ปมถวายสัตย์ฯ ไม่ปล่อยคนผิดลอยนวล


เพิ่มเพื่อน    

 รอจัดหนัก "บิ๊กตู่" ปมถวายสัตย์ฯ อ้างไม่ปล่อยคนผิดลอยนวล

                กรณีปมปัญหา การถวายสัตย์ปฏิญาณ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในส่วนของการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจากศาลรัฐธรรมนูญ หลังผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องดังกล่าวไปให้ศาลวินิจฉัย ก็ต้องรอติดตามว่าทางศาล รธน.จะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ และหากศาลรับไว้พิจารณา ผลสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร ขณะที่ในทางการเมืองก็ต้องรอติดตามกันว่าภายในช่วงเดือนกันยายนนี้ ก่อนจะมีการปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 18 ก.ย. ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายพลเอกประยุทธ์ กรณีปัญหาการถวายสัตย์ฯ สุดท้ายแล้วการประชุมสภาเพื่อพิจารณาญัตติดังกล่าวจะเกิดขึ้นในวันใด

สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ประธานวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน จากพรรคเพื่อไทย ย้ำว่า การอภิปรายครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี โดยเวลานี้มีการสรุปประเด็นโครงเนื้อหาการอภิปราย และวางตัว ส.ส.เพื่อไทย ที่จะลุกขึ้นอภิปรายถามนายกฯ ไว้แล้ว คาดว่าฝ่ายค้านจะใช้ ส.ส.อภิปรายครั้งนี้ ประมาณ 10-15 คน

“สำหรับของพรรคเพื่อไทย ส.ส.ที่จะอภิปรายรอบนี้ จะประกอบด้วย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้าน, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว, จิรายุ ห่วงทรัพย์, ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร, ชวลิต วิชยสุทธิ์, ไชยา พรหมา, ขจิต ชัยนิคม, จิราพร สินธุไพร, ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ เป็นต้น”

สุทิน กล่าวถึงการอภิปรายเรื่องปมปัญหาการถวายสัตย์ฯ ว่า เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่สำคัญเพราะในเรื่องหลักนิติรัฐ นิติธรรม เป็นการละเมิด เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 161 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าก่อนเข้ารับหน้าที่  รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ และต้องถวายสัตย์ฯ ด้วยข้อความใด ซึ่งเป็นหลักสากลทั่วโลก การจะมายกเว้นไม่ยอมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้กฎของหลักนิติรัฐ นิติธรรมถูกละเมิดอย่างชัดเจน และยังเป็นการละเมิดหลักประเพณีด้วย เพราะนอกจากเป็นหลักกฎหมายแล้วยังเป็นประเพณีทั่วโลกที่ก่อนจะเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ ทั่วโลกเขาทำ ไทยเราก็ทำ ประเพณีก็คือต้องทำให้ถูกต้องครบถ้วน สมบูรณ์ การที่ไม่ทำให้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ ก็เหมือนกับการจงใจไม่ให้ความสำคัญกับประเพณีปฏิบัตินี้

มันเป็นพฤติการณ์จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีหลายครั้งหลายครา ตั้งแต่ในอดีต คือเป็นคนไม่ให้ความสำคัญกับกฎหมาย ทำผิดกฎหมาย เลี่ยงกฎหมายมาเรื่อย แต่ครั้งนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการเลี่ยงปฏิบัติต่อหน้าประมุขของประเทศ

ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า การแอบไปละเมิดกฎหมายที่อื่นพอรับได้ แต่ไปละเมิด ไปเลี่ยงกฎหมายต่อหน้าพระพักตร์ องค์ประมุขของประเทศ เราถือว่าเป็นพฤติกรรมที่น่ากลัว น่าวิตก เป็นการกระทำผิดที่ไม่เกรงกลัว ดังนั้นหากฝ่ายค้านไม่ทำอะไรเลย ในอนาคตเราเชื่อว่า นายกฯ ก็จะเคยตัว ทำผิดกฎหมายต่อไป

...ฝ่ายค้านจึงเห็นว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องทำ แต่เมื่อจำเป็นแล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะไปรีบเร่งรัด เป็นยาแรง จ้องล้มเลย เราก็ทำด้วยมาตการจากเบาไปหาหนัก ตอนแรกก็ท้วงติงในสภาก่อน แต่นายกฯ ก็ไม่ตอบ ตอนแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา จนวันสุดท้ายผมก็ย้ำอีก นายกฯ ก็ไม่ตอบ จะตอบก็ตอบแบบกล้อมแกล้ม จากนั้นฝ่ายค้านก็พยายามทวงถาม แกก็ไม่ใส่ใจ เราก็เลยยื่นกระทู้ถามในสภายื่นไป 2 รอบ ก็ไม่ยอมมาตอบกระทู้ต่อฝ่ายค้าน แถมพูดทำนองท้าทายอีก ฝ่ายค้านจึงยกระดับมาสู่การยื่นญัตติครั้งนี้ และขั้นสูงสุดเลยต่อไปคือ การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ฝ่ายค้านก็ยังไม่อยากทำ เราขอทำตามลำดับที่เหมาะสมก่อน

...เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติแล้วส่งศาลรัฐธรรมนูญ เขาก็ส่งไป แต่ก็จะเป็นแง่มุมด้านกฎหมาย แต่ของสภาจะเป็นเรื่องความเหมาะสม เรื่องสำนึก การควรหรือไม่ควร ผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่ตอบโจทย์ของฝ่ายค้านในทุกประเด็น เขาก็ตอบโจทย์ในแง่กฎหมาย แต่ในสภาต้องมาว่ากันในแง่ความเหมาะสม ความรับผิดชอบต่อประชาชน บริบทมันคนละอย่าง ฝ่ายค้านก็ต้องทำหน้าที่ของเราอยู่ดี มาตรการตรวจสอบสามารถดำเนินไปได้ทั้งกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการรัฐสภา ดังนั้นต่างคนต่างทำได้ ไม่เป็นไร เพราะอย่างญัตติที่เรายื่นต่อประธานสภาฯ เพื่ออภิปรายถามรัฐบาลหลายประเด็น ก็ไม่ได้มีการส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ  เช่น เรื่องแถลงนโยบายโดยไม่แสดงที่มาของงบประมาณ ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ดังนั้นยังไงฝ่ายค้านก็ต้องเดินหน้าต่อไปในกระบวนการตรวจสอบของทางสภาฯ ทั้งเรื่องจริยธรรม คุณธรรม สำนึกความรับผิดชอบ เรื่องแบบนี้ทางสภาฯ พูดถึงได้

ประธานวิปฝ่ายค้าน ลงรายละเอียดถึงกรณีการขออภิปรายเรื่องงบประมาณในการดำเนินนโยบายรัฐบาลว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มา ของรายได้ที่จะนํามาใช้จ่ายในการดําเนินนโยบาย

...เรื่องนี้เป็นพฤติกรรมที่เราเห็นว่า นายกฯ จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนิสัย ที่ผ่านมาทำมาตลอดและครั้งนี้ก็ชัดเจนอีก เพราะรัฐธรรมนูญก็บัญญัติไว้ชัด การแถลงนโยบายใดๆ ที่จะต้องใช้งบประมาณ ต้องแสดงที่มาประกอบ

...เจตนาของ รธน.ผมเข้าใจว่า อยากให้ทุกรัฐบาลมีวินัยการเงินการคลัง จะทำนโยบายอะไรไม่ใช่พูดเลื่อนลอย แต่ไม่มีเงิน หรือหากมีงบประมาณ แล้วจะนำไปทำอย่างไร เรื่องนี้เป็นมาตการที่สภาฯ ต้องควบคุมตรวจสอบรัฐบาลให้ใช้เงินอย่างมีหลักเกณฑ์ ฝ่ายค้านเราดูแล้ว ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ไม่มีการแสดงอะไรเลย เหมือนกับรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญต่อ รธน. มาตรา 162 ฝ่ายค้านก็เห็นว่าแบบนี้ปล่อยไปไม่ได้

...การอภิปรายครั้งนี้ฝ่ายค้านจะถามเรื่องงบกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย เพราะผลประชุม ครม.เศรษฐกิจ ที่ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะพบว่าที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้งบประมาณจำนวนมากออกมา ก็ต้องถามว่า ทำแล้วจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน ทำแล้วรัฐบาลจะตามไปเก็บภาษีมาคืนคลังได้จำนวนเท่าใด ใช้มาตรการดังกล่าวแล้วจะทำให้จีดีพีประเทศเติบโตได้อย่างไร มีหลักเกณฑ์การประเมินวิจัยอย่างไร และต่อมาก็จะมีออกมาอีกเรื่อยๆ และทราบมาว่าต่อไปก็จะไปกู้เงินมาอีก เมื่อรัฐบาลไม่แสดงแหล่งที่มาของงบประมาณ ก็จะทำทุกอย่างตามใจ แบบนี้เป็นอันตรายต่อประเทศ ก็ปล่อยไปไม่ได้

สุทิน-ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงความคาดหวังของฝ่ายค้าน กับการใช้ช่องทางเปิดอภิปรายทั่วไปดังกล่าว ซึ่งเป็นครั้งแรกของการเมืองไทยว่า ฝ่ายค้านก็หวังผลระดับที่คิดว่าจะทำให้รัฐบาลตระหนักและระมัดระวัง และรู้จักการให้คุณค่ากับสภาฯ เกิดสำนึกว่าจะต้องเคร่งครัดต่อการปฏิบัติตามกฎหมาย ที่ก็จะทำให้การบริหารบ้านเมืองไปต่อได้ แต่จะถึงขั้นว่ารัฐบาลต้องเซ ต้องเพลี่ยงพล้ำ รัฐบาลต้องล้มไปหรือไม่ เราไม่ได้คาดหวังขนาดนั้น เราแค่คาดหวังว่าจะเป็นรัฐบาลที่ดีขึ้น ทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งหากนายกฯ ชี้แจงเคลียร์ได้ทุกอย่าง ฝ่ายค้านเราพอใจ เราเห็นว่าเขาได้ทำตามกฎหมายแล้ว หรือทำตามกฎหมาย บ้านเมืองจะเข้ารูปเข้ารอบ ไม่มีการละเมิดกฎหมาย ไม่มีการจะนำงบประมาณไปใช้จ่ายแบบอีลุ่ยฉุยแฉก ถ้าเราพอใจ เราก็ถอน เราก็ยุติได้  

-เรื่องปมปัญหาการถวายสัตย์ฯ หากมีการเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แล้วนายกรัฐมนตรีอาจมีการขอให้สภาฯ ทำการประชุมลับ?

ก็ไม่เป็นไร ก็ฟังเหตุฟังผลกัน ก็ต้องฟังท่านนายกฯ ชี้แจง หากท่านเห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ประสงค์จะขอประชุมลับ ฝ่ายค้านเราก็ไม่น่ามีปัญหา

-คนไปมองไปวิเคราะห์กันว่า การอภิปรายครั้งนี้ฝ่ายค้านจะถล่ม จะขึงพืดนายกฯ กลางสภา?

อันนี้เราไม่ได้มองถึงขั้นนั้น เพราะอยู่ที่รัฐบาลเอง เพราะหากรัฐบาลไม่สนใจที่จะมาตอบ หรือมาตอบ แต่ตอบแบบไม่ได้เตรียมความพร้อมมา หรือมาตอบแบบแก้ข้อกล่าวหาไม่ได้ มาตอบแบบไม่รับผิดชอบ แบบนี้ก็อาจเป็นเรื่องของการขึงพืดได้ มันเป็นที่รัฐบาลเขาจะทำตัวของเขาเอง ไม่ใช่ฝ่ายค้านทำ

สุทิน กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการเตรียมการเปิดอภิปรายของฝ่ายค้านนั้น ขณะนี้ในฐานะรับผิดชอบการจัดเตรียมเนื้อหา ประเด็นการอภิปรายและการวางตัว ส.ส.ที่จะลุกขึ้นอภิปราย ทางฝ่ายค้านกำลังเตรียมเนื้อหาอยู่ ลำดับแรก ต้องวางกรอบเนื้อหาที่จะอภิปรายก่อน จากนั้นตามด้วยเป้าหมายที่ฝ่ายค้านต้องการคำตอบจากนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้ฝ่ายค้านอยากเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี และอยากหาทางออกร่วมกัน จากนั้นเมื่อได้กรอบเป้าหมายของการอภิปรายแล้ว ฝ่ายค้านก็ไปกำหนดคอนเทนต์การอภิปราย และตามด้วยกำหนดตัวบุคคลที่จะลุกขึ้นอภิปราย โดยเบื้องต้นเราประมาณว่าจะใช้ ส.ส.ในการอภิปรายประมาณ 10-15 คน จากนั้นก็นำเนื้อหาไปแจกให้ ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่จะลุกขึ้นอภิปรายว่าเขาควรอภิปรายประเด็นใด โดยจะมีการคุยกันทั้งในพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกระยะนับจากนี้

อภิปรายรอบนี้ ฝ่ายรัฐบาลไม่ควรตั้งองครักษ์พิทักษ์นายกฯ กลางสภาฯ เพราะเรื่องบางเรื่องชี้แจงแทนกันได้ แต่บางเรื่องชี้แจงแทนกันไม่ได้ ซึ่งเรื่องถวายสัตย์ฯ ครบหรือไม่ครบ พลเอกประยุทธ์เป็นคนพูด ใครจะไปรู้ดีเท่านายกฯ ว่ามันผิดพลาดหรือไม่ หรือจงใจหรือเพราะเหตุผลใด นายกฯ ตอบมันถึงจะเคลียร์ คนอื่นมาพูดแทนยังไงก็ไม่เคลียร์ เรื่องนี้นายกฯ จึงต้องมากล่าวต่อที่ประชุมสภาฯ ด้วยตัวเอง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องแสดงสำนึกที่ถูกต้องด้วย

ส่วนเรื่องที่ฝ่ายค้านจะซักถามเรื่องงบประมาณที่ใช้ในการทำนโยบาย ยอมรับว่ายังพอให้คนอื่นมาชี้แจงแทนได้ เช่น รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ แต่หากผมเป็นนายกฯ ผมจะเป็นคนชี้แจงแทนเองหมด ในหัวข้อหลัก ส่วนรายละเอียดจะให้รัฐมนตรีคนอื่นมาช่วยตอบเพื่อขยาย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อถามย้ำว่า หลังจบการอภิปรายดังกล่าวแล้ว ฝ่ายค้านจะมีการไปยื่นเรื่องต่อหน่วยงานต่างๆ เช่น ป.ป.ช. หรือศาล รธน.ตามมาหรือไม่ ประธานวิปฝ่ายค้าน พูดถึงเรื่องนี้ว่า ถ้านายกฯ ตอบเคลียร์ก็ไม่จำเป็นต้องยื่น แต่หากเขาตอบไม่เคลียร์ แล้วยังมีประเด็นค้างอยู่ มีหลักฐานใหม่ ที่ในชั้นของผู้ตรวจการแผ่นดิน และที่มีการส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญมันไม่มี เราก็อาจยื่นไปใหม่ เช่น หากศาล รธน.ยุติเรื่องในคำร้องที่ส่งไปก่อน แต่เราพบว่ายังมีประเด็นใหม่อีกเยอะ ฝ่ายค้านก็มีความชอบธรรมที่เราจะว่าของเราไป

-การที่ต้องการให้พลเอกประยุทธ์ตอบเรื่องถวายสัตย์ฯ ให้เคลียร์ ขอบเขตที่ต้องการให้เคลียร์มีแค่ไหน ขอความชัดเจน?

ที่เราอยากรู้จริงๆ ก็คือ วันดังกล่าวนายกรัฐมนตรีได้ถวายสัตย์ฯ ครบหรือไม่ หากถวายสัตย์ฯ ครบ แล้วมีหลักฐานมายืนยันได้ว่าครบ จนทุกคนในห้องประชุมฟังแล้วว่านายกฯ ถวายสัตย์ฯ ครบจริงๆ เราก็จบเรื่อง แต่หากไม่ครบ ก็ต้องมาดูว่าเพราะเหตุใดถึงไม่ครบ เป็นเรื่องเจตนา หรือมีข้อผิดพลาด ก็ต้องให้พลเอกประยุทธ์อธิบายให้ที่ประชุมฟัง หากผิดพลาด ผิดพลาดตรงไหน และหากเจตนา ทำไมต้องเจตนา ก็ต้องอธิบายเหตุผล หากอธิบายเหตุผลและเราฟังแล้วว่า มันมีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่ขอพูดแล้วเรารับได้ มันก็จบ

แต่หากนายกฯ บอกว่าเป็นเรื่องผิดพลาด แต่เรายังเชื่อว่าเขาจงใจ เราก็ต้องเดินหน้าต่อ จะปล่อยให้คนทำผิดลอยนวลไม่ได้ ส่วนจะทำอย่างไรต่อไป ฝ่ายค้านก็ต้องมาคุยกันอีกทีว่าจะไปช่องทางไหน แต่ก็ต้องไปทุกอย่างที่กฎหมายเปิดช่องไว้

ถามถึงความชัดเจนว่า ตาม รธน.ให้ฝ่ายค้านยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล-รัฐมนตรี ได้ปีละ 1 ครั้ง เมื่อมีการเปิดประชุมสภาฯ เดือน พ.ย. ก่อนจะหมดปี ฝ่ายค้านจะขอเปิดซักฟอกรัฐบาลหรือไม่ สุทิน บอกท่าทีของฝ่ายค้านเบื้องต้นว่า หากถามว่าจะมีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในช่วงเปิดประชุมสภาฯ เดือน พ.ย.นี้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่ายังไม่แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับกระทงความผิดของรัฐบาล เพราะหากรัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรผิด รัฐบาลยังทำงานต่อไปได้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ฝ่ายค้านจะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่มีเหตุผลที่ต้องไปกำหนดเวลาว่าจะต้องยื่นภายในเดือนไหน แต่หากดูแล้ว พบว่ารัฐบาลทำงานต่อไปไม่ได้จริงๆ มีการบริหารงานที่บกพร่อง ดูแล้วไปไม่รอด บ้านเมืองน่าจะไม่รอด ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก ก็อาจไม่ต้องรออะไร เปิดสมัยประชุมหน้า เดือน พ.ย.ก็อาจขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเลยก็ได้

...มันอยู่ที่พฤติกรรมปัญหา ระดับของปัญหา คือหากปัญหามันถึงขีดระดับที่ฝ่ายค้านเห็นว่าต้องใช้มาตรการเปิดอภิปราย เราก็อาจจะขอเปิดเลย แต่หากไม่ถึงขั้นนั้น เราก็ไม่ยื่น แต่ไปใช้มาตรการอื่น เช่น การตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี, ใช้การหารือของที่ประชุมสภาฯ เพื่อกระทุ้งตรวจสอบรัฐบาลเข้าไป ยาแรงก็ยังอาจไม่จำเป็น เรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจก็อาจเก็บไว้ก่อน

-มองว่าการเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจะมีผลต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล จะอยู่หรือไปอย่างไร?

จะมีผล เพราะปัญหาความไม่เสถียร ความไม่นิ่งของฝ่ายรัฐบาลจะมีขึ้นตลอด ไม่นิ่งด้วยจำนวนพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล 18 พรรค ยังมีเข้ามีออก เวียนว่ายตายเกิดอยู่ เช่นกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ขอยุติการทำพรรคประชาชนปฏิรูป หรือกรณีพรรคไทยศรีวิไลย์ของมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ถอนตัวออกมา ขณะเดียวกัน ดำรง พิเดช ก็ยื่นเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลอยู่

ความไม่เสถียรของรัฐบาลจะเกิดจากมีพรรคร่วมรัฐบาลเยอะถึง 18 พรรค อีกทั้ง พรรคแกนนำรัฐบาลก็มีปัญหาภายใน ไม่มีเอกภาพภายในพรรค เมื่อถึงจุดต่างๆ นับจากนี้ เขาจะมีปัญหาในการควบคุมเสียง เช่น การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การเสนอกฎหมาย การตอบกระทู้ต่างๆ ก็จะมีปัญหาองค์ประชุมสภาฯ ไม่ครบ ที่จริงแล้วการประชุมสภาฯ ในช่วงที่ผ่านมา หาก ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอให้นับองค์ประชุมฯ นับเสียงแล้ว องค์ประชุมไม่ครบแน่นอน แต่เราไม่อยากนับ หากเสนอนับ องค์ประชุมล่มหลายครั้งแล้ว แต่เราไม่ทำเท่านั้นเอง มันบ่งชี้ว่าความเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำของเขา พร้อมจะถูกน็อก ช็อกได้ตลอด

แก้เกมเสียงปริ่มน้ำ

เลี้ยงงูเห่า-ตู้ ATM เตรียมเครื่องร้อน

ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุถึงวิธีการแก้เกมเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาลไว้ว่า รัฐบาลตอนนี้เขาใช้วิธีการแก้เกมเสียงปริ่มน้ำ โดยทำ 2 อย่างคือ 1.ก็คือเลี้ยงงูเห่าไว้ แล้วเวลามีการโหวตนัดสำคัญ ก็อาจจะมีอะไรจูงใจ ส.ส.ฝ่ายค้านไปยกมือสนับสนุนรัฐบาล เป็นการเลี้ยงงูเห่า ทำเป็นรายจ๊อบ วิธีที่ 2 คือ การพยายามดูด ส.ส.ไปอยู่ด้วย เช่น การยุบพรรค ซึ่งวันนี้เราคาดว่ากรณีไพบูลย์ คือ Pilot Project ใช้เคสของพรรคนายไพบูลย์นำร่องไปก่อน เพื่อเป็นแนวทางดูด ส.ส.มาอยู่ด้วยต่อไป โดยหากมีการให้ยุบพรรคนายไพบูลย์แล้วมีการตีความจากบางองค์กร เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าทำได้ ย้ายได้ ต่อไปพวกพรรคเล็กพรรคน้อยก็จะยุบตามไปอยู่ด้วยแบบไพบูลย์

วิธีการนี้จะทำให้เขามีเสียงมั่นคงกว่าการเลี้ยงงูเห่า แต่ใช้วิธีการแบบนี้ที่เป็นการซื้องูเห่าเข้าคอกเลย แต่หากยุบไปแล้ว และต่อมามีใครไปยื่นให้ตีความแล้วผลออกมาว่าทำไม่ได้ จนสถานภาพการเป็น ส.ส.ของเขาหายไป ก็อาจนำกรณีนี้ไปใช้กับพรรคอื่นตามมา เช่น อย่างที่เขามีเป้าจะยุบอนาคตใหม่ เพื่อไทย หรือพรรคใดก็ตาม ก็ใช้วิธียุบเสีย โดยการเจาะจงจะยุบเฉพาะพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน จนทำให้เสียง ส.ส.ฝ่ายค้านหายไป เช่น ยุบอนาคตใหม่ เสียง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เขาก็หายไป อันนี้ก็เป็นไปได้ เป็นกระบวนการเอาตัวรอดเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาลเท่าที่เห็นว่าเขาจะทำด้วยวิธีการ 2 รูปแบบนี้ คือ เลี้ยงงูเห่ากับยุบบ้านงูเห่า เอางูเห่ามาไว้ในบ้านเลยเพื่อประคองรัฐบาลเอาไว้

-กรณีเสียงปริ่มน้ำของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นไปได้หรือไม่ที่ ส.ส.รัฐบาลจะสวิงมาอยู่ฝ่ายค้าน

มีๆๆ (ตอบทันที) ตอนนี้เรายังเชื่อว่าไม่แน่อาจจะมี ส.ส.พรรครัฐบาลยกทีมมาอยู่ที่นี่ ถ้าความขัดแย้งเขาไปถึงจุดหนึ่ง แต่ว่าจะมาได้หรือมาไม่ได้เท่านั้นเอง แต่มาไม่ได้ก็คือไม่ยกมือให้กัน แค่นั้นก็จบ แล้วที่ผ่านมาเวลาพรรคเล็กในรัฐบาลมีปัญหา แล้วมีการเคลียร์กัน มันอาจจบได้บางครั้งแต่ว่าไม่ใช่จะจบได้ทุกครั้ง ในวันข้างหน้าไม่แน่ใจว่าเขาจะจบได้ไหม หากว่าความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ผลประโยชน์มันรุนแรงขึ้น ความเข้มแข็งของรัฐบาลลดลง เขาก็อาจมองว่าหมาจะตายแล้ว เห็บเหาอาจต้องรีบหนีก็ได้ มันอยู่ที่สถานการณ์

-โดยเฉพาะช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ แบบนี้ตู้เอทีเอ็มก็ต้องทำงานหนัก

ใช่ ผมเชื่อว่าหนัก เอทีเอ็มต้องหนัก

เมื่อถามถึงเอกภาพของพรรคร่วมฝ่ายค้านหลังแกนนำพรรคเศรษฐกิจใหม่ออกมาแถลงว่า ฝ่ายค้านไม่สนใจเรื่องปัญหาปากท้องเอาแต่เรื่องการเมือง ประธานวิปฝ่ายค้านจากเพื่อไทย แจงว่า ไม่มีปัญหา ผมภูมิใจและมีความสุขมากกับการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทุกพรรคอยู่ด้วยกันแบบมีสปิริต ทำงานด้วยกันแบบไม่คิดว่าใครอยู่พรรคไหน แต่กรณีของพรรคเศรษฐกิจใหม่ เขามีปัญหาแต่ต้นของเขาเอง เขาก็พยายามที่จะแก้ปัญหาภายในของเขา ซึ่งแม้เขาจะมีปัญหาก็ตาม แต่ที่ผ่านมาเขาไม่เคยเกเรในพรรคร่วมฝ่ายค้าน เวลาเรามีมติอะไร พรรคเขาก็เอาด้วยกับพวกเราตลอด แต่ช่วงนี้เขาอาจโดนแรงบีบอะไรมาก แต่เชื่อว่าเขาจะผ่านวิกฤตินี้ได้ คือเขายังแคร์ประชาชนอยู่ ผมดูว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่เขาแคร์สังคม แคร์ประชาชน

...ผมได้คุยกับเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจใหม่แล้ว เขาก็บอกว่าจริงๆ เขาก็พลาด เขาพูดแบบกลอนพาไป เมื่อเราชวนเขามาคุยทบทวนกันดู เขาก็เข้าใจว่าในการประชุมฝ่ายค้านทุกครั้ง เราพูดตลอดว่าเราไม่อยากให้ประชาชนมองว่าเราเล่นการเมืองมาก จะเห็นได้ว่าการตั้งกระทู้ถามในสภาแต่ละสัปดาห์ ที่ฝ่ายค้านได้โควตามาสองกระทู้ จะมีการกำหนดไว้ว่าให้เป็นเรื่องการเมืองหนึ่งกระทู้และเรื่องแนวเศรษฐกิจอีกหนึ่งกระทู้ แม้กระทั่งในช่วงการหารือในที่ประชุมสภาก่อนเข้าระเบียบวาระ บางวันที่หารือกันเกือบยี่สิบคนเป็นเรื่องเศรษฐกิจล้วนๆ พรรคเศรษฐกิจใหม่ชื่อของเขาก็บอกว่าแล้วว่าเป็นเศรษฐกิจ  พอเขาเข้ามาทำงานในสภาได้สักระยะ เขาก็รู้แล้วว่าการเป็นฝ่ายค้านทำอะไรไม่ได้มากเหมือนเป็นพรรครัฐบาล เพราะฉะนั้นเขาก็เริ่มเข้าใจแล้ว การทำงานร่วมกันที่ฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไข รธน. ทาง ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ก็มาร่วมกับฝ่ายค้านด้วยกัน ยืนยันว่าเอกภาพฝ่ายค้านตอนนี้ยังแน่น มันก็มีความพยายามจะแซะเข้ามา แต่ว่าจะแซะอย่างไรก็เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ความหวั่นไหวยังน้อยอยู่ทุกอย่างยังนิ่ง

พร้อมปลุกกระแส

ติดริบบิ้นหนุนแก้ไข รธน.

ประธานวิปฝ่ายค้าน ยังกล่าวถึงโรดแมปการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังฝ่ายค้านยื่นญัตติขอให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไข รธน.ไปเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เรื่องนี้ฝ่ายค้านไม่ได้เร่ง แต่กระบวนการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญมีขั้นตอนการดำเนินการที่ยืดยาวมาก สิ่งที่เราทำไว้วันนี้เป็นแค่การเริ่มต้นไว้ ส่วนกระบวนการจะเดินไปอย่างไรก็ไม่คิดว่ามันจะจบง่าย และอยากให้สังคมเข้าใจว่าระบบการเมืองไทย ฝ่ายรัฐบาลก็ทำหน้าที่บริหารแก้ปัญหาต่างๆ ส่วนสภาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การตรวจสอบรัฐบาล เราก็มีการให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ มีการพูดเรื่องเศรษฐกิจ จี้เรื่องเศรษฐกิจตลอด กระทุ้งทุกวัน แต่การทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติก็คือการออกกฎหมาย  ซึ่งมันเชื่อมโยงกัน เพราะหากมีรัฐธรรมนูญไม่ดี รัฐบาลก็ไม่มีเสถียรภาพ สังคมก็ไม่ยอมรับ มันก็แก้ปัญหาปากท้องไม่ได้ ตัวรัฐธรรมนูญกับการแก้ปัญหาปากท้องมันตัวเดียวกัน เพียงแต่ว่าจะต้องทำควบคู่กันไปแยกไม่ได้ แต่อย่าให้อันใดอันหนึ่งมาขัดแข้งขัดขาอีกอันหนึ่ง เช่นจะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องไปหยุดเรื่องแก้เศรษฐกิจ แบบนี้ไม่ได้ต้องทำควบคู่กันไป

การเสนอให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไข รธน.เป็นเรื่องของการที่เราเคารพ และเราเชื่อว่าการแก้ไข รธน.มันยากมาก ลำพังเพียงพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมันแก้ไม่ได้ ลำพังรัฐบาลทำเองก็แก้ไม่ได้หากฝ่ายค้านไม่ร่วมด้วย ฝ่ายค้านก็ทำเองไม่ได้ถ้ารัฐบาลไม่ร่วม และรัฐบาลกับฝ่ายค้านจะแก้ก็ทำไม่ได้ถ้าสมาชิกวุฒิสภาไม่ร่วมด้วย การให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไข รธน.จึงเป็นวิธีการเชิญชวนให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเราหวังว่าจะเชิญชวน ส.ส.ทุกคนมาทำงานร่วมกันในนามคณะของสภา ยิ่งหากพรรครัฐบาลเสนอมาประกบด้วยจะยิ่งดีเลย หากสุดท้ายสภาให้มีการตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว ก็จะเป็นสเต็ปแรกในการร่วมมือกันของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน หลังจากนั้นก็จะไปคุยกับ ส.ว.  ลู่ทางความสำเร็จก็จะเห็นมากขึ้น แต่หากเรายื่นฝ่ายเดียวในนาม 7 พรรคฝ่ายค้านก็อาจไม่ได้รับความร่วมมือ หากพรรครัฐบาลจะเสนอประกบด้วยให้ตั้ง กมธ.ของสภาก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะประชาธิปัตย์ เขาก็บอกจะให้มีการแก้ไข รธน. แล้วนโยบายรัฐบาลก็เขียนไว้ชัดเจนจะให้มีการศึกษาการแก้ไข รธน.

สิ่งที่ฝ่ายค้านเสนอไปจึงเป็นการยื่นมือไปให้ทุกพรรคการเมืองจับเพื่อให้มันเดินหน้า ส่วนจะแก้ไขอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญ ฝ่ายค้านจึงยังสงวนท่าทีในเรื่องประเด็นที่จะให้มีการแก้ไข เรายังขอไม่พูด เพราะหากบอกไปแล้วไม่ตรงใจกับพรรคต่างๆ ก็อาจจะไม่เกิดการแก้ไข รธน. วิธีการแก้ไขเราจึงเสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญไปศึกษาทำวิธีการแก้ไข รธน. โดย ส.ส.ร.ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นผู้ไปคิดว่าจะแก้ไข รธน.เรื่องใด แต่เรามีข้อแม้ไว้ว่าต้องไม่ไปแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์กับหมวดทั่วไปของรัฐเท่านั้น โดยกรอบเวลาเราก็มองว่าไม่ควรให้นานเกินไป กมธ.วิสามัญที่จะตั้งขึ้นก็ใช้เวลาศึกษาแค่ 45-60 วันก็น่าจะจบได้แล้ว แต่ก็อยู่ที่ กมธ.ของสภาที่จะตั้งขึ้น เช่นหากผลสรุปของ กมธ.ออกมาว่าควรให้ตั้ง ส.ส.ร. หรือจะบอกว่าไม่ต้องมี ส.ส.ร.ก็ได้ ก็ให้แต่ละพรรคมีการมาสรุปประเด็นแก้ไข รธน.แล้วก็มาแก้ไขกันเลย ก็แล้วแต่ กมธ.จะสรุปผลออกมา พอสรุปออกมาแล้วก็ต้องนำรายงานมาเข้าสภาว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นอย่างไร เช่นหากเห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร. สภาก็ไปยื่นขอแก้ไข รธน.มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ไปสรุปประเด็นที่จะแก้ไข รธน. เพียงแต่ฝ่ายค้านเวลานี้เราเห็นว่าการตั้ง ส.ส.ร.จะดีกว่า

-แต่การจะแก้ไข รธน.ให้สำเร็จได้ก็ต้องได้เสียงจาก ส.ว.ด้วยถึงหนึ่งในสาม แล้ว ส.ว.ที่มาจาก คสช.จะยอมหรือไม่หากการแก้ไข รธน.ไปลดอำนาจ ส.ว.?

ก็อยู่ที่ ส.ส.ร. ผมเชื่อว่าถ้าเป็นตัวแทนจากประชาชนที่คนยอมรับกัน แล้วเขาเข้ามาทำการแก้ไข มาร่าง โดยคนยอมรับว่าคนเป็น ส.ส.ร.เข้ามาโดยไม่มีวาระซ่อนเร้น แต่เป็นตัวแทนเสียงประชาชนจริงๆ  แม้จะต้องไปตัดมือตัดไม้ ส.ว.ผมก็เชื่อว่า ส.ว.เขาก็ไม่กล้าที่จะขัดขืน หากเป็นเสียงประชาชนจริงๆ เพราะถ้าเป็นคนจากพรรคการเมืองทำ เช่นไปเสนอลดอำนาจ ส.ว.ก็อาจเกิดความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นตัวแทนประชาชนที่มาเป็น ส.ส.ร. พวก ส.ว.ก็อาจไม่ขัดขืนเรื่องรูปแบบการแก้ไข รธน. สุดท้ายจะเสนอแก้บางมาตราหรือจะเสนอให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับก็อยู่ที่ผลการพิจารณาของ ส.ส.ร.  

ถามถึงว่าหากสุดท้ายมีพรรคการเมืองเช่นพรรคร่วมรัฐบาล หรือกลุ่ม ส.ว.ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรธน. จะมีการเคลื่อนไหวรณรงค์แบบสมัยปี 2540 มีธงเขียวอะไรแบบนั้นหรือไม่ สุทิน-แกนนำพรรคเพื่อไทย มองว่ามันก็คงต้องแบบนั้น ท้ายที่สุดก็ต้องเกิดการรณรงค์ที่เป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย ที่ย่อมมีคนเห็นด้วยและคนไม่เห็นด้วย ในอดีตเคยมีธงเขียว ต่อไปก็อาจมีแบบนั้นก็ได้  แต่อาจไม่ใช่ธง อาจเป็นริบบิ้น หรืออะไรก็แล้วแต่เขา เพื่อแสดงออกถึงความต้องการของประชาชน มันก็คงมีเพื่อรณรงค์ให้เห็นว่านี่คือประชาชน

-หากไม่แก้ไข รธน.การเมืองต่อไปจะเป็นอย่างไร?

การเมืองก็จะไปถึงเดดล็อกสักวัน คือสภาก็เดินไปไม่ได้ สังคมก็ยอมรับไม่ได้ ในที่สุดมันก็เกิดสองอย่าง หนึ่งก็คือหนีไม่พ้นต้องมีการยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นข้ออ้างอีก อันที่สองก็จะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ในหมู่ประชาชน เป็นการยึดอำนาจโดยประชาชน ประชาชนอาจต้องออกมา ซึ่งจะต้องเกิดการปะทะกัน ผมว่านะมีสองอย่าง ซึ่งผมว่าไม่ควรเกิดทั้งสองกรณี

...ผมตอบได้เลยว่าพลังประชารัฐและตัวพลเอกประยุทธ์ไม่จริงใจ แต่จำเป็นต้องเขียนเพื่อเอาใจพรรคร่วมรัฐบาลแล้วพอนายกฯ แถลงนโยบายรัฐบาลเสร็จ เขาก็พูดอีกหลายครั้งว่ายังไม่ถึงเวลาแก้ไข รธน. ผมก็คิดว่านายกฯ และพรรคพลังประชารัฐเขาไม่แก้ไข รธน.หรอก ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เขาอยากแก้ไข แต่เขาจะฝืนพรรคร่วมรัฐบาลไปได้หรือไม่

..........................

ถ้าเราทำอะไรรุนแรงกับรัฐบาล อำนาจนอกระบบจะโผล่ออกมา

                การเดินกลับเข้ารัฐสภา ได้ทำหน้าที่เป็น ส.ส.อภิปรายในห้องประชุมสภา กับการเป็น ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย พร้อมกับการเป็นประธานวิปพรรคร่วมฝ่ายค้านของ สุทิน คลังแสง รอบนี้  เขาใช้เวลารอคัมแบ็กทางการเมืองร่วม 11 ปี หลังจากก่อนหน้านี้โดนเว้นวรรคการเมืองห้าปีในฐานะเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนที่โดนยุบพรรคเมื่อปี 2551 จากนั้นก็มาถึงยุค คสช.และรอให้มีการเลือกตั้งเมื่อมีนาคม 2562 การกลับมารอบนี้มาในฐานะ ส.ส.ซีเนียร์ และมีบทบาทในพรรคเพื่อไทยมากขึ้น ทั้งการเป็นประธานวิปฝ่ายค้าน อีกทั้งเพื่อไทยก็โปรโมตให้เขาเป็น ดาวสภา มีการจัดกิจกรรมพบกับแฟนคลับพรรคเพื่อไทยมาแล้ว

สุทิน ออกตัวว่า เขาเป็นดาวสภาหรือไม่ ก็ไม่รู้ (ยิ้มๆ) แต่วันนี้ก็เข้ามารับผิดชอบงานในพรรคหนักคนหนึ่งแทนรุ่นพี่ๆ ที่เขาไม่ได้เข้าสภาฯ ผมก็ซีเนียร์หน่อยก็มารับบทนี้ ก็เลยมีบทบาท แต่คนจะมองว่าเป็นดาวสภาหรือไม่ ผมไม่ได้คำนึงถึงจุดนั้นมาก

...ปัจจุบันชีวิตผมก็เปลี่ยนพอสมควร ต้องศึกษามากขึ้น ต้องติดตามข่าวสารการเมืองแต่ละวันมากขึ้น ต้องค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการ และต้องเตรียมตัวกำหนดท่าที ประเด็นการเคลื่อนไหวการเมืองตลอด และจะออกมาเป็นวาระงานรอบสัปดาห์ที่งานก็เยอะขึ้น

...ตารางงานแต่ละสัปดาห์ก็คือ วันจันทร์ต้องประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค วันอังคาร หนึ่งวันต้องประชุมสี่คณะ ไล่ตั้งแต่เช้า 9 โมงเช้า ประชุมวิปพรรคเพื่อไทยที่มีด้วยกัน 24 คน เพื่อดูเรื่องทิศทางพรรคเพื่อไทยแต่ละสัปดาห์ จะนำมติของคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคมาถ่ายทอดให้วิปพรรคเพื่อไทยทราบ ผมก็ทำหน้าที่ประธานการประชุม จากนั้นตามด้วยประชุมวิป 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน แล้วตามด้วยช่วงบ่ายก็ประชุมภาคของ ส.ส.อีสาน เพื่อไทย แล้วบ่ายสามโมงก็ไปประชุมปิดท้ายที่การประชุมใหญ่พรรค

ส่วนวันพุธประชุมสภาบ่ายโมงครึ่ง ก่อนเข้าประชุมสภาตอนสิบเอ็ดโมงก็จะมีการประชุมทบทวนมติวิปฝ่ายค้านอีกรอบหนึ่ง ส่วนพฤหัสฯ ที่ประชุมสภาเก้าโมงเช้า แต่ก่อนประชุมสภาตอนเก้าโมงเช้าก็ประชุมวิปฝ่ายค้าน เพื่อประเมินการทำงานของฝ่ายค้านในสภา เช่น เหตุการณ์ต่างๆ ในห้องประชุมสภามีจุดอ่อน จุดแข็ง มีข้อบกพร่องอย่างไร แล้ววันนี้จะเอาอย่างไร ทำให้ช่วงจันทร์ถึงพฤหัสบดีผมต้องประชุมทุกวัน ส่วนวันศุกร์ก็ไปทำเรื่องการแก้ไขปัญหาประชาชน แล้วเสาร์-อาทิตย์ก็ลงพื้นที่มหาสารคามซึ่งชาวบ้านเขาก็เข้าใจที่ผมมีเวลาในพื้นที่น้อยลง

สุทิน-ส.ส.มหาสารคาม บอกว่า นักการเมืองที่เป็นไอดอลทางการเมืองของตัวเองคือ ปู่แคล้ว นรปติ (อดีต ส.ส.ขอนแก่น 7 สมัย-อดีต ส.ว.ขอนแก่น-อดีตหัวหน้าพรรคแนวร่วมสังคมนิยม) เพราะผมเป็นเด็กบ้านนอก คือพ่อผมเป็นครู แล้วต่อมาก็มาเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นกำนัน โดยลาออกจากครูมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะท่านมีอุดมการณ์ ทำให้ผมก็เห็นนักการเมืองมาตลอดเข้ามาหาพ่อผมที่บ้าน แต่ว่าด้วยความที่ผมชอบอ่านหนังสือ ก็เลยชอบนักการเมืองที่มีอุดมการณ์อย่างนักการเมืองของมหาสารคามในอดีต ก็เช่น จำลอง ดาวเรือง อดีต ส.ส.มหาสารคาม, ไขแสง สุกใส แล้วก็ปู่แคล้ว นรปติ ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีอุดมการณ์ โดยที่ผมชอบท่านแคล้ว จนเป็นไอดอลของผมก็คือเพราะท่านเป็นนักการเมืองที่ไม่มีเงิน แล้วท่านทำการเมืองแบบไม่ใช้เงินนำหน้า แบบเดียวกับเช่น อดิศร เพียงเกษ ผมก็เลยคิดว่าหากผมจะเป็นนักการเมือง ผมจะเป็นแบบคนอื่นไม่ได้ ก็ต้องไปเรียนรู้จากนักการเมืองที่ไม่มีเงินเหมือนกัน ผมก็เลยไปปวารณาตัวเองเป็นลูกศิษย์ของท่านแคล้ว เพราะปัญหาพื้นฐานตรงกับเขา คือชาวบ้านจน แล้วเราก็ไม่มีเงิน แต่อยากเป็นนักการเมืองก็ต้องมาแบบนี้

...ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นครูที่ขอนแก่น สอนเด็กพิการ พอเลิกสอนก็ไปบ้านพ่อใหญ่แคล้วบ่อยๆ  เวลาไปหาเสียงผมก็ไปกับท่าน แต่ตอนนั้นเป็นช่วงปลายๆ ชีวิตการเมืองของท่านแล้ว แต่ของคุณอดิศร ผมไปช่วยงานตั้งแต่ลงสมัคร ส.ส.ขอนแก่นครั้งแรก แต่ก็สอบตก 2-3 ครั้ง ผมก็ไปช่วยเป็นเด็กติดป้ายหาเสียง ที่เขาลงสมัครพรรคมวลชนของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เพราะแม้ผมเป็นคนมหาสารคาม แต่ผมโต ทำงาน และมีแฟนที่ขอนแก่น ก็ไปช่วยเขาหาเสียงจนได้ทักษะการหาเสียง

 จนต่อมาเมื่อคุณอดิศรได้เป็น รมช.ศึกษาธิการสมัยรัฐบาลชวน 1 เขาก็ขอตัวผมที่ตอนนั้นเป็นครูที่ขอนแก่นมาช่วยงานที่ ก.ศึกษาธิการ ผมก็ทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัว จนผมเริ่มพอเห็นโอกาสจะเป็น ส.ส.ได้ ก็ขอย้ายกลับไปบ้านที่มหาสารคามก่อน โดยไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็ไปทำงานกับชาวบ้านอยู่ฝ่ายมวลชนของมหาวิทยาลัย จนท่านทักษิณ ชินวัตร ตั้งพรรคไทยรักไทยปี  2542 ผมเป็น ผช.อธิการบดี เวลานั้นผมก็ตั้งใจจะลง ส.ส.อยู่แล้ว กำลังเล็งหาพรรคสังกัด พอดีคุณทักษิณตั้งพรรคใหม่ก็กำลังเล็งหาคนเหมือนกัน เขาก็มาชวนผม จนผมก็ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยรุ่นแรกๆ เรียกว่ารุ่นนกแล แล้วก็ตั้งผมเป็นรองโฆษกพรรคไทยรักไทย ดูแลอีสาน ก็รับผิดชอบหาสมาชิกพรรค จนพรรคเริ่มดังก็อยู่มาเรื่อย จนไทยรักไทยถูกยุบผมไปอยู่พลังประชาชน ผมเป็นกรรมการบริหารพรรค ก็มีการยุบพรรคพลังประชาชน ก็เลยโดนเว้นวรรคห้าปี พอจะได้กลับมา คสช.ก็มารัฐประหาร แล้วอยู่มาอีกร่วมห้าปี รวมๆ แล้วกว่าจะได้กลับมาเป็น ส.ส.อีกรอบรวมเวลา 11 ปี

ในสมัยเป็น ส.ส.ไทยรักไทยสมัยที่สอง ช่วงปี 2549 ซึ่งเวลานั้นประเทศไทยว่างเว้นจากการมีรัฐประหารครั้งสุดท้ายปี 2534 ในยุค รสช.มาร่วม 15 ปี เวลานั้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือกลุ่มเสื้อเหลืองกำลังเริ่มต้นก่อตัว ออกมารวมตัวขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เวลานั้น สุทิน เป็น ส.ส.และรองโฆษกพรรคไทยรักไทย เขาเป็นคนออกมาพูดคนแรกว่า ทหารจะทำปฏิวัติ ผลก็คือโดนถล่มเละแม้แต่จากคนในพรรคเดียวกัน

“ผมเป็นคนพูดเรื่องรัฐประหารคนแรก ตอนนั้นที่ผมพูดคนก็ออกมาว่าผม เพราะผมได้ข่าวหลุดออกมา ที่มีคนไปคุยกันเรื่องนี้ที่บ้านพักของคนคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงในสังคม ในเรื่องการเข้ายึดอำนาจ ก็มีคนมาเล่าให้ผมฟังเพราะมีอดีตนายทหารใหญ่ที่ไปร่วมนั่งฟังกับเขา เขาก็มากระซิบบอกผมว่าจะมีการยึดอำนาจ ผมก็ยังไม่เชื่อ

ผมก็ไปบอกให้ท่านทักษิณฟัง ท่านก็บอกว่าก็ได้ยินเหมือนกัน แต่ว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ผมก็เลยออกมาปรามผ่านสื่อเพื่อให้รู้ว่าเรารู้ว่ามีการคิดอะไร ผมก็เลยไปพูด พอข่าวออกมาคนก็งง ตกใจกัน หาว่าผมเอาอะไรมาพูด

คนในไทยรักไทยก็ยังมาว่าผมหลายคน อย่างสุรนันทน์ เวชชาชีวะ โฆษกไทยรักไทย อยู่ต่างประเทศ ยังโทรศัพท์มาคุยกับผมเลยว่า..สุทิน ไปพูดแบบนั้นได้ยังไง ไม่เหมาะ คือเรื่องนี้ผมทราบมาเป็นลำดับ ตอนนั้นผมก็คิดว่าไม่น่าจะกล้าทำ แต่สุดท้ายก็เป็นจริง ตอนกันยายน 2549

สุทิน-แกนนำพรรคเพื่อไทย ย้ำว่า เรื่อง อำนาจนอกระบบ ยังมีเหมือนเดิม ซึ่งดูเหมือนจะเบาไปช่วงหนึ่ง แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะเข้มข้นขึ้น ผู้นำกองทัพ ผู้นำอำนาจส่วนอื่นออกมา เรียกว่ามีส่วนร่วม มาคอมเมนต์ มาคุกคามการเมืองถี่ขึ้น ชัดเจนขึ้น อย่างวันนี้เรายังเห็นภาพอำนาจนอกระบบยังหนุนรัฐบาลชัดเจน รัฐบาลอยู่ได้เพราะอำนาจนอกระบบ ผมยังเห็นร่องรอยอำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการในหลายกรณี ก่อนจะตั้งรัฐบาลได้ยังมีอยู่ ยังมาช่วยตั้งรัฐบาลเลย คำว่าอำนาจนอกระบบ ไม่ได้หมายถึงกองทัพอย่างเดียวแต่หลายส่วน และวันนี้ยังแสดงท่าทีค้ำจุนรัฐบาลอยู่ ถ้าเราไปทำอะไรรุนแรงกับรัฐบาล ผมก็เชื่อว่าอำนาจพวกนั้นก็จะโผล่ออกมาอีก ผู้นำกองทัพก็ยังส่งสัญญาณขู่อยู่ตลอด ซึ่งทำให้ประชาธิปไตยไม่พัฒนา อำนาจนอกระบบดังกล่าว คือไม่ได้อยู่ในระบบรัฐสภา อยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้หน้าที่แก่เขา.

                                                                          โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

........................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"