2 ก.ย.62-นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2562 พบหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสิ้นไตรมาส 1 หนี้ครัวเรือนเท่ากับ 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 6.3% และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเท่ากับ 78.7% สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส หรือ 2 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่ปี 2560 โดยหนี้ครัวเรือนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560
อย่างไรก็ตามขณะที่ไตรมาส 2 แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะภาพรวมสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นระดับสูง 9.2% โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 11.3% สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งเเต่ไตรมาส 4/58 เป็นต้นมา ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ขยายตัว 7.8% และ10.2%ชะลอลงจาก 9.1% และ 11.4% จากไตรมาสก่อน
“หนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และอันดับ 11 ของโลก จาก 74 ประเทศ โดยหนี้ที่ต้องจับตา คือ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งหนี้บัตรเครดิต และรถยนต์ มีเเนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ส่วนเเนวโน้มครึ่งปีหลัง คาดว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลง จากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้มากขึ้น.”นายทศพล กล่าว
สำหรับแนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังปี 62 คาดว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกเนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลง และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ แต่ด้านคุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มที่จะด้อยคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากในช่วงก่อนมีมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันปล่อยสินเชื่อในลักษณะที่ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การอนุมัติ ประกอบกับมีการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงเงินสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงทำให้ผู้กู้ได้เงินสดกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น
อย่างไรก็ตามไตรมาส2/62 มีผู้มีงานทำ 37.8 ล้านคน ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้มีงานทำภาคเกษตรยังคงลดลงต่อเนื่อง 4.0% โดยมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย และปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อกิจกรรมการเกษตร ขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.5% สาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้แก่ สาขาการขนส่งการเก็บสินค้า การก่อสร้าง การศึกษา และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร เพิ่มขึ้น 7.2 6.2 3.1 และ 1.1% ตามลำดับ สำหรับสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาการค้าส่ง/ค้าปลีก และสาขาการผลิต ลดลงร้อยละ 0.4 และ 0.5 ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกที่หดตัว อัตราการว่างงานเท่ากับ 0.98% เพิ่มขึ้นใกล้เคียงอัตรา 0.92% ในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงเมื่อเทียบกับ 1.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 4.7% โดยในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 5.4% ขณะที่นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 3.7% ผลิตภาพแรงงานโดยรวมเพิ่มขึ้น 2.6%
อย่างไรก็ตามในส่วนของการเกิดอุบัติเหตุลดลง จำนวนผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้น ไตรมาส2/62 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 61 ถึง 10.6% ขณะที่มีผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้น 3.0% และ 8.4 ตามลำดับ สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดเป็นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด รถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ มีสัดส่วน 40.1%ของประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด
สำหรับอุบัติเหตุรถยนต์โดยสารสาธารณะช่วงครึ่งปีแรก 62 ลดลงจากช่วงเดียวกัน7.6% ส่วนหนึ่งจากการกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะทุกประเภทและรถตู้ รถลากจูง และรถบรรทุกขนาดใหญ่ (10 ล้อขึ้นไป) ต้องติดตั้ง GPS Tracking เพื่อติดตามและควบคุมพฤติกรรมการขับรถของพนักงานขับรถได้แบบเรียลไทม์ อย่างไรก็ตาม การเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารแต่ละครั้งมักจะสร้างความสูญเสียอย่างมากมาย จึงยังต้องเฝ้าระวังและลดการเกิดอุบัติเหตุทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาลที่จะมาถึงด้วยการเข้มงวดให้ผู้ขับขี่รถต่างๆ ปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด มีใบขับขี่ถูกต้อง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปฏิบัติตามกฏจราจร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |