ดูเหมือนว่าสเปกกำไลอีเอ็ม ที่กรมคุมประพฤติได้สั่งเช่ามาน่าจะเรื่องยาวไม่จบง่ายๆ เสียแล้ว หลังมีการออกมาทดสอบ โดยให้ทีมงานกระทรวงยุติธรรมทดลองสวมใส่กำไลอีเอ็มที่ข้อมือ ซึ่งปรากฏว่าสามารถถอดเข้า-ออกได้เมื่อใช้น้ำสบู่ถู โดยระบบมอนิเตอร์ที่ส่วนกลางไม่ได้แจ้งเตือน แต่บันทึกข้อมูลเพียงอุปกรณ์ถูกกระทบกระเทือน
นอกจากนี้ยังมีการทดสอบสวมกำไลอีเอ็มกับข้อเท้าแล้วใช้น้ำสบู่ขัดถูกเพื่อถอดออก พบว่าไม่สามารถถอดได้ แต่สายกำไลถูกกระชากขาด ซึ่งระบบแจ้งเตือนมายังศูนย์ควบคุมว่าอุปกรณ์ถูกตัดทำลาย ทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพของกำไลว่าสามารถคุ้มค่าหรือไม่
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน ถึงกับผงะเลยทีเดียว และรีบตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของกำไลอีเอ็มที่กำลังมีปัญหาอยู่ และเผือกร้อนไปที่อธิบดีกรมคุมประพฤติ รีบส่งหนังสือแจ้งไปยังบริษัทเอกชนคู่สัญญาให้นำอุปกรณ์ที่เทียบเท่าหรือดีกว่าเข้ามาเปลี่ยน โดยในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลต้องแก้ไขภายใน 6 ชั่วโมง
ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดจะต้องแก้ไขภายใน 8 ชั่วโมง โดยสัญญาเช่าระบุว่า หากคู่สัญญาไม่สามารถนำอุปกรณ์มาเปลี่ยน จะถูกปรับเป็นรายวัน 500 บาทต่อวันต่อชุด ทั้งนี้ หากครบกำหนด 15 วันแล้ว บริษัทเอกชนคู่สัญญาไม่สามารถแก้ไขให้เป็นไปตามทีโออาร์
อย่างไรก็ตาม ย้อนไปดูรายชื่อผู้ยื่นเอกสาร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ปรากฏรายชื่อเอกชน 3 ราย คือ บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (หนึ่งในบริษัทที่สืบราคากลาง) และบริษัท สามารถคอมเทค จำกัด และผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเทคนิคทั้ง 3 ราย ผลสุดท้าย บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) ได้สัญญานี้ไป
จากการตรวจสอบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา กรมคุมประพฤติทำสัญญาเช่า EM จำนวน 1 สัญญา มูลค่า 74,470,000 บาท โดยทำสัญญากับบริษัทดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561
โดยกรมคุมประพฤติได้ทำสัญญาเช่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว จำนวน 4,000 เครื่อง พร้อมระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับการติดตามตัวผู้กระทำผิด กับบริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 74,470,000 บาท เป็นระยะเวลา 21 เดือน ในช่วงระหว่างมกราคม 2562 - กันยายน 2563
อย่างไรก็ตาม การเช่าใช้กำไลอีเอ็มส่อที่จะขัดต่อทีโออาร์ในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นการไม่กำหนดให้มีการทดสอบระบบการทำงานของกำไลอีเอ็ม โดยมีการอ้างเพียงว่าเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีเอกสารรับรองคุณภาพจากองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือแล้ว เป็นผลให้การประมูลถูกตัดสินด้วยการเสนอราคาต่ำเพียงอย่างเดียว ทำให้เห็นข้อพิรุธว่าทำไมถึงมีการทำสัญญาเช่าว่าเอื้อประโยชน์ให้คู่สัญญาหรือไม่
อีกทั้งสายรัดกำไลอีเอ็มที่เป็นสายยาง ซึ่งไม่ระบุถึงความเหนียว แข็งแรงทนทานต่อการตัดทำลาย ระบบกำไลอีเอ็มใช้ระบบสัญญาณติดตามด้วยคลื่นโทรศัพท์เครือข่าย 2 จี ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐาน ส่งผลให้สัญญาณจากกำไลอีเอ็มขาดหายไปจากระบบ เมื่อเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ยกเลิกใช้เครือข่าย 2 จีแล้ว
ซึ่งคุณสมบัติกำไลอีเอ็มที่กรมคุมประพฤติหรือกระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยเฉพาะในเรื่องสามารถเลือกใช้สวมใส่ข้อมือหรือข้อเท้าอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ สวมใส่สะดวก และไม่สามารถถอดออกได้ จะต้องใช้การตัดสายรัดหรืออุปกรณ์ในการถอดเท่านั้น อีกทั้งต้องได้รับการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือหรือจากผู้ผลิตว่า มีระบบป้องกันการสั่นสะเทือนและกระทบกระแทกจากการใช้ชีวิตประจำวันปกติ พร้อมเอกสารรับรอง ยังผิดทีโออาร์อยู่
ขณะที่การเบิกจ่ายยังได้ระบุว่า การเบิกจ่ายค่าเช่า 21 เดือน แบ่งจ่ายเป็น 8 งวด แต่ที่ผ่านมาตลอดอายุสัญญาเช่าใช้กำไลอีเอ็มมา 8 เดือนแล้ว กรมคุมประพฤติยังไม่จ่ายค่าเช่าใช้ระบบอุปกรณ์ให้กับเอกชนคู่สัญญา อาจเป็นเพราะกรมคุมประพฤติค้นพบข้อผิดพลาดบกพร่อง และอยู่ระหว่างสั่งการให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาปรับแก้ จึงยังไม่จ่ายเงิน
คำถามที่ตามมาจนเกิดข้อสงสัยว่าทำไมเมื่อในขณะนี้ผ่านมา 3 งวดแล้ว ยังไม่จ่ายค่างวดกับบริษัทค่าสัญญา ทำไมกรมคุมประพฤติไม่แจ้งข้อพิรุธตั้งแต่เนิ่นๆ ทำไมถึงปล่อยเวลาล่วงเลยมาเกือบครึ่งปี แล้วมาตรวจสอบ จนมีข้อสันนิษฐานว่าอาจมีคนเอี่ยวในการทุจริตครั้งนี้ ท้ายที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรอฟังผลการตรวจสอบจากทางกระทรวงยุติธรรมกันต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |