มีคำถามว่า "ปัญญาประดิษฐ์" หรือ Artificial Intelligence (AI) จะทำให้คนตกงานกันขนานใหญ่หรือไม่?
และหากเทคโนโลยีทำให้หุ่นยนต์มาแทนมนุษย์ได้ขนาดนั้น คนเราจะไปทำอะไร?
ผมคิดว่านี่เป็นคำถามใหญ่ที่ยังไม่มีคำตอบ แต่เราต้องพยายามหาคำตอบให้ได้ก่อนที่คำตอบจะมาเอง
และหากคำตอบนั้นมาเอง มนุษย์อาจไม่มีทางเลือกที่ตนเองต้องการเหลืออยู่ก็ได้
ผมสนใจหัวข้อนี้เป็นพิเศษ พยายามหาความรู้ด้วยการอ่าน, ศึกษา, ถามไถ่และเรียนรู้จากความเห็นของผู้คนต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หนึ่งในแนวทางวิเคราะห์ที่น่าสนใจมาจากนักเขียนชาวยิวที่ชื่อ Yuval Harari ที่เขียนหนังสือไว้อย่างน้อย 3 เล่ม ซึ่งวิเคราะห์เรื่องของมนุษย์กับเทคโนโลยีและความอยู่รอดทางด้านศีลธรรมจรรยาบรรณอย่างน่าสนใจยิ่ง
ในประเด็นเรื่อง AI กับอาชีพของคนนั้น ยูวัล แฮรารี เขียนไว้ตอนหนึ่งใน 21 Lessons for the 21st Century ซึ่ง ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ กับคุณธิดา จงนิรามัยสถิต ได้แปลเป็น "21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21" อย่างน่าอ่านว่า
"ด้วยเหตุที่ว่าภัยคุกคามจากการสูญเสียงานไม่ได้แค่เป็นเพียงผลลัพธ์จากการเกิดขึ้นของอินโฟเทค (Infortech) เท่านั้น ยังเป็นผลจากการบรรจบกันของอินโพเทคกับไบโอเทค (Biotech) อีกด้วย แม้การที่เครื่องสแกนเอฟเอ็มอาร์ไอ (fMRI) จะแทนที่ตลาดแรงงานได้นั้นอาจมองว่ายังมีหนทางคดเคี้ยวและอีกยาวไกล แต่ไม่แน่ว่าอาจจะครอบคลุมได้ในแค่ไม่กี่ทศวรรษ สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องสมองกำลังเรียนรู้กันอยู่ในปัจจุบันเกี่ยวกับสมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) และเซรีเบลลัม (Cerebellum) นั้น อาจจะทำให้คอมพิวเตอร์ในปี ค.ศ.2050 ทำหน้าที่จิตแพทย์ (Psychiatrist) และองครักษ์ได้ดีกว่ามนุษย์"
เขาบอกต่อว่า
AI ไม่เพียงแต่ทำท่าจะเจาะลึกเรื่องมนุษย์จนมีทักษะเหนือล้ำกว่าในทักษะต่างๆ ที่เคยมีแต่เฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ แต่มันยังได้เปรียบเรื่องความสามารถจำเพาะต่างๆ ที่มนุษย์ไม่อาจทำได้ ซึ่งจะทำให้กรรมกรที่เป็น AI กับมนุษย์มีความแตกต่างกันในอีกรูปแบบหนึ่ง แทนที่จะแตกต่างกันเพียงแค่ระดับความสามารถเดียวกัน ความสามารถที่สำคัญเป็นพิเศษแบบที่ไม่จำเพาะกับมนุษย์ แต่จำเพาะกับ AI ก็คือความสามารถในการเชื่อมโยงและปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย (Updatability)
เขาวิเคราะห์ต่อว่า
เนื่องจากมนุษย์มีความเป็นปัจเจกบุคคล จึงยากที่จะเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มและทำให้แน่ใจตลอดเวลาว่ามีข้อมูลที่ทันสมัย แต่ตรงกันข้าม คอมพิวเตอร์ไม่ได้มีความเป็นปัจเจกและง่ายที่จะเชื่อมโยงพวกมันเข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายที่ยืดหยุ่นได้เพียงหนึ่งเดียว
ด้วยเหตุนี้เอง สิ่งที่เรากำลังเผชิญหน้าไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของการแทนที่คนงานที่เป็นมนุษย์เป็นล้านๆ คนด้วยหุ่นยนต์เดี่ยวๆ เป็นล้านๆ ตัว และคอมพิวเตอร์เดี่ยวๆ เป็นล้านๆ เครื่อง
แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เป็นไปได้ว่ามนุษย์แต่ละคนจะถูกแทนที่ด้วยเครือข่าย AI ที่ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว
เขาบอกว่าเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องระบบอัตโนมัติ จึงไม่ถูกต้องที่จะเปรียบเทียบความสามารถของคนขับที่เป็นมนุษย์คนใดคนหนึ่งกับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติคันหนึ่ง หรือเปรียบเทียบแพทย์ที่เป็นมนุษย์สักคนกับแพทย์ที่เป็น AI สักตัวหนึ่ง
แทนที่จะทำเช่นนั้น แฮรารีบอกว่าเราควรจะเปรียบเทียบความสามารถรวมหมู่ (Collective Ability) ของมนุษย์แต่ละคนกับความสามารถของเครือข่ายที่บูรณาการกัน
เขายกตัวอย่างเรื่อง AI ขับรถกับคนขับรถต่างกันอย่างไร....และหาก AI สามารถขับรถได้ปลอดภัยกว่าคน จะเกิดอะไรขึ้น?
เป็นไปได้จริงหรือ?
น่าสนใจมากครับ พรุ่งนี้อ่านต่อครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |