ถ้าเดือนหน้าเลือกตั้งประธานาธิบดี ทรัมป์น่าจะชนะ


เพิ่มเพื่อน    

 

การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันไม่แตกต่างจากหลายประเทศที่ภาวะเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจมีผลต่อคะแนนเสียงมากที่สุด บทความนี้ตั้งบนสมมติฐานที่ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะแพ้หรือชนะ ขึ้นกับนโยบายเศรษฐกิจ เน้นประเด็นสงครามการค้ากับจีน กำหนดเลือกตั้งเดือนหน้าหรือปลายปีนี้เพื่อจำกัดตัวแปร วิเคราะห์ว่าทรัมป์น่าจะชนะเลือกตั้งอีกครั้งหรือไม่

ขึ้นภาษีสินค้าจีนและข้อจำกัด :

                ต้นเดือนสิงหาคม ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเก็บภาษี 10 เปอร์เซ็นต์ต่อสินค้าจีนในส่วนก้อนสินค้า 300,000 ล้านดอลลาร์ที่เหลือ เริ่มเก็บ 1 กันยายนนี้ (ล่าสุดทรัมป์ยืนยันคำสั่งดังกล่าว) พร้อมกับพูดอีกครั้งว่านโยบายเก็บภาษีสินค้าจีนช่วยให้ประเทศมีหลายรายเพิ่มขึ้นนับพันล้านดอลลาร์ “ไม่กระทบผู้บริโภคแต่อย่างไร จีนเท่านั้นที่ได้รับผล” สวนทางกับความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์หลายคนหลายสำนัก เช่น Gary Shapiro จาก Consumer Technology Association กล่าวว่า “ผู้บริโภคอเมริกันเป็นคนจ่าย ไม่ว่าจะขึ้น 10 หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่รัฐบาลจีน” ไม่ใช่นโยบายที่ดีและอาจละเมิดกฎหมายด้วย

                ด้านบริษัทค้าปลีกหลายแห่งออกมาย้ำอีกครั้งว่าราคาสินค้าสูงขึ้นแน่นอน

                กลางเดือนสิงหาคม ทรัมป์สั่งเลื่อนขึ้นภาษีสินค้าจีนบางรายการในก้อน 300,000 ล้านดอลลาร์ ให้เหตุผลว่าเนื่องจากใกล้เทศกาลคริสต์มาสแล้ว “เผื่อว่า” การขึ้นภาษีอาจกระทบผู้บริโภค ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีผลกระทบใดๆ ต่อผู้บริโภค

                การประกาศระงับขึ้นภาษีสินค้าบางรายการเพื่อเทศกาลคริสต์มาสเป็นอีกหลักฐานบ่งชี้ว่าการเล่นงานจีนด้วยภาษีมีข้อจำกัด เป็นหลักฐานว่านโยบายขึ้นภาษีไม่ได้มีแต่เรื่องที่จีนเป็นฝ่ายเสียหาย หาไม่แล้วทรัมป์ไม่ควรชะลอขึ้นภาษี น่าจะบอกว่าขึ้นภาษีสินค้าจีนเพื่อเป็นของขวัญแก่คนอเมริกัน

                บางคนแย้งว่าขึ้นภาษี แต่ค่าเงินหยวนอ่อนลง ส่งผลหักล้างกัน Peter Navarro ที่ปรึกษาเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาวอธิบายว่าสงครามการค้าส่งผลให้เงินหยวนอ่อนค่าลง ดอลลาร์แข็งค่า ชดเชยราคาสินค้า ข้อเท็จจริงคือชดเชยได้บางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด

                20 สิงหาคม ในที่สุดทรัมป์เริ่มยอมพูดแล้วว่าการขึ้นภาษีสินค้าจีนกระทบคนอเมริกัน แต่จำต้องทำเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ระยะยาว การพูดเช่นนี้อาจเป็นเพราะรายงานของสำนักงบประมาณรัฐสภาสหรัฐ (Congressional Budget Office) ที่นำเสนอในเวลาใกล้เคียง ประเมินว่าจนถึงสิ้นปี 2020 คนอเมริกันจะต้องสูญเงินเฉลี่ยครอบครัวละ 580 ดอลลาร์ (18,560 บาท) และทำให้จีดีพีหดหายร้อยละ 0.3 ข้อสรุปนี้ยังไม่รวมการขึ้นภาษีกลุ่ม 300,000 ล้านดอลลาร์ล่าสุด

คำพูด/นโยบายที่ย้อนแย้ง :

                ประธานาธิบดีทรัมป์พูดถึงเศรษฐกิจประเทศในขณะนี้ว่า “กำลังไปได้ดีเยี่ยม” (tremendously well) ... ผู้บริโภคมั่งคั่ง การลดภาษีคืนเงินเข้ากระเป๋าเป็นกอบเป็นกำ

                เป็นความจริงที่ว่าอัตราว่างงานต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ดัชนีตลาดหุ้นทำสถิติสูงสุด ดัชนี S&P 500 วิ่งทะลุ 3,000 จุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังประธานเฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม

                แต่นักวิเคราะห์บางคนเตือนว่าดัชนีตลาดหุ้นพุ่งสูงเพราะผลกำไร แต่ผลกำไรดังกล่าวไม่ได้มาจากการลงทุนเพิ่ม แท้จริงแล้วบริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ลงทุนเพิ่มในระยะนี้ แต่จ่ายปันผลเพิ่มเนื่องจากผู้ประกอบการใช้อานิสงส์จากการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อปี 2017

                กรกฎาคมเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยด้วยเหตุผลการลงทุนในประเทศชะลอตัว เหตุจากเศรษฐกิจโลกอ่อนกำลังลง ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน

                กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีมุมมองคล้ายเฟด ประเมินภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นลบกว่าเดิม คาดว่าปีนี้จะโตร้อยละ 3.2 ต่ำกว่าปีก่อน (2018) ที่โต 3.6 เตือนว่าหากขึ้นภาษีต่อรถยุโรป เบร็กซิตโดยไร้ข้อตกลง สงครามการค้าจีน-สหรัฐยืดเยื้อจะกระทบเศรษฐกิจโลก

                ท่ามกลางกระแสกังวลเศรษฐกิจอเมริกากำลังจะถดถอย ทำเนียบขาวยืนยันว่าพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศแข็งแกร่ง อัตราว่างงานต่ำ ดัชนีต่างๆ ส่วนใหญ่บ่งชี้ว่ายังไปได้สวย ด้านทรัมป์โทษเฟดว่าเป็นตัวบ่อนทำลายคะแนนเสียงของตน ต้องการให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1 เปอร์เซ็นต์เต็ม

                การที่ทรัมป์พยายามพูดเรื่องปรับลดดอกเบี้ยเป็นอีกประเด็นที่หลายคนสงสัยว่าพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่งอย่างที่ว่าหรือไม่ ถ้าเศรษฐกิจ “กำลังไปได้ดีเยี่ยม” อย่างที่พูดจริง ทำไมต้องพูดเรื่องลดอัตราดอกเบี้ยซ้ำแล้วซ้ำอีก

เศรษฐกิจเฉพาะหน้ายังดีอยู่แม้ไม่เป็นไปดังหวัง :          กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 2 ปรับปรุงล่าสุดเหลือร้อยละ 2.0 คิดรวม 2 ไตรมาสอยู่ที่ 2.6 นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 2.5 ต่ำกว่าเป้ารัฐบาลกำหนดไว้ที่ร้อยละ 3

                ไม่ถือว่าต่ำมาก แต่ไม่สูงเท่าที่ประธานาธิบดีต้องการ

                ข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภคอเมริกัน ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พบว่าไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เป็นอัตราสูงสุดนับจากไตรมาส 4 ของปี 2014 แต่การลงทุนภาคธุรกิจประจำไตรมาส 2 ลดลงร้อยละ 0.6 เป็นการหดตัวครั้งแรกนับจากไตรมาสแรกของปี 2016

                ถ้าดูข้อมูลอีกชิ้น สำนักงบประมาณรัฐสภาสหรัฐ (CBO) ประเมินว่าปีงบประมาณหน้า (เริ่ม 1 ตุลาคม 2019) จะขาดดุลกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ในระดับอันตรายไม่ยั่งยืนแล้ว (unsustainable course) อนาคตว่าระดับหนี้จะเพิ่มขึ้นอีกจากเหตุคนสูงวัยเพิ่ม ทางแก้คือต้องขึ้นภาษี ลดการใช้จ่าย

                ในช่วงหาเสียงทรัมป์บอกว่าจะแก้ปัญหางบประมาณขาดดุล แต่ยิ่งแก้ยิ่งขาดดุล ประเทศเป็นหนี้หนักกว่าเดิม เข้าสู่ระดับเลวร้ายลงทุกที

“โลกแห่งความจริง” กับ ”โลกแห่งมุมมอง”

                มนุษย์ทุกคนมีโลกทัศน์ หรือมุมมองต่อโลกของตัวเอง ไม่ว่ามุมมองนั้นสอดคล้องกับความจริงมากน้อยเพียงไร และแท้จริงแล้วไม่มีใครมองโลกได้ครบถ้วน เข้าถึงความจริงทุกเรื่อง      ยกตัวอย่าง ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางคน สถาบันการเงินนานาชาติหลายแห่งพูดแง่ลบ ผลสำรวจของ Pew Research Center ชี้ว่าพวกรีพับลิกันเกือบร้อยละ 80 เห็นคล้อยกับประธานาธิบดี ยอมรับว่าเศรษฐกิจประเทศอยู่ในภาวะดีเลิศ (excellent) หรือดี (good) พวกเดโมแครตร้อยละ 33 คิดเห็นเช่นกันแม้อยู่พรรคตรงข้ามกับรัฐบาลทรัมป์

                รัฐบาลทรัมป์เป็นอีกตัวอย่างของรัฐบาลที่พยายามสร้างภาพว่าพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ห่างไกลจากภาวะถดถอย สงครามการค้ากับจีนสร้างประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะตรงกับความจริงหรือไม่คนอเมริกันหลายคนเห็นด้วย

หนทางชนะเลือกตั้ง กระตุ้นเศรษฐกิจอีกสักรอบ :

                ผลโพลของ AP-NORC ล่าสุดชี้ว่าคนอเมริกันร้อยละ 62 ให้ประธานาธิบดีทรัมป์สอบตก เพียงร้อยละ 36 เท่านั้นที่ให้สอบผ่าน ทั้งๆ ที่ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวดูดี ประเด็นที่ทำให้เสียคะแนนคือเรื่องผู้อพยพ การประกันสุขภาพ นโยบายต่างประเทศและเรื่องการถือครองปืน

                และเช่นเคย ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันร้อยละ 80 ให้ทรัมป์สอบผ่าน

                ผลโพลล่าสุดนี้ไม่ต่างจากเหมือนผลโพลตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เพียงแต่พวกที่ให้สอบผ่านลดลงนิดหน่อย คือไม่ถึง 40 หลายคนอาจไม่ชอบประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ฐานคะแนนของท่านแข็งแกร่ง เป็นเช่นนี้นับตั้งแต่เริ่มบริหารประเทศ คนเหล่านี้จะออกไปใช้สิทธิเลือกทรัมป์แน่นอน         สัปดาห์ก่อนประธานาธิบดีทรัมป์ยืนยันว่ากำลังพิจารณาเรื่องการปรับลดภาษี คราวนี้เน้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าไม่มองเรื่องตรรกะที่ย้อนแย้ง ข้อเสนอนี้มีประโยชน์อย่างน้อย 2 ทาง คือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและได้คะแนนเสียง

                หากมองย้อนอดีต ประธานาธิบดีทรัมป์เคยพูดเรื่องนี้มาแล้วเมื่อครั้งเลือกตั้งกลางเทอม และเหมือนเช่นเคยที่เรื่องเงียบหาย ล่าสุดทรัมป์ยกเลิกความคิดดังกล่าวด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจยังดีอยู่

                เป็นไปได้ว่าทรัมป์จะใช้นโยบายนี้ในการหาเสียงรอบหน้า ไม่ว่าที่สุดแล้วนโยบายดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

                ถ้าเลือกตั้งเดือนหน้าหรือปลายปีนี้ทรัมป์มีโอกาสชนะเลือกตั้งอีกรอบ ข้อแนะนำคือรัฐบาลทรัมป์ควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่งต่อไป (มองแง่บวก) เพื่อชะลอภาวะเศรษฐกิจถดถอย (มองแง่ลบ) ส่วนการแก้ปัญหาเพื่อความยั่งยืนเป็นเรื่องของอนาคต (ถ้าจะแก้จริง) การเมืองอเมริกาเป็นเช่นนี้.

----------------------

ภาพ : ทรัมป์ผู้ลุกขึ้นสู้กับจีน ปกป้องผลประโยชน์อเมริกัน

ที่มา : https://www.facebook.com/DonaldTrump/photos/a.488852220724/10162960923780725/?type=3&theater

----------------------

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"