ใครๆ ก็มักกล่าวกันว่านาทีนี้ “เวียดนาม” กลายเป็นประเทศที่เนื้อหอมสุดๆ เพราะประเทศในโซนยุโรปหรือแม้แต่เอเชียล้วนอยากจะสร้างสัมพันธ์ทางการค้าหรือเข้าไปลงทุน โดยประชากรในประเทศ 50% อยู่ในวัยแรงงาน ช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตได้ดีขึ้น รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปอย่างไม่ขาดสาย ยังเป็นเสมือนฟันเฟืองที่ช่วยเดินเครื่องเศรษฐกิจเวียดนามได้เป็นอย่างดี ทำให้นักธุรกิจหลายๆ คนที่ต้องการส่งออก จึงหันมามองถึงโอกาส ซึ่งมีหลายสินค้าและบริการที่มีแววเติบโต และสามารถนำรายได้เข้าสู่กระเป๋าได้อย่างมหาศาล
ไม่นานมานี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา ติวเข้ม รู้ลึก รู้จริง รู้ใจเวียดนาม มาดูกันว่าเวียดนามมีดีอะไร และต้องทำอย่างไร จึงจะเจาะใจผู้บริโภคได้
สำหรับประเทศเวียดนามมีพรหมแดนเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน สปป.ลาว กัมพูชา รวมทั้งยังเป็นประเทศที่ติดทะเล ซึ่งข้อนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นที่ทำให้ได้เปรียบในการขนส่งสินค้าทางเรือ ส่วนพื้นที่ที่เหมาะแก่การเข้าไปลงทุนนั้น จะอยู่ที่เวียดนามตอนเหนือบริเวณเมืองฮานอย มีการกระจุกตัวของประชากรและนักท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจด้านการบริการ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านกาแฟเติบโตเป็นอย่างมาก อีกด้านคือเวียดนามตอนใต้ บริเวณเมืองโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศและเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเงินมากกว่าพื้นที่อื่น ส่งผลให้ธนาคาร อุตสาหกรรม รวมทั้งศูนย์การค้าโมเดิร์นเทรดในนครโฮจิมินห์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งเมืองคือเมืองเกิ่นเทอ เป็นเมืองที่อยู่กลางสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง จุดเด่นคือเป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ ถือว่าเป็นเมืองรองหลักที่สำคัญของเวียดนาม เพราะระบบการขนส่งสินค้าที่มีความสะดวกและครอบคลุมทั้งทางน้ำ ทางอากาศ และทางบก อีกเมืองที่สำคัญไม่แพ้กันคือภาคใต้ตอนกลางบริเวณเมืองดานัง เพราะถูกออกแบบให้เป็นเมืองท่าสำหรับการขนถ่ายสินค้าออกสู่ทะเลจีนใต้ และอีกไม่นานจะถูกผลักดันเป็นประตูการค้าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเล
แล้วบริการ-สินค้าแบบไหนโดนใจคนเวียดนาม? เพราะการเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้สินค้าครองใจผู้ซื้อ จนผู้ซื้อยอมควักกระเป๋าซื้อสินค้าหรือบริการ โดยสินค้าของไทยมีโอกาสที่จะเข้าถึงคนเวียดนามได้ง่ายๆ เพราะคนเวียดนามค่อนข้างมั่นใจและชอบสินค้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สำหรับสินค้าที่คนเวียดนามต้องการจะเป็นสินค้าจำพวกแม่และเด็ก สินค้าอุปโภค อาหารประเภทเดลีโปรดักต์ รวมทั้งคอสเมติกที่เน้นเรื่องความขาวเพราะคนเวียดนามได้รับวัฒนธรรมมาจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งร้านอาหารและร้านคาเฟ่ยังคงครองใจคนเวียดนามได้อย่างดี เนื่องจากคนเวียดนามนิยมออกมาทานอาหารนอกบ้านกันมากขึ้น โดยเฉพาะวัยทำงาน
ส่วนการบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ผู้ประกอบการก็สามารถนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวกับโรงแรมได้ เช่น สบู่ ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกส์ ของตกแต่ง โดยพฤติกรรมคนเวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าเดิม จากปกติที่ประชาชนส่วนใหญ่มักจะชอบซื้อสินค้าตามร้านโชห่วย แต่ปัจจุบันมีการหันใช้บริการห้างสรรพสินค้าที่เป็นโมเดิร์นเทรดมากขึ้น เพราะประชาชนที่อยู่ในวัยทำงานมีกำลังการจับจ่าย แต่คนในแต่ละหัวเมืองของเวียดนามก็ยังมีพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าที่เฉพาะตัว
อย่างคนในภาคเหนือเป็นกลุ่มที่มีความซื่อสัตย์และเปลี่ยนใจยากหากได้ใช้สินค้าอะไรก็จะใช้แต่สินค้าเดิมๆ ชอบสินค้าที่มีความหรูหรา และมีขนาดใหญ่ คนในภาคใต้จะชอบความสะดวกสบาย เน้นสินค้าประเภทนวัตกรรม แพ็กเกจสวย เล็กกะทัดรัด ส่วนภาคกลางจะค่อนข้างอ่อนไหวกับราคาของสินค้า แต่เชื่อการโฆษณา การจะเข้าไปตีตลาดในเวียดนามจะต้องมีโปรโมชั่นและกิจกรรมที่สามารถทำให้คนเวียดนามพูดปากต่อปากได้ ที่สำคัญการทำการค้าในเวียดนามจำเป็นจะต้องมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นคนท้องถิ่นและมีความรู้ความเข้าใจในประเทศเวียดนามเป็นอย่างดี.
รุ่งนภา สารพิน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |