“ทักษิณ” รอดบ่วงปล่อยกู้กฤษดามหานครพร้อมถอนหมายจับคดีนี้แล้ว ศาลฎีกาชี้ไม่มีหลักฐานชัดว่า “ซูเปอร์บอส-บิ๊กบอส” คือใคร คนรู้มีแค่ “ร.ท.สุชาย” รอลุ้นอัยการสูงสุดยื่นอุทธรณ์ใน 30 วัน “อุตตม” ท่องคาถาโนคอมเมนต์
เมื่อเวลา 14.50 น. วันที่ 30 ส.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อม.) นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา อม. คดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมทุจริตการปล่อยกู้สินเชื่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มกฤษดามหานคร คดีหมายเลขดำ อม.3/2555 ที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ เป็นจำเลยที่ 1 และนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และบริษัทในเครือของกฤษดาฯ กับพวกรวม 27 ราย เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502, ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505, ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และความผิด พ.ร.บ.บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ.2535 กรณีเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2546-30 เม.ย.2547 ได้อนุมัติสินเชื่อให้นิติบุคคล ซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้นำไปซื้อที่ดินโดยไม่มีการวิเคราะห์ถึงฐานะทางการเงิน และความสามารถการชำระหนี้ รวมทั้งวัตถุประสงค์การให้สินเชื่อ, แหล่งเงินทุนที่จะชำระหนี้ และไม่มีการควบคุมติดตามดูแลสินเชื่อหลังการอนุมัติโดยใกล้ชิด รวมทั้งไม่เรียกหลักประกันให้คุ้มหนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย โดยพวกจำเลยนำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 10,054,467,480 บาท
ทั้งนี้ อสส.ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2555 แต่ระหว่างเริ่มพิจารณาคดี ปรากฏว่านายทักษิณได้หลบหนีคดี ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะของนายทักษิณออกจากสารบบไว้ชั่วคราว จนกว่าจะได้ตัวกลับมาดำเนินคดี ต่อมาในปี 2560 ได้มีการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 (วิ อม.) ซึ่งให้อำนาจศาลพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลยได้ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อสส. จึงยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เมื่อเดือน พ.ย.2560 ขอให้นำคดีนี้ที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะในส่วนนายทักษิณขึ้นมาพิจารณาใหม่โดยไม่มีตัวจำเลย ตามวิ อม. มาตรา 28 โดยนายทักษิณได้มอบอำนาจให้ทนายความร่วมต่อสู้คดีเป็นครั้งแรกในการรื้อฟื้นคดี ซึ่งได้นำพยานเข้าไต่สวน 4 ปาก และทนายความก็ได้มาฟังคำพิพากษาด้วย
องค์คณะพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายที่นายทักษิณต่อสู้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไม่มีอำนาจไต่สวนนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วในคดีอื่น ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ 5/2551 ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันการพิจารณาของศาลฎีกาด้วย มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่านายทักษิณกระทำผิดหรือไม่ องค์คณะเสียงข้างมากเห็นว่า ตามทางไต่สวนแม้จะได้ความจากนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ หนึ่งในห้าคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อธนาคารกรุงไทย ว่านายชัยณรงค์ได้รับโทรศัพท์จาก ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย หนึ่งในห้าคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อธนาคารกรุงไทย จำเลยที่ 2 แจ้งว่าโครงการขออนุมัติสินเชื่อของบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด จำเลยที่ 19 (บริษัทในเครือกฤษดามหานคร) ว่าซุูเปอร์บอสตกลงแล้วอย่าสอบถามข้อมูลมากนัก และขอให้พิจารณาไปโดยเร็ว ซึ่งมีลักษณะเป็นการสั่ง และคำว่าซูเปอร์บอส น่าจะหมายถึงนายทักษิณ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกฯ ในขณะเกิดเหตุ แต่พยานเห็นว่าที่ดินซึ่งจำเลยที่ 19 อ้างทำโครงการขนาดใหญ่พื้นที่จำนวนมากถึง 4,000 ไร่ น่าจะมีปัญหาในการรวบรวมที่ดินแต่ละแปลง ดังนั้นโครงการดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ และบริษัทโกลเด้นฯ จำเลยที่ 19 ก็ยังมีภาระสินเชื่อกับสถาบันการเงินอื่นอีกจำนวนมาก ไม่อยู่ในสถานะชำระหนี้ได้ พยานจึงได้โต้แย้งการอนุมัติสินเชื่อ แต่ในที่ประชุมไม่มีบันทึกการโต้แย้ง ถ้ามีการโต้แย้งจริงจะอนุมัติสินเชื่อให้ได้อย่างไร ซึ่งการอนุมัติคณะกรรมการต้องเห็นชอบทั้ง 5 คน
นอกจากนี้ นายชัยณรงค์เคยให้ถ้อยคำต่อ คตส. ว่า คำว่าซูเปอร์บอส หมายถึงนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ อันเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกัน อีกทั้งการเบิกความเกี่ยวกับคำว่าซูเปอร์บอส หรือบิ๊กบอส หมายถึงนายทักษิณเป็นเพียงการคาดเดาไปตามความเข้าใจของนายชัยณรงค์เอง ซึ่งนายชัยณรงค์ไม่เคยรู้จักนายทักษิณเป็นการส่วนตัว เพียงแต่อ้างว่า ร.ท.สุชายโทรศัพท์มาบอกว่าซูเปอร์บอสตกลงแล้ว อย่าถามข้อมูลมากนัก และขอให้พิจารณาไปโดยเร็ว จึงเป็นกรณีที่นายชัยณรงค์รับฟังมาจาก ร.ท.สุชายอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น ซูเปอร์บอสจะเป็นผู้ใด คงมีเพียง ร.ท.สุชายเท่านั้นที่จะยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ หรืออาจเป็นข้อกล่าวอ้างของ ร.ท.สุชายเองก็เป็นได้ พยานปากนายชัยณรงค์ซึ่งเป็นพยานที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว จึงควรรับฟังด้วยความระมัดระวัง
ส่วนพยานปากนายอุตตม สาวนายน หนึ่งในห้าคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อธนาคารกรุงไทย ก็ได้ความเพียงว่า ก่อนการประชุมนายชัยณรงค์ได้สอบถามที่หน้าห้องประชุมเพียงว่า ร.ท.สุชายได้โทรศัพท์มาถึงนายอุตตมหรือไม่ ซึ่งนายอุตตมตอบว่า ร.ท.สุชายไม่ได้โทรศัพท์มาหา การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้จำเลยที่ 19 ในส่วนของนายอุตตมจึงไม่ได้เกิดจาก ร.ท.สุชายโน้มน้าวให้อนุมัติ เพราะได้รับคำสั่งจากนายทักษิณ พยานหลักฐานของโจทก์ที่ไต่สวนมายังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่านายทักษิณสั่งการผ่านจำเลยที่ 2-4 ให้อนุมัติสินเชื่อดังกล่าว นายทักษิณ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง และถอนหมายจับในคดีนี้
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ และวิ อม.ใหม่ บัญญัติให้คู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ ดังนั้นต้องรอดูว่าฝ่ายอัยการโจทก์จะพิจารณายื่นคำอุทธรณ์ในคดีนี้หรือไม่ ซึ่งต้องดำเนินการภายใน 30 วันนับจากวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา
สำหรับนายทักษิณ ที่ผ่านมาศาลฎีกาได้พิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลยตามกฎหมาย และได้มีคำพิพากษาในคดีสำนวนอื่นก่อนหน้านี้ไปแล้วทั้งสิ้น 3 คดี ประกอบด้วย 1.คดีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องกล่าวหาทุจริตปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ให้กับรัฐบาลเมียนมาวงเงิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2562 ให้จำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา 2.คดี ป.ป.ช.ยื่นฟ้องกล่าวหาร่วมทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2562 ให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา และ 3.คดี ป.ป.ช.ยื่นฟ้องกล่าวหาขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ปี 2546 ได้เสนอให้กระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.การคลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ส.ค.2561 ให้ยกฟ้องนายทักษิณ
ขณะเดียวกันยังมีคดีที่ศาลฎีกากำลังพิจารณาอีก คือคดีที่ อสส.ยื่นฟ้องกล่าวหาแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียมเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2551
ด้านนายอุตตมปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับตนเอง ไม่ขอคอมเมนต์ เรื่องนี้เป็นการพิจารณาของศาล ซึ่งที่เกี่ยวข้องกับตนเองจบแล้ว และจะไม่ให้ความเห็นก้าวล่วงการทำงานของศาล
“ผมไม่ทราบด้วย ไม่คอมเมนต์ด้วย เรื่องของศาลท่านจะไปคอมเมนต์ได้อย่างไร ไม่มีความเห็นเรื่องของศาล ผมไม่มีความเห็น ไม่ก้าวล่วงเด็ดขาด ต้องเข้าใจกันนิดหนึ่ง เรื่องของศาลเราไม่ไปคอมเมนต์ อย่าไปคอมเมนต์เลย เรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งหลายไม่คอมเมนต์ เข้าใจว่าต้องถาม แต่ผมไม่มีคอมเมนต์” นายอุตตมย้ำ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |