ปิยบุตรยกอธิปไตยมีสิทธิ์ด่าศาล


เพิ่มเพื่อน    

    "โกวิท" เข้าแจงศาลรัฐธรรมนูญ หลบสื่อไปก่อนเวลา ขาออกหลบทางประตูหลัง ลูกศิษย์แห่ให้กำลังใจส่อหมิ่นศาลเพิ่ม ด้าน "ปิยบุตร" ออกตัวล้อฟรี อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ประชาชนมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ศาล ย้ำ 3 อำนาจอธิปไตยอยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร  ข้องใจอาศัยอำนาจอะไรเรียก "พ่อจอห์น" ไปชี้แจง  ตำหนิศาลกำลังเป็นองค์กรที่แตะต้องไม่ได้
    เมื่อวันที่ 30 ส.ค.62 เวลา 10.40 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งวัฒนะ นายโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ พ่อของพิธีกรชื่อดัง จอห์น วิญญู เดินทางมาให้ถ้อยคำเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่ได้รับหนังสือเชิญ กรณีที่โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญว่า  รับคำร้อง 32 ส.ส. ปมหุ้นสื่อ แต่ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ "น่าจะเกินคำว่า ด้าน เสียแล้ว" ซึ่งอาจจะเข้าข่ายละเมิดศาล 
    โดยนายโกวิทได้เดินทางมาถึงศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่เวลา 08.50 น. ก่อนเวลานัดหมายในเวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่นำนายโกวิทไปพบเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญทันที โดยใช้เวลาชี้แจงประมาณ 1 ชั่วโมง
    เสร็จแล้วนายโกวิทไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ แต่ได้ให้คนขับรถส่วนตัวไปรอรับบริเวณชั้นล่างของศาลรัฐธรรมนูญ และได้มอบหมายให้คนใกล้ชิดมาแลกบัตรคืนบริเวณด้านหน้าศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากนายโกวิทไม่ต้องการพบกับสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวเป็นจำนวนมาก จึงหลบไปในช่วงเสร็จสิ้นการชี้แจง แม้แต่กลุ่มผู้ที่เดินทางมาให้กำลังใจก็ยังไม่ทราบ และยังรอที่จะมอบดอกไม้ให้กำลังใจ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลได้ยืนยันว่านายโกวิทเดินทางกลับไปแล้ว ทางกลุ่มผู้ให้กำลังใจก็ได้สลายตัว
    นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินทางมาให้กำลังใจ กล่าวว่า เราอยากจะทราบว่าศาลจะรักษาความศักดิ์สิทธิ์หรือความยุติธรรม หากศาลจะรักษาเพียงความศักดิ์สิทธิ์ ก็ให้ลงมารับของเซ่นไหว้ แต่ถ้ารักษาความยุติธรรม ก็ต้องพร้อมรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน เพื่อปรับปรุงการทำงาน  และต้องพิสูจน์ความยุติธรรมเอง ศาลต้องเชื่อมั่นว่าจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร เเละพร้อมที่จะถูกตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลที่ไม่ได้มีที่มาจากประชาชน หรือไม่ได้มีที่มาจากการเลือกของประชาชน ก็ต้องยิ่งได้รับการตรวจสอบมากยิ่งขึ้น ก็เลยมาบนบานศาลกล่าวให้อาจารย์โกวิทปลอดภัย 
    ทั้งนี้ กลุ่มศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เดินทางมาให้กำลังใจ ได้นำดอกไม้ธูปเทียน ผ้า 7 สีมาลัย 7 ศอก ตุ๊กตาม้าลาย ตุ๊กตาไก่ มาด้วย โดยระบุว่านำมาไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอให้นายโกวิทรอดจากการถูกดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาล
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เข้าใจว่าความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งมีตามกฎหมายใหม่ ทุกคนต้องระมัดระวัง และเข้าใจว่าเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเรียกไปถาม ยังไม่มีการตั้งข้อหาหรืออะไร คงสอบถามว่าตั้งใจจะสื่ออะไร มีความหมายอะไร ทำนองนั้น คงเป็นการพูดคุย ตนทราบเพียงเท่านี้จากข่าว เพราะไม่มีส่วนได้เสียอะไร
    ผู้สื่อข่าวถามว่า สังคมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเรื่องการเมือง จึงวิพากษ์วิจารณ์ได้ รองนายกฯตอบว่า จะทำอย่างไรได้เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเขียนให้มีข้อหานี้ได้ สมัยก่อนนั้นไม่มี และคำว่าละเมิดอำนาจศาลไม่ใช่แค่การวิพากษ์วิจารณ์ แต่รวมถึงการกระทำ เช่น ก่อการรบกวน สมัยก่อนศาลรัฐธรรมนูญเคยไปอ่านคำวินิจฉัยที่อื่น จำได้ว่าเป็นศาลปกครอง เขามีเรื่องละเมิดอำนาจศาล เพื่อทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยลงได้ ศาลรัฐธรรมนูญคิดว่าคงต้องมีบทบัญญัติทำนองนี้เหมือนกัน เพราะทำการในพระปรมาภิไธยเหมือนกัน ส่วนเรื่องของเส้นแบ่งการแสดงความคิดเห็นนั้นตนไม่ขอวิจารณ์ เดี๋ยวจะถูกเรียกไปอีกคน
    เมื่อถามถึงกรอบการละเมิดอำนาจศาลเป็นเช่นไร เพราะนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่การละเมิด นายวิษณุกล่าวว่า แล้วแต่จะว่าไป ขึ้นอยู่ที่ศาลจะตัดสิน แต่อะไรก็ตามที่เป็นการล่วงเกินทำให้เห็นว่าศาลไม่เป็นกลาง ไม่ยุติธรรม ทำให้รู้สึกจูงใจ โน้มน้าวต่อคนที่ได้ยินได้ฟังแล้วเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อศาล ซึ่งอาจไม่เป็นความจริง เหตุมันมีแค่นี้
     ถามว่าเป็นห่วงหรือไม่จะมีกรณีเช่นนี้ตามมาอีก รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ทราบ รัฐบาลไม่ใช่คนเรียก ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนเรียก ทุกคนต้องระมัดระวังตนเองแล้วกัน 
    ซักว่าการวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียจะเข้าสู่กระบวนการเช่นนี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อาจจะเข้าหรือไม่เข้าสู่กระบวนการก็ได้ การเรียกมาถามก่อนโดยยังไม่เข้าสู่กระบวนการเป็นเรื่องถ้อยทีถ้อยอาศัยอย่างหนึ่ง 
     กรณี น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ แจ้งความเอาผิดนายยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ในข้อหาหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายวิษณุกล่าวว่า อยู่ที่ศาล เช่นเดียวกับศาลยุติธรรม เพราะการละเมิดอำนาจศาล ศาลอาจจะตั้งข้อหาเองโดยไม่มีผู้ร้องก็ได้ หรือมีคนอื่นไปร้องก็ได้ แต่ศาลจะต้องพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวเป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ เพราะการละเมิดอำนาจศาลไม่ได้จบลงด้วยการจำคุกหรือปรับเสมอไป แต่จบลงด้วยการตำหนิหรือออกข้อกำหนด เช่น ห้ามมาศาล 3 วัน หรือให้หยุดพูด ทำนองนั้น โดยผู้ที่จะแจ้งข้อกล่าวหาการละเมิดอำนาจศาลนั้น ได้ทั้งประชาชนทั่วไป และหน่วยงานที่เสียหาย ซึ่งกรณี น.ส.ปารีณาทำได้หรือไม่นั้น ตามหลักการต้องตอบว่าได้ แต่เข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ ไม่ทราบ
    นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงว่า รัฐธรรมนูญประกาศรับรองเอาไว้ว่าประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ดังนั้นเจ้าของอำนาจคือประชาชน การที่ประชาชนคนทั่วไปวิพากษ์วิจารณ์องค์กรต่างๆ ที่ใช้อำนาจอธิปไตยนั้นจึงเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย เพราะทำไมเจ้าของอำนาจจะวิจารณ์องค์กรที่ใช้อำนาจไม่ได้ 
    "เราจะเห็นประชาชนวิจารณ์ ส.ส. วิจารณ์นักการเมือง สภา รัฐบาล เช่นเดียวกันก็ต้องวิจารณ์ศาลได้ แต่เราเข้าใจว่าศาลเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรม ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายอะไรบางอย่างที่ต้องปกป้องคุ้มครองศาลเช่นเดียวกัน ตรงนี้เราไม่ปฏิเสธ เพียงแต่กฎหมายที่ใช้ปกป้องคุ้มกันนั้น จะทำอย่างไรให้สมดุลกับเสรีภาพของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์ของศาล"
    เขากล่าวว่า กฎหมายเรื่องการละเมิดอำนาจศาลบัญญัติไว้เพื่อใช้เวลาที่มีใครมาขัดขวางการพิจารณาของศาล ปิดล้อม ชุมนุมที่ศาล หรือเมื่อศาลมีคำสั่งแล้วไม่เคารพศาล ก่อความไม่สงบวุ่นวายในศาล รวมไปถึงการติดสินบนต่างๆ ในศาล กฎหมายจึงมีลักษณะพิเศษที่ให้อำนาจศาลดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องผ่านตำรวจ เพื่อต้องการความฉับไว เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของศาล 
    อีกเรื่องคือเรื่องดูหมิ่นศาล คือดูหมิ่นตัวบุคคล เช่นตุลาการหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี หรือขัดขวางการพิจารณาคดี เรื่องนี้จะดำเนินการโดยการไปแจ้งความ หรือตัวผู้เสียหายจะฟ้องศาลดำเนินคดีก็ได้ ซึ่งกรณีของศาลรัฐธรรมนูญ วิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในมาตรา 38 วรรค 3 เขียนว่า การวิจารณ์การวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลนั้น หากทำโดยสุจริต ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย เหล่านี้ไม่ถือเป็นละเมิดอำนาจศาล
    นายปิยบุตรกล่าวว่า การจะละเมิดอำนาจศาลหรือไม่อย่างไร โดยธรรมชาติของการวิจารณ์คำวินิจฉัยไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาลอยู่แล้ว แต่พอคุณไปเขียนกฎหมายแบบนี้ แปลว่าคุณตีขอบเอาไว้แล้วว่าจะวิจารณ์อย่างไรถึงไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล ถ้าวิจารณ์ออกนอกกรอบเรื่องความโดยสุจริต ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย เหล่านี้ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลทันที ซึ่งตนเห็นว่าการเขียนกฎหมายแบบนี้ทำให้มีขอบเขตการใช้กฎหมายอำนาจละเมิดอำนาจศาลกว้างจนเกินไป
    เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่กล่าวอีกว่า กรณีวันนี้ที่นายโกวิทถูกเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเรียกตัวไป ตนก็นั่งสงสัยอยู่ว่าหนังสือเรียกตัวนายโกวิทนั้น สถานะทางกฎหมายคืออะไร สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ อาศัยอำนาจตามกฎหมายข้อไหนเรียกคนไปชี้แจง เราอยู่ในหลักนิติรัฐ องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐจะมีอำนาจรัฐต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ตำรวจเราไปก็ต้องมีหมายเรียก กกต.ก็ปฏิบัติตามกฎหมายของ กกต. ปัญหาคือเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญทำจดหมายเรียกนายโกวิทไปชี้แจงวันนี้ อาศัยอำนาจตามกฎหมายอะไร ตนดูกฎหมายฉบับนั้นก็ไม่เห็นอ้างกฎหมายอะไรเลย 
    ส่วนอีกคดีที่กำลังจะเปิดกระบวนการพิจารณาคดีในวันที่ 9 กันยายน คือกรณีของนางสฤณี อาชวนันทกุล นักวิชาการ เป็นการดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง โดยใช้เรื่องละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิฯ แพ่ง แต่ใช้มาตรา 32 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ในระหว่างที่การพิจารณาคดียังไม่จบ แต่กรณีนางสฤณี เป็นวิจารณ์คำพิพากษาที่จบไปแล้ว 
    "ดังนั้นผมจึงอยากฝากว่า ศาลเป็นองค์กรตุลาการ เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเคียงคู่ไปกับรัฐสภาและรัฐมนตรี ทั้ง 3 องค์กรนี้อยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร และเมื่อคุณใช้อำนาจอธิปไตยผ่านกระบวนการตุลาการ ก็จำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีโอกาสตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบที่ดีที่สุดคือการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกันและกัน ท่านต้องระวังเรื่องการใช้กรณีละเมิดอำนาจศาลมาดำเนินคดี เพราะต่อไปในอนาคตจะทำให้เข้าใจว่าศาลเป็นองค์กรที่แตะต้องไม่ได้เลยหรือเปล่า" นายปิยบุตรกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"