ข่าวพะยูนมาเรียมเสียชีวิต และเมื่อผ่าหาสาเหตุก็พบว่า ในตัวของพะยูนน้อยมีขยะพลาสติกที่ระบบทางเดินอาหาร ก่อให้เกิดปัญหาลำไส้อุดตันและลุกลามไปจนทำให้มันเสียชีวิตในที่สุด และยังตามมาด้วย "ยามีล" พะยูนอีกตัวที่เสียชีวิตด้วยสาเหตุคล้ายกัน ไม่นับก่อนหน้านี้มีวาฬตั้งท้องตายเกยตื้น เมื่อผ่าซากเจอขยะพลาสติกกว่า 20 กิโลกรัม เรื่องเศร้าที่เกิดกับสัตว์ทะเลพวกนี้ เป็นผลจากขยะในทะเลที่มีปริมาณมาก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในแชมป์ขยะทะเล ซึ่งไม่ใช่สถิติที่ควรภูมิใจ ขยะพลาสติกกลายเป็นมหันตภัยใหญ่ของประเทศ ซึ่งเวลานี้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อนแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ศึกษาที่มาของขยะทะเลและมาตรการจัดการปัญหาขยะทะเลเพื่อใช้กำหนดแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะพลาสติกและขยะอาหารแบบบูรณาการโดยจะใช้เครือข่ายที่มีสมาชิกกว่า 1.2 แสนรายขับเคลื่อนลดขยะอีกทางหนึ่ง
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน
ขณะนี้ TDRI สรุปผลการศึกษาที่มาขยะทะเลแล้ว มีการนำเสนอสู่สาธารณะ ส่วนหอการค้าไทยฯ ประกาศแนวทางเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนปี 2562-2563 ที่หอการค้าไทยฯ เมื่อวันก่อน โดยมี ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานคณะกรรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยร่วมแสดงจุดยืนผลักดันแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กล่าวว่า ปัญหาขยะทะเลมีแนวโน้มส่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลปี 2553 ปริมาณขยะทะเล 4 แสนตัน แต่ในปี 2562 ขยะทะเลเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตัน นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ รายการขยะทะเลไทย 7 อันดับต้นๆ พบว่าเป็นพลาสติกถึง 12% กล่องโฟม 10% ห่ออาหาร 8% ถุงก๊อบแก๊บ 8% ขวดแก้ว 7% ขวดพลาสติก 7% หลอดดูด 5% เห็นได้ว่าขยะทะเลเกี่ยวข้องกับสินค้าและการบริโภค ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจึงเป็นแนวทางหนึ่งช่วยลดขยะทะเลได้ แต่ก็ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ขยะทะเลจำนวนมากสร้างความเสียหายต่อการท่องเที่ยว ธุรกิจประมง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะอันตรายใหม่อย่างไมโครพลาสติก ถือเป็นมลพิษชีวภาพและโลหะ กระทบระบบนิเวศสัตว์น้ำและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ในฐานะผู้บริโภค
ผลการศึกษาที่มาขยะทะเลนั้น ประธาน TDRI เผยว่า แหล่งที่มาขยะทะเลไทยมาจากบนบก อันดับหนึ่งเป็นการท่องเที่ยวริมชายหาด ชุมชน หรือร้านค้าที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำและริมชายฝั่ง และขยะจากหลุมฝังกลบที่จัดการไม่ถูกต้อง ขยะถูกชะล้างลงแม่น้ำและออกสู่ทะเล นอกจากนั้นขยะยังมาจากเรือประมง เรือขนส่งสินค้า และข้ามพรมแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
“ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในแชมป์ขยะทะเล ขยะส่วนใหญ่เป็นพลาสติกในรูปแบบต่างๆ การป้องกันและแก้ไขต้องเป็นวาระแห่งชาติรัฐ กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติแล้ว แต่ที่ผ่านมามาตรการที่ใช้ยังไม่มีประสิทธิผล เป็นไม้อ่อน ซึ่งในต่างประเทศจากผลศึกษาพบว่า การใช้มาตรการเชิงสมัครใจลดขยะพลาสติกมีประโยชน์จริงแต่ขาดประสิทธิภาพ กลับมาที่ไทย ภาคเอกชนในสาขาค้าปลีกรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือน เป็นสัดส่วนที่น้อยเกินไป และมีไม่กี่รายกล้าเก็บเงินจากผู้บริโภค เพราะกลัวผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปใช้ผู้บริการผู้ค้าปลีกรายอื่นบางรายแถมแต้ม ฉะนั้น มาตรการสมัครใจทำแล้วประชาชนตื่นตัวมากขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องทำต่อไป รัฐควรออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขยะหนุนเสริม" ดร.สมเกียรติ กล่าว
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI
หลายประเทศใช้ไม้แข็งลดขยะพลาสติก ประธาน TDRI ยกผลศึกษามาคุยต่อว่า ประเทศอังกฤษเก็บเงินค่าใช้ถุงพลาสติกใบละ 2 บาท นิวซีแลนด์ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง และหลายประเทศทดลองห้ามใช้ หรือเก็บเงิน โดยท้องถิ่นห้ามใช้ ถือเป็นมาตรการรุนแรง ถือเป็นไม้แข็ง ถ้าฝืนใจใช้แล้วสำเร็จเพราะการแก้ปัญหาต้นทาง ไม่สร้างขยะใหม่เพิ่ม และหาทางกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิลแยกส่วน หรือนำมาเผาผลิตพลังงาน และทำการฝังกลบจะช่วยจัดการขยะครบวงจร แต่สำคัญที่สุดไม่สร้างขยะ ซึ่งแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาจากการลดการผลิตขยะต่างๆ ไม่ใช่สร้างเตาเผาหรือบ่อฝังกลบกำจัดขยะ หรือลดขยะแต่ต้นทาง ไม่ทำให้เกิดขยะเพิ่มขึ้น
“ กรณีไทยต้องมีหลายมาตรการผสมกัน ไม้แข็ง เสนอเลิกใช้กล่องโฟมใส่อาหารโดยเร็ว เพราะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก โฟมย่อยสลายยาก เสี่ยงต่อสุขภาพ สารเคมีปนเปื้อนสู่ร่างกายผู้บริโภค ส่วนกรณีถุงพลาสติก ต้องเก็บเงินใช้ถุงพลาสติก เริ่มในราคา 1.50-2 บาท เป็นราคาเหมาะสมที่กรมควบคุมมลพิษศึกษาไว้ เริ่มจากโมเดิร์นเทรดหรือการค้าปลีกสมัยใหม่ก่อน เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ มินิมาร์ท เพราะมีปริมาณการใช้ถุงพลาสติกมากกว่าตลาดสดหรือร้านค้าทั่วไป ระยะแรกเพื่อให้ประชาชนปรับตัว เริ่มในราคา 1 บาทก็ได้ ค่อยๆ ปรับจะช้าเร็วพิจารณาได้และมีกลไกให้มัดจำค่าขวด" ดร.สมเกียรติกล่าว
ประธาน TDRI ย้ำว่า มาตรการจากรัฐอย่างเดียวไม่เป็นผลหากไม่มีการรณรงค์ลดขยะตั้งแต่ต้นทางกับประชาชนคัดแยกขยะ ซึ่งกลไกแยกขยะของท้องถิ่นต้องมีประสิทธิผล มีธนาคารขยะกรณีที่ผู้บริโภคเก็บของรีไซเคิลมีรางวัลจูงใจ รวมถึงรณรงค์กับภาคธุรกิจ ลดบรรจุภัณฑ์ที่มากเกินไป นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมและนักวิจัยต้องร่วมกันหาวัสดุใหม่แทนถุงพลาสติก เบื้องต้นอาจเป็นต้นทุน แต่เมื่อเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ก็เป็นโอกาสทางธุรกิจ
" ปัญหาขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาร้ายแรงของประเทศไทย ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ต้องใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง เพื่อให้สิ่งที่รัฐประกาศว่าขยะเป็นวาระแห่งชาติมีผลอย่างแท้จริง งานวิจัยที่มาของขยะทะเลเสร็จสิ้นแล้ว แต่แผนของ TDRI จะศึกษาลงลึกในพื้นที่อีอีซี เพื่อจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในอีอีซี เพราะการพัฒนาประเทศต้องไม่มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม " ดร.สมเกียรติ กล่าว
รศ.ดร.เสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี ม.หอการค้าไทย
รศ.ดร.เสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี ม.หอการค้าไทยและกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดมความคิดเห็นของคณะกรรมการและเครือข่ายร่วมกัน กำหนดจุดยืนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและเป็นความยั่งยืนของประเทศ ทั้งนี้ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานในการขับเคลื่อน 4 แผน ซึ่งจะขับเคลื่อนผ่านเครือข่ายที่มีสมาชิกกว่า 120,000 ราย เน้นหวังผลในเชิงปฏิบัติและบูรณาการครอบคลุมทั้งประเทศ เราเลือกโฟกัสขยะพลาสติก ขยะอาหารและอาหารเหลือ ซึ่งแหล่งกำเนิดขยะอาหาร ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาด โรงแรม ร้านอาหาร ครัวฟู้ดคอร์ด วัด เป็นต้น
สำหรับแผนงานในปี 62-63 กรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนกล่าวว่า มีการรณรงค์ให้ความรู้เปลี่ยนความคิดเพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องการคัดแยกขยะการจัดการแยกขยะ การลดขยะอาหารและการนำอาหารเหลือไปบริจาคให้ผู้ขาดแคลน โดยรณรงค์เน้น 2 กลุ่มเป้าหมาย คือนักเรียนและนักศึกษา เช่น บรรจุในบทเรียนชุดความรู้ในหลักสูตร ซึ่งจะมีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการต่อไป นอกจากนี้จัดทำ Board Game และนำโมเดลโรงเรียนต้นแบบมาเผยแพร่สร้างโครงการนำร่อง เป็นต้นแบบสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าจากขยะพลาสติกสู่โรงเรียน
นอกจากนี้จะรณรงค์ให้ความรู้แก่ชุมชนผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวโดยใช้โซเชียลมีเดีย, ผู้ทรงอิทธิพล, ยูทูบเบอร์นำเสนอเนื้อหาการแยกขยะ รวมถึงใช้พระสงฆ์และวัดให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขยายโมเดล เช่น วัดจากแดงเพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สู่ชุมชนอื่น รวมถึงกำหนดนโยบายและแนวทางเป้าหมายในทิศทางเดียวกันลดใช้ถุงพลาสติก
ในแผนดังกล่าวยังมีการจัดการแยกขยะ เช่น การลงมือแยกขยะลดภาระโลก แยกขยะอย่างจริงจังในภาคเอกชน และชุมชนจัดตั้งถังแยกขยะในจุดที่เหมาะสม กำหนดเวลาการจัดเก็บขยะแต่ละประเภทโดยร่วมมือกับภาครัฐและเครือข่ายต่างๆ แผนนี้จะเนรมิตชีวิตใหม่ให้ขยะพลาสติก หรือ Upcycling โดยศึกษาความเป็นไปได้ในการเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ จัดทำตัวอย่างเพื่อนำไปสู่การเผยแพร่ ลงมือทำอย่างจริงจัง
“ ส่วนการลดขยะอาหารในภาคการค้าและบริการ เช่น ให้ความรู้ด้านข้อเสียต้นทุนสูงของขยะอาหารและวิธีการจัดการผ่านสื่อต่างๆ โซเชียลมีเดีย และหลักสูตรการเรียนการสอนนักเรียนนักศึกษาด้านโรงแรม มีการเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดขององค์กรที่มีการบริหารจัดการขยะอาหารที่มีประสิทธิภาพ ให้ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ทุกบริษัทร่วมมือกันเป็นตัวอย่างให้มีเป้าหมายที่จะได้ร่วมกัน" รศ.ดร.เสาวนีย์ เผย
ขยะอาหารเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ กรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ข้อมูลเพิ่มว่า แผนนี้จะมีการนำอาหารเหลือที่สามารถบริโภคได้มาจัดการ โดยด้านขนส่งให้องค์กรหรือภาครัฐอุดหนุนบริษัทขนอาหารไปบริจาคผู้ขาดแคลน โดยสนับสนุนค่าขนส่ง เรียกว่า “รถส่งต่อสุข" หารถไปรับอาหารบริจาคที่องค์กรต่างๆ แจ้งแล้วนำไปส่งต่อสถานสงเคราะห์ นอกจากนี้ จะสนับสนุนให้มีตู้เย็นชุมชนเพื่อแบ่งปันอาหารเหลือที่มีคุณภาพและบริโภคได้ แนวทางนี้จะช่วยลดปริมาณขยะอาหารอีกทางหนึ่ง เพราะหากจัดการขยะอาหารไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบต่อการจัดการขยะโดยรวม แผนดังกล่าวจะนำเข้าสู่การสัมมนาใหญ่หอการค้าไทยทั่วประเทศปลายปีนี้ เป้าหมายใช้ขับเคลื่อนอย่างจริงจังช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกและขยะอาหารอย่างยั่งยืน รวมถึงแก้วิกฤติขยะพลาสติกในทะเล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |