30 ส.ค.62 - นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค. แถลงถึงกรณีมีบุคคลจำนวนหนึ่งถูกร้องทุกข์กล่าวโทษเรื่องดูหมิ่นศาล และละเมิดอำนาจศาล เช่น นายโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ พ่อนายจอร์น วิญญู ว่า รัฐธรรมนูญประกาศรับรองเอาไว้ว่าประเทศศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
ดังนั้น เจ้าของอำนาจคือประชาชน การที่ประชาชนคนทั่วไปวิพากษ์วิจารย์องค์กรต่างๆที่ใช้อำนาจอธิปไตยนั้นจึงเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย เพราะทำไมเจ้าของอำนาจจะวิจารณ์องค์กรที่ใช้อำนาจไม่ได้ เราจะเห็นประชาชนวิจารณ์ ส.ส. วิจารณ์นักการเมือง สภา รัฐบาล เช่นเดียวกันก็ต้องวิจารณ์ศาลได้ แต่เราเข้าใจว่าศาลเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรม ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายอะไรบางอย่างที่ต้องปกป้องคุ้มครองศาลเช่นเดียวกัน ตรงนี้เราไม่ปฏิเสธ เพีงแต่กฎหมายที่ใช้ปกป้องคุ้มกันนั้นจะทำอย่างไรให้สมดุลกับเสรีภาพของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์ของศาล
ทั้งนี้ กฎหมายเรื่องการละเมิดอำนาจศาลบัญญัติไว้เพื่อใช้เวลาที่มีใครมาขัดขวางการพิจารณาของศาล ปิดล้อม ชุมนุมที่ศาล หรือเมื่อศาลมีคำสั่งแล้วไม่เคารพศาล ก่อความไม่สงบวุ่นวายในศาล รวมไปถึงการติดสินบนต่างๆในศาล กฎหมายจึงมีลักษณะพิเศษที่ให้อำนาจศาลดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องผ่านตำรวจเพื่อต้องการความฉับไว เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของศาล
อีกเรื่องคือเรื่องดูหมิ่นศาล คือดูหมิ่นตัวบุคคล เช่น ตุลาการ หรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี หรือขัดขวางการพิจารณาคดี เรื่องนี้จะดำเนินการโดยการไปแจ้งความ หรือตัวผู้เสียหายจะฟ้องศาลดำเนินคดีก็ได้ ซึ่งกรณีของศาลรัฐธรรมนูญ วิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในมาตรา 38 วรรค 3 เขียนว่า การวิจารณ์การวินิจฉัย หรือคำสั่งของศาลนั้นหากทำโดยสุจริต ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย เหล่านี้ไม่ถือเป็นละเมิดอำนาจศาล ซึ่งการจะละเมิดอำนาจศาลหรือไม่อย่างไร โดยธรรมชาติของการวิจารณ์คำวินิจฉัยไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาลอยู่แล้ว แต่พอคุณไปเขียนกฎหมายแบบนี้ แปลว่าคุณตีขอบเอาไว้แล้วว่าจะวิจารณ์อย่างถึงไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล ถ้าวิจารณ์ออกนอกกรอบเรื่องความโดยสุจริต ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้ายเหล่านี้ถือว่า เป็นการละเมิดอำนาจศาลทันที
"ผมเห็นว่า การเขียนกฎหมายแบบนี้ทำให้มีขอบเขตการใช้กฎหมายอำนาจละเมิดอำนาจศาลกว้างจนเกินไป"
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า กรณีวันนี้ที่นายโกวิทถูกเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเรียกตัวไป ตนก็นั่งสงสัยอยู่ว่า หนังสือเรียกตัวนายโกวิทนั้น สถานะทางกฎหมายคืออะไร สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญอาศัยอำนาจตามกฎหมายข้อไหนเรียกคนไปชี้แจง เราอยู่ในหลักนิติรัฐ องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐจะมีอำนาจรัฐต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ตำรวจเราไปก็ต้องมีหมายเรียก กกต. ก็ปฏิบัติตามกฎหมายของ กกต. ปัญหาคือ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญทำจดหมายเรียกนายโกวิทไปชี้แจงวันนี้อาศัยอำนาจตามกฎหมายอะไร ตนดูกฎหมายฉบับนั้นก็ไม่เห็นอ้างกฎหมายอะไรเลย
ส่วนอีกคดีที่กำลังจะเปิดกระบวนการพิจารณาคดีในวันที่ 9 กันยายน คือ กรณีของนางสฤณี อาชวนันทกุล นักวิชาการ เป็นการดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง โดยใช้เรื่องละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิฯ แพ่ง แต่ใช้มาตรา 32 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ในระหว่างที่การพิจารณาคดียังไม่จบ แต่กรณีนางสฤณีเป็นวิจารณ์คำพิพากษาที่จบไปแล้ว
"ดังนั้น จึงอยากฝากว่า ศาลเป็นองค์กรตุลาการ เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเคียงคู่ไปกับรัฐสภา และรัฐมนตรี ทั้ง 3 องค์กรนี้อยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร และเมื่อคุณใช้อำนาจอธิปไตยผ่านกระบวนการตุลาการ ก็จำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีโอกาสตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบที่ดีที่สุดคือการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกันและกัน ท่านต้องระวังเรื่องการใช้กรณีละเมิดอำนาจศาลมาดำเนินคดี เพราะต่อไปในอนาคตจะทำให้เข้าใจว่า ศาลเป็นองค์กรที่แตะต้องไม่ได้เลยหรือเปล่า"
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |