พายุลูกใหม่ซัดอีสาน 15จว.ยังจมนํ้าจาก‘โพดุล’‘นายกฯ’สั่งเกาะติด24ชม.


เพิ่มเพื่อน    

 "กรมอุตุฯ" ออกประกาศฉบับ 1 "พายุดีเปรสชันระดับ 2 บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน" เตือนอีสานรับมือฝนเพิ่มมากขึ้นช่วง 2-3 ก.ย.นี้ "ปภ." เผย 15 จว.ยังเผชิญอุทกภัย ปชช.เดือดร้อนแล้ว 3,663 ครัวเรือน "บิ๊กตู่" สั่งทุกหน่วยเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมเร่งสำรวจความเสียหายหลังน้ำลด "ก.เกษตรฯ" เคาะมาตรการดูแลเกษตรกร "พรรคการเมือง" ร่วมใจช่วยผู้ได้รับความเดือดร้อน "ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ" ชี้พายุโพดุลทำภาพรวม ศก.ไทยติดลบ

    เมื่อวันที่ 1 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 1 "พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน" เวลา 07.00 น. ว่า พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีจุดศูนย์กลางอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน ประมาณ 700 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 19.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 117.5 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะไหหลำ ในช่วงวันที่ 2-3 ก.ย.62 
    ประกาศฉบับที่ 1 ระบุว่า พายุดังกล่าวจะส่งผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปเกาะไหหลำ ประเทศจีน และประเทศเวียดนามตอนบน ควรตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทางด้วย
    สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรงต่อเนื่อง ทำให้ภาคใต้และภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยบริเวณดังกล่าวมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนงดออกจากฝั่ง
    ขณะที่นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อน "โพดุล" ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.-ปัจจุบันว่า ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินสไลด์ ในพื้นที่ 24 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ กระบี่ ปราจีนบุรี แพร่ นครพนม เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ระนอง เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยโสธร กาฬสินธุ์ น่าน ตราด มุกดาหาร อุตรดิตถ์ ชัยภูมิ สุรินทร์ พิษณุโลก พิจิตร และแม่ฮ่องสอน รวม 64 อำเภอ 148 ตำบล 356 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,663 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 1 ราย (อุบลราชธานี) ผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน (ชัยภูมิ) 
    นายชยพลกล่าวว่า ขณะนี้ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ จ.แพร่ น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอร้องกวาง และอำเภอลอง รวม 5 ตำบล 11 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 35 ครัวเรือน จ.เพชรบูรณ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชนแดน อำเภอวังโป่ง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอหนองไผ่ และอำเภอเขาค้อ รวม 9 ตำบล 25 หมู่บ้าน ประชาชนอพยพ 140 คน จ.พิษณุโลก น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเนินมะปราง อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย และอำเภอชาติตระการ รวม 13 ตำบล 73 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,510 ครัวเรือน จ.อุตรดิตถ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอน้ำปาด อำเภอท่าปลา และอำเภอฟากท่า รวม 5 ตำบล 23 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 107 ครัวเรือน 
บิ๊กตู่สั่งเกาะติดน้ำท่วม
    จ.พิจิตร น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามง่าม อำเภอทับคล้อ อำเภอวังทรายพูน และอำเภอสากเหล็ก รวม 7 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 10 ครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายเพิ่มเติม, จ.เชียงใหม่ เกิดน้ำไหลหลากและดินสไลด์ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอฮอด อำเภออมก๋อย อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอจอมทอง รวม 6 ตำบล 16 หมู่บ้าน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายเพิ่มเติม, จ.อำนาจเจริญ น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหัวตะพาน และอำเภอเมืองอำนาจเจริญ รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 65 ครัวเรือน, จ.ชัยภูมิ น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชัยภูมิ และอำเภอแก้งคร้อ รวม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5 ครัวเรือน ผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน, จ.มุกดาหาร เกิดน้ำไหลหลากและวาตภัยในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอดงหลวง อำเภอหนองสูง อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอคำชะอี รวม 32 ตำบล 33 หมู่บ้าน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย 
    นอกจากนี้ จ.ยโสธร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอป่าติ้ว รวม 4 ตำบล 11 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 847 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 5,080 ไร่, จ.ขอนแก่น น้ำจากลำห้วยจิ หลากเข้าท่วมในพื้นที่ตำบลบ้านไผ่ และตำบลในเมือง อำเภอบ้านไผ่ ประชาชนอพยพ 516 คน, จ.กาฬสินธุ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอห้วยเม็ก และอำเภอหนองกุงศรี รวม 8 ตำบล 31 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 410 ครัวเรือน, จ.อุบลราชธานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอน้ำขุ่น อำเภอน้ำยืน อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอกุดข้าวปุ้น อำเภอเขื่องใน อำเภอเขมราฐ อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล และอำเภอโขงเจียม รวม 18 ตำบล 46 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 798 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 1 ราย, จ.ร้อยเอ็ด น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสลภูมิ อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอเมยวดี และอำเภอเมืองร้อยเอ็ด รวม 12 ตำบล 38 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 4,110 ไร่ และ จ.มหาสารคาม น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเมืองมหาสารคาม ประชาชนได้รับผลกระทบ 40 ครัวเรือน 
    "สถานการณ์ภาพรวมปัจจุบันทุกพื้นที่ระดับน้ำลดลง ซึ่ง ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป" อธิบดี ปภ.กล่าว
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยฉับพลันจากพายุโพดุลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งกำกับดูแลการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั้ง 16 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา จนขณะนี้ ได้รับรายงานว่าสถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำได้ลดลงในเกือบทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 
    "จากนี้จะต้องเร่งสำรวจความเสียหายทั้งอาคาร บ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม โดยได้กำชับให้ทุกหน่วยงาน บูรณาการร่วมกัน ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเสียหายและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึงและทันเวลา รวมทั้งนายกฯ ได้ย้ำขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป และขอประชาชนที่ได้รับความเสียหาย และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือติดต่อได้ที่สายด่วน 1784 ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง" โฆษกประสำนักนายกฯ กล่าว
เร่งสูบน้ำพื้นที่เกษตร
    ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังทั้งในพื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งได้รับรายงานจากกรมชลประทานว่าขณะนี้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ พิจิตร น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร สกลนคร สระแก้ว ชุมพร และระนอง โดยเข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้ว 1 จังหวัด คือ นครราชสีมา และยังคงระดมเครื่องจักร-เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด พร้อมเจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้าไปคลี่คลายปัญหาโดยเร่งด่วนแล้ว และจากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าภาวะฝนตกหนักจากพายุโพดุลจะเกิดขึ้นถึงวันที่ 1 ก.ย.เป็นวันสุดท้ายแล้ว ภาวะน้ำท่วมจะดีขึ้นตามลำดับ
    "ยังสั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรให้เตรียมเข้าสำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตรทันทีหลังน้ำลด ซึ่งมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ หากผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯ ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย แต่รายละไม่เกิน 30 ไร่ ซึ่งกำหนดให้นาข้าวได้รับอัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ได้รับไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ ได้รับอัตราไร่ละ 1,690 บาท" รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าว
    นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน สั่งโครงการชลประทานทุกพื้นที่เร่งสูบน้ำระบายน้ำท่วมขังในทุกจุด หลังหลายจังหวัดได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล เบื้องต้นคาดว่าในพื้นที่ลุ่มต่ำจะใช้เวลาระบายน้ำไม่เกิน 1 สัปดาห์ หากไม่มีฝนตกลงมา ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่จะระบายน้ำได้หมดใน 2-3 วัน ล่าสุดมีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 19 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
    วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ขับเครื่องบินส่วนตัวจาก กทม.ไปยัง จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเยี่ยมประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ที่บ้านท่าเยี่ยม ต.วังหลวง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด จากนั้นเดินทางต่อไปยังจุดพักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่บ้านไค่นุ่น ต.นาแซง อ.เสลภูมิ รวมทั้งไปดูโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านไค่นุ่น ต.นาแซง อ.เสลภูมิ เพื่อประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยของเขตสุขภาพที่ 7
    นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ก็ลงพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด กำชับสำนักงานชลประทานที่ 6 ระดมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ รวมทั้งกระสอบทรายเข้าเสริมความมั่นคงแข็งแรงของพนังกั้นน้ำ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอีก 8 เครื่อง ที่สะพานยโสธร-ร้อยเอ็ด (ปากน้ำยัง) และอีก 6 เครื่องที่เขื่อนธาตุน้อย จ.อุบลราชธานี เพื่อเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำชี นอกจากนี้ เขื่อนลำปาวหยุดการระบายน้ำลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนแล้ว ส่วนเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย ได้ยกบานประตูน้ำพ้นน้ำเพื่อช่วยเร่งระบายน้ำในแม่น้ำชีอีกทางหนึ่งด้วย 
    ส่วนนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม สรุปผลกระทบถนนเส้นทางต่างๆ จากน้ำท่วมว่า ปัจจุบันมี 12 จังหวัด ได้รับผลกระทบ 36 สายทาง จำนวน 43 แห่ง สัญจรผ่านได้  21 สายทาง จำนวน 24 แห่ง สัญจรผ่านไม่ได้ 15 สายทาง จำนวน 19 แห่ง เป็นน้ำท่วมสูง 13 แห่ง และถนนขาด 6 แห่ง 
    ที่ จ.หนองคาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากฝนที่ตกต่อเนื่องติดต่อกันในพื้นที่ ทำให้บึงหนองคาย ต.วัดธาตุ อ.เมืองฯ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นจุดที่รับน้ำทั้งในพื้นที่และน้ำบางส่วนจากตัวเมืองหนองคาย มีปริมาณน้ำมากจนได้มีการระบายต่อไปยังอ่างเก็บน้ำบ้านเบิดใหญ่ที่อยู่ติดกัน เพื่อระบายผ่านไปยังลำห้วยโซ่ ที่เชื่อมต่อกับลำห้วยสวย ลำห้วยสาขาของแม่น้ำโขง ระบายลงแม่น้ำโขงต่อไป
ทุกพรรคระดมช่วย ปชช.
    ล่าสุดน้ำที่ระบายมาจากบึงหนองคายได้ส่งผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำบ้านเบิดใหญ่ มีปริมาตรน้ำภายในอ่างสูงจนล้นฝายน้ำล้นที่ระบายลงในลำห้วยโซ่สูงกว่า 1 เมตร และไหลเชี่ยว ส่งผลกระทบชาวบ้านหลายสิบครอบครัวที่ยึดอาชีพจับปลาที่ได้ทำเพิงพักนั่งร้านสำหรับยกยอหรือสะดุ้งสำหรับจับปลา ทั้งจากการที่ไม่สามารถใช้ยอในการหาปลาได้เนื่องจากกระแสน้ำแรงและเชี่ยว และจากการที่น้ำมีระดับสูงได้ท่วมเพิงพักนั่งร้าน ต้องหยุดจับปลาที่บริเวณหลังฝายน้ำล้นชั่วคราว จนกว่าระดับน้ำจะลดลงจึงจะกลับมาจับปลาใหม่            
    จ.อำนาจเจริญ ใน อ.เมืองฯ จากฝนตกหนักติดต่อทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการเปิดประตูระบายน้ำทุกจุด ส่งผลให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ที่อยู่ท้ายเขื่อนและอาศัยอยู่ตามลำห้วยปลาแดกได้รับความเดือดร้อน 2 ชุมชน คือ ชุมชนซอยวิจารณ์ และชุมชนบุ่งพัฒนา เขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ
    นอกจากนี้ พ.ต.ต.สุภาพ จันทร์แดง สารวัตร สภ.เมืองอำนาจเจริญ รับแจ้งพบศพชายไทยเสียชีวิตที่ริมตลิ่ง ลำห้วยคำเตย บ้านคำเตย ต.กุดปลา อ.เมืองอำนาจเจริญ ทราบชื่อคือนายสมบูรณ์ ปานประดิษฐ์ อายุ 63 ปี ชาวบ้านคำเตย ต.ปลาดุก สอบสวนทราบว่านายสมบูรณ์ได้ไปหาปลาที่ลำห้วยใกล้ที่นาขณะที่ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงและน้ำไหลเชี่ยว ถูกกระแสน้ำพัดสูญหายไป ก่อนมาพบศพดังกล่าว
    จ.ขอนแก่น ในพื้นที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น แม้น้ำจะลดลงบ้างแล้ว แต่ยังคงมีบ้านเรือนชาวบ้านที่อยู่ติดลำห้วยจิกไม่สามารถจะเข้าไปพักอาศัยในบ้านเรือนของตัวเองได้ โดยพบว่าน้ำไหลเอ่อท่วมบ้านเรือนที่อยู่ติดลำห้วยจิกพังเสียหาย 3 หลัง อู่ซ่อมรถ อู่ต่อเรือท้องแบน และเล้าไก่เล้าเป็ดของชาวบ้านหายไปกับน้ำ น้ำไหลเชี่ยวท่วมสะพานข้ามลำห้วยจิก ชาวบ้านสัญจรไปมาไม่ได้ 
    นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าฯ ขอนแก่น กล่าวว่า มวลน้ำจากลำห้วยจิกที่ท่วมชุมชนต่างๆ นั้นจะไหลลงแก่งละหว้า โดยได้เอ่อท่วมที่นาของประชาชนในพื้นที่ตำบลบ้านไผ่หลายพันไร่ นอกจากนี้ยังเอ่อท่วมบ้านเป้า ม.3 และบ้านโนนละม่อม ม.4 ต.บ้านไผ่ โดยเฉพาะที่บ้านเป้า ถูกน้ำท่วมจนกลายเป็นเกาะ ถูกตัดขาดจากภายนอก เพราะเส้นทางรถยนต์ไม่สามารถผ่านเข้า-ออกได้ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่เข้าประจำการที่โรงเรียนเบญจมิตรวิทยาคม บ้านโนนละม่อม เพื่อนำน้ำและข้าวสารอาหารแห้งและของใช้จำเป็นใส่เรือเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งสองแห่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
    ด้านพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างเร่งระดม ส.ส.และอดีต ส.ส. ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง 
    พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรค พปชร. กล่าวว่า พรรคขอส่งกำลังใจให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุโพดุล โดยแกนนำพรรคได้ประสานงานให้ ส.ส.ในพื้นที่เร่งเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งเบื้องต้นมีรายงานว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจำนวน 19 จังหวัด บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 1,665 ครัวเรือน
    "นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ที่น้ำลดลงแล้ว โดยเฉพาะบ้านเรือนที่เสียหายจากน้ำท่วม นอกจากนี้ในส่วนของพืชผลทางการเกษตรที่เสียหายนั้น รัฐบาลก็เร่งดำเนินการสำรวจและช่วยเหลือเต็มที่ รวมทั้งอยากฝากไปยังประชาชนให้เตรียมพร้อมและติดตามข่าวสารจากทางราชการ เพราะทราบว่ายังมีพายุที่จะพัดผ่านประเทศไทยอีก" รองโฆษก พปชร.กล่าว
    พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป. กล่าวว่า ขณะนี้บุคลากรของพรรคที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ประธานสาขาพรรค รวมถึง ส.ส.และอดีต ส.ส., อดีต ผู้สมัคร ส.ส.ได้อยู่ในพื้นที่พร้อมเพื่อดูแลปัญหาความเดือดร้อน ออกเยี่ยมเยียนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ 
    "ขณะนี้รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ได้ลงพื้นที่พร้อมหน่วยงานที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ และเร่งเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งรัฐมนตรีของพรรคทุกคนนอกจากร่วมกันกับกระทรวงต่างๆ แล้ว ยังเล็งเห็นถึงสิ่งที่สำคัญคือการฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนหลังจากที่น้ำลดอีกด้วย" โฆษกพรรค ปชป.กล่าว
    พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรค กล่าวว่า นายอนุทินได้สั่งการให้ส.ส.ของพรรค รวมทั้งอดีต ส.ส.ของพรรค เกาะติดพื้นที่เพื่อรับปัญหาและประสานงานช่วยเหลือประชาชน และเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในทุกพื้นที่ให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี  
    พรรคเพื่อไทย (พท.) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค กล่าวว่า พรรคขอประกาศแผนการ “เพื่อไทยช่วยไทย รวมใจช่วยน้ำท่วม” เพื่อเชิญชวนพี่น้องมาจับมือร่วมกันฝ่าวิกฤติอุทกภัยของประเทศครั้งนี้ไปด้วยกัน โดยให้ศูนย์ประสานงานของพรรคเพื่อไทย และศูนย์ประสานงานของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยในทุกเขต ทุกจังหวัดของประเทศ เป็นศูนย์รับบริจาคสิ่งของและความช่วยเหลือต่างๆ 
    “ขอเอาใจช่วยพี่น้องที่อยู่ในช่วงเวลาวิกฤติ และเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกคนที่กำลังทำงานอย่างเต็มกำลัง ดิฉันขอสัญญาว่าพวกเราจับมือผ่านทุกข์นี้และจะไม่ทอดทิ้งกันแน่นอน" ประธานยุทธศาสตร์พรรคกล่าว
    ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากพายุโพดุลที่ทำให้น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง มีผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรที่รอการเก็บเกี่ยวรุนแรงอย่างมาก ความยากลำบากและความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของประชาชนในชนบทระดับฐานรากนั้น ถูกซ้ำเติมทั้งจากภัยแล้งก่อนหน้านี้ และตามมาด้วยน้ำท่วมฉับพลัน
    ผศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ล่าสุดพืชผลหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ปศุสัตว์ ได้รับความเสียหาย สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือน ถนนหลวงได้รับความเสียหายใน 12 จังหวัด ถนนสายหลัก 23 เส้นทางมีปัญหาต่อการสัญจร พื้นที่ในเขตเมืองได้รับผลกระทบทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนชะลอตัวและหยุดชะงักในบางพื้นที่ ผลประกอบการของธุรกิจประกันภัยลดลงจากการจ่ายชดเชยความเสียหายทรัพย์สินของภาคธุรกิจและประชาชนผู้เอาประกัน การค้าชายแดนไทย-ลาวชะลอตัวลงชัดเจน โดยประเทศลาวด้านใต้ได้รับผลกระทบอุทกภัยรุนแรงจากพายุเช่นเดียวกัน 
    "ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ชัดเจน แต่จะทำให้การผลิตสาขาเกษตรกรรมในภาพรวมติดลบต่อเนื่องในไตรมาสสามและสี่ปีนี้ จากอัตราการขยายติดลบในไตรมาสสอง -1.1% ระดับราคาพืชผลและราคาอาหารจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตผู้คนจากปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งมากกว่าที่ควรเป็น ล้วนสะท้อนความล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ การอนุรักษ์ป่าไม้และปัญหาภาวะโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ธรรมชาติส่งสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนว่าเราต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและภาครัฐต้องมีนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง การผ่อนคลายมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมโดยไม่พิจารณาผลกระทบระยะยาวเพื่อดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเป็นสิ่งที่จะสร้างภาระต่อสังคมในอนาคต" ผศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว
    ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ กล่าวว่า มาตรการการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนอาจติดขัดจากโครงสร้างการบริหารประเทศที่มีการกระจายอำนาจลดลง กระจายอำนาจการคลังน้อยลง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติได้ช้าลง ด้อยประสิทธิภาพลง และมีอุปกรณ์เครื่องมือช่วยเหลือไม่เพียงพอ ส่วนงบประมาณช่วยเหลือของประชาชนนั้นน่าจะจัดสรรได้ แต่งบซ่อมแซมถนนและสิ่งปลูกสร้างของภาครัฐอาจต้องรองบประมาณปี 2563 ซึ่งจะมีอนุมัติล่าช้าและเริ่มนำมาใช้ได้ในเดือน ก.พ.ปีหน้า.   
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"