หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ใช้เวลาการพิจารณาหลายสัปดาห์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นแล้ว เพราะในข้อบังคับดังกล่าว หนึ่งในสาระสำคัญก็คือ การที่ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง ”คณะกรรมาธิการสามัญ ประจำสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งก็จะมี ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเข้าไปนั่งทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการ
ทางการเมืองเป็นที่รู้กันดีว่า ส.ส.ที่อยู่ในพรรคการเมืองทั้งขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก ก็อยากจะเข้าไปอยู่ในกรรมาธิการ ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง อย่างเช่นปีกพรรคฝ่ายค้าน ก็ต้องการได้โควตาให้ ส.ส.ของฝ่ายตัวเองได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ชุดสำคัญๆ เพราะแม้การประชุมของกรรมาธิการ ไม่ว่าจะเป็นการหยิบยกเรื่องใดขึ้นมาพิจารณา ตรวจสอบ หรือจะลงมติในเรื่องใดๆ จะต้องใช้เสียงข้างมากของที่ประชุม แต่หากคนของฝ่ายตัวเองได้เป็นประธานกรรมาธิการหรือมีคนในฝ่ายตัวเองไปนั่งกุมเสียงข้างมากและมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของกรรมาธิการฯ มันก็จะมีผลต่อการทำงานของ กมธ.ได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะการนำเสนอประเด็นและผลสรุปการพิจารณาของ กมธ.
ยิ่งหากเรื่องที่กรรมาธิการฯ เข้าตรวจสอบ แล้วมีการเรียกเอกสาร เรียกบุคคลมาชี้แจง เป็นเรื่องที่เป็นประเด็นทางการเมืองในช่วงนั้นๆ ก็จะมีผลทางการเมืองตามมาทันที
ที่ผ่านมา การตรวจสอบผ่านช่องทางกรรมาธิการฯ ถูกนำไปเป็นกลไกสำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะการเรียกข้อมูล ”จากหน่วยราชการ-เอกชน การเรียกบุคคลมาให้ข้อมูลกับกรรมาธิการ การขอเอกสารต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นเอกสาร ”ลับ” ที่ กมธ.สามารถเรียกให้หน่วยงานรัฐส่งมาให้ได้ หรือไม่ส่งอย่างเป็นทางการ ก็ให้เอามาส่งแบบส่วนตัว จน ส.ส.ใน กมธ. มีการนำข้อมูลที่ได้ไปขยายผลทางการเมือง เช่น การสร้างประเด็นข่าว หรือแม้แต่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็จะพบว่า ที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้งก็จะมี ส.ส.ฝ่ายค้าน นำข้อมูลจากที่ได้ในชั้นกรรมาธิการนำไปต่อยอดขยายผล ในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัยมีให้เห็นกันประจำ
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็พยายามจะเอาโควตากรรมาธิการสำคัญๆ ไว้ในพรรครัฐบาล เพื่อที่อย่างน้อยจะได้คอยกันทางการเมือง ในการที่จะไม่ให้ฝ่ายค้านมาใช้ช่องทางกรรมาธิการมาตรวจสอบรัฐบาลมากจนเกินกว่าที่ต้องการ หรือหากไม่ได้โควตาประธานกรรมาธิการ ก็จะพยายามให้ ส.ส.ของพรรครัฐบาลที่อยู่ในกรรมาธิการคอยเป็นหูเป็นตาให้ ว่าฝ่ายค้านกำลังตรวจสอบเรื่องอะไร มีใครส่งเอกสารข้อมูลอะไรมาให้บ้าง และหากจำเป็นก็มักจะมีการส่งซิกพวก ส.ส.ในกรรมาธิการให้คอยสกัดในบางเรื่อง ไม่ให้มีการขยายผลทางการเมือง ที่จะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล เช่น การออกรายงานหรือการลงมติในนามกรรมาธิการว่าผลการตรวจสอบเรื่องต่างๆ ของกรรมาธิการเพื่อพยายามกันไม่ให้มีการสรุปว่า ฝ่ายรัฐบาลหรือรัฐมนตรีทำงานผิดพลาดหรือเข้าข่ายทุจริต
ด้วยเหตุนี้ พอสภาฯ เปิดหลังเลือกตั้งและมีการจัดทัพ แบ่งโควตากรรมาธิการกันระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ก็มักจะมีการเจรจาต่อรองเรื่องโควตาประธานกรรมาธิการ โดยเฉพาะพวกกรรมาธิการชุดสำคัญๆ เช่น กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต, กมธ.การปกครอง, กมธ.คมนาคม, กมธ.กฎหมายฯ เพื่อให้ได้โควตามาอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายตัวเองให้ได้มากที่สุด
สำหรับร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ฉบับที่จะมีการประกาศใช้เร็วๆ นี้ พบว่ามีการให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการสามัญ จำนวน 35 คณะ โดยแต่ละคณะให้มีกรรมาธิการได้ไม่เกิน 35คน
ซึ่งทั้ง 35 คณะ กมธ.สามัญของสภาฯ มีดังนี้ กมธ.กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน กิจการสภาฯ กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ กิจการชายแดนไทย กิจการเด็ก เยาวชนฯ แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ เกษตรและสหกรณ์ คมนาคม ความมั่นคงแห่งรัฐ คุ้มครองผู้บริโภค การเงิน การคลัง สถาบันการเงินฯ ต่างประเทศ ตำรวจ ศึกษาและติดตามการบริหารงบประมาณ ทหาร ท่องเที่ยวและการกีฬา
คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปกครอง กระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นฯ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย พลังงาน ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนฯ พัฒนาเศรษฐกิจ พาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน วิทยาศาสตร์ฯ แก้ไขปัญหาราคาพืชผลเกษตรกรรม ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การศึกษา สวัสดิการสังคม สาธารณสุข สื่อสารโทรคมนาคมฯ อุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ในข้อบังคับเขียนไว้ว่า ให้ ส.ส.หนึ่งคน เป็นกรรมาธิการสามัญได้ไม่เกินสองคณะ โดยให้คณะกรรมาธิการสามัญมีอำนาจหน้าที่ในการที่จะพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการ และเมื่อศึกษาเสร็จแล้ว แต่ละเรื่องจะต้องมีการทำรายงานส่งให้ ประธานสภาฯ ด้วย ขณะที่องค์ประชุมกรรมาธิการจะต้องมีกรรมาธิการมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการที่มีอยู่ แต่หากจะลงมติในเรื่องใดๆ ต้องมี กมธ.มาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และเปิดโอกาสให้กรรมาธิการ สามารถตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาปัญหาเรื่องต่างๆ ในอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการ โดยมีไม่เกินสิบคน ส่วนการเรียกเอกสารหรือบุคคลมาชี้แจง ต้องทำเป็นเอกสารลงรายมือชื่อประธานกรรมาธิการ หรือรองประธานกรรมาธิการ โดยหากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กรรมาธิการต้องแจ้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต้นสังกัด
“สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านจากพรรคเพื่อไทย” พรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุดในสภาฯ กล่าวว่า ฝ่ายค้านคาดหวังกับบทบาทการตรวจสอบฝ่ายบริหารผ่านช่องทางกรรมาธิการของสภาฯ ไว้มากพอสมควร เพราะเป็นการทำงานตามระบบ กลไกรัฐสภา ที่เราเชื่อว่าจะทำให้การตรวจสอบฝ่ายบริหารเข้มแข็งขึ้น โดยโควตาประธาน กมธ.สามัญแต่ละคณะ ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ที่กำลังจะรอประกาศใช้ ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านจะได้โควตาประมาณสิบแปดคณะ สำหรับเพื่อไทยจะได้ประมาณสิบคณะ
เมื่อถามว่า จำเป็นหรือไม่ กมธ.ที่มีบทบาทในสภาฯ โดยเฉพาะบทบาทในการตรวจสอบฝ่ายรัฐบาล ตัวประธานต้องเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน เช่น กมธ.ปปช. กมธ.ปกครอง กมธ.คมนาคม “ประธานวิปฝ่ายค้าน” ย้ำว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องจำเป็น หากทุกคนตระหนักว่า ระบบกลไกของกรรมาธิการสามัญของสภาฯ ให้มีการตั้งขึ้นมาเพื่อให้ล้อไปกับฝ่ายบริหาร กระทรวงต่างๆ เพื่อให้เป็นการตรวจสอบ เพราะฉะนั้น กระทรวงใดที่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเข้าไปบริหาร ก็ควรให้คนของฝ่ายค้านได้ดูแล กมธ.ชุดนั้น เพื่อจะตรวจสอบ โดยเฉพาะกมธ.ที่มีหน้าที่แบบเจาะจงเลย เช่น กมธ.ปปช. กมธ.ติดตามการใช้งบประมาณ กมธ. ด้านกฎหมายก็ควรให้เป็นบทบาทของฝ่ายค้าน
“รัฐบาลก็ควรแฟร์ๆ และไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่พรรคร่วมรัฐบาลจะมายึดกุม กมธ.ชุดใหม่ๆ ของสภาฯ เพราะรัฐบาลก็ยึดกุมกระทรวงทำหน้าที่บริหารอยู่แล้ว แล้ว กมธ.อื่นๆ ที่ซอฟต์ๆ รัฐบาลก็ควรรับ กมธ.เหล่านั้นไป“
ส่วนการเจรจาต่อรองระหว่างวิปรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ต่อการแบ่งโควตาเก้าอี้ประธาน กมธ.ชุดต่างๆ จะออกมาแบบไหน คงเป็นเรื่องที่สุทิน ประธานวิปฝ่ายค้าน กับวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ต้องคุยกัน โดยแต่ละฝ่ายก็คงต้องพยายามให้การเจรจาดังกล่าวทำให้ฝ่ายตัวเองกุมความได้เปรียบทางการเมืองมากที่สุด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |