อานิสงส์"อีอีซี"แรง ขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรม


เพิ่มเพื่อน    


    “ถ้าไม่มีเชื้อเพลิง ไม่มีก๊าซธรรมชาติ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา โครงการลงทุนอีอีซีก็คงเกิดไม่ได้ และแน่นอนเมื่อรัฐบาลผลักดันอย่างจริงจังให้โครงการอีอีซีเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่เป็นโครงสร้างของเศรษฐกิจจะวิ่งไปอยู่แค่พื้นที่อีอีซีเท่านั้น แต่เหล่านี้จะวิ่งส่งอานิสงส์ ส่งผลประโยชน์ถึงกันหมด ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปจนถึงภาคใต้ ซึ่งอีกหนึ่งธุรกิจที่จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการของรัฐบาลในครั้งนี้ ก็น่าจะมีธุรกิจก๊าซ NGV ที่มีการใช้กันเกินครึ่งในภาคการขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์”

อานิสงส์"อีอีซี"แรง
ขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรม
    เป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัวลง เศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่หลายประเทศ ก็กำลังประสบปัญหา อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงอย่างปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการค้าทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการลดการพึ่งพาการส่งออก ที่ปัจจุบันถูกผูกเอาไว้กับภาพเศรษฐกิจและการค้าโลกเป็นหลัก และหันมาใช้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภายในประเทศ และเครื่องมือใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ
    สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่ควรมองระยะสั้นเกินไป แต่ต้องมองไปที่การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ซึ่งทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญในการต่อยอดโครงการสำคัญจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา โดยเรื่องแรก คือ “การพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก”  ซึ่งแบ่งเป็น 3 เฟส เริ่มจากขายแนวความคิดช่วง 2 ปีแรก เพื่อให้เห็นว่าเป็นโครงการใหญ่ ต้องทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เกิดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จากนั้นจะเป็นเรื่องของการลงทุนด้านดิจิทัล
    ส่วนเฟส 2 ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้นักลงทุนมาลงทุนในไทยให้ได้มากที่สุด และเฟสสุดท้าย คือ การรู้จักใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งในประเทศขนาดใหญ่ทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ จีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ต้องมีการประสานความร่วมมืออย่างเท่าเทียม ไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งนอกจากนโยบายด้านเศรษฐกิจแล้ว นโยบายด้านความมั่นคงก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต่างประเทศให้ความสำคัญด้วย
    ตรงนี้ถือเป็นอีกประเด็นที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการอีอีซีด้วย เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญตัวใหม่ที่จะช่วยในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเต็มศักยภาพ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมเต็มไปด้วยความท้าทายมากมาย
    จากความพยายามและความตั้งใจทั้งหลาย ส่งผลให้เกิดโครงการลงทุนต่างๆ เพื่อโอบอุ้มให้โครงการอีอีซีเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ บริบท โดยเฉพาะในด้านโลจิสติกส์ ที่ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เตรียมความพร้อมเดินหน้าโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ ช่วงชุมทางศรีราชา-ระยอง และมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการจ้างที่ปรึกษาโครงการเพื่อดูความเหมาะสม พร้อมทั้งได้จัดแสดงความคิดเห็นการมีส่วนร่วมจากประชาชนตามแนวเส้นทางที่ได้รับคัดเลือก ทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจการเงิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โครงการเป็นที่ยอมรับต่อสาธารณชน
    ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางศรีราชา-ระยอง และมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่นั้น เป็นเส้นทางรถไฟสายใหม่ จะมีเส้นทางตัดผ่าน 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าหากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรางให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบในภาคตะวันออก
    พร้อมทั้งสอดรับกับการพัฒนาพื้นที่โครงการอีอีซี ในการช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ คมนาคม และโลจิสติกส์ของอาเซียนในอนาคตต่อไป
    นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ยังได้เห็นชอบร่างแผนผังการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้วางแผนรองรับการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต ระยะ 20 ปี (2560-2580) ครอบคลุม 3 พื้นที่ ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 8,291,250 ไร่ โดยในปี 2560 มีประชากร 4,015,168 คน และคาดว่าในปี 2580 จะเพิ่มเป็น 6,006,380 คน ซึ่งแบ่งพื้นที่พัฒนาออกเป็น 4 กลุ่ม 11 ประเภท และเตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วๆ นี้


    ในขณะที่รัฐบาลได้พยายามเดินหน้าผลักดันโครงการอีอีซีอย่างสุดกำลังนั้น ไม่เพียงแต่ผลประโยชน์ที่เกิดจากการลงทุนในโครงการอีอีซีเท่านั้น แต่ยังมีดอกผลที่เกิดขึ้นกับธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้รับอานิสงส์จากโครงการลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์ของรัฐบาลด้วย           
    จักรพงส์ สุเมธโชติเมธา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สากล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ SKE หนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงาน โดยมีธุรกิจหลักคือสถานีก๊าซธรรมชาติหลักเอกชน และมีบริษัทย่อยประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังผลิตติดตั้งขนาด 9.9 เมกะวัตต์ มองว่าโครงการอีอีซีไม่เพียงจะทำให้เกิดการลงทุนที่เกิดจากการสนับสนุนให้เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ ผลบวกจากโครงการลงทุนดังกล่าวด้วย

 

    ผมคิดว่าโครงการอีอีซีจะทำให้เกิดอานิสงส์กับอีกหลายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งธุรกิจของ SKE ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศโครงการนี้ด้วยเช่นกัน เพราะในการลงทุนส่วนต่างๆ จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิง ซึ่งการลงทุนในโครงการอีอีซีเป็นโครงการขนาดใหญ่ ทำให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงจะมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ (NGV)
    เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า การเปิดโครงการลงทุนอีอีซีของรัฐบาลนั้น จะช่วยทำให้ภาคการนำเข้าและส่งออกสินค้าและวัตถุดิบคึกคักมากขึ้น เพราะจากข้อมูลที่ผ่านมาภาคธุรกิจดังกล่าวไม่เคยเกิดเหตุการณ์ตัวเลขขยายตัวติดลบหลายไตรมาสติดต่อกันเลย ดังนั้นความหวังที่ว่าโครงการอีอีซีจะเป็นกลจักรตัวใหม่ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้น และจะนำไปสู่การใช้เชื้อเพลิงต่างๆ ที่มากขึ้นด้วย ซึ่ง NGV ยังคงเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้กันมากในภาคการขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์ ดังนั้นอานิสงส์จากโครงการอีอีซีตรงนี้จะส่งมาถึง SKE ด้วยเช่นกัน ไม่มากก็น้อย
    “ถ้าไม่มีเชื้อเพลิง ไม่มีก๊าซธรรมชาติ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา โครงการลงทุนอีอีซีก็คงเกิดไม่ได้ และแน่นอนเมื่อรัฐบาลผลักดันอย่างจริงจังให้โครงการอีอีซีเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่เป็นโครงสร้างของเศรษฐกิจจะวิ่งไปอยู่แค่พื้นที่อีอีซีเท่านั้น แต่เหล่านี้จะวิ่งส่งอานิสงส์ ส่งผลประโยชน์ถึงกันหมด ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปจนถึงภาคใต้ ซึ่งอีกหนึ่งธุรกิจที่จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการของรัฐบาลในครั้งนี้ ก็น่าจะมีธุรกิจก๊าซ NGV ที่มีการใช้กันเกินครึ่งในภาคการขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์”
    ทั้งนี้ ธุรกิจหลักของบริษัท คือ “สถานีก๊าซธรรมชาติหลักเอกชน โดยให้บริการอัดก๊าซธรรมชาติ (NGV) ให้รถขนส่งก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อขนส่งไปให้กับสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซ หรือสถานีลูก (Daughter Station) รวมถึงดำเนินการปรับปรุงคุณภาพก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ก่อนที่จะนำไปใช้ในส่วนอื่นๆ ต่อไป โดยมีลูกค้าคือ ปตท.
    โดยปัจจุบันสถานีก๊าซธรรมชาติของบริษัทมี 2 สถานี คือ สถานีก๊าซธรรมชาติหลักเอกชนจังหวัดปทุมธานี และสถานีก๊าซธรรมชาติหลักเอกชนจังหวัดสระบุรี ซึ่งมีการทำสัญญาจ้างอัดก๊าซธรรมชาติ พร้อมตั้งสถานีก๊าซธรรมชาติหลักโดยเอกชน (สัญญาจ้างอัดก๊าซ) กับ ปตท.
    ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์นั้น เริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.2562 ที่ผ่านมา โดยเป็นการขายไฟให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ระยะเวลา 20 ปี และตามแผนภายในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 30 เมกะวัตต์ ที่จะเกิดขึ้นจากการขายไฟฟ้าให้กับภาคเอกชน ขณะที่ธุรกิจ CBG คือการผลิตและจำหน่ายก๊าซที่เกิดจากการหมักน้ำเสียของโรงงานขาย ก็ยังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีช่องทางและโอกาสในการขยายตัวอย่างมาก เพราะปัจจุบันหลายโรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้ก๊าซ CBG แทนเชื้อเพลิงการผลิต เพราะมีคุณสมบัติเหมือน NGV แต่ติดปัญหาเรื่องการขนส่งซึ่งมีผลต่อต้นทุน โดยปัจจุบันลูกค้าหลักๆ ได้แก่ โรงงานยาง โรงงานเป่าขวด หรืออุตสาหกรรมหนักที่อยู่ไกลจากแนวท่อส่งก๊าซต่างๆ เช่น CNG, LPG หรือ NGV เป็นต้น
    โดยสัดส่วนรายได้ของบริษัท ภายในปี 2563 จะอยู่ที่รายได้จากธุรกิจ NGV 50%, รายได้จากโรงไฟฟ้า 40% และรายได้จากก๊าซ CBG อีก 10% และตามแผนภายในปี 2562 รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าจะต้องขยับเพิ่มขึ้นเป็น 70-80%
    ที่ผ่านมารัฐบาลยืนยันอย่างชัดเจนว่า โครงการใหญ่ที่มีความสำคัญที่สุดในขณะนี้ของประเทศไทย คือ โครงการอีอีซี ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนหลายแสนล้านบาท ดังนั้นหากสามารถเข็นให้นักลงทุนต่างชาติที่สนใจเดินเครื่องลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 10 อุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องการันตีว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความหวังที่จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างเต็มศักยภาพ
    แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ที่เข้ามากระทบความเชื่อมั่น และสร้างความกังวลให้นักลงทุนไปบ้างว่า หากการเมืองภายในประเทศยังไม่มีความชัดเจนเช่นนี้ จะมีผลมาถึงความต่อเนื่องของนโยบายในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะในมุมของนโยบายด้านเศรษฐกิจหรือไม่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลก่อนหน้า ซึ่งก็คือรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ไว้มากมาย หากนโยบายไม่ต่อเนื่อง โครงการทั้งหมดต้องสะดุดลง ในมุมของธุรกิจก็จะเกิดปัญหาทันที.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"