ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับคำชี้แจงถวายสัตย์ฯ ไม่ครบจาก "บิ๊กตู่" แล้ว ข้อมูลครบ 27 ส.ค.นี้น่าจะจบ ด้าน "ชวน" เผยกำหนดวันอภิปรายซักฟอกนายกฯ ได้ต้นเดือนหน้า เพราะจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 18 ก.ย. ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเชิญชวนรัฐบาลตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ "เทพไท" ขานรับทันที
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 27 ส.ค. ที่จะมีการพิจารณากรณีนายกรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เข้าข่ายเป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่าขณะนี้ทางสำนักงานได้รับคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในกรณีดังกล่าวแล้ว อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ทำการสรุปประเด็น และจะเสนอให้ที่ประชุมได้พิจารณา
เขากล่าวว่า เป็นดุลพินิจของผู้ตรวจว่าจะมีความเห็นหรือมีมติอย่างไร แต่ทั้งนี้ในเรื่องคำร้องเกี่ยวกับการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนนั้น นอกจากจะมีการร้องจากนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ที่ขอให้วินิจฉัยการกระทำดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยหรือไม่แล้ว ระหว่างที่ผู้ตรวจการแผ่นดินรอคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรีนั้น เมื่อวันที่ 20 ส.ค. นายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาประเด็นเดียวกัน โดยขอให้ส่งเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่นายภาณุพงศ์เห็นว่านอกจากนายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนอาจขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ก็มีผลทำให้การกระทำในเวลาต่อมาของรัฐบาล
เช่น การตั้งคณะรัฐมนตรี การแถลงนโยบาย การโยกย้ายข้าราชการ เป็นโมฆะไปด้วย และตัวนายภาณุพงศ์ในฐานะประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีได้แถลงนโยบาย หรือให้คำมั่นสัญญาเมื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ก็จะไม่ได้รับการปฏิบัติ ตามที่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีระบุไว้ จึงถือว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบมาตรา 46 พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ระบุให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน และ พ.ร.บผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 มาตรา 22 ก็ให้ผู้ตรวจฯ มีหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายอื่น
27 ส.ค.ได้ข้อยุติ
นายรักษเกชากล่าวว่า แม้คำร้องดังกล่าวจะมีการร้องเสริมในเรื่องของการที่บุคคลถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ทางสำนักงานก็เห็นว่าสามารถที่จะนำคำร้องดังกล่าวเสนอผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาในคราวเดียวกันได้ เนื่องจากประเด็นที่ร้องนั้นมีความเชื่อมโยงกัน โดยเท่าที่ทราบจากเจ้าหน้าที่ ข้อมูลต่างๆ ที่ทางสำนักงานได้รับในขณะนี้ ถือว่าค่อนข้างครบถ้วนเพียงพอที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 27 ส.ค.จะพิจารณาให้ได้ข้อยุติ น่าจะไม่ต้องมีการขอให้หน่วยงานใดชี้แจงอีก
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันดังกล่าว ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินยังจะได้มีการพิจารณาคำร้องที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ร้องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา รวบรัดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และประชุมรัฐสภาเพื่อคัดเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความชัดเจนของการบรรจุญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าขั้นตอนต่อไปเมื่อตรวจสอบญัตติที่เสนอมาว่าถูกต้องตามข้อบังคับและกฎหมายแล้ว ก็จะจัดเตรียมบรรจุระเบียบวาระ ซึ่งตนได้คุยเป็นหลักการกับรองประธานสภาฯ แล้วว่าจะแยกเรื่องนี้ออกมา จัดวันอภิปรายเป็นกรณีพิเศษ
ประธานสภาผู้แทนฯ กล่าวว่า สำหรับการกำหนดวันนั้น ต้องขอเวลาประสานงาน เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นการซักถามและแนะนำ เมื่อซักถามก็ต้องมีคนตอบ ดังนั้น ต้องประสานกับทางรัฐบาลว่าพร้อมวันไหน ขณะนี้จึงยังไม่ได้กำหนดวันเวลา แต่ได้พูดคุยในเชิงหลักการกันแล้ว
นายชวนเผยว่า สภาจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 18 กันยายนนี้ ฉะนั้นวันที่จะกำหนดคงเป็นช่วงต้นเดือนกันยายน ส่วนในสัปดาห์นี้ ตั้งแต่วันที่ 25-30 สิงหาคม ตนคงยุ่งกับภารกิจการประชุมรัฐสภาอาเซียน แต่ฝ่ายญัตติก็จะเตรียมการเพื่อประสานกับรัฐบาลต่อไป
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการศึกษาวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางพรรคพลังประชารัฐจะเสนอตั้งด้วยหรือไม่ว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้มีการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้พรรค พปชร.ยังไม่มีแนวคิดในการจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
รัฐบาลเชิญซักฟอก
ส่วนที่ฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายไม่ลงมติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีการถวายสัตย์ฯ นั้น เป็นการดำเนินงานทางสภา กรอบที่สามารถทำได้ก็ต้องดำเนินไป ไม่มีอะไรพิเศษ ทำตามขั้นตอน
เมื่อถามต่อถึงเสียงตอบรับในการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้ามานั่งประธานยุทธศาสตร์พรรค นายสนธิรัตน์ตอบว่า ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ เป็นความตั้งใจของท่านที่จะมาช่วยทำการเมือง พรรคก็ยินดีต้อนรับ ถือเป็นเรื่องที่ดีของพรรคพลังประชารัฐ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประวิตรเปิดตัวเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐว่า แม้ช่วงเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐกับทหารจะลับลวงพรางกันไปบ้าง แต่การเปิดตัว พล.อ.ประวิตร ก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นภาพของพรรคพลังประชารัฐเป็นเนื้อเดียวกันกับ คสช.มากขึ้น ถือว่าไม่เหนือความคาดหมาย ในไม่ช้าอาจจะได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เปิดตัวเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่อาจต้องรอให้ฝ่ามรสุมเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ และปัญหาอุปสรรคที่ถาโถมต่างๆ ให้ได้เสียก่อน
นายอนุสรณ์กล่าวต่อไปว่า ถึงเวลาที่ พล.อ.ประวิตรจะได้สัมผัสชีวิตการเมือง แต่แค่เจอ 2 โจทย์แรก พล.อ.ประวิตรก็อาจไม่ได้เป็นผู้มีบารมีตัวจริง ทั้งการขอให้ 5 รัฐมนตรีของพรรคลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อแก้ปัญหารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ไม่ให้รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ต้องมาร่วมโหวตกรณีมีส่วนได้เสียจะทำให้หมดสิทธิ์ลงมติ แต่สุดท้าย 5 รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ยอมลาออก และยังออกมาแสดงความเห็นต่อต้าน พล.อ.ประวิตร ในขณะที่รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมเขายังยอมลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อช่วยแก้ปัญหารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ รวมถึงการที่ พล.อ.ประวิตรออกมาเตือนนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. ไม่ให้แสดงพฤติกรรมกร่างใส่ตำรวจ ก็ไม่มีผลแต่อย่างใด เพราะนายสิระก็ยังคงแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้นอย่างต่อเนื่อง
"แค่ 2 กรณีนี้ก็พอจะเป็นตัวชี้วัดบารมีของ พล.อ.ประวิตร ในพรรคพลังประชารัฐได้แล้วว่ามีมากน้อยแค่ไหน นักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐเชื่อฟัง พล.อ.ประวิตร เหมือนกับตอนเป็น คสช.หรือไม่ ไม่รู้ว่า พล.อ.ประวิตรจะเข้ามาเป็นนักการเมืองให้เสียคนตอนแก่ทำไม" นายอนุสรณ์กล่าว
ฝ่ายค้านชวนแก้ รธน.
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีพรรคฝ่ายค้านเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา หลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่าอยากเชิญพรรคร่วมรัฐบาลว่าพรรคใดเคยมีนโยบายจะแก้ไขรัฐธรรมนูญและบอกประชาชนไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงรัฐบาลที่เสนอนโยบายต่อรัฐสภาในข้อ 12 ว่าจะศึกษาแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ
"โอกาสนี้ควรมาร่วมมือกันดำเนินการ พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ได้ผลีผลามแก้ตามใจพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่อยากให้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลได้มาศึกษาร่วมกันว่าหลักเกณฑ์และวิธีการใดจะเป็นที่ยอมรับของประชาชน และได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมแล้วให้การยอมรับทั้งประเทศ"
นายสุทินกล่าวว่า วิธีนี้เท่านั้นจะเป็นทางออกที่ดีของประเทศได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีจุดอ่อนสำคัญคือการขาดการมีส่วนร่วม และถูกเขียนในบรรยากาศที่ประชาชนไม่มีเสรีภาพ จะเกิดปัญหาข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ประสบอยู่ในขณะนี้
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ทางในสภาได้ยื่นญัตติไปแล้ว เป็นการยื่นญัตติหาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปัจจะบันมีข้อกำหนดไว้หลายมาตรา เลยต้องศึกษาว่าถ้าจะทำให้สะดวกและประสบความสำเร็จควรทำอย่างไรก่อนหลัง
เขาบอกว่า การผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาอย่างเดียวโอกาสสำเร็จจะยาก จึงจะดำเนินการพร้อมกันกับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 60 เพื่อให้เกิดความเห็นร่วมกันว่าต้องแก้ ถ้าประชาชนเห็นด้วยจะทำให้การแก้ไขสะดวกมากขึ้น ทั้งรัฐบาลและ ส.ว.จะได้จับมือกันแก้รัฐธรรมนูญในบทบัญญัติที่ยังไม่เห็นว่าเป็นประชาธิปไตยเพียงพอ เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพความเป็นประชาธิปไตย เช่น การเลือกนายกฯ ต้องยึดโยงกับประชาชน แต่ปัจจุบัน ส.ว. 250 คนมีส่วนในการเลือกนายกฯ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ที่พรรคการเมืองจะคิดนอกกรอบในการพัฒนาประเทศลำบาก ทั้งที่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นต้น และเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชาชนที่ต้องการให้ขยายมากขึ้น
นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ต้องเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน 7 พรรคฝ่ายค้านเป็นเพียงผู้ริเริ่ม ดังนั้นการแก้ไขต้องให้ทั้งพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงองค์กรเอกชน ประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน ก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นของทุกคนในประเทศจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข การจะสำเร็จหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับประชาชน ไม่ใช่แค่ฝ่ายการเมือง
"เทพไท"เอาด้วย
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตามที่พรรคประชาธิปัตย์เคยให้คำมั่นสัญญากับประชาชนเรื่องเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 3 ข้อ คือ 1.นโยบายประกันรายได้เกษตรกร 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันนั้น ตอนนี้รัฐมนตรีของพรรคได้ผลักดันนโยบายประกันรายได้เกษตรกรได้เป็นผลสำเร็จในเรื่องประกันราคาปาล์ม กก. 4 บาท ยางพารา กก.ละ 60 บาท และประกันรายได้ข้าว ตันละ 10,000-15,000 บาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเพื่อขอมติ ครม.เท่านั้น
ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้บรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนข้อ 12 ของรัฐบาลนั้น ส่วนตัวเห็นว่า เราสามารถขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนได้ และเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ละเลยต่อเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรค
"ผมจะนำเสนอประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุม ส.ส.ของพรรคในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ที่ประชุมของพรรคพิจารณา มีมติยื่นญัตติด่วน เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหา และหาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากลโดยเร็วด้วย ส่วนการจะบรรจุเข้าวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อไหร่ ขอให้เป็นดุลพินิจของประธานสภาฯ ที่จะพิจารณาต่อไป"
นายเทพไทกล่าวต่อว่า สำหรับเงื่อนไขการปราบปรามหรือการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนั้น ทางพรรคไม่เคยละเลย ได้กำชับให้สมาชิกพรรคทุกคนที่เข้ารับตำแหน่งทางการเมือง จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โดยเคร่งครัด และสมาชิกพรรคทุกคนจะต้องมีหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน และรัฐบาลต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ หรือทำงานแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูกอย่างเด็ดขาด จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะยึดถือคำมั่นสัญญาที่ให้แก่พี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ จะเร่งผลักดันนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ข้อ 4, ข้อ 8, ข้อ 12 ที่เป็นข้อเสนอของพรรคให้สำเร็จ และมีผลในทางปฏิบัติโดยเร็วที่สุด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |