คำสอนโบราณกาลนานมา แฝงแง่คิดห่วงใย..ไม่ตกยุค


เพิ่มเพื่อน    

      ต่อให้โลกไฮเทคไปไกลสักแค่ไหน แต่ทว่าความเชื่อโบราณของคนรุ่นปู่ย่าตายายก็ยังเป็นประโยชน์กับคนรุ่นลูกหลานอยู่เสมอ เพราะคติข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ ที่คนวัยเก๋าพร่ำสอน หรือบ่นให้ได้ยินบ่อยๆ นั้น ล้วนแล้วแต่แฝงแง่คิดที่ดีๆ เอาไว้ หากว่าเราคิด เชื่อ และทำตาม เป็นต้นว่า ห้ามตัดผมวันพุธเพราะถือสิ่งที่ไม่มงคล กระทั่งการใส่เสื้อผ้าตามสีประจำวัน ที่ช่วยเสริมโหวงเฮ้งทำให้การงานลุล่วง หรือการห้ามตัดเล็บตอนกลางคืน ที่เสี่ยงได้รับบาดเจ็บจากกรรไกรตัดเล็บ เป็นต้น สิ่งที่กล่าวมาถือเป็นกุศโลบายเตือนใจเตือนสติลูกหลาน ที่คนหลัก 6 หยิบยกความเชื่อโบราณมาบอกกล่าวเล่าสิบคนเจนเอ็กซ์ วาย แซด

        “ไม่ลอดใต้ถุน-ไม้ค้ำยัน-ราวตากผ้า”

(กฤติเดช ศิลปสุวรรณ)

      เริ่มจากคุณลุง กฤติเดช ศิลปสุวรรณ ประธานชมรมลีลาศสวนลุมฯ วัย 77 ปี บอกว่า “นอกจากเรื่องการคิดดีทำดีแล้ว ความเชื่อของคนรุ่นปู่ย่าอย่างการ “ห้ามลอดคานใต้ถุนบ้าน-ไม้ค้ำยัน-ราวตากผ้า” ซึ่งความเชื่อนี้มีกุศโลบายแฝงเอาไว้ว่า ถ้าเด็กที่ซุกซนไปเล่นหรือไปวิ่งลอดคาน หรือไม้ค้ำยันต่างๆ ไม้ก็จะร่วงลงมาตีหัว ทำให้ได้รับบาดเจ็บได้ หรือวิ่งชนคานใต้ถุนบ้าน อาจทำให้ศีรษะแตกหรือหัวโนเป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถ้าสังเกตให้ดีจะมีประโยชน์ในแง่ของการเฝ้าระวังอุบัติเหตุจากการเล่นซนได้ครับ”

(“ห้ามตัดเล็บตอนกลางคืน” คำโบราณสอนใจที่ป้องกันอันตรายเลือดออกยางตกจากการที่กรรไกรตัดเล็บ เพราะปัญหาสายตามองไม่ชัดเจนยามค่ำคืน)

        “ห้ามตัดเล็บ-สระผมเวลากลางคืน”

(ณภัสวรรณ จิลลานนท์)

      ต่อกันที่ พี่น้อย-ณภัสวรรณ จิลลานนท์ วัย 68 ปี บอกว่า “ที่ผ่านมาก็เคยได้ยินคุณยายและคนทั่วไปพูดว่า “ห้ามสระผมตอนกลางคืน” เพราะว่าเวลาที่สระผมกลางคืนนั้น ศีรษะของเด็กจะไม่แห้ง ทำให้คันศีรษะและผมร่วงได้ รวมถึง “ห้ามตัดเล็บกลางคืน” เพราะเวลากลางคืนสายตาเด็กๆ อาจจะไม่ดี ทำให้ไปตัดโดนนิ้วได้รับบาดเจ็บเลือดตกยางออกค่ะ ซึ่งคำโบราณเหล่านี้อันที่จริงแล้วดูเหมือนเป็นข้อห้าม แต่มันเป็นกิมมิกที่สะท้อนให้รู้ว่า ผู้ใหญ่เป็นห่วงเด็กและไม่ต้องการให้ได้รับบาดเจ็บนั่นเองค่ะ”

(ความเชื่อโบราณ ห้ามใช้หวีหัก กุศโลบายสอนลูกหลาน ที่สะท้อนความห่วงใยเรื่องความปลอดภัยจากการใช้อุปกรณ์ที่ชำรุด)

        “ห้ามใช้หวีหัก”

(นรีวรรณ จินตกานนท์)

      ด้าน นรีวรรณ จินตกานนท์ อุปนายกสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย วัย 75 ปี บอกว่า “ส่วนตัวเคยรู้จักและเคยได้ยินคำโบราณที่ว่า “ห้ามใช้หวีหัก” เพราะถ้าซี่หวีหัก 1 ซี่ ก็จะทำให้ซี่ต่อไปๆ หักตามมาอีก ดังนั้นเราใช้หวีต่อไปก็จะทำให้เกิดอันตรายกับศีรษะได้ หรือบางครั้งซี่หวีที่หักอาจจะร่วงหล่นลงไปในชามข้าว ตรงนี้ก็จะทำให้ทิ้งแทงปาก และอาจหลุดเข้าไปในกระเพาะอาหารก็เป็นได้ ส่วนตัวพี่มองว่าคำโบราณเหล่านี้ อันที่จริงแล้วผู้ใหญ่ต้องการเตือนลูกหลาน เพื่อให้ไม่เกิดอันตรายมากกว่าค่ะ”

(“เทวดาคุ้มครองบ้านที่หมั่นปัดกวาดเช็ดถู” กุศโลบายรักษาความสะอาดที่อยู่อาศัย ป้องกันสมาชิกเจ็บป่วยจากฝุ่นละอองและสัตว์มีพิษ)

        “เชื่อโบราณ จะบานบุรี”, “เทวดาคุ้มครองบ้านที่หมั่นปัดกวาดเช็ดถู”

(มะลิ พูนสวัสดิ์)

        คุณป้ามะลิ พูนสวัสดิ์ คลังปัญญาผู้สูงอายุ จ.สมุทรปราการ วัย 78 ปี บอกว่า “สมัยก่อนเราเคยได้ยินเด็กๆ วัยรุ่นพูดว่า ถ้า “เชื่อโบราณ จะบานบุรี” ซึ่งหมายว่าคำสอนของคนรุ่นเก่าเป็นสิ่งที่ล้าสมัย แต่ความหมายที่แท้จริงของคำโบราณดังกล่าวนั้น มันสื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองและงอกงาม เฉกเช่นดอกบานบุรีที่มีสีเหลืองทองสวยงาม ดังนั้นคำโบราณดังกล่าวในยุคปัจจุบันก็จะกลับกันว่า “เชื่อโบราณ ไม่บานบุรี” เพราะคำสอนของคนสมัยก่อนไม่ใช่สิ่งที่เชย ตรงกันข้ามกลับเป็นเรื่องที่ทำให้เด็กวัยรุ่นพบเจอแต่เรื่องดีๆ และไม่ทำในสิ่งที่เป็นโทษกับตัวเองค่ะ นอกจากนี้ยังคำโบราณที่บอกว่า “เทวดาจะคุ้มครองบ้านที่หมั่นปัดกวาดเช็ดถู” ซึ่งบางครอบครัวยุคใหม่ก็ยังยึดถือคำสอนโบราณนี้อยู่ เพราะการที่บ้านสะอาดไม่ใช่เทวดาจะช่วยคุ้มครอง แต่จะทำให้สมาชิกในบ้านไม่เจ็บป่วยหรือเป็นโรคต่างๆ ค่ะ”.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"