"บิ๊กตู่" ถก "โผทหาร" ผ่านฉลุยไร้แก้ไข เตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามกรอบเวลา "มานัต" ผงาดแม่ทัพฟ้าคนใหม่ "บิ๊กบี้" ขยับเข้าไลน์ 5 เสือ จ่อ "ผบ.ทบ." คนต่อไป ดันลูกหม้อ "อาร์ดีเอฟ" ขึ้น ผบ.พล.ร.11 แต่งตั้ง "นายพลสีกากี" 29 ส.ค.ส่อวุ่น! "พล.ต.อ.นเรศ" ร้อง "ประธาน ก.ตร." ทวงสิทธิ "รองผบ.ตร." คืน อ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกดันขึ้น "ที่ปรึกษาพิเศษ ตร." แบบไม่เต็มใจ เก้าอี้ "ผบช.น." ลงตัว เพื่อน "ผบ.แป๊ะ" คุมเมืองหลวง
ที่กระทรวงกลาโหม วันที่ 28 ส.ค. เวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล เป็นประธานประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล โดยมี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม, พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.), พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.), พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.), พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และ พล.อ.ชัยพฤกษ์ พูนสวัสดิ์ เจ้ากรมเสมียนตรากระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ภายหลังจากที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพได้ส่งบัญชีรายชื่อนายทหารชั้นนายพลประจำปี 2562 ในส่วนของแต่ละเหล่าทัพให้ พล.อ.ประยุทธ์พิจารณาเบื้องต้นเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยพล.อ.ประยุทธ์มีสีหน้ายิ้มแย้ม
ต่อมาเวลา 11.30 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวภายหลังการประชุมว่า ทุกอย่างเรียบร้อย และเป็นไปตามขั้นตอน ไม่มีอะไรต้องแก้ไข
จากนั้น พล.อ.ชัยชาญกล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล โดยมีคณะกรรมการฯ 7 คน ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน โดยการประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยทุกอย่าง และพิจารณาตามข้อเสนอของหน่วย รวมถึงกองทัพไทย เหล่าทัพ และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งแต่ละหน่วยก็มีคณะกรรมการพิจารณาขึ้นมาตามลำดับอยู่แล้ว แต่การประชุมครั้งนี้เป็นการพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมการฯ ทั้ง 7 คน โดยการพิจารณาบัญชีปรับย้ายครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย
"จากนี้จะให้ฝ่ายเลขานุการโดยสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมดูรายละเอียดอีกครั้ง และจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ตามขั้นตอนต่อไป โดยทุกอย่างยังอยู่ในกรอบเวลา เพราะในข้อบังคับคือภายใน 15 วันทำการ คือก่อนวันที่ 1 ก.ย.62 ซึ่งการพิจารณาครั้งนี้ ได้เน้นเรื่องความเหมาะสม ความอาวุโส ความรู้ความสามารถตามที่นายกฯ ได้กำชับมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา" พล.อ.ชัยชาญกล่าว
ถามว่า การพิจารณาปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลในยุคที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องปรับรูปแบบอะไรหรือไม่ รมช.กลาโหมกล่าวว่า การปรับย้ายกำลังพลเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ให้เหมาะสมกับหน่วย ต้องดูความรู้ความสามารถ ประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งผู้บัญชาการเหล่าทัพในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่คัดเลือกหาคนที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่ง ซึ่งในภาพรวมคณะกรรมการฯ ทั้ง 7 คนได้เห็นร่วมกัน และก็ไม่ได้มีการปรับแก้รายชื่อ
'บิ๊กนัต'ผงาด ผบ.ทอ.
ซักว่าวันนี้ใช้เวลาหารือนานเพราะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติอะไรหรือไม่ พล.อ.ชัยชาญกล่าวว่า ไม่มีปัญหา เพราะนอกจากการประชุมเรื่องปรับย้ายโผทหารชั้นนายพลแล้ว ยังมีการหารือเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการฯเห็นชอบ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ เสนาธิการทหารอากาศ จะขึ้นเป็น ผบ.ทอ.คนที่ 26 แทน พล.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. ที่เกษียณอายุราชการ แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวลือจะมีแคนดิเดตอีก 2 คนที่จะมาชิงเก้าอี้ ผบ.ทอ. คือ พล.อ.อ.ปรเมศร์ เกษโกวิท รองปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.อ.วันชัย นุชเกษม รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รอง ผบ.ทสส.) ก็ตาม
กองทัพบก พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 จะขยับขึ้นมาเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. เพื่อจ่อขึ้นเป็น ผบ.ทบ., พล.ท.สุนัย ประภูชะเนย์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) เป็น ผช.ผบ.ทบ. โดย พล.ต.ภูมิพัฒน์ จันทร์สว่าง รอง ผบ.นสศ. จะขึ้นเป็น ผบ.นสศ.ต่อ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ยังคงอยู่ในตำแหน่ง รอง ผบ.ทบ.เหมือนเดิม เช่นเดียวกับ พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก ที่ถือเป็นมันสมองของกองทัพบก และไม่ได้ขยับไปไหน โดยคาดว่าจะอยู่ในตำแหน่งเดิมจนจะเกษียณอายุราชการในปี 2563
พล.ท.ธรรมนูญ วิถี แม่ทัพน้อยที่ 1 คาดว่าจะขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1, พล.ต.เจริญชัย หินเธาว์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 จะขยับขึ้นเป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 โดยมี พล.ต.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) และ พล.ต.สุวิทย์ เกตุศรี ผบ.พล.ม.2 รอ. มาเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ส่วนพล.ต.สันติพงษ์ ธรรมปิยะ รองแม่ทัพภาคที่ 1 คาดว่าจะขยับขึ้นมาเป็นรองเสนาธิการทหารบก และ พ.อ.ทรงพล สาดเสาเงิน รอง ผบ.พล.1 รอ. ขยับขึ้นเป็นผบ.พล.1 รอ. ส่วน พล.ท.ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ 2 และ พล.ท.พรศักดิ์ พูนสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม พล.ต.ณัฐวุฒิ ชุณหะนันทน์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (ผบ.รร.จปร.), พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผบ.พล.ร.2 รอ. เป็นรอง ผบ.รร.จปร. เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.ธราพงษ์ มะละคำ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (ผบ.มทบ.11) มาเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ.แทน
ส่วนที่น่าสนใจคือการขยับ พล.ต.วรยุทธ แก้ววิบูลย์พันธุ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 (ผบ.พล.ร.11) ไปเป็นรองแม่ทัพน้อยที่ 1 และขยับ พ.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ รอง ผบ.พล.ร.11 ลูกหม้อ ร.31 รอ. หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วของ พล.1 รอ. เป็น ผบ.พล.ร.11 เพื่อรองรับการจัดกองพลรูปแบบใหม่หลังจากรถยานเกราะสไตรเกอร์เข้าประจำการ
กองทัพไทย แม้ในปีนี้ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) จะยังไม่เกษียณอายุราชการ แต่ก็มีการวางตัวบุคคลมาลงในตำแหน่ง 5 เสือทัพไทยใหม่ โดยขยับ พล.อ.ชัยชนะ นาคเกิด เสนาธิการทหาร เป็นรอง ผบ.ทสส. เพื่อเปิดทางให้พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก โยกขยับออกจากกองทัพบกข้ามไปเป็นเสนาธิการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อจ่อขึ้นเป็น ผบ.ทสส.ต่อไปในปีหน้า ส่วน พล.อ.พีรพงษ์ เมืองบุญชู หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ ผบ.ทสส. ซึ่งเป็นเพื่อนรักของ พล.อ.พรพิพัฒน์ ไปเป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ผบ.นทพ.)
กองทัพเรือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) จะยังไม่เกษียณอายุราชการในปีนี้ แต่ใน 5 ฉลามเสือกองทัพเรือ ก็มีหลายคนที่จะเกษียณอายุราชการ โดยคาดว่า พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ ที่ปรึกษากองทัพเรือ เป็นรอง ผบ.ทร. ซึ่งมีลุ้นว่าจะได้เป็น ผบ.ทร.คนต่อไป ด้าน พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน เสนาธิการทหารเรือ คาดว่าจะขยับขึ้นมาเป็นผู้ช่วย ผบ.ทร.
ขณะที่การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับนายพล ตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และจเรตำรวจแห่งชาติ ถึงผู้บังคับการ (ผบก.) ยศ พล.ต.อ.-พล.ต.ต. วาระประจำปี 2562 นั้น พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางมาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 8/2562 ในวันที่ 29 ส.ค. เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 ตร. ซึ่งมีวาระการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเข้าพิจารณา
โผ'นายพลสีกากี'วุ่น
"ปีนี้ตำแหน่งระดับรอง ผบ.ตร. 3 ตำแหน่ง, ผู้ช่วยผบ.ตร. 6 ตำแหน่ง, ผบช. 18 ตำแหน่ง, รอง ผบช. 50 ตำแหน่ง และ ผบก. 95 ตำแหน่ง รวมทั้งหมด 172 ตำแหน่ง และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ซึ่งการแต่งตั้งในครั้งนี้จะพิจารณาในการเลือกหลักอาวุโสเป็นหลัก และในส่วนของความรู้ความสามารถ มีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง โดยที่ผ่านมามีการประชุมในส่วนของกองบัญชาการในการส่งชื่อผู้ที่มีความเหมาะสม ซึ่งรายชื่อทั้งหมด พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้เสนอในฐานะหัวหน้าหน่วย แต่ในส่วนของการกลั่นกรองความเหมาะสม กองบัญชาการเป็นฝ่ายนำเสนอมา" รองโฆษก ตร.กล่าว
มีรายงานข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติแจ้งว่า ในการแต่งตั้งระดับรอง ผบ.ตร. ที่ว่าง 3 ตำแหน่งครั้งนี้ อาจเกิดความวุ่นวายขึ้น หลังจาก พล.ต.อ.นเรศ นันทโชติ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร. เกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรอง ผบ.ตร.ที่ผ่านมา และที่กำลังจะพิจารณาแต่งตั้งในวาระปี 2562
เอกสารของ พล.ต.อ.นเรศระบุว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม อันเนื่องมาจากประกาศ คสช., กฎ ก.ตร.ใหม่ และมติ ก.ตร. ระบุว่า เดิมกฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ สว. ถึงรอง ผบ.ตร. ปี 2559 กำหนดว่า การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ตั้งแต่ผู้ช่วย ผบ.ตร.ขึ้นไป ให้พิจารณาตามอาวุโสเท่านั้น ต่อมามติ ก.ตร.ครั้งที่ 8/2559 ให้ปรับลดตำแหน่งรอง ผบ.ตร. เหลือ 5 ตำแหน่ง และยุบที่ปรึกษา สบ 10 ไป หลังจากนั้นได้ออกกฎ ก.ตร.ใหม่ ให้การแต่งตั้งตำรวจระดับรอง ผบ.ตร. ให้พิจารณาอาวุโสร้อยละ 33 ของตำแหน่งที่ว่าง
พล.ต.อ.นเรศระบุด้วยว่า ในปี 2559 มีอาวุโสอยู่ในลำดับที่ 5 ของผู้ช่วย ผบ.ตร. มีสิทธิ์ที่จะได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นรอง ผบ.ตร. หากกฎ ก.ตร.เดิมไม่ถูกยกเลิกเนื่องจากมีตำแหน่งว่างถึง 6 ตำแหน่ง ต่อมาปี 2560 มีอาวุโสลำดับ 1 ในระดับผู้ช่วย ผบ.ตร. ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาตำแหน่งสูงขึ้นระดับ รอง ผบ.ตร.หรือ จตช.อีก จนถึงปี 2561 ยังครองอาวุโสอันดับ 1 ในระดับผู้ช่วย ผบ.ตร. มาแล้ว 3 ปี ยังไม่ได้การพิจารณาเป็นรอง ผบ.ตร. ต่อมามี กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2561 แทนกฎเดิม กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมให้แต่งตั้งที่ปรึกษาพิเศษตำรวจแห่งชาติ เทียบเท่ารอง ผบ.ตร. โดยให้คัดเลือกจากผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่มีอายุตั้งแต่ 59 ปีขึ้นไป และเหลือเวลาราชการไม่เกิน 6 เดือน
"ตนถูกเสนอชื่อเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ตร. โดยการยกเว้นเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ เนื่องจากมีอายุราชการเกินกว่า 1 ปี และอายุยังไม่ถึง 59 ปี โดยไม่มีความประสงค์และสมัครใจเข้าสู่ตำแหน่งดังกล่าว แม้ว่าตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษจะมีศักดิ์เท่า พล.ต.อ.ก็ตาม แต่ก็ไม่มีสิทธิ์เท่ารอง ผบ.ตร. หรือ จตช. โดยที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีความจำเป็นให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษในเดือน เม.ย.ปี 2562 เนื่องจากในเดือนเมษายน 2563 ก็จะได้รับตำแหน่งนี้ตามสิทธิอยู่แล้ว ควรที่จะให้มีอาวุโสอันดับ 1 ในตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.เพื่อเสนอชื่อเป็นรอง ผบ.ตร. หรือ จตช.ในตำแหน่งหลักของผู้บริหารมากกว่า จึงร้องขอความเป็นธรรมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร. เพื่อขอคืนสิทธิ ขอรับการแต่งตั้งในตำแหน่งรอง ผบ.ตร. หรือ จตช. ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจวาระปี 2562 ที่จะถึงนี้" เอกสารร้องเรียนระบุ
ท้ายเอกสารร้องเรียน พล.ต.อ.นเรศระบุว่า การกำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษขึ้นมาเพื่อตอบแทนข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่รับราชการมายาวนานจนใกล้เกษียณอายุราชการ แต่ไม่มีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งหรือเลื่อนยศสูงขึ้น จึงได้กำหนดตำแหน่งดังกล่าวขึ้นมาเพื่อให้ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในกลุ่มดังกล่าวได้รับโอกาสในการเลื่อนตำแหน่งและยศสูงขึ้นเป็น พล.ต.อ. มิได้มีเจตนารมณ์เพื่อนำมาใช้แต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่ยังมีเวลาราชการเกินกว่า 1 ปี แบบตน ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และยังส่งผลกระทบต่อสิทธิ์ตามกฎหมายทำให้เสียโอกาสในการรับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหลักคือ รอง ผบ.ตร. หรือ จตช. ซึ่งอยู่ในลำดับอาวุโสที่ 1 ของระดับผู้ช่วย ผบ.ตร.
ในส่วนบัญชีรายชื่อแต่งตั้งตำรวจระดับนายพล ตำแหน่งรอง ผบ.ตร.-ผบก. วาระประจำปี 2562 ที่จะเสนอให้ที่ประชุม ก.ตร.พิจารณาในวันที่ 29 ส.ค.นี้ หลายตำแหน่งเริ่มลงตัว โดยเฉพาะเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. จะเสนอชื่อ พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผบช.รร.นรต. เพื่อนร่วมรุ่น นรต.36 โยกมาเป็น ผบช.น. แทน พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผบช.น.นรต.36 ที่เกษียณอายุราชการ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |