ซักฟอก 'บิ๊กตู่' กระทบใคร?


เพิ่มเพื่อน    

        เคาะแล้ว!

                ซักฟอก "ลุงตู่" แบบไม่ลงมติวันที่ ๑๘ กันยายนนี้

                วันสุดท้ายของสมัยประชุมพอดี

                นั่นหมายความว่า ฝ่ายแค้นมีเวลา ๑ วันที่จะถล่มนายกรัฐมนตรี

                แต่...มีเสียงจากเพื่อไทย อนาคตใหม่ว่า น้อยไป ไม่พอ

                อ้างว่าประชาชนอยากฟังเยอะๆ

                นึกไม่ออกจริงๆ ว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายซักฟอก "บิ๊กตู่" ๓ วัน ๓ คืน ได้อย่างไร

                เพราะมีแค่ ๒ ประเด็นให้พูด คือ

                ๑.ทำไมถวายสัตย์ไม่ครบ

                ๒.การไม่แจงงบใช้จ่ายในนโยบายของรัฐบาล

                หากจะถามกันตามเนื้อหานี้ แค่ ๓ ชั่วโมง ก็จบ

                แต่หากจะใช้ประเด็นนี้ขยายเป็นประเด็นการเมือง พูดให้ตายไปข้างก็คงไม่ยอมจบ

                ทำไมฝ่ายค้านอยากอภิปรายมากกว่า ๑ วัน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยบอกว่า การอภิปรายจะไม่ให้กระทบกับการทำงานของรัฐบาล

                ลองเปรียบเทียบกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี ๒๕๕๕

                ครั้งนั้นถูกซักฟอก ๔ คน              

                ๑.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

                ๒.พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการคมนาคม

                ๓.พลตำรวจโท ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม

                ๔.ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี

                ใช้เวลา ๓ วัน ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ พฤศจิกายน

                วันนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์บอกว่า ๓ วันมากพอแล้ว ไม่ควรขยายเวลาให้ฝ่ายค้านอีก

                ปีถัดมา "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ถูกซักฟอกอีกรอบ พร้อม "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

                เริ่มต้น ๒๖ จบ ๒๗ พฤศจิกายน ลากไส้ประเด็นทุจริตเป็นหลัก

                นั่นคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ

                แต่กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝ่ายค้านยื่นซักฟอกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๒ คือไม่มีการลงมติ และมีแค่ ๒ ประเด็น

                ฝ่ายค้านต้องการลากยาวมากกว่า ๑ วัน          

                คงหาสาเหตุอื่นไม่ได้ นอกจากหวังผลทางการเมือง รวมทั้งประเด็นที่จะนำมาอภิปรายเลี่ยงไม่ได้ต้องโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

                อีกทั้งคดีอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญแล้ว การอภิปรายอาจกลายเป็นการหมิ่นศาล ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

                แต่ฝ่ายค้านอยากพูด

                หากพิจารณาจากสิ่งที่ พรรคอนาคตใหม่ ปูพรมไปก่อนหน้านี้

                ไม่ว่าจะเป็น การวิจารณ์สถาบัน

                การวิจารณ์ศาล ที่อ้างว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ จึงมีสิทธิ์วิจารณ์ศาลได้ เพราะศาลเป็น ๑ ใน  ๓ อำนาจอธิปไตยที่ใช้อำนาจแทนประชาชน

                นั่นคือความพยายามดึงทุกอย่างให้มาอยู่ในระนาบเดียวกัน โดยไม่สนใจว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น จะกว้างขวางแค่ไหน

                นักการเมืองในอดีตเขาซักฟอกกัน ๗ วัน ๗ คืน

                ๑๙-๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๐ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะฝ่ายค้าน เปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองอย่างรุนแรง

                การทุจริตประพฤติมิชอบของรัฐบาล

                รวมไปถึงกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติอย่างกว้างขวาง เพราะรัฐบาลไม่สามารถให้ความกระจ่างได้

                แต่ฝ่ายแค้นในวันนี้ กำลังนำเรื่องที่ควรจะจบเพราะสถานการณ์ได้คลายข้อสงสัยลงไปแล้ว มาขยายให้เป็นความขัดแย้ง

                หรือเป้าหมายที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"