ผมเห็นข่าวเรื่องการรวมพลังของนักลงทุนสถาบัน 32 แห่งเพื่อ "ระงับการลงทุน" ในตลาดหุ้น หากพบว่ามีการทำผิดธรรมาภิบาลแล้ว ก็พอจะมีความหวังว่าคนมีทุนในประเทศนี้จะช่วยกันต่อต้านความไม่ชอบมาพากลในระบบทุนนิยมสุดขั้วที่กำลังกลืนกินสังคมไทยขณะนี้
ข่าวบอกว่าคุณประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ประกาศในงานวันนั้นว่า กลุ่มนักลงทุนสถาบัน 32 รายที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันกว่า 10.8 ล้านล้านบาท ทั้งจากสำนักงานประกันสังคม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทประกันชีวิต ร่วมกับ กบข.ลงนามแนวปฏิบัติ "การระงับลงทุน" (Negative List Guideline) ภายใน 3 เดือน เพื่อยกระดับการลงทุนของประเทศไทยสู่การลงทุนอย่างรับผิดชอบ
ในทางปฏิบัติจริงๆ เขาจะทำอย่างไรจึงจะไม่ทำให้เงินทุนไปลงในบริษัทที่จงใจทำผิดกติกาสังคม หรือมีส่วนโยงใยกับคอร์รัปชันไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม?
ได้รับคำอธิบายจากคุณวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการ กบข.ว่า แนวทางบริษัทที่มีเกณฑ์จะถูกระงับการลงทุนนั้นมี 2 ประเด็น
ประเด็นแรก การทำผิดกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่รุนแรง
ได้แก่ 1.การปกปิดข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
2.ซื้อขายหุ้นอย่างไม่เป็นธรรม เช่น ใช้ข้อมูลภายในปั่นหุ้น เป็นต้น
3.ผู้บริหารหรือกรรมการทำผิดในเรื่องความไม่โปร่งใสหรือไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง
4.การฉ้อฉลหรือทุจริต และ
5.ผู้บริหารหรือบริษัทปิดกั้นไม่ให้ผู้ตรวจสอบบัญชีเข้าไปตรวจสอบบัญชี
อีกประเด็นหนึ่งคือปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG อันหมายถึง Ecology, Society, Governance) ซึ่งส่งผลกระทบทางลบในวงกว้าง
ถามว่าถ้าธุรกิจใดทำผิดข้อใดข้อหนึ่งจะทำอย่างไร?
คำตอบก็คือ ถ้าหากบริษัทใดมีความผิดข้อนี้จะมีการเข้าไปเจรจาก่อน โดยสถาบันต่างๆ จะจัดประชุมร่วมกันว่ามีผลกระทบรุนแรงหรือไม่และจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร เช่น การใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น
"ถ้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชี้ว่าบริษัทนี้มีปัญหา ในเบื้องต้นสถาบันต่างๆ จะร่วมเข้าไปแก้ไข แต่ถ้าบริษัทนั้นถูกศาลชั้นต้นพิพากษา สถาบันต่างๆ จะหยุดการซื้อหุ้นเพิ่มทันที โดยความผิดทั้งหมดจะไม่นับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต นับแต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ ส่วนบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดีอยู่แล้วอาจได้รับเงินลงทุนเพิ่มจากกองทุนที่จะมีการตั้งขึ้นมาระหว่าง 32 สถาบัน" เลขาธิการคณะกรรมการ กบข.กล่าว
ต้องถือว่าความเคลื่อนไหวนี้เป็นครั้งแรกของไทย ที่มีการลงนามร่วมกันระหว่างสถาบันลงทุนซึ่งต้องถือเป็นนิมิตหมายที่ดี
อย่างน้อยก็สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในวงการธุรกิจ ว่าต่อแต่นี้การกระทำใดๆ ที่ละเมิดธรรมาภิบาลหรือผิดหลักปฏิบัติอันดีของสังคมก็จะถูกลงโทษไม่เพียงแต่ตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังจะได้รับผลทางลบในแง่ของทุนอีกด้วย
คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยืนยันว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนจะต้องดำเนินการอย่างรับผิดชอบ มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
อีกทั้งการลงทุนจะต้องไปเป็นตามการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุน (I Code) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทุนสถาบันปฏิบัติตามกฎ I Code อยู่ถึง 32 แห่ง มีสินทรัพย์รวม 9.4 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็น 61% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
คุณวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมบริษัทจัดการกองทุนและประธานอนุกรรมการนโยบาย ESG และ Collective Action สมาคมบริษัทจัดการลงทุนบอกว่าความร่วมมือนี้ถือเป็น "ครั้งแรกของโลก" ที่พร้อมใจจะไม่ลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขัดหลัก ESG
ในส่วนของ บลจ.นั้นมาลงนามครั้งนี้ 22 แห่ง จากทั้งหมด 23 แห่ง มีสัดส่วนการลงทุนถึง 99% ของนักลงทุนสถาบัน สำหรับรายชื่อนักลงทุนสถาบันที่เข้าร่วมลงนามประกอบด้วย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) บลจ.กสิกรไทย (KASSET) บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) บลจ.กรุงไทย (KTAM) บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) เป็นต้น
ผมถือว่านี่เป็นก้าวย่างที่มีความสำคัญสำหรับประเทศไทย แต่การวัดว่าจะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ผลทางด้านปฏิบัติอย่างจริงจัง
ทำให้เห็นตัวอย่างจริงๆ สักสองสามกรณีจะจะก่อน ผมจึงจะเชื่อว่าพิธีกรรมครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การร่วมกันทำ "สิ่งที่ควรทำ" แต่ยังไม่บรรลุถึงขั้น "สิ่งที่ต้องทำ" ด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |