ปิดฉาก “ไอปา” ไทยส่งไม้ต่อเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดประชุมต่อปี 63 "ชวน" เผยมีการหยิบยกกรณีหญิงไทยถูกหลอกไปขายบริการ ชี้เป็นเรื่องที่ชั่วร้ายมาก ต้องมีการสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยกัน “อินโดนีเซีย” ทำป่วน! ยื่นเงื่อนไขปม "โรฮีนจา" ก่อนวอล์กเอาต์ ทำให้ไร้ข้อตกลงด้านการเมือง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 สิงหาคม ที่โรงแรมแชงกรี-ลา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน (ไอปา) ครั้งที่ 40 ได้กล่าวปิดการประชุมพร้อมกับส่งมอบตำแหน่งประธานไอปาให้แก่ประธานรัฐสภาเวียดนาม โดยนายชวนกล่าวตอนหนึ่งว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และความท้าทายใหม่ๆ กำลังห้อมล้อมเราทุกด้าน นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับประวัติศาสตร์อาเซียน เรากำลังเผชิญกับการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ทำให้เราต้องรับมือก่อน เพื่อไม่ให้น้อยหรือสายเกินไป ภัยคุกคามและโอกาสเหล่านี้คอยเตือนเราว่าประชาคมที่ยั่งยืนยาวนานนั้นไม่แน่นอน
นายชวนกล่าวว่า ประชาคมจะไม่ยั่งยืนหากไม่มีรากฐานที่มั่นคงที่สร้างจากฐานล่างขึ้นไป ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ความเชื่อมโยงของเราต่อประชาชนทำให้ไอปามีความสำคัญอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยแง่คิดที่เราได้แบ่งปันกันในสัปดาห์นี้ ได้วาดภาพสะท้อนถึงสถานการณ์และความสำคัญที่หลากหลายของเรา หากเราต้องการจะก้าวย่างไปข้างหน้าร่วมกัน โดยคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของเรา เราจะต้องพึงระลึกว่าคำตอบสำหรับการเจรจาที่ยากนั้น ไม่ใช่ด้วยการพูดคุยที่น้อยลง แต่เป็นการพูดคุยที่มากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่ายังคงมีอีกหลายอย่างที่ยังต้องทำ แต่การพัฒนาก้าวหน้ายังคงเกิดขึ้น
“ในปีนี้เราประสบความสำเร็จในการจัดให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเลขาธิการอาเซียน นับเป็นก้าวแรกสู่การร่วมมือครั้งสำคัญ อีกทั้งเรายังประสบความสำเร็จในการตกลงในการสร้างคลังข้อมูลกฎหมายนานาชาติ นั้นเป็นความสำเร็จด้านการสื่อสาร เพื่อให้แน่ใจว่าการอ้างอิงสถานการณ์ทางกฎหมายในแต่ประเทศสามารถทำได้อย่างมีมาตรฐานมากขึ้น”
ประธานรัฐสภาของไทยกล่าวต่อว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 กำลังเกิดขึ้นรอบตัวเรา เราได้วางตัวเพื่อเก็บเกี่ยวโอกาสให้ได้มากที่สุดด้วยการสนับสนุนเสาธุรกิจที่สำคัญ หรือ MSMEs หากเราต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน มันจำเป็นที่เราจะทำมันอย่างมีส่วนร่วม เราไม่สามารถเสี่ยงให้มีช่องโหว่ของความเหลื่อมล้ำเหลืออยู่ได้ อีกทั้งเราร่วมกันเป็นหนึ่งด้วยการก้าวสู่ตลาดการบินร่วม
“เราไม่สามารถสร้างประชาคมที่ยั่งยืนได้ หากประชากรกว่าอีกครึ่งหนึ่งของเรายังคงไม่มีสิทธิ์มีเสียง และในปีนี้เราได้ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่ถูกกีดกันจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคเทคโนโลยีนวัตกรรม นี้เป็นความพยายามที่ซับซ้อน ซึ่งเกี่ยวพันกับหลายๆ แง่ของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ดังนั้นเราจึงได้เสนอให้ขยายการเข้าถึงสถาบันการศึกษา การดูแลสุขภาพ การเงิน การเมือง และความยุติธรรม เพื่อปกป้องคุณภาพชีวิตของพวกเขา”
นายชวนกล่าวสรุปว่า เราได้ก้าวสู่ภูมิภาคอาเซียนปลอดยาเสพติด ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาทางเลือก ทดแทนการผลิตยาเสพติด การเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยบนท้องถนน จะช่วยชีวิตได้อย่างนับไม่ถ้วนในแต่ละปี และปกป้องกลุ่มที่ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ เด็ก ผู้สูงอายุ และแรงงานต่างชาติ นับเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเท่าเทียมกันทางสังคม ไกลไปกว่านั้น เรายังได้เพิ่มความสำคัญต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้แน่ใจว่าโลกของเรานั้นสามารถอยู่ได้สำหรับรุ่นต่อไปในอนาคต
จากนั้น เวลา 11.00 น. นายชวนแถลงถึงภาพของการประชุมไอปาที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยได้มอบภารกิจให้กับประธานรัฐสภาเวียดนามแล้ว การประชุมครั้งนี้ได้เตรียมการกันมาหนักตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เสร็จสิ้นการเลือกตั้งของประเทศไทย ในโอกาสนี้ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ได้ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้
นายชวนกล่าวว่า ไอปาตั้งมานานกว่า 40 ปีก็จริง แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักองค์กรนี้มากนัก ดังนั้นเราจะต้องสร้างผลงานในฐานะที่พวกเราเป็นคนที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ด้วยเหตุนี้เราจึงมีความคิดว่าจะจัดเวทีเพื่อสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างเลขาธิการไอปาและเลขาธิการอาเซียน โดยจะเป็นช่องทางที่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติส่งปัญหาและข้อเสนอแนะไปให้ฝ่ายบริหาร
ด้านนายกิตติ วะสีนนท์ ประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยข้อแถลงการณ์ร่วมไอปา กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการด้านต่างๆ ทั้ง 4 คณะ ได้มีข้อมติร่วมกัน ดังนี้ 1.คณะกรรมาธิการด้านสมาชิกรัฐสภาสตรีของสมัชชารัฐสภาอาเซียน มีความเห็นร่วมกันในการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมกันและการลดช่องว่างในด้านความเหลื่อมล้ำทางเพศ 2.คณะกรรมาธิการด้านกิจการสมัชชารัฐสภาอาเซียน ได้พิจารณาลงลึกไปถึงโอกาสที่จะสนับสนุนให้ประเทศอาเซียนมีความก้าวหน้าในด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเตรียมการรับมือในอนาคตที่เรียกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และช่วยเหลือเอกชนระดับเล็กและระดับย่อยเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับดิจิทัล
3.คณะกรรมาธิการด้านสังคม พิจารณาในเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อให้กฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก หรือสภาพภูมิอากาศที่อาเซียนเริ่มประสบปัญหาแล้ว เช่นเดียวกับการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างชาติ ที่แต่ละประเทศเป็นผู้ทั้งผู้รับและส่งแรงงาน ที่สำคัญมีการตอบรับการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยยอมรับการพัฒนาแบบทางเลือกด้วยการน้อมนำแนวเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา และ 4.คณะกรรมาธิการด้านกิจการสมัชชารัฐสภาอาเซียน มีการหารือกันถึงการปรับปรุงกลไกการทำงานของไอปา และอาเซียนร่วมกัน เพื่อให้ต่างฝ่ายเกิดการทำงานแบบเกื้อกูลกัน โดยให้รัฐสภามีส่วนในการเสริมสร้างความเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“รัฐสภาชุดนี้ตั้งมาแค่ 3 เดือน แต่ได้ทำงานกันอย่างเป็นเอกภาพภายใต้การนำของประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภา จนสามารถทำงานได้อย่างเป็นผลสำเร็จเป็นอย่างดี” นายกิตติกล่าว
เมื่อถามว่า ประเด็นที่ไอปามีมติในการขับเคลื่อนงานร่วมกันมีความชัดเจนในเรื่องใดบ้าง นายกิตติ กล่าวว่า ในส่วนของไอปาจะเป็นการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะดูว่าจะมีส่วนช่วยเสริมอย่างไร เช่น การออกกฎหมาย เพื่อช่วยในหลายภาคส่วน เป็นต้น เราต้องทำงานร่วมสภาอีก 10 ประเทศเพื่อช่วยขับเคลื่อนให้อาเซียนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
นายชวนกล่าวเสริมว่า ประเด็นหนึ่งที่ยกขึ้นมาคือ หญิงไทยถูกหลอกไปขายบริการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชั่วร้ายมาก ไม่รู้ว่าคดีมีความคืบหน้าไปอย่างไร ในที่ประชุม ไอปาได้คุยกันว่าหากเรารับรู้ความชั่วร้ายร่วมกัน เพราะการดำเนินการนี้มีการทำเป็นขบวนการ ก็ควรจะต้องมีการสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยกัน เช่น การหยิบขึ้นมาและตั้งกระทู้ถามฝ่ายบริหาร เพื่อกระตุ้นให้ฝ่ายบริหารแก้ไขปัญหา ส่วนกรณีประเด็นโรฮีนจานั้น ยังไม่มีบทสรุปใดๆ อย่างไรก็ตาม ในประเด็นของการประชุมไอปาของกรรมาธิการด้านการเมือง ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงตามกฎบัตรไอปาที่ต้องให้ประเทศสมาชิก 10 ประเทศเห็นร่วมกันทั้งหมด เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียไม่ยินยอม
ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร ประธานกรรมาธิการด้านการเมือง ไอปา ชี้แจงว่า การประชุมกรรมาธิการด้านการเมืองไม่สามารถจัดการประชุมเพื่อทำข้อตกลงร่วมกันได้ เนื่องจากตัวแทนของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองประธานสภาอินโดนีเซีย ได้ยื่นคำแถลงการณ์ต่อประเด็นเรื่องของโรฮีนจาให้กับที่ประชุม พร้อมยื่นเงื่อนไขว่าหากที่ประชุมไม่รับแถลงการณ์จะไม่ยอมรับข้อตกลงที่เสนอมาทั้งหมด ทั้งนี้ ตนพยายามพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน แต่ตัวแทนของประเทศอินโดนีเซียไม่ยอมและระบุว่าหากไม่รับข้อเสนอจะวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุม ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวขัดต่อกฎบัตรอาเซียน
“พฤติกรรมของตัวแทนประเทศอินโดนีเซียถือว่าไม่น่ารัก เพราะเอาเงื่อนไขของตัวเองเป็นที่ตั้ง และเอาเรื่องอื่นเป็นตัวประกัน ซึ่งไม่มีใครทำแบบนั้น ขณะที่ประเด็นซึ่งเตรียมเสนอต่อที่ประชุม อาทิ การต่อต้านก่อการร้ายข้ามชาติ, การต่อต้านการติดสินบนและการป้องกันการทุจริต ไม่สามารถพิจารณาและไม่เกิดเป็นประเด็นที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน ผมพยายามอธิบายแล้วว่าประเด็นโรฮินจาตามที่แถลงการณ์ของอินโดนีเซียนั้น ไม่ก้าวหน้า เพราะปัจจุบันการแก้ปัญหาโรฮีนจานั้นก้าวหน้าไปไกลแล้ว โดยประเทศไทยส่งเงินช่วยเหลือต่อพม่าเป็นเงินกว่า 4 ล้านเหรียญฯ” นายเกียรติกล่าว
นายเกียรติกล่าวด้วยว่า ในปีนี้ไม่มีการลงข้อมติที่จะเป็นผลของการประชุมคณะกรรมาธิการการเมืองของไอปา เพราะจำเป็นต้องหยุดพักไปเช่นเดียวกับการประชุมคณะกรรมาธิการการเมืองของไอปาที่สิงคโปร์ในปีที่แล้ว ซึ่งติดขัดในเรื่องเดียวกัน เพราะอินโดนีเซียเสนอประเด็นโรฮีนจาในกรอบความร่วมมือการเมือง ทำให้ไม่สามารถหาข้อสรุปใดๆ ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |