ฝ่ายค้านทำใจยำลับ‘บิ๊กตู่’


เพิ่มเพื่อน    

 รัฐบาลยืนยันขอประชุมลับญัตติซักฟอก "บิ๊กตู่" ปมถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ "สนธิรัตน์" เผยไม่ใช่วิธีปิดปากฝ่ายค้าน ขณะที่รองประธานสภาฯ หนุน เพราะอาจมีบางประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน ไม่สามารถควบคุมการอภิปรายของ ส.ส.ได้ "สมพงษ์" ระบุต้องรับสภาพ ฝ่ายค้านจะไม่วอล์กเอาต์แน่นอน ถึงอย่างไรต้องอภิปราย 

    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวยอมรับว่า มีการนำประเด็นประชุมลับเพื่อพิจารณาญัตติขออภิปรายทั่วไปกรณีถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน เข้าสู่ที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐ เพราะตามข้อบังคับการประชุมสภาสามารถทำได้หากเนื้อหาในการประชุมต้องระมัดระวัง หรือไม่ควรจะเผยแพร่ แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเสนอประชุมลับทันทีหรือให้อภิปรายไปก่อน 
    เขายืนยันว่า รัฐบาลพร้อมชี้แจง แต่การชี้แจงอยู่ภายใต้กรอบการพูดคุยกัน ก็อาจจะพิจารณาเรื่องการประชุมลับหากมีความจำเป็น ทั้งนี้ยังไม่ได้พูดถึงขั้นตอนการประชุมว่าจะขอประชุมลับในห้องประชุมเลยหรือไม่ พร้อมย้ำว่า ไม่ใช้วิธีการปิดปากฝ่ายค้าน เพราะฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ของตัวเอง และขณะนี้ก็ยังไม่ได้กำหนดตัวบุคคลที่จะเสนอขอประชุมลับว่าจะเป็นรัฐบาลหรือพรรคพลังประชารัฐ
    ด้านนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้มีการประชุมลับ เพราะตามญัตติที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเสนอมานั้น อาจมีบางประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน อีกทั้งการพิจารณารวมถึงการอภิปรายของ ส.ส.อาจมีบางประเด็นที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม การอภิปรายทั่วไปดังกล่าวจะมีมติให้เป็นการประชุมลับหรือไม่นั้น ในหลักการต้องให้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และวิป ฝ่ายค้านหารือร่วมกัน ส่วนในขั้นตอนของสภา หากจะให้เป็นการประชุมลับนั้น ต้องขอมติจากที่ประชุมสภา
    "ผมสนับสนุนให้รัฐบาลตอบตกลงว่าจะให้สภา เปิดประชุมวาระดังกล่าวได้เมื่อใด และควรก่อนปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 วันที่ 18 กันยายนนี้ ส่วนจะเป็นวันใดนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพื่อให้กรณีที่เกิดขึ้นและถูกตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายต่างๆ ยุติ ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าหากไม่ทันสมัยประชุมอาจขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญนั้น ผมมองว่าสมัยวิสามัญนั้นเป็นประเด็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563" รองประธานสภาฯกล่าว
    นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หลังจากที่สภาส่งหนังสือเพื่อแจ้งไปยังรัฐบาล ต่อการเปิดประชุมเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติของฝ่ายค้าน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งกลับ เบื้องต้นคาดว่าต้องรอให้คณะรัฐมนตรีประชุมเพื่อพิจารณาในวันที่ 3 กันยายน ขณะเดียวกัน รอฟังการประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 2 กันยายน ซึ่งวิปรัฐบาลได้นัดหารือที่อาคารรัฐสภา เวลา 14.00 น.
วิปรัฐบาลขอประชุมลับ
    นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า บ่ายวันที่ 2 ก.ย. วิปรัฐบาลที่ประชุมหารือกันที่รัฐสภา ทั้งการกำหนดวันอภิปรายและการขอเปิดประชุมลับ ซึ่งการประชุมลับต้องสอบถามความเห็นจาก ครม.ก่อนว่าจำเป็นหรือไม่ เพราะเป็นผู้ที่จะมาตอบ โดยจะถามจากตัวแทน ครม.ตามที่นายกฯ มอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาและกรรมการวิปรัฐบาล คือนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะเข้าร่วมประชุมด้วยในวันดังกล่าวว่ามีความจำเป็นแค่ไหน เพราะเป็นผู้ที่จะมาตอบ เราไม่ใช่ผู้ตอบ วิปรัฐบาลไม่ได้ซีเรียสจะประชุมลับหรือไม่ลับ หลังจากนั้นตัวแทน ครม.นำข้อหารือเบื้องต้นเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 3 ก.ย.
    เขากล่าวว่า วันที่นายกฯ และ ครม.จะมาตอบสภาก็น่าชัดเจนในเร็วๆ นี้ เพราะเหลือเวลาเพียง 2 สัปดาห์จะปิดสมัยประชุมสภาแล้ว ต้องรอดูรัฐบาลจัดเวลาให้ได้ช่วงไหน เชื่อว่าใช้เวลาวันเดียวพอ 
     นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีหรือวิป ครม. กล่าวว่า ในวันจันทร์ ช่วงบ่ายจะมีการประชุมวิปรัฐบาล ดังนั้นขอรอหารือในวิปฯ ก่อน โดยเบื้องต้นจะมีการประสานกับทางสภาว่าจะมีการกำหนดพิจารณาญัตติวันไหน เพื่อจะได้มาแจ้งให้นายกฯ ได้รับทราบต่อไป 
    “จริงๆ ถ้าดูตามมาตรา 152 ที่ระบุไว้ มันไม่ใช่เรื่องของนายกรัฐมนตรีคนเดียว มันเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ เพราะฉะนั้นถือเป็นเรื่องของ ครม.ทุกคน ซึ่ง ครม.ทุกคนก็จะมีสิทธิ์โดนถาม และมีสิทธิ์ที่จะตอบได้ทุกคน” 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า การหารือในที่ประชุมวิปฯ วันจันทร์นี้ จะมีการหารือถึงกรณีที่มีการเสนอให้มีการประชุมลับด้วยหรือไม่ นายเทวัญกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูข้อบังคับว่าใครมีสิทธิ์ที่จะเป็นผู้เสนอ แล้วจะต้องดูว่ารายละเอียดต้องทำอย่างไร ใช้เสียงแค่ไหนในการที่จะให้ขอประชุมลับ และความเหมาะสมเป็นอย่างไร เมื่อถามว่าส่วนตัวมองอย่างไรกับข้อเสนอให้มีการประชุมลับ นายเทวัญกล่าวว่า มันขึ้นอยู่กับ ส.ส.และข้อบังคับว่าใครมีสิทธิ์ที่จะขอให้มีการประชุมลับ มันเป็นเรื่องสิทธิ ส่วนตัวตนไม่มีความเห็น จะโหวตลับหรืออภิปรายลับก็แล้วแต่ 
    เมื่อถามว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันฯ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นควรมีการประชุมลับหรือไม่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ตอบว่า ตนไม่ทราบ ขอประชุมกับวิปฯ ในวันจันทร์ก่อนถึงจะเห็นภาพชัดเจน และเรื่องนี้นายกฯ ยังไม่ได้มีการสั่งการใดๆ มา เพียงแต่ตนได้แจ้งกับนายกฯ ไปว่าวันจันทร์จะมีการประชุมวิปฯ ซึ่งผลเป็นอย่างไรจะมาแจ้งให้นายกฯ ทราบ และนำเรียนหารือในที่ประชุม ครม.วันที่ 3 ก.ย. หลังจากนั้นคงได้ข้อสรุปที่ชัดเจน 
บททดสอบ"บิ๊กตู่"
    นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปนายกฯ โดยไม่ลงมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ตามมาตรา 152 ว่า เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดวันเปิดวันอภิปรายแล้ว ต่างฝ่ายก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด จากกระแสข่าวที่ออกมาว่าฝ่ายรัฐบาลจะเสนอให้มีการประชุมลับนั้น ตามข้อบังคับการประชุมสภานั้น สามารถทำได้ เพราะในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น ถ้ามีการประชุมวาระใดที่เป็นความลับ พาดพิงบุคคลภายนอกให้ได้รับความเสียหาย หรือเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ คณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกในที่ประชุม สามารถเสนอต่อที่ประชุมให้มีการประชุมลับได้ เพราะฉะนั้นการจะมีการประชุมลับหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของสถานการณ์หรือเนื้อหาของการประชุม ไม่ควรจะตั้งธงไว้ล่วงหน้า ไม่อยากให้ทุกฝ่ายมีความกังวลใดๆ หรือตีตนไปก่อนไข้ การอภิปรายทั่วไป เป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบของพรรคฝ่ายค้านตามวิถีประชาธิปไตย และได้มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย
        นายเทพไทกล่าวต่อว่า การจะมาชี้แจงการอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านของนายกรัฐมนตรี หรือไม่นั้น ส่วนตัวเชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะมาชี้แจงด้วยตนเอง และมั่นใจว่าสามารถรับมือกับการอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ การอภิปรายในสภาครั้งนี้เป็นการต่อสู้ในอภิปรายตามข้อเท็จจริงทั้ง 2 ฝ่าย ต้องนำความจริงมาพูดกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เดียวที่รู้ข้อมูลทั้งหมดได้ดีที่สุด การอภิปรายครั้งนี้จะเป็นบททดสอบการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเชื่อว่า เวลาจะพิสูจน์ทุกสิ่ง ความจริงจะพิสูจน์ทุกอย่าง
    นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่ฝ่ายรัฐบาลระบุมีแนวทางขอประชุมลับได้ว่า การอภิปรายเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากรู้ หากมีการประชุมลับแล้วประชาชนจะรับรู้ข้อเท็จจริงได้อย่างไร เรื่องนี้ผู้อภิปรายจะต้องมีความระมัดระวังอย่างสูงอยู่แล้ว จะไม่ให้มีการพาดพิงสถาบัน อีกทั้งรัฐธรรมนูญ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้ร่างเอง ทำไมการถวายสัตย์ฯ จึงไม่ครบถ้วน แม้แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็เคยเขียนหนังสือว่าการถวายสัตย์ฯ จะผิดไม่ได้ คำว่า  “และ หรือ” จะสลับไม่ได้ ยืนยันพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรคปรารถนาดี ไม่ได้มาแก่งแย่งเพื่อล้มรัฐบาล และการอภิปรายทั่วไปไม่มีการลงมติ โดยพรรคฝ่ายค้านจะถามให้ประชาชนได้รู้ และอยากให้มีการเปิดอภิปรายอย่างเปิดเผย
    เมื่อถามว่า การหาข้อยุติในสภาระหว่างเปิดประชุมลับหรือเปิดเผยจะเป็นอย่างไร นายสมพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องในสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องวัดกันหน่อย พรรคฝ่ายค้านมีสัญญาประชาคมร่วมกัน จะไม่ให้ขาดประชุมแม้แต่คนเดียว ทางรัฐบาลมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านอยู่ หากไม่เข้าห้องน้ำกันเสียงก็ก้ำกึ่งกัน และการประชุมสภาผู้แทนราษฎรทางฝ่ายค้านต้องการให้อภิปราย 2 วัน แต่มีการกำหนดไว้เบื้องต้น 1 วัน หากไม่เพียงพอสามารถขอขยายได้ การประชุมครั้งนี้จะไม่ใช้วันประชุมสภาปกติในวันพุธและวันพฤหัสบดี อาจประชุมวันศุกร์และวันเสาร์แทน ดังนั้นอาจมีการประชุมในวันศุกร์ที่ 6 ก.ย.นี้ ที่ได้กำหนดไว้คร่าวๆ 
ฝ่ายค้านรับสภาพ
    เมื่อถามว่าถ้ามติที่ประชุมสภาให้ประชุมลับนั้น นายสมพงษ์กล่าวว่า คงต้องรับสภาพ ฝ่ายค้านจะไม่วอล์กเอาต์แน่นอน ถึงอย่างไรต้องอภิปราย และคิดว่านายกรัฐมนตรีจะมาขึ้นแจงด้วยตัวเอง แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร หวังว่านายกฯ จะอารมณ์ดีขึ้น ส่วนตัวเห็นก่อนสภาเปิดนายกฯ อารมณ์ดี แต่พอแถลงนโยบายก็เป็นอีกแบบ ส่วนผู้อภิปรายจะใช้คนรุ่นใหม่ผสมผู้มีประสบการณ์ และตนจะเป็นผู้นำเปิดอภิปรายคนแรก 
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินคดีลับหลัง พิพากษายกฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีบงการสั่งธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้แก่บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานครโดยมิชอบ โดยพยานโจทก์เป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่าซูเปอร์บอสคือนายทักษิณ สั่งการให้จำเลยที่ 2-4 ซึ่งเป็นผู้บริหารธนาคารกรุงไทยที่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อ
        โดยระบุว่า เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้อง สะท้อนว่าการกล่าวหานายทักษิณเป็นซูเปอร์บอสในคดีเงินกู้กรุงไทยเป็นความเท็จและไม่มีมูลความจริงแม้แต่น้อยมาโดยตลอด
          ส่วนซูเปอร์บอสจะเป็นผู้ใด หรือมีจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม สาวนายน กรรมการสองคนในขณะนั้นน่าจะมีคำตอบ การที่นายอุตตมเข้าร่วมการประชุมโดยไม่ได้มีการแสดงความเห็นคัดค้าน แต่ชื่อของนายอุตตมกลับไม่ถูกฟ้อง ต้องออกมาชี้แจงกับสังคมด้วยตนเอง ซึ่งอาจมีคุณสมบัติที่ขัดต่อการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องดูแลการเงินการคลังของประเทศ ต้องกำกับดูแลธนาคารกรุงไทย สถาบันทางการเงินภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง หากยังมีเรื่องราวที่สังคมอาจยังไม่ไว้วางใจเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเสถียรภาพของรัฐบาลในที่สุด
          “ที่ผ่านมาแม้นายอุตตมจะได้ชี้แจงผ่านสภาบ้าง แต่ประชาชนบางส่วนยังรู้สึกว่าคำอธิบายยังไม่ชัดเจน ดังนั้นพรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายค้านจะดำเนินการตรวจสอบนายอุตตมต่อไปตามรูปแบบที่กฎหมายเอื้อให้ดำเนินการได้” นายอนุสรณ์กล่าว
    ดร.รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง และฝังรากลึกยาวนานยากจะแก้ไข ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อสถาบันหลักทางการเมืองของประเทศ จนนำไปสู่วิกฤติศรัทธาจากประชาชนและทำให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ มากมายตามมา ซึ่งตนมองว่าปัจจุบันอาจจะมีแนวโน้มและกำลังจะเกิดขึ้นได้ เพราะด้วยกติกา กระบวนการจัดการเลือกตั้ง มาจนถึงการได้มาของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลชุดนี้ ก็มีข้อกังขาและถูกตั้งคำถามจากสังคมมากมาย รวมไปถึงการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ภายใต้ระบบรัฐสภา อันเกิดจากกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ ส.ว.จากการแต่งตั้งของ คสช. มีสิทธิร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งไม่เคยปรากฏาก่อน ก็ยิ่งทำให้สังคมรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมและไม่เป็นธรรม เพราะ ส.ว.ไม่ได้เป็นเสียงสะท้อนที่แท้จริง เช่น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงพฤติกรรมและบทบาทการทำหน้าที่ของ ส.ส.และ ส.ว.บางคน ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าจะฝากความหวังให้ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องประชาชนในสภาได้หรือไม่ และคุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชนที่มาจ่ายให้กับคนเหล่านี้หรือไม่ 
ล้มประเพณีการเมือง
    "ขณะเดียวกันรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่เกิดจากการจัดตั้งของพรรคที่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 อันเป็นการล้มประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองสากลที่ต้องให้พรรคอันดับ 1 เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก่อน จึงทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ และเต็มไปด้วยบรรยากาศการต่อรองตำแหน่ง รมต.และผลประโยชน์ทางการเมืองมากมายเข้ามาบริหารประเทศ ดังนั้นผมมองว่าขณะนี้ประเทศอาจจะกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติศรัทธาและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนที่มีต่อสองสถาบันหลักของประเทศ นั่นคือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ"
    ดร.รยุศด์กล่าวต่อว่า เรายังเหลืออีกสถาบันที่ยังเป็นความหวัง เป็นความเชื่อมั่น และเป็นที่พึ่งสุดท้ายของสังคมไทย นั่นก็คือสถาบันตุลาการ แต่ ณ ห้วงเวลานี้ จากสถานการณ์หลายอย่างที่ผ่านมา ฝ่ายตุลาการก็ถูกสังคมตั้งคำถามว่า การวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมหรือองค์กรตุลาการนั้นจะสามารถทำได้หรือไม่ และถ้าทำได้ จะทำได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็มีหลายคนถูกดำเนินคดีหมิ่นฯ หรือละเมิดอำนาจศาลมาแล้วหลายกรณี และแม้ส่วนตัวตนจะเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของสถาบันตุลาการ ว่าจะยังคงเป็นที่พึ่งและทางออกสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาของประเทศได้ แต่ตนก็ยังรู้สึกกังวลใจ ไม่อยากจะคิดเลยว่าหากมีวันใดที่มีเหตุทำให้ประชาชนสิ้นศรัทธาต่อเสาหลัก หรืออำนาจทั้ง 3 ฝ่ายพร้อมกัน นั่นคือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการแล้ว ประเทศเราคงอาจจะเกิดกลียุค และอาจจะทำให้ประเทศเกิดปัญหาที่ร้ายกาจยิ่งกว่าที่เราเคยพบเจอมาในอดีตหรือไม่ เพราะหากระบบการถ่วงดุลอำนาจของประเทศมีปัญหา เกิดวิกฤติศรัทธาและความเชื่อมั่นแล้ว ประชาชนก็ย่อมไม่อาจที่จะฝากความหวังไว้กับใครได้ ดังนั้น ตนจึงขอฝากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและผู้มีอำนาจ ขอให้ช่วยกันดูแล อย่าให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นเลย ที่สำคัญขอให้ใช้อำนาจที่มีอยู่ด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
     นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มักจะมีการพูดจากันในทำนองว่ารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจะไปไหวไหม มีสถานการณ์ทางการเมืองที่จะต้องอภิปรายในประเด็นที่สำคัญๆ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตัดสินคดีที่เกี่ยวกับพลเอกประยุทธ์หลายคดี อย่างน้อย 2 คดี เสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร วิตกกังวลกันไปต่างๆ นานา ในฐานะที่อยู่ในแวดวงการเมือง และเป็นสมาชิกวุฒิสภา นายวันชัย สอนศิริ ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า 
    1.ต้องบอกว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ถูกกาลถูกเวลา เหมาะกับสถานการณ์ในตอนนี้อย่างยิ่ง ลองเปรียบเทียบดูก็ได้กับบุคคลที่อยู่ในแวดวงทางการเมืองในขณะนี้ พลเอกประยุทธ์เป็นตัวเลือกที่โดดเด่น ทั้งเป็นการผสมผสานกันระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายความมั่นคงได้อย่างลงตัว ไม่แข็งเกินไปและไม่อ่อนเกินไป สามารถบริหารจัดการในทางการเมืองได้ และเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนได้เป็นอย่างดี แม้เสียงจะปริ่มน้ำ แต่ก็มีความมั่นคงทางการเมืองมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ และยากที่พรรคการเมืองอื่นๆ จะเป็นรัฐบาลได้ในสถานการณ์อย่างนี้ เรียกได้ว่าแน่นปึ้กแข็งปั้ก
ฝ่ายค้านกระจัดกระจาย
    2.ฝ่ายค้านก็กระจัดกระจายกันหลายพรรคหลายพวกหลายแนวทาง ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนพรรคฝ่ายค้านเช่นพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต จึงไปกันคนละทิศคนละทาง บางครั้งก็กระแทกกันเอง รวมทั้ง ส.ส.บางคนบางพรรคก็ไม่อยากที่จะยืนแข็งตายเป็นฝ่ายค้านตลอดไป 4 ปี จึงมีลักษณะแทงกั๊กทางการเมือง พร้อมที่จะมาเป็นฝ่ายรัฐบาลเมื่อเหตุการณ์และสถานการณ์ลงตัว ปรากฏการณ์เหล่านี้จะเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ผ่านสมัยการประชุมนี้ไปได้ เชื่อว่าจะมีความชัดเจนให้ปรากฏอย่างแน่แท้ อันทำให้กำลังของฝ่ายค้านไม่เปรี้ยงปร้างตูมตาม เผด็จศึกได้อย่างรุนแรง จะเป็นไปในทางถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมากขึ้น ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองใหญ่ก็เปลี่ยนไปมาก ไม่แข็งแกร่งเหมือนก่อนเก่า รังแต่จะอ่อนกำลังไปเรื่อยๆ จึงสรุปได้ว่ากำลังของฝ่ายค้านไม่แรงพอที่จะโค่นรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้
    3.เงื่อนไขที่จะทำให้รัฐบาลมีปัญหาหรือเป็นประเด็นที่จะทำให้ฝ่ายค้านและประชาชนเอาไปขยายผลถึงขั้นรัฐบาลอยู่ไม่ได้ในขณะนี้ยังไม่มี ทั้งพรรคการเมืองที่ร่วมกันเป็นรัฐบาลก็ยังอยู่ในภาวะข้าวใหม่ปลามัน ต่างร่วมไม้ร่วมมือที่จะสร้างผลงานและหวังจะเป็นรัฐบาลร่วมกันไปในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ สิ่งใดที่เป็นเงื่อนไขโดยเฉพาะการขัดแย้งกันเองหรือการทุจริตคอร์รัปชัน คงเป็นเรื่องที่แต่ละพรรคแต่ละคนจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คนที่เป็นรัฐมนตรีและคนที่เป็นฝ่ายค้านบางคนบางพรรคก็ถือว่าเป็นประเภทไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ ขยับเรื่องอะไรไปต่างก็รู้ทันกัน ในภาวะและสถานการณ์เช่นนี้ การทุจริตคอร์รัปชันจึงมิใช่ของง่าย ยิ่งพลเอกประยุทธ์หัวไม่กระดิก หางก็คงไม่กล้าส่าย เมื่อไม่มีเงื่อนไขสองอย่างที่ว่ามานั้นเกิดขึ้นเสียแล้ว ต่อให้ฝ่ายค้านแข็งแกร่งขนาดไหนก็ยากที่จะล้มรัฐบาลได้
         นายวันชัยกล่าวในที่สุดว่า การที่ฝ่ายค้านมัวแต่เล่นประเด็นปัญหาหรือการอภิปรายที่ไม่ใช่เรื่องที่ตรงความรู้สึกหรือความต้องการของประชาชน เช่น เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง เรื่องการทำมาหากินเสียแล้ว รังแต่จะทำให้ฝ่ายค้านเสียหาย ขาดความน่าเชื่อถือจากประชาชนเสียมากกว่า ในทำนองที่ว่า เรื่องที่ควรทำกลับไม่ทำ เรื่องที่ทำกลับเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์โพดผลใดๆ กับประชาชน ทำให้ฝ่ายค้านมีแต่เสียกับเสีย ไม่ได้อะไรเลย    
เศรษฐกิจใหม่ได้หัวหน้าพรรค
    ที่ห้องประชุมใหญ่ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้มีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี ครั้งที่ 3/2562 โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเศรษฐกิจใหม่ รักษาการหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ รักษาการเลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ พร้อมด้วยสมาชิกพรรคจากทั่วประเทศกว่า 300 คนเข้าร่วม โดยวาระการประชุมคือการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ แทนนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ที่ได้ลาออกไป พร้อมเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ 
    ซึ่งมีผู้เสนอชื่อ นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค เป็นหัวหน้าเพียงผู้เดียว มีสมาชิกให้การรับรองครบถ้วนตามระเบียบการเลือกตั้ง จากนั้นได้มีการกาบัตรลงคะแนนเลือกตั้งหัวหน้าพรรค นายมนูญได้คะแนนเสียงเห็นชอบทั้งสิ้น 317 คะแนน 
    ส่วนกรรมการบริหารชุดใหม่ประกอบด้วย นายสุภดิช อากาศฤกษ์ รองหัวหน้าพรรค, นายภาสกร เงินเจริญกุล เลขาธิการพรรค, นายพิชัย  ขจรเรืองโรจน์ รองเลขาธิการพรรค, นายอภิวัฒน์ อากาศฤกษ์ นายทะเบียนพรรค, นายณกรณ์  ภู่ทับทิม ผู้ช่วยนายทะเบียนพรรค, น.ส.ปัทมาภรณ์  แสงดี เหรัญญิกพรรค, นายปราโมทย์ ทองน้อยยิ่ง ผู้ช่วยเหรัญญิกพรรค, นายสุริยันต์  สุริยะโชติกุล โฆษกพรรค,  นายองอาจ วนามากสมบัติ รองโฆษกพรรค, นายศิระ  ภัทรวรโยธิน กรรมการบริหารอื่นๆ
    โดยนายมนูญกล่าวว่า ขณะนี้เรามี ส.ส. 6 คนในสภา และเราสัญญาว่าจะทำหน้าที่ ส.ส.ให้เต็มกำลังความสามารถ จะสานต่อพร้อมทั้งผลักดันทุกนโยบายของพรรคที่เคยให้ไว้กับประชาชนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ถึงแม้จะเป็นฝ่ายค้านก็ตาม เราจะยึดถือความถูกต้องและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เรื่องไหนดีก็สนับสนุน เรื่องไหนไม่เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมก็จะไม่เห็นด้วยแน่นอน
    ที่ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่,   นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และนายศรายุทธ์ ใจหลัก ผู้อำนวยการพรรค ร่วมประชุมกับหัวหน้าคณะทำงานจังหวัดทั่วประเทศของพรรคอนาคตใหม่ ถึงทิศทางภาพรวมของพรรคอนาคตใหม่ทั้งในสภาผู้แทนราษฏร และนอกสภา โดยในช่วงแรกของกิจกรรม นายธนาธรได้อธิบายถึงจุดประสงค์การประชุมในวันนี้ บทบาทของคณะทำงานจังหวัด และทิศทางของพรรคอนาคตใหม่ พร้อมอธิบายโครงสร้างพรรคหลังจากการเลือกตั้ง และรายงานรายได้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของพรรคให้ผู้ร่วมอบรมได้รับทราบด้วย
    นายธนาธรกล่าวว่า ทีมทำงานจังหวัดเป็นหน่วยที่สำคัญของพรรค พรรคจะเข้มแข็งหรือไม่ อยู่ที่ประประสานงานระหว่างทีมงานจังหวัดและส่วนกลางของพรรค ส่วนงานในสภา ในฐานะฝ่ายตรวจสอบรัฐบาลกำลังจะเริ่มต้น ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ พรรคอยากจะนำมิติใหม่ทางการเมืองเข้าสู่สภา และตนเชื่อว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานและยกเลิกเกณฑ์ทหาร สามารถทำร่วมกับฝ่ายรัฐบาลได้ 
    “พรรคอนาคตใหม่ต้องคงอยู่คงทนกว่าผม หรือปิยบุตร การต่อสู้ใช้ระยะเวลานาน อาจใช้เวลาเป็น 10 ปี ขอให้สมาชิกทุกท่าน คณะทำงานทุกคน ส.ส.ทุกคนยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างคงมั่นตลอดไป” นายธนาธร กล่าว
    ด้านนายปิยบุตร กล่าวถึงงานในสภาผู้แทนราษฎรว่า เรากำลังทำมติมหาชนให้ปรากฏอย่างเป็นทางการในสภาผู้แทนราษฎร เราจะทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีเสียงที่ดังมากขึ้น และดังมาถึงภายในสภา เพราะประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง เราจึงต้องทำให้ประชาชนที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลมีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"