‘โพดุล’ดุ!ถล่ม59จว. ขอนแก่นอ่วม‘นายกฯ’สั่งทุกเหล่าทัพช่วยชาวบ้าน


เพิ่มเพื่อน    

 

ปภ.เตือน 59 จังหวัดเสี่ยงภัย "โพดุล" ยังดุ แผลงฤทธิ์ต่อทั่วประเทศ ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่มและคลื่นลมแรงถึง 1 กันยายน บ้านไผ่ ขอนแก่น อ่วมหนัก จมหลายพื้นที่  ถนนมิตรภาพตัดขาดลึกเป็นเมตร ระทึก! ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 39 ช่วยชาวบ้านติดในรถนาน 7 ชั่วโมงสำเร็จ "บิ๊กตู่" สั่งทุกเหล่าทัพระดมกำลังพล เครื่องจักร ลงพื้นที่ด่วน

    นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุ “โพดุล” ยังคงปกคลุมบริเวณจังหวัดเลย เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ ประกอบกับกรมทรัพยากรธรณีให้เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม เนื่องจากประเทศไทยมีฝนตกหนักต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 31 สิงหาคม-1 กันยายน 2562 
    ทั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสาน 59 จังหวัดเสี่ยงภัย แยกเป็น
    พื้นที่ที่ต้องติดตามผลกระทบจากฝนตกหนักและลมกระโชกแรง ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก, ภาคกลาง ได้แก่ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครนายก และเพชรบุรี, ภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล 
    พื้นที่ต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขัง ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแพร่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา มหาสารคาม สุรินทร์ และอุบลราชธานี
    พื้นที่ต้องติดามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน น่าน อุตรดิตถ์ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก, ภาคกลาง ได้แก่ สุโขทัย, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด, ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง และพังงา 
    พื้นที่ต้องติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากคลื่นลมแรง ประกอบด้วย ภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ติดตาม 24 ชั่วโมง
    รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ฝนตกสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มต่ำ 
    นอกจากนี้ ได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล จัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง อีกทั้งกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลแจ้งเตือนนักท่องเที่ยว ห้ามประกอบกิจกรรมทางทะเลทุกประเภทในช่วงที่มีคลื่นลมแรง รวมถึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปตรวจสอบสถานการณ์ความเสียหายที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในวันที่ 1 กันยายน ช่วงเช้า เพื่อประเมินความเสียหายจากอุทกภัยในภาคอีสาน และประสานความช่วยเหลือ พร้อมทั้งหามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้ครอบคลุมทุกมิติต่อไป
    อิทธิพลจากพายุโพดุล ทำให้เกิดฝนตกอย่างหนักอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันเสาร์ ส่งผลให้พื้นที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เกิดน้ำท่วมขัง และมีทีท่าที่จะขยายตัวเป็นวงกว้างเพิ่มมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากได้ทำให้ถนนถูกกระแสน้ำกัดเซาะชำรุดเสียหาย โดยเฉพาะที่ ต.ภูเหล็ก อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พบว่าถนนเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านหนองหญ้าปล้อง-บ้านภูเหล็ก ถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนขาด 
    อีกทั้งบริเวณช่วงคอสะพานถูกน้ำกัดเซาะพังทลายลงเช่นกัน โดยที่ในขณะนี้ชาวบ้านต่างมายืนรอความหวังจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งทางผู้นำชุมชนได้รายงานไปยังทางจังหวัดให้ทราบแล้ว 
ตื่นมาเจอถนนขาดแล้ว
    ทั้งนี้ เส้นทางดังกล่าวที่ถูกน้ำกัดเซาะนั้น สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่ต้องใช้ในการเดินทางทั้งหมด 6 หมู่บ้านของ ต.ภูเหล็กอย่างมาก และจากกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากยังคงกัดเซาะในจุดที่ขาดได้ทรุดลงอย่างต่อเนื่องด้วย
    นายดุสิต สายจันทร์ อายุ 61 ปี ชาวบ้านภูเหล็ก บอกว่า ฝนจากพายุโพดุลตกลงมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยชาวบ้านก็ได้เฝ้าระวังความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง จนกระทั่งช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา พบว่าถนนเส้นทางดังกล่าวถูกน้ำกัดเซาะจนขาด คอสะพานก็ถูกน้ำกัดเซาะ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ตำบลภูเหล็กจำนวน 6 หมู่บ้าน ที่ต้องสัญจรไปมาบนเส้นทางดังกล่าวเข้า-ออกไม่ได้ เพราะยังไม่มีหน่วยงานเข้ามาให้การช่วยเหลือแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีถนนอีกหลายจุดที่ถูกน้ำกัดเซาะเช่นกัน
    ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น โดยเฉพาะการจราจรบนถนนมิตรภาพ ในช่วงผ่านเขต อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ตั้งแต่ช่วง 4 แยกบ้านเกิ้ง ไปถึง 4 แยกเกียรติสิน ระยะทางประมาณ 2 กม. พบว่าทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่อนุญาตให้รถทุกชนิดผ่านทั้งขาขึ้นขาล่อง เนื่องจากปริมาณน้ำที่ท่วมถนนมิตรภาพทั้ง 2 ฝั่ง มีบางจุดลึกประมาณกว่า 1 เมตร และกระแสน้ำไหลเชี่ยว เกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุหรือรถเสียขึ้นได้ โดยให้เพียงรถบรรทุกขนาดใหญ่ผ่านไปเท่านั้น ซึ่งนอกจากนี้ยังพบว่ามีรถบรรทุก 10 ล้อพยายามฝ่ากระแสน้ำที่ท่วมถนนมิตรภาพมุ่งหน้า กทม.นั้นเกิดเสียระหว่างทางจอดตายอยู่บนถนน ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาช่วยเหลือต่อไป
    นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ขณะนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนได้เร่งลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากพายุโพดุลเป็นการด่วนแล้ว พร้อมตั้งเต็นท์อำนวยการอยู่ในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังพายุฝนที่อาจจะตกลงมาซ้ำในคืนนี้ และเพื่อคอยให้ความช่วยเหลือด้วยชุดเคลื่อนที่เร็วของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด 24 ชม. และในส่วนของการจราจรบนถนนมิตรภาพนี้ ผู้ที่ต้องการสัญจรผ่าน อ.บ้านไผ่ จะต้องเลี่ยงเส้นทางหลักบนถนนมิตรภาพในจุดที่เกิดน้ำท่วม ไปยังเส้นทางที่เจ้าหน้าที่จัดการเอาไว้ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกและแนะนำเส้นทางให้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง
    ขณะที่ชุมชนโนนสว่าง-โนนสะอาด ต.ในเมือง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ที่ชาวบ้านนับพันคนได้พากันมายืนรอกันอยู่บนถนนเพื่อรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากบ้านเรือนถูกน้ำท่วมตั้งแต่เมื่อช่วงกลางดึกวันศุกร์ และยังมีชาวบ้านอีกหลายครอบครัวที่ยังติดอยู่ภายในชุมชนไม่สามารถออกมาได้ และรอความช่วยเหลืออยู่บนหลังคาจากทางเจ้าหน้าที่ เนื่องจากระดับน้ำมีความสูงมากกว่า 3 เมตร กระแสน้ำไหลเชี่ยว และรถทุกชนิดจมอยู่ใต้น้ำไปหมดแล้ว
    นายสุภาพ เมืองศรี อายุ 57 ปี ชาวบ้าน บ.โนนสะอาด บอกว่า บ้านที่อาศัยนั้นได้ถูกน้ำเอ่อท่วมมาตั้งแต่ช่วงเวลา 20.00 น.ของคืนที่ผ่านมาจนถึงเช้าโดยระดับน้ำนั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนมาให้ความช่วยเหลือ คนในครอบครัวและเพื่อนบ้านต่างต้องปีนขึ้นไปอยู่บนหลังคา จึงอยากให้หน่วยงานเร่งมาให้ความช่วยเหลือเป็นการด่วน เพราะถ้ามีเรือเข้าไปรับชาวบ้านในชุมชนออกมาก็สามารถมาพักชั่วคราวที่วัดจันทร์ประสิทธิ์ในเขตเทศบาลบ้านไผ่ได้
เพชรบูรณ์น้ำป่าทะลัก
    พื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร ถนนในหลายอำเภอ โดยเฉพาะที่อำเภอวังโป่ง น้ำท่วมหนักสุด หลายหมู่บ้านได้ถูกน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นบ้านวังโป่ง ตลาดวังโป่ง บ้านวังหิน วังสมบัติ วังหินซอง วังใหญ่ วังกระดาษ วังชะนาง วังขอน และ หมู่ 4 บ้านด่านช้าง ต.ท้ายดง ฯลฯ 
    ส่วนที่อำเภอชนแดน ระดับน้ำในคลองบุษบง เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ชาวตำบลดงขุยได้เตรียมกระสอบทรายกันแล้วเพื่อป้องกันน้ำท่วม 
    ขณะเดียวกัน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลวังโป่ง ก็ออกประกาศเตือนว่า ทาง พื้นที่ตำบลซับเปิบ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์   ซึ่งอยู่เหนือสุดติดภูเขา มีมวลน้ำจำนวนมากกำลังจะไหลมาสมทบกับน้ำเดิมที่มีอยู่ในคลองวังโป่ง จึงประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องในที่ต่ำเตรียมรับมือกับน้ำป่าที่มีจำนวนมาก และขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
    นายธนพร ถนอมวัฒนันต์ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส หน.ขหล.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ รายงานว่ามีฝนตกหนักและมีน้ำไหลหลากในลำห้วยเสลียงแห้ง เข้าสู่บริเวณน้ำตกศรีดิษฐ์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาค้อ ท้องที่บ้านร่มโพธิ์ร่มไทร หมู่ที่ 10 ตำบลหนองแม่นา อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงของดการให้บริการบริเวณแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกศรีดิษฐ์เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ 
    สถานการณ์พายุฝนที่โหมกระหน่ำในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดอย่างต่อเนื่องหลายวัน ทำให้มีปริมาณน้ำสะสม และน้ำเหนือจากป่าดงแม่เผด อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด และจากอำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ไหลลงมารวมที่ลำน้ำยังจุดบ้านท่าเยี่ยม หมู่ 5 บ้านท่าทางเกวียน 7 และบ้านท่าโพธิ์ หมู่ 6 ตำบลวังหลวง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นจุดระหว่างบ้านท่าโพธิ์กับบ้านท่าเยี่ยม ทำให้พนังแตกเป็น 2 จุด จุดแรกความกว้างประมาณ 15 เมตร จุดที่ 2 ประมาณ 7 เมตร ซึ่งได้ขาดเมื่อเวลาประมาณ 05.30 น. วันที่ 31 สิงหาคม 2562
          จุดที่ 3 ที่บ้านท่าเยี่ยม ได้แตกขาดเมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. ส่งผลเสียหายมวลน้ำกระจายท่วมบ้านเรือนราษฎรและนาข้าว คอกสัตว์ อย่างรวดเร็ว รวมนาข้าวหลายหมื่นไร่ ซึ่งทุกภาคส่วนได้รวมพลังจัดเวรยามและบรรจุกระสอบทรายทำเป็นทำนบกั้นน้ำ ตลอดเวลาหลายวันทั้ง 24 ชั่วโมง ก็ยังไม่สามารถรองรับมวลน้ำมหาศาลได้ ซึ่งขณะนี้น้ำที่ไหลลงสู่ทุ่งนาและหมู่บ้านยังคงไหลแรงและไหลเชี่ยว ผู้สูงอายุและเด็กการสัญจรต้องระวังเป็นพิเศษ และชาวบ้านต้องคอยดูแลกัน
น้ำโขงขึ้นต่อเนื่อง
          สำหรับระดับน้ำในลำน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยวันละ 30-50 เซนติเมตร ทำให้น้ำในลำห้วยสาขาเอ่อล้นฝั่งเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ไร่นาและบ่อปลาในเขตเทศบาลตำบลเขมราฐแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ประกาศแจ้งเตือนประขาชนที่พักอาศัยอยู่ตามแนวริมฝั่งห้วยบังโกย ให้อพยพเคลื่อนย้ายสัตว์ สิ่งของ มาไว้ในที่สูงตามจุดที่เจ้าหน้าเตรียมไว้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
     จังหวัดพิษณุโลก ที่ถูกน้ำป่าหลากท่วมอย่างฉับพลันตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ในพื้นที่ 5 ตำบลได้แก่ ตำบลบ้านมุง, ตำบลชมพู, ตำบลวังยาง, ตำบลวังโพรง และตำบลไทรย้อย ล่าสุดสถานการณ์น้ำใน 4 ตำบลประกอบด้วย ตำบลบ้านมุง, ตำบลวังยาง,  ตำบลวังโพรง และตำบลไทรย้อย น้ำกำลังค่อยๆ ลดระดับลงก่อนไหลเข้าสู่เขตจังหวัดพิจิตร  
    ขณะที่ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากน้ำจากคลองชมพูได้ไหลล้นตลิ่งทะลักเข้าทุ่งนาเป็นวงกว้าง และไหลเข้าท่วมหลายหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลชมพู ได้แก่ หมู่ที่ 3,  หมู่ที่ 4, หมู่ที่ 5 ขณะที่ถนนสายกกไม้แดงเนินมะปราง ทางเข้าสู่อำเภอเนินมะปราง จากบ้านน้ำปาดสู่บ้านปลวกง่าม ระดับน้ำได้ท่วมผิวจราจรสูงประมาณ 10 ถึง 50 เซนติเมตร รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้ โดยทางจังหวัดพิษณุโลก ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยทหารกู้ภัยกำลังระดมสรรพกำลังไปช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง
    พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพเสริมกำลังพลและเครื่องมือช่างจากหน่วยทหารในพื้นที่ เร่งเข้าไปสนับสนุนการทำงานของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอาสาสมัครจิตอาสาในทุกพื้นที่จังหวัดและอำเภอ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล พร้อมทั้งให้ประเมินและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าไปช่วยเหลือประชาชนให้ทันเวลาและทั่วถึงในทุกพื้นที่
    สำหรับภาพรวม ขณะนี้กองทัพโดยกำลังทางบกในทุกพื้นที่ ได้นำกำลังทหารและเครื่องมือช่างเร่งเข้าไปช่วยเหลือประชาชน ทั้งการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง การนำประชาชน โดยเฉพาะเด็ก สตรีและคนชรา ออกมายังพื้นที่ปลอดภัย โดยจัดตั้งเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อดูแลด้านอาหาร น้ำและทางการแพทย์ ขณะเดียวกัน ประชาชนที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ได้จัดชุดทหารพร้อมแพทย์สนามนำเรือท้องแบนเข้าช่วยเหลือ แจกจ่ายถุงยังชีพและการช่วยเหลือทางการแพทย์เบื้องต้น
ทุกเหล่าทัพพร้อม
         นอกจากนั้น ได้นำกำลังพลและเครื่องจักรสนับสนุนจัดสร้างแนวป้องกันน้ำ เพื่อมิให้พื้นที่เขตเมืองและชุมชนได้รับความเสียหายมาก พร้อมทั้งได้ใช้เครื่องจักรและเครื่องสูบน้ำ เปิดทางระบายน้ำ จากพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ท่วมขัง ลงสู่แม่น้ำสายหลัก เพื่อลดความเสียหายเป็นพื้นที่ นอกจากนั้นได้ใช้ทหารและเครื่องมือช่างเปิดเส้นทางสัญจรที่มีดินโคลนถล่มและต้นไม้กีดขวาง พร้อมทั้งนำชุดสะพานทางทหาร เข้าติดตั้งทดแทนสะพานที่ถูกตัดขาดชั่วคราว ควบคู่กับการนำเรือท้องแบนและยานยนต์ล้อสูงช่วยอำนวยความสะดวกการสัญจรของประชาชน
       พล.ท.คงชีพกล่าวว่า กำลังทางอากาศและกำลังทางน้ำได้เตรียมกำลังพลและอากาศยาน พร้อมสนับสนุนการขนย้ายคน สิ่งของบรรเทาทุกข์และถุงยังชีพเข้าพื้นที่ พร้อมทั้งได้จัดเรือและอากาศยานออกลาดตระเวนดูแลช่วยเหลือชาวประมงและนักท่องเที่ยวที่ติดอยู่ตามเกาะแก่งเพื่อนำเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ทุกเหล่าทัพยังคงประสานการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนราชการในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และมีความพร้อมเข้าช่วยเหลือเคียงข้างประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ
    พล.ต.กฤษณ์ จันทรนิยม โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ได้บูรณาการความร่วมมือกับทุกส่วน ในการประเมินสถานการณ์ และพร้อมปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันที ในการบรรเทาภัยพิบัติและการช่วยเหลือประชาชน 
    นอกจากนี้ ยังได้จัดชุดกำลังพลเคลื่อนที่เร็วเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อออกให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่โดยไม่ต้องรอการร้องขอ เพราะกองทัพตระหนักเสมอว่า ทหารพร้อมเป็นที่พึ่งและจะยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชนในทุกสถานการณ์ตลอดไป ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนต้องการขอรับความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน สามารถติดต่อศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการกองทัพไทย และศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเหล่าทัพ ในพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
    ทั้งนี้ เมื่อเวลา 02.00 น. วันที่ 31 ส.ค. ศูนย์บรรเทาสารภัยมณฑลทหารบกที่ 39 จัดกำลังกองร้อยบรรเทาสาธารณภัย ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 4 ตำบล ของอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาได้รับแจ้งจากหน่วยกู้ภัยว่าพบชาวบ้านจำนวน 1 คน ติดค้างอยู่บนรถยนต์ที่ถูกกระแสน้ำพัดตกจากถนนไปอยู่บริเวณกลางทุ่งนา ห่างจากถนนประมาณ 100 เมตร ท่ามกลางกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากและความมืดมิด 
ระทึก!ติดในรถ7ชั่วโมง
    พ.อ.วัชรพงศ์ แก้วแจ้ง รองผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 39 จึงได้ระดมกำลังพลพร้อมจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. จังหวัดพิษณุโลก จากจุดอำนวยการชั่วคราว พร้อมรถบรรทุก FTS และเรือท้องแบน เร่งเข้าให้การช่วยเหลือ แต่ด้วยกระแสน้ำที่ไหลแรงและมีร่องน้ำวน จึงทำให้รถบรรทุก FTS ไม่สามารถขับเคลื่อนลุยน้ำไปได้ เจ้าหน้าที่จึงเปลี่ยนมาใช้เป็นเรือท้องแบนค่อยลอยลำเข้าไปจุดเกิดเหตุ จนกระทั่งไปถึงบริเวณกลางทุ่งนาฉายไฟพบเห็นผู้ประสบภัยนั่งอยู่บนรถยนต์จำนวนหนึ่งบนรถที่พลิกคว่ำ และมีผู้ติดอยู่ในรถจำนวน 1 คน
    จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีการนำกำลังพลกว่า  40 นาย ลุยน้ำไปตามจุดที่สูงพร้อมทั้งมัดเชือกยึดโยงยึดตรึงไปทีละช่วงจนถึงรถยนต์ที่จมน้ำอยู่ และสามารถทุบกระจกนำตัวนายสินชัย แก้ววิเศษ ผู้ประสบภัยที่ติดค้างอยู่ในรถที่พลิกคว่ำกลับออกมาได้อย่างปลอดภัยเมื่อเวลา 03.15 น. รวมระยะเวลาที่ผู้ประสบภัยติดค้างรถตั้งแต่ 20.00 น. จนถึง 03.00 น. รวมกว่า 7 ชั่วโมงเศษ ใช้เวลาในการปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้ 1 ชั่วโมง 
    สำหรับราษฎรผู้ประสบภัยคนดังกล่าวที่ติดค้างอยู่ในรถท่ามกลางกระแสน้ำที่เย็นจัดนานกว่า 7 ชั่วโมงนั้น ภายหลังนำตัวออกมาพบมีสภาพร่างกายอ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรงเดินไม่ไหว เมื่อเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาถึงกองอำนวยการชั่วคราว ได้นำผ้าห่มกันหนาวมาเช็ดตัวเพิ่มความอบอุ่นจนอาการดีขึ้น และส่งทำการรักษา ณ โรงพยาบาลวังทองต่อไป 
    นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานจากพายุไต้ฝุ่นโพดุล ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างว่า เราได้จัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคอีสานหลากหลายจังหวัดในขณะนี้อย่างใกล้ชิด โดยได้ตรวจสอบคู่สาย 1669 ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา หากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทร.แจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง. 

    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"