มาตรการช่วยเหลือผู้สูงอายุ จากเป็นภาระยกระดับมีคุณค่า


เพิ่มเพื่อน    

    ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2548 (สังคมสูงวัย หมายถึง มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด) จากนั้นมาสัดส่วนประชากรสูงวัยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 สัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนถึง 10.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของประชากรทั้งหมด ตามการคาดประมาณของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2556) ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20 ในปี 2564 หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด เมื่อมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด
    ปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชนและรัฐ ภาพของสังคมไทยนับจากนี้เป็นต้นไป ประชากรไทยจะสูงอายุขึ้นด้วยอัตราที่เร็วมาก จำนวนประชากรวัยแรงงานจะมีสัดส่วนลดลง ขนาดครัวเรือนเล็กลง รูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งวางนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย
    แนวทางการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ผ่านมาเน้นสร้างหลักประกันรายได้ยามชราภาพ ผ่านการจ่ายเงินสงเคราะห์ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ควบคู่กับการส่งเสริมสุขภาวะทางสุขภาพที่ดีผ่านการพัฒนาชุดความรู้ต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ดี เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย 


    ปัจจุบันประเด็นเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุได้รับความสนใจในสังคมไทยเป็นอย่างมาก เมื่อมีงานวิจัยและเวทีเสวนาหลายเวทีที่นำเสนอหัวข้อ “สูงวัยไม่หยุดทำงาน” เพื่อส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ อันจะเป็นการรักษามาตรฐานการครองชีพในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการเกษียณอายุ และเป็นการส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจและสังคมของผู้สูงอายุด้วย อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติมากนัก จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการรองรับสังคมผู้สูงวัย โดยผ่านการออกมาตรการต่างๆ ที่สอดรับกับสังคมผู้สูงวัยของไทย 
    มาตรการจ้างงานผู้สูงอายุถือเป็นมาตรการที่ให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ จากรายงานของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งเสริมมาตรการดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยระบุว่า มาตรการดังกล่าวของรัฐนับว่าเป็นประโยชน์และสอดรับกับสถานการณ์สังคมสูงวัย 
    เพราะหากหน่วยงานใดมีการจ้างงานคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เงินเดือนที่ต้องจ่ายให้กับผู้สูงอายุจะสามารถนำมาหักภาษีได้สองเท่าของรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้าง (สำหรับการจ้างบุคลากรผู้สูงอายุซึ่งมีอัตราค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน) โดยนายจ้างสามารถขอใช้สิทธิ์ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด ทั้งนี้ ลูกจ้างจะต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้นของกิจการ กรรมการ ผู้บริหาร หรือเคยเป็นผู้บริหารของกิจการ 
    มาตรการนี้ถือว่าเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงในเรื่องรายได้ของผู้สูงอายุให้สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ยาวนานขึ้น เป็นการเปลี่ยนการมองภาพผู้สูงอายุที่มองว่า “ผู้สูงอายุเป็นภาระ” ให้เป็น “ผู้สูงอายุมีคุณค่า” แม้ว่าบุตรยังคงเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของผู้สูงอายุในปัจจุบัน แต่ก็มีแนวโน้มลดลง อันเนื่องมาจากผลของค่านิยมที่เปลี่ยนไปของสังคมไทยที่มีบุตรน้อยลง รวมถึงการย้ายถิ่นของคนในวัยทำงาน จึงทำให้ผู้สูงอายุได้รับเงินเพื่อช่วยเหลือจุนเจือจากบุตรหลานน้อยลงไปด้วย การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุคงอยู่ในกำลังแรงงานเป็นเรื่องที่สำคัญ นอกจากการทำงานจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุแล้ว การทำงานยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพทั้งทางร่างกายจิตใจและสังคมของผู้สูงอายุอีกด้วย โดยเป็นการส่งเสริมให้เกิดพฤฒพลัง (active ageing) และให้ผู้สูงอายุประสบความสำเร็จอีกด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"