิ้น ขอให้เห็นใจผมบ้าง ทุกวันนี้ก็ทำงานไม่หยุดอยู่แล้ว ขอเวลาให้ผมแก้ไขปัญหาของประชาชนไปด้วย เรื่องนี้ผมก็ให้ความสำคัญ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะไปชี้แจงแค่นั้นเอง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ถามอีกว่า คิดว่าจะใช้เวลาชี้แจงฝ่ายค้านกี่วัน พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ไม่รู้ และไม่รู้ว่าฝ่ายค้านจะใช้เวลาซักอะไรมากมายหรือไม่
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เชื่อว่านายกฯ จะผ่านไปได้ และคงไม่ต้องเตรียมอะไร เพราะเป็นหน้าที่ของ ส.ส. และไม่จำเป็นที่ต้องช่วยชี้แจง หรือเป็นองครักษ์พิทักษ์นายกฯ การชี้เเจงถือเป็นหน้าที่ของนายกฯ 
ซักฟอกวันเดียวพอ
    เมื่อถามว่า ครม.ได้กำหนดวันการอภิปรายทั่วไปวันใด พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ระหว่างวันที่ 16-18 ก.ย.วันใดวันหนึ่ง โดยที่ให้นายชวนเป็นผู้กำหนดมา เพราะประธานสภาฯ ต้องไปหารือกับ ส.ส.ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลด้วย ขณะนี้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสภาแล้ว ซึ่งยืนยันว่านายกฯ จะเป็นผู้ไปตอบชี้แจงโดยตนเอง และจะใช้ระยะเวลาเพียง 1 วันการอภิปรายก็น่าจะเรียบร้อย  
    ซักว่าต้องเปิดประชุมลับหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสภา แต่ส่วนตัวคิดว่าคงไม่จำเป็น  เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนอยากรู้ และคงไม่หารือหรือให้นโยบายอะไรกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเป็นหน้าที่ของนายกฯ  
ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการใช้เวลาตอบการอภิปรายเพียงวันเดียวเพียงพอหรือไม่ ว่าเรื่องนี้ถามรัฐบาลไม่ได้ เพราะรัฐบาลเป็นผู้ตอบ ซึ่งรัฐบาลยินดีจะตอบ แต่อยู่ที่ว่าจะถามสั้นหรือยาว เพราะถ้าถามสั้นก็ตอบสั้น ถามยาวก็ต้องตอบยาว ซึ่งเข้าใจว่าฝ่ายค้านจะอธิบายใน 2 ประเด็น คือหนึ่งการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน และสองการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่ไม่มีการชี้แจงที่มาของงบประมาณ ดังนั้นจึงต้องคำนึงเวลาให้เหมาะสม ทั้งนี้รัฐบาลจะใช้เวลาเท่าไหร่ก็ได้แล้วแต่ประธานสภาฯ คนถามอาจจะมีมาก แต่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องตอบทุกข้อหรือตอบทุกคน 
    เมื่อถามว่า ถ้าจะมีการประชุมลับ ฝ่ายค้านหรือรัฐบาลจะเป็นผู้เสนอ นายวิษณุกล่าวว่า ตามข้อบังคับการประชุมสภาฉบับใหม่ ครม.เป็นผู้เสนอก็ได้ หรือ ส.ส. 1 ใน 4 จะเสนอก็ได้เช่นกัน ส่วนการอภิปรายในครั้งนี้จะมีการประชุมลับหรือไม่ ไม่ทราบ เพราะต้องรอรายงานจากวิปก่อนว่าควรเปิดทั้งหมด หรือเปิดเป็นประชุมลับในบางช่วงบางตอนที่มีประเด็นล่อแหลม ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ขัดข้องถ้าหากจะประชุมในแบบเปิดเผยทั้งหมด เพราะเรื่องนี้อยู่ที่คำถามและคำตอบ แต่ก็ต้องดูตามสถานการณ์ไป
    เมื่อถามว่า รัฐบาลจะตอบในขอบเขตใดบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ได้ถามจึงไม่รู้ว่าจะตอบอะไร แต่ก็จะตอบให้สิ้นกระบวนความ และเมื่อถามว่าเรื่องนี้จะจบที่สภาหรือไม่ นายวิษณุตอบทันทีว่า ถ้าไม่จบที่สภาแล้วจะจบที่ไหน
    ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงานกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้วันที่ 18 ก.ย.นี้เป็นวันอภิปราย โดย พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปชี้แจงในสภาด้วยตัวเอง ซึ่งสาเหตุที่ไม่กำหนดให้เป็นระหว่างวันที่ 11 และ 12 ก.ย.ตามที่วิปรัฐบาลเสนอนั้น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ติดภารกิจ และในวันที่ 16 ก.ย. จะเป็นการประชุมวุฒิสภานัดสุดท้าย ส่วนวันที่ 17 ก.ย.นั้นจะเป็นการประชุม ครม.
     เมื่อถามว่า แสดงว่าการเปิดอภิปรายจะทำวันเดียว เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุม นายสนธิรัตน์ตอบว่า เป็นวันที่ลงตัวพอดี ไม่อย่างนั้นก็ต้องเลื่อนไปสมัยหน้า
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุว่า ที่ประชุม ครม.ไม่มีการพูดคุยกันว่าจะให้เป็นการอภิปรายแบบลับหรือเปิดเผย ในขณะที่นายกฯ ระบุว่าไม่ได้กลัวอะไร แต่การพูดต้องระมัดระวัง 
    ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการจัดตั้งองครักษ์พิทักษ์นายกฯ ในการอภิปราย ว่าประเด็นถวายสัตย์ฯ เป็นเรื่องที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว พรรคคงไม่เข้าไปก้าวล่วงในการชี้นำศาล และฝ่ายค้านเองน่าจะนำกลับไปคิดให้ดี ว่าการอภิปรายจะเป็นการหมิ่นศาลหรือชี้นำศาลหรือไม่ ต้องระวังข้อกฎหมาย 
“สมาชิกท่านใดพูดไปก็ต้องรับผิดชอบตนเอง ไม่ว่าจะพูดในทิศทางที่ดีหรือไม่ดีก็ต้องรับผิดชอบ ท่านใดจะอภิปรายในประเด็นถวายสัตย์ฯ ต้องรับผิดชอบตนเอง” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว 
นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่ม 9 พรรคเล็ก กล่าวว่า เชื่อว่าถ้านายกฯ มาตอบเองน่าจะตอบคำถามได้ไม่มีปัญหา เพราะว่ารู้หมดอยู่เเล้วว่าฝ่ายค้านจะถามอะไร และอยากให้เป็นการประชุมสภาแบบเปิดเผย ไม่อยากให้ประชุมลับ ฝ่ายค้านจะได้ยิงคำถามแบบตรงไปตรงมา หลังจากนายกฯ ตอบคำถามไขข้อข้องใจได้เสร็จเรียบร้อยจะได้เอาเวลาไปทำงานอื่นๆ 
ส่วนที่รัฐสภา เกียกกาย นายชวนกล่าวถึงกรณีที่ ครม.เห็นชอบให้วันที่ 18 ก.ย.เป็นวันอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่านายเทวัญได้โทร.มาแจ้งแล้วว่าในวันที่ 11-12 ก.ย. ที่วิปรัฐบาลเสนอไปนั้น พล.อ.ประยุทธ์ติดภารกิจ แต่หากเป็นวันที่ 16 ก.ย.สามารถมาได้ จึงได้เจรจากับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา แต่เนื่องจาก ส.ว.จะใช้วันที่ 16-17 ก.ย.เป็นการประชุมนัดสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ จึงให้ความสะดวกแก่ทุกฝ่าย คือวันที่ 18 ก.ย.นี้ โดยยังไม่ได้บรรจุวาระดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม แต่หากไม่มีทางเลี่ยงจริงๆ ก็ต้องเป็นวันที่ 18 ก.ย.
         เมื่อถามว่า การกำหนดเป็นวันที่ 18 ก.ย.เท่ากับบีบฝ่ายค้าน เพราะให้เวลาน้อยเกินไปนั้น นายชวน กล่าวว่า หากเริ่มประชุมตั้งแต่ช่วงเช้า เชื่อว่าเพียงพอ เพราะมีเพียง 2 ประเด็นที่จะซักถาม และเสนอแนะ โดยเห็นด้วยกับวิปรัฐบาลที่เสนอ 11-12 ก.ย. แต่พอเสนอไปรัฐบาลไม่ว่าง ก็ไม่อยากฝืน อยากให้ทุกฝ่ายพร้อม 
“ผมเข้าใจว่ารัฐบาลมีภารกิจรับแขกต่างประเทศ และแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ในส่วนภารกิจของสภาทุกฝ่ายก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วย อย่างไรก็ตาม การอภิปรายในวันที่ 18 ก.ย.นี้ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา แม้จะเป็นวันสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุม ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้ควรจบในสมัยประชุมนี้” ประธานสภาฯ กล่าว
        เมื่อถามว่า การอภิปรายต้องเป็นการประชุมลับหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ไม่ต้องกังวล เพราะมีข้อบังคับการประชุม และรัฐธรรมนูญให้สิทธิ์ไว้ หากมีการขอให้เป็นการประชุมลับก็ต้องใช้เสียง ส.ส.รับรอง 1 ใน 4 แต่โดยหลักต้องเป็นการประชุมโดยเปิดเผย
ซัดใจแคบให้วันเดียว
ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการอภิปรายในวันที่ 18 ก.ย. ว่ายังไม่ทราบ ถ้าหากกำหนดให้เป็นวันที่ 18 ก.ย.จริงๆ ก็ไม่ขัดข้อง แต่แสดงให้เห็นถึงเจตนาว่ารัฐบาลค่อนข้างใจแคบ ค่อนข้างจะกลัว จึงบีบให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายเพียงวันเดียว นอกจากนี้ที่นายชวนเคยพูดไว้ว่าถ้าหากเวลาไม่เพียงพอก็สามารถขอเพิ่มเติมได้นั้น ก็คงไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ซึ่งถือว่าน่าเสียดาย แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เรื่องนี้ยืดเยื้อโดยที่ไม่มีการอภิปราย เราก็คงได้แต่ต้องจำใจรับ
    นายสุทินกล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วอยากให้รัฐบาลทบทวน เพราะหากเป็นวันที่ 18 ก.ย.นั้นสังคมก็จะเห็นถึงเจตนา เหมือนว่าเป็นการปิดโอกาส ตรงนี้ถ้าหากประธานสภาฯ ใช้อำนาจชี้ขาดได้ ก็อยากให้มีการทบทวน ส่วนการจัดทีมอภิปรายนั้น ก็คงต้องมีการปรับใหม่ โดยอาจต้องลดเนื้อหาและจำนวนผู้อภิปรายลง เพื่อให้สัมพันธ์กับเวลา ซึ่งแน่นอนว่าเนื้อหาสาระนั้นก็คงต้องหายไปบ้าง เพราะจริงๆ แล้วฝ่ายค้านตั้งใจที่จะอภิปรายเป็นเวลา 2 วัน หรืออย่างน้อยก็ 1 วันครึ่ง ขณะที่ควรจะเป็นการประชุมลับหรือไม่นั้น จริงๆ แล้วก็ไม่ควรลับ แต่ถ้าหากรัฐบาลมีเหตุผลอะไรก็มาพูดคุยกัน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ฝ่ายค้านจะตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียวแล้ว ต้องฟังสังคมด้วย ซึ่งวันนี้เขาก็อยากให้มีการเปิดเผย ดังนั้นอยากให้คำนึงถึงประชาชนด้วย
    นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า คิดว่าเรายื่นญัตติมาหลายวันแล้ว วันศุกร์ที่ 6 ก.ย.นี้ ครม.น่าจะสามารถมาตอบคำถามได้ หรืออาจเป็นวันที่ 13 ก.ย. ซึ่งพรรคฝ่ายค้านก็เตรียมเรื่องที่จะอภิปรายไว้พร้อมมาก ทั้งเรื่องการถวายสัตย์ฯ และการไม่ระบุที่มางบนโยบายรัฐบาล พรรคอนาคตใหม่จะใช้เวลา 3 ชั่วโมง ตนเองจะพูดประมาณ 1 ชั่วโมง หากรัฐบาลเคาะเป็นวันที่ 18 ก.ย. เราก็พร้อมอยู่แล้ว 
    เมื่อถามถึงการกำหนดวันอภิปรายเป็นวันที่ 18 ก.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสภา จะถือเป็นการปิดทางการอภิปรายหรือไม่ นายปิยบุตรกล่าวว่า ก็คิดว่าอาจเป็นความตั้งใจของรัฐบาล ความจริงรัฐบาลมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ควรให้เกียรติสภา อย่าคิดมาชิงไหวชิงพริบกัน ยิ่งเปิดให้อภิปรายประชุมในสภาได้มากเท่าใดก็จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาล เพราะในวันนั้นได้เตรียมวิธีแก้ไขให้รัฐบาลด้วย อยากให้มองว่าเป็นการปรารถนาที่ดีจากฝ่ายค้านมากกว่า
    นายปิยบุตรยังกล่าวถึงการจัดอันดับผู้อภิปรายของฝ่ายค้านว่า หากเปิดให้อภิปราย 1 วัน คาดว่าจะมีเวลา 14 ชั่วโมง โดยหลักแล้วคนที่เข้าชื่อเสนอญัตตินี้ต้องเป็นผู้อภิปรายในลำดับต้นๆ โดยผู้ที่จะตอบคือ รัฐมนตรีแต่ละคน เราจะจัดสรรปันส่วนอย่างเท่าๆ กัน ส่วนกรณีองครักษ์พิทักษ์ พล.อ.ประยุทธ์นั้น คิดว่าเรื่องนี้มีโจทย์ชัดที่มุ่งถามที่นายกฯ เรื่องเหตุผลที่ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ และการไม่แจงงบใช้จ่ายในนโยบายของรัฐบาล คิดว่าน่าจะไม่มีการประท้วง หรือน่าจะมีน้อย และอยู่ในกรอบที่เราเตรียมไว้แน่นอน 
    “หากรัฐบาลยืนยันที่จะใช้วันที่ 18 ก.ย. ซึ่งคาดว่าอาจได้ถึงเวลา 24.00 น.เท่านั้น สังคมและพรรคฝ่ายค้านเองก็มีสิทธิคิดว่ารัฐบาลจงใจที่จะปิดทาง และผมเห็นว่าการอภิปรายลับน่าจะเป็นข้อเสียของรัฐบาล เพราะประชาชนที่เฝ้ารอการแจกแจงจาก พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม. จะสงสัยว่าทำไมต้องมีการประชุมลับ และการประชุมลับแม้ไม่มีการถ่ายทอดสด แต่ก็อาจมี ส.ส.ออกไปเปิดเผยต่อสาธารณชนก็ได้ เมื่อเป็นแบบนี้การเปิดประชุมแบบเปิดเผยจะเป็นข้อดีมากกว่า ส่วนประเด็นปัญหาเรื่องความมั่นคง และการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เรายืนยันว่าไม่มีประเด็นเหล่านี้ เรามีเพียงประเด็นของ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องประชุมลับ”นายปิยบุตรกล่าว 
    เลขาธิการพรรค อนค.ยืนยันว่า พรรคฝ่ายค้านทำงานกันหลากหลายด้านมาก เราเดินทางลงพื้นที่น้ำท่วมที่ภาคอีสาน และ ส.ส.พรรคในพื้นที่ก็ทำงานอย่างเต็มที่ นอกจากนี้เรายังตั้งศูนย์ประสานงานรับเรื่องราวความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบอุทกภัย ซึ่งเราต้องยอมรับว่าบ้านเมืองเกิดปัญหาที่หลากหลาย ฉะนั้นจึงต้องแก้ปัญหาควบคู่กันไป เราไม่ได้มาเจาะจงแค่เรื่องการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.เท่านั้น และปัญหาของพี่น้องประชาชนต้องได้รับการแก้ไขเยียวยา แต่อย่านำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นข้ออ้างในการกลบเกลื่อนปิดบัง การกระทำผิดของรัฐบาล.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"