ครับ........
เรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกฯ ผมก็มีความเห็นแบบ "ลุยป่าหาหน่อไม้" อยู่หลายวัน
กระทั่งเมื่อวาน (๒๘ ส.ค.๖๒)
"นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์" ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ท่านให้ความเห็นทางวิชาการ
กรณีนายกฯ ประยุทธ์ นำคณะรัฐมนตรี กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๑
ในเมื่อระดับผู้พิพากษาอาวุโสพูด
ทุกคน "ต้องฟัง" และยึดเป็นเข็มทิศนำทาง
ท่านบอกว่า "กระบวนการยุติธรรม" มีหลายระดับ ได้แก่กระบวนการยุติธรรมของเอกชน
เช่น ประชาชนกับประชาชน มีข้อพิพาทในทางแพ่ง ในทางแรงงาน ในทางนิติกรรมสัญญา ในทางข้อขัดแย้งคดีผู้บริโภค คดีพาณิชย์ คดีภาษีอากร และคดีต่างๆ
ในทางแพ่ง ก็จะใช้กระบวนการพิจารณาที่มีเฉพาะ
ในส่วนคดีอาญา.....
ก็เป็นเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา หรือที่เรียกว่ากฎหมายมหาชน
เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน ประกอบด้วยศีลธรรมอันดี การกระทำที่ฝ่าฝืนต่อข้อบัญญัติข้อห้ามทางกฎหมาย ที่มีบทบัญญัติลงโทษในทางอาญา
ก็จะมีวิธีพิจารณาในทางอาญาเป็นบทกฎหมายที่ใช้ระงับข้อพิพาทในทางอาญา
สำหรับข้อพิพาทในคดีที่ใช้กฎหมายมหาชน โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎกติกาที่ใช้บังคับในการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ที่ระบุถึงวิธีการใช้อำนาจ การแบ่งแยกอำนาจ และการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้ใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น
หากมีความขัดแย้งความไม่เห็นตรงกัน หรือการตีความขัดกันในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ก็ยังมีกลไกและวิธีระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับกฎหมายมหาชน เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ
โดยผ่านทางองค์กรต่างๆ ที่จะวินิจฉัยและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ
ซึ่งถือว่าเป็นศาลที่ตั้งขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
และต้องยุติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น
เช่น การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรีต่อหน้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่และมีผลอย่างไร เช่นนี้
ศาลรัฐธรรมนูญก็มีหน้าที่ในการรับวินิจฉัยคดีดังกล่าว กรณีเช่นนี้ ก็ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมในชั้นความขัดแย้งเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ซึ่งมีกฎกติกาและวิธีพิจารณาความเกี่ยวกับคดีรัฐธรรมนูญนี้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง
กลไกต่างๆ ในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้
ถือว่าเป็นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถือว่าถูกต้องและยุติธรรม
กระบวนการยุติธรรมเช่นนี้ ก็เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย
หรือที่มีระบบการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อขจัดข้อขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่างกันในทางการเมือง เพื่อให้เรื่องที่ขัดแย้งนี้ยุติกันอย่างสันติวิธี
เรื่องเช่นนี้ มิใช่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องที่น่าตกใจแต่อย่างใด เพราะอารยประเทศและนานาประเทศ ก็ใช้กระบวนการยุติธรรมเช่นนี้อย่างเดียวกัน
สำหรับเรื่องการที่คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าเพื่อรับฟังพระราชดำรัสของในหลวง วันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา
ก็เป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการให้คำแนะนำฝ่ายบริหาร ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ ในฐานะองค์พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญของประเทศไทย
ซึ่งถือว่าพระมหากษัตริย์ มิได้อยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ และทรงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว
ดังนั้น จึงไม่เป็นการบังควรที่จะนำเรื่องนี้ไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยต่อไป เพราะถือเป็นคนละเรื่องกัน
ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะเสนอข่าวในลักษณะคาดเดาหรือคิดเอาเองว่าเรื่องจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้
ไม่เป็นการบังควร ที่จะนำเรื่องการที่ พระมหากษัตริย์พระราชทานคำแนะนำแก่ฝ่ายบริหารมาปะปนกับเรื่องคดีเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
เพราะประเทศประชาธิปไตยทั่วไป ก็มีแนวทางและกระบวนการดำเนินไปตามการเมืองการปกครองประชาธิปไตยที่กระทำกันอยู่ทั่วโลก
การที่หลังจาก ครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว พระมหากษัตริย์มีพระราชดำรัสให้กำลังใจ และแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารนั้น
นับว่าเป็นพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ที่จะให้โอวาท ให้กำลังใจและแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหาร เพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชน
ซึ่งถือเป็นพระราชประเพณีที่ทรงปฏิบัติเช่นนี้มาแทบทุกสมัย ทุกรัชกาล ในโอกาสที่ฝ่ายบริหาร หรือข้าราชการระดับสูง บางประเภทเช่น ศาล อัยการ เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ
พระมหากษัตริย์ก็มีพระราชอำนาจในการอวยพรให้กำลังใจ และแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและประชาชน
รวมถึงการที่ ครม.ชุดนี้ เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานพระกระแสดำรัสไป
ครั้งนี้ ก็เป็นโบราณราชประเพณี ที่กระทำมาในหลายรัชกาลของพระมหากษัตริย์ไทยแทบทุกพระองค์
รวมทั้งการเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณของ ครม.ในหลายๆ คราวที่ผ่านมา ก็มีพระราชกระแสเช่นนี้
ดังนั้น ฝ่ายการเมืองและประชาชน จึงไม่บังควรที่จะนำเรื่องนี้ไปยุ่งเกี่ยว หรือปะปนกับกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีขึ้น
เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน
และไม่ควรจะนำไปตีความว่า พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องวิธีการถวายสัตย์ปฏิญาณ เพราะพระองค์จะไม่ทรงเข้ายุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้
ส่วนกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะต้องไปดำเนินการผ่านศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีองค์กรอิสระ หรือสภานิติบัญญัติเป็นผู้ส่งเรื่องไปนั้น
ก็เป็นกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีกฎกติกากำหนดไว้โดยชัดเจนและเรียบร้อย
เป็นไปตามระบอบการเมืองการปกครองประชาธิปไตยสากลที่ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศทั่วโลก
กระบวนการนี้เรียกว่าดูโปรเซส หรือการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม
ในประเทศที่ใช้กฎหมายปกครองหรือที่เรียกว่า นิติรัฐ คือประเทศที่ใช้กระบวนการยุติธรรม มีกฎหมายเป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองที่ชัดเจน และเป็นบรรทัดฐาน
ฝ่ายการเมืองก็ดี หรือประชาชน ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์และนำเรื่องดังกล่าวไปคาดการณ์คาดคะเนหรือพูดคุยเป็นข่าวลือในทางที่ไม่ดีหรือเสียหาย
เพราะสิ่งนี้ไม่มีทางจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมีรัฐธรรมนูญและกฎกติกาในลักษณะของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปยุ่งเกี่ยวปะปนกับเรื่องความถูกผิดของกระบวนการถวายสัตย์ปฏิญาณของ ครม.ชุดนี้
และไม่ควรบังอาจไปถือเอาว่าพระมหากษัตริย์ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับความถูกผิดของการถวายสัตย์ปฏิญาณในครั้งนี้ด้วย
ครับ.....
ที่ผ่านๆ มา ผมสะเปะ-สะปะ อาจหลุดกรอบกระบวนการยุติธรรม ตามนัยที่ท่านผู้พิพากษาอาวุโสแจกแจงทางวิชาการไปมากโข
โดยเฉพาะเรื่อง "พระบรมราชวินิจฉัย"
เอาเป็นว่า ความเห็นผมก่อนหน้านี้ "ไม่ถูก" ตามกระบวนการยุติธรรม
ความเห็นผู้พิพากษาอาวุโส "ถูกต้อง" ตามกระบวนการยุติธรรม และควรยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ
นาฬิกาของเหตุการณ์บ้านเมือง "ทางการเมือง" เดินเป็นนาที/ชั่วโมง/วัน
แต่นาฬิกาของกฎหมาย "ทางกระบวนการยุติธรรม" เดินเป็นสัปดาห์/เดือน/ปี/ปีปี
ด้วยเหตุนี้......
ในกระบวนการ "การเมือง" ขับเคลื่อน มักก่อให้เกิดสิ่งที่เรียก "บกพร่องโดยสุจริต" กับประชาชนและสื่อ ทางกระบวนการยุติธรรมอยู่เสมอ
แต่เมื่อผู้พิพากษาอาวุโสกล่าวเตือนสติ "ฝ่ายการเมือง ประชาชน สื่อ" ว่าไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงก้าวล่วง
ด้วยเคารพ ประชาชนและสื่อ..."หยุด"
แต่ดูเหมือนฝ่ายการเมือง..."ไม่หยุด"
นายปิยบุตร แสงกนกกุล บอกวานซืน ว่า....
"พรรคอนาคตใหม่ยืนยัน แม้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว
แต่สภาผู้แทนราษฎรยังสามารถพิจารณาญัตติดังกล่าวได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาก่อน
เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ
รัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากัน ไม่มีใครด้อยไปกว่าใคร"
ตกลง "ประชาชน" คนให้กำเนิดรัฐสภา
"ต่ำศักดิ์-ด้อยสิทธิ์" ที่สุด ในปฐพี!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |